"ประเมินราชการ+รัฐวิสาหกิจ 2 กลยุทธ์หลักเปิดแนวรบปีนี้"

โดย สนิทวงศ์ เจริญรัตตะวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

ในการเข้าไปประเมินผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจนั้น ทริสถือว่าเป็นการเปิดมิติใหม่ของการบริหารรัฐกิจของชาติทีเดียว เพราะเดิมรัฐวิสาหกิจเป็นระบบค่อนข้างปิดในสายตาคนทั่วไป และมีข่าวเรื่องหน่วยงานราชการเข้าไปก้าวก่ายค่อนข้างมาก

ระบบการประเมินผลจึงเปรียบเสมือนเป็นการเปิดระบบระฐวิสาหกิจให้สวาธารณชนได้รู้ได้เห็นมากขึ้น และที่สำคัญยังมีผลโดยตรงกับค่าตอบแทน โบนัส และความอิสระในการบริหารของรัฐวิสาหกิจเอง

"ผลต่อสังคมโดยรวมจะทำให้รัฐวิสาหกิจมีความตระหนักมากขึ้นถึงลูกค้าที่แท้จริงว่าคือ ประชาชนทั่วไปและความพึงพอใจของผู้ใช้บริการหรือประชาชนนี้จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ใช้ในการพิจารณาการจัดอันดับ" ดร. วุฒิพงษ์ กล่าว

ทริสเริ่มประเมินผลรัฐวิสาหกิจมาตั้งแต่ปลายปี' 38 จำนวน 11 หน่วยงาน โดยเริ่มทำการวิเคราะห ์และกำหนดเป้าหมายร่วมกันระหว่างรัฐวิสาหกิจ ทริส และหน่วยงานราชการ

จากนั้นจะปล่อยให้รัฐวิสาหกิจนั้น ๆ ทำงานจนครบหนึ่งปี ซึ่งก็คือเป็นการดำเนินงานในปี' 39 ที่ผ่านมา และจะนำการดำเนินงานที่ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มาประเมิน โดยเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้แต่เริ่ม คาดว่าจะรายงานผลการจัดอันดับสำหรับ 11 รายแรกได้ภายในไตรมาส 1 ของปี' 40 นี้ ส่วนในปีนี้เองจะมีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เข้าร่วมโปรแกรมการจัดอันดับอีก 14 หน่วยงานซึ่งจะใช้กระบวนการการประเมินแบบเดียวกันซึ่งคงจะประเมินกันในปี' 41

สำหรับการประเมินรัฐวิสาหกิจ 11 รายแรกเมื่อรวมกับอีก 14 รายของปีนี้ ก็ถือว่าครอบคลุมรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ของประเทศแล้ว เพราะรายใหญ่จริง ๆ มีประมาณ 15 แห่งเท่านั้นซึ่งรวมกันแล้วก็หมายถึง 80% ของประเทศทั้งในส่วนของรายได ้และสินทรัพย์ แต่ที่อยู่ในการประเมินของทริสทั้งหมด 25 แห่งซึ่งถือเป็นอัตราเกือบ 90% ของทั้งรายได้และสินทรัพย์ของประเทศ

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่านอกจากรัฐวิสาหกิจแล้ว ทริสยังขยายพื้นที่มาสู่หน่วยงานราชการด้วย "นี่เป็นสิ่งที่ 2 ที่เราได้เปิดเป็นธุรกิจใหม่หรือจะเรียกว่า แนวรบ ก็ได้" ดร. วุฒิพงษ์ กล่าว

เริ่มในปีนี้ด้วย 3 กรมแรกได้แก่ กรมสรรพากร สำนักงานประกันสังคม และกรมทะเบียนการค้า ทั้งสามกรมเป็นหน่วยงานขนาดกลางค่อนข้างใหญ่

"เป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะการเริ่มที่หน่วยงานใหญ่ ๆ อย่างกรมตำรวจ หรือกรมการปกครอง ซึ่งมีเครือข่ายค่อนข้างกว้างนั้นยืนยันว่าทริสมีศักยภาพทำการประเมินได้ แต่เก็บไว้ในปีถัด ๆ ไป แต่ยืนยันว่าจะทำแน่นอน" ดร. วุฒิพงษ์ กล่าวและเสริมว่า

"โครงการนี้ดีเหลือเกินเพราะฉะนั้นควรจะเริ่มและไม่ควรให้เสียหายแต่แรก ควรจะเริ่มจากหน่วยงานที่เล็กก่อน พอบริหารได้ไม่ยากจนเกินไปแล้วค่อยทำเคสที่ยากขึ้นในปีต่อ ๆ ไป"

สิ่งที่เป็นประเด็นน่าสนใจและเป็นผลประโยชน์ต่อข้าราชการทั้งหลายคือ เมื่อผลการประเมินออกมาจนเป็นที่ยอมรับกันแล้ว ดร. วุฒิพงษ์ตั้งความหวังไว้ว่าจะได้เห็นระบบโบนัสของราชการก็เป็นได้ เพราะการบริการประชาชนที่ถือเป็นงานสาธารณประโยชน์นั้น "ถึงแม้ว่าจะไม่มีผลกำรี้กำไรก็จริง ถ้าข้าราชการทำได้ดีก็ไม่มีเหตุผลที่จะไม่จ่ายโบนัส เมื่อก่อนเรามักฝังติดอยู่ในสมองว่าโบนัสผูกกับกำไรซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่เสมอไป"

ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดคาดว่าน่าจะเซ็นสัญญาได้ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา และจะใช้เวลาทำการประเมินประมาณ 4-5 เดือน ผลจะออกมาให้เห็นได้ภายในปีนี้เช่นกัน โดยค่าจ้างจะสูงกว่าการประเมินรัฐวิสาหกิจเนื่องจากขนาดของบุคลากร และเนื้อหางานที่มากกว่า

ทั้งนี้ในการประเมินผลการดำเนินงานนั้นไม่น่าจะเป็นของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานราชการ รวมทั้งภาคเอกชนที่ยังจด ๆ จ้อง ๆ อยู่นั้น ดร. วุฒิพงษ์ให้ความเห็นว่าเอกชนก็มีความสนใจแต่อาจจะตัดสินใจช้ากว่าภาครัฐ และคงกำลังดูผลจากการประเมินของภาครัฐก่อนว่าจะออกมาเป็นอย่างไร

หลักเกณฑ์ในการพิจารณาเหมือนกันคือ การพิจารณาทั้งในแง่ประสิทธิภาพการทำงาน, ประสิทธิผลตรงเป้าหมาย และการพัฒนาศักยภาพขององค์กร ซึ่งทริสจะดูจากทั้งการดำเนินงานในปัจจุบันและแผนในระยะยาว

โดย ดร. วุฒิพงษ์ ได้ให้เหตุผลตบท้ายไว้ว่า "เพราะหลายแผนงานที่ทำหรือมีการปรับปรุงผลอาจจะยังไม่เกิดในทันที เช่น การรีเอ็นจิเนียริ่งที่มีการลงทุนเยอะแยะแต่กว่าผลนี้จะเกิดอาจจะเป็นเวลา 3 ปี หรือ 5 ปี หรือการเปลี่ยนระบบคอมพิวเตอร์ การส่งพนักงานไปฝึกอบรม ล้วนแต่เป็นต้นทุนที่มหาศาลแต่ว่าจะเป็นประโยชน์กับองค์กรในระยะยาว"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.