"ทริสขยายฐานลูกค้า จัดอันดับหลักสูตรการศึกษา"

โดย สนิทวงศ์ เจริญรัตตะวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

ทริสเปิดตัวโครงการใหม่แกะกล่อง "จัดอันดับหลักสูตรการศึกษา" หวังเป็นคู่มือเลือกคณะตอนสอบเอ็นทรานซ ์และเป็นกระจกส่องสถาบัน งานนี้ยังไม่รู้ว่าจะออกหมู่หรือจ่า แต่ทริสเตรียมใจถูกด่าไว้แล้ว นอกจากนี้ยังมีลูกค้ากลุ่มประกัน, หน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจให้จัดอันดับอีกมาก เตรียมพร้อมขยับขยายจากบริษัทอันดับท้องถิ่นสู้ระดับสากล

"สิ่งนี้เป็นเสมือนคู่มือให้กับผู้บริโภค และถ้าเราไม่คิดอะไรมาก การศึกษาก็คือสินค้าอย่างหนึ่งที่เราต้องลงทุนซื้อหามาด้วยค่าหน่วยกิต" ดร. วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทไทย เรทติ้ง แอนด์ อินฟอร์เมชั่นเซอร์วิส หรือ ทริส (TRIS) กล่าว

อาจจะแรงไปสักนิดกับความรู้สึกของใครบางคนที่มองว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่มีคุณค่า แต่ในความหมายแล้วเป็นเพียงความปรารถนาของทริสที่อยากจะเห็นเด็กนักเรียนมัธยมปลายได้มีคู่มือดี ๆ สักเล่มเพื่อใช้ในการพิจารณาตัดสินใจเลือกเรียนคณะหรือสาขาอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับตัวเอง

ทั้งนี้ เพราะที่ผ่านมาเมื่อถึงฤดูสอบเอ็นทรานซ์เพื่อศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการสอบคือ การเลือกคณะหรือสาขาวิชา ซึ่งส่วนใหญ่เหตุผลที่ใช้ในการเลือกคณะหรือสาขาในมหาวิทยาลัยนั้น ๆ จะมาจากคำบอกเล่าสืบต่อกันมาแต่ไม่ได้มีการพิสูจน์ออกมาอย่างชัดเจน

"เพราะฉะนั้นไม่ได้หมายความว่าสถาบันที่มีหน่วยกิตถูกที่สุดเราจะต้องเรียนที่นั่น เราอาจจะเลือกเรียนสถาบันที่แพงก็ได้ถ้าคุณภาพสูงกว่า" ดร. วุฒิพงษ์กล่าว นั่นจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิด "โครงการจัดอันดับการศึกษา" ขึ้นมา

ประเมินการศึกษา ประวัติศาสตร์ใหม่ของไทย

ถ้าจะกล่าวถึงที่มาของโครงการนี้คงต้องเริ่มต้นจากการที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้มีหนังสือเชิญทริสเข้าร่วมเสนอโครงการวิเคราะห์คุณภาพบัณฑิตของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในสาขาวิชาชีพทั้งด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ในขั้นต้น 4 คณะวิชา คือวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์เทคโนโลยีสารสนเทศ นิเทศศาสตร์ และบริหารธุรกิจ-พาณิชยศาสตร์-การบัญชี

จากการประชุมกับคณะที่ปรึกษา ทริสจึงได้จัดทำข้อเสนอโครงการจัดอันดับการศึกษาสาขาบริหารธุรกิจ และวิทยาการคอมพิวเตอร์ เพื่อเสนอต่อ สกว. ในการอนุมัติโครงการและสนับสนุนทางด้านงบประมาณ

"งานนี้เหมือนกับการทำงานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งเป็นครั้งแรกในเมืองไทย เราอยากจะให้เป็นเสมือนกระจกส่องให้การศึกษาดีขึ้น" ดร. กำจัด มงคลกุล ผู้อำนวยการโครงการจัดอันดับการศึกษาของ สกว. กล่าว

อย่างไรก็ตาม สกว. ยืนยันว่าการที่ริเริ่มโครงการนี้ขึ้นมานั้นไม่ได้หมายความว่าการศึกษาแย่ถึงขนาดต้องมีหน่วยตรวจสอบ "แต่เพราะที่ผ่านมาเหมือนกับว่าไม่มีกระจกมาส่องให้เห็นว่าเราอยู่ตรงไหนกันรบ้าง มีจุดใดที่เราอยู่แล้วหรือจุดใดที่ควรพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น โครงการนี้นับเป็นการสนับสนุนให้สถาบันต่าง ๆ ตื่นตัวในเรื่องคุณภาพการศึกษาหรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการประกันสุขภาพการศึกษาก็ได้"

และเมื่อได้พิจารณาแผนพัฒนาการศึกษาระยะยาวของทบวงมหาวิทยาลัยตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2540-2544 ปรากฏว่าได้มีการกำหนดกลยุทธ์และมาตรการเกี่ยวกับ "การประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อเป็นฐานหลักในการประกันคุณภาพอย่างเป็นระบบ ตลอดจนสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาระบบติดจามและประเมินผลในสถาบันอุดมศึกษาเปรียบเทียบระหว่างมหาวิทยาลัย" โครงการจัดอันดับการศึกษาจึงสอดคล้องกับแผนงานของทบวงมหาวิทยาลัยอีกทางหนึ่งด้วย ดังนั้นจึงเชื่อแน่ว่าโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

ไม่ใช่เรื่องง่าย ทริสเตรียมใจไว้แล้ว

อย่างไรก็ตาม การที่ทริสเสนอตัวเข้ามาจัดอันดับสถาบันการศึกษาเช่นนี้ สายตาหลายคู่คงมองด้วยความสนใจ ในขณะที่สายตาอีกหลายคู่อาจมองด้วยความแปลกใจว่าทริสไม่น่าหาเรื่องใส่ตัวเลยเพราะการประเมินโปรแกรมการศึกษานี้พูดอีกนัยหนึ่งคล้ายกับ "การจับครูอาจารย์ทั้งหลายมานั่งสอบ" แน่นอนต้องมีปฏิกิริยาตอบสนองทั้งในแง่บวกและแง่ลบ

"ในระยะแรกจึงต้องทำความเข้าใจกันมากหน่อยเท่านั้นว่าที่เราทำเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม" ดร. กำจัด แห่ง สกว. ให้ความเห็น

แต่ทั้งนี้ แม้ว่าทริสยืนยันถึงความตั้งใจดีต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาแต่ก็เตรียมใจไว้แล้วว่าอาจจะ "ถูกด่า"

ในระยะนี้ ดร. วุฒิพงษ์และทีมงานของทริสจึงใช้เวลาส่วนหนึ่งหมดไปกับการเดินสายทำความเข้าใจและเชื้อเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรับฟังคำชี้แจงต่าง ๆ

สิ่งหนึ่งที่ทริสต้องทำความเข้าใจกับสถาบันการศึกษาอย่างมากก็คือ โครงการนี้ เป็นการประเมินคุณภาพของโปรแกรมการศึกษาในสาขาวิชาต่าง ๆ และไม่ใช่จัดอันดับมหาวิทยาลัย แต่เป็นการจัดอันดับโปรแกรมการศึกษาที่สถาบันการศึกษาต่าง ๆ กำลังเปิดสอนอยู่ในขณะนี้

"ถ้าโครงการเป็นที่ยอมรับสิ่งสำคัญประการหนึ่งคือ ความตื่นตัวของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสถาบันนั้น ๆ ในการที่แต่ละสถาบันจะได้มีเครื่องประกันคุณภาพของโปรแกรมการศึกษาของตน" ดร. กำจัด กล่าว

บัญญัติ 6 ประการ มาตรวัดคุณภาพ

เกณฑ์พิจารณาที่ทริสศึกษาและสรุปออกมาใช้ในปีนี้มี 6 ข้อ ได้แก่ คณาจารย์ หลักสูตร กิจกรรมเสริมหลักสูตร การบริการสนับสนุน การบริหารเชิงกลยุทธ์และสภาพแวดล้อม

ทั้งนี้เพื่อให้ข้อมูลที่ได้เป็นตัวบอกคุณภาพของโปรแกรมการศึกษาที่แท้จริง ทริสจึงใช้วิธีประเมินทั้งในแง่ข้อมูลตัวเลขและการสัมภาษณ์พูดคุยกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้บริหารหรือผู้ประกอบการบริษัทต่าง ๆ ที่รับนักศึกษาที่จบเข้าทำงาน ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันถึงทัศนะที่มีต่อสถาบันการศึกษานั้น ๆ

โดยกระบวนการจัดอันดับจะเริ่มขึ้นหลังจากที่ได้รับการยินยอมจากสาขาหรือคณะที่จะทำการประเมิน จากนั้นทีมงานของทริสจะเข้าไปศึกษาและรวบรวมข้อมูลด้วยการเยี่ยมชมสถาบันการศึกษา และสัมภาษณ์เจาะลึกผู้บริหาร คณาจารย์ และนักศึกษา จากนั้นจึงมาทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้

จากนั้นคณะกรรมการจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ตั้งขึ้นโดยทริสจะมีการประชุมและจัดอันดับให้กับสาขาหรือคณะวิชานั้น ๆ ถึงขั้นตอนนี้ถ้าสาขาหรือคณะไม่พอใจในผลการจัดอันดับก็สามารถยื่นข้อมูลเพิ่มเติมเพื่ออุทธรณ์ ซึ่งคณะกรรมการจะนำข้อมูลใหม่ที่ได้มาประกอบการพิจารณา และรายงานผลการจัดอันดับเสนอไปยัง สกว. ในฐานะผู้สนับสนุนการวิจัย

ถึงขั้นตอนนี้ถึงแม้สาขาหรือคณะจะไม่พอใจต่อผลการจัดอันดับก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีก แต่สาขาและคณะจะมีสิทธิเลือกให้ สกว. ประกาศหรือไม่ประกาศ ผลการจัดอันดับต่อสาธารณะก็ได้ ทำนองเดียวกับการจัดอันดับผลการดำเนินงานของกิจการต่าง ๆ ที่ผ่านมา

ส่วนการจัดอันดับที่ออกมาจะแสดงด้วยสัญลักษณ์ตัวอักษร A ถึง E ซึ่งในการรายงานผลนั้นจะใช้วิธีการรายงานแบบแยกเป็นรายการตาม 6 เกณฑ์ที่ใช้พิจารณาและสรุปเป็นผลการจัดอันดับโดยรวมด้วย เพื่อให้สามารถเห็นจุดแข็งของแต่ละปัจจัยได้อย่างถี่ถ้วน

"ในการจัดอันดับการศึกษาเรามองเกี่ยวกับเรื่องความสามารถของสถาบันนั้น ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) เข้าไปในตัวนักศึกษา เพราะฉะนั้นเราจะต้องสามารถแยกออกได้ว่าสิ่งใดที่ นศ. มีอยู่แล้ว ซึ่งก็เป็นเรื่องยากที่จะดูอีก แต่สิ่งที่เราพยายามที่จะดู คือ จากการที่ผู้เชี่ยวชาญและจากคนของทริสเข้าไปในสถาบันนั้นพร้อมกัน และดูว่าสถาบันนั้นได้ให้อะไรกับนักศึกษาบ้าง" หนึ่งในทีมเจ้าหน้าที่รับผิดชอบโครงการให้ความเห็น

หน่วยกล้าตาย 7 รายแรก

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ทริสและ สกว. จึงเริ่มเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าฟังคำชี้แจง และเกณฑ์ในการพิจารณา อาทิ ผู้บริหารสถาบันการศึกษาจากภาครัฐและเอกชน ระดับอธิการบดี คณบดี และตัวแทนคณะ รวมทั้งตัวแทนจากปลัดทบวง และจากสมาคมมหาวิทยาลัยเอกชนซึ่งมีอธิการบดีของ ม. อัสสัมชัญ (ABAC) เป็นประธานสมาคม

ในวันนั้นทุกฝ่ายเห็นด้วยในหลักการและขอกลับไปปรึกษายังหน่วยงานของตนก่อน แต่ที่ยืนยันว่าจะเข้าร่วมแน่นอนคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นัยว่าทั้งสองมหาวิทยาลัยชั้นนำนี้อยากเห็นเหมือนกันว่าตนเองอยู่ตรงจุดไหน

"ในการประชุมนัดแรกบางรายเป็นเพียงตัวแทนหน่วยงานมารับฟังการประชุมเท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจโดยตรงจึงขอกลับมาหารือกันภายในหน่วยงานของตัวเองก่อน" ดร. กำจัดกล่าว

"แต่ที่แน่ ๆ มีมหาวิทยาลัยเอกชนอยากให้เราจัดอันดับเรียบร้อยแล้ว เพราะสถาบันเอกชนหลาย ๆ แห่งอยากให้คุณภาพการศึกษาเป็นที่ยอมรับ เขาจึงมีความสนใจอยากให้เราเข้าไปดู" ปนัดดา เผือกขาว ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ทริส กล่าวด้วยความปลื้มใจ

28 กุมภาพันธ์เป็นกำหนดส่งคำยืนยันของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เพื่อเข้าร่วมโครงการให้กับทริส โดยสาขาที่จะทดลองประเมินคือ บริหารธุรกิจ ในชั้นแรกมีสถาบันของรัฐยืนยันเข้าร่วม 4 ราย คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม. ธรรมศาสตร์ ม. สงขลานครินทร์ และ ม. ขอนแก่น สำหรับ ม. เชียงใหม่นั้นแจ้งมาว่าเนื่องจากเปลี่ยนคนบดีจึงยังไม่พร้อม ส่วนสถาบันเอกชนที่ยืนยันเข้ามามี 3 ราย คือ ม. ธุรกิจบัณฑิต ม. หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และ ม. กรุงเทพ

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้ชี้แจงไปเมื่อต้นเดือนเมษายนคงจะมีสถาบันการศึกษาเข้าร่วมเพิ่มขึ้น เนื่องจากทริสได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งสถาบันอุดมศึกษารวมถึงสถาบันราชภัฏ และระดับมัธยมศึกษาทั้งครูอาจารย์และนักเรียนนักศึกษาเข้าฟังในครั้งนี้ด้วยกว่า 200 ราย

แต่ทั้งนี้ การสนับสนุนของ สกว. นั้น ในชั้นแรกตกลงกันไว้ว่า สกว. จะสามารถสนับสนุนค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 6 ราย ซึ่งทริสตั้งอัตราค่าบริการต่อหนึ่งโปรแกรมการศึกษาต่อหนึ่งสถาบันไว้ที่ 3-4 แสนบาท ส่วนที่เกินกว่านั้นจึงเป็นหน้าที่ของทริสเองที่จะไปจัดการกับค่าใช้จ่ายส่วนนี้เอง

ทริสจึงได้เสนอไปยังสถาบันต่าง ๆ ด้วยถ้ามีจำนวนเข้ามาเกินกว่าจำนวนที่ สกว. สนับสนุนค่าใช้จ่ายได้นั้น สถาบันต่าง ๆ จะมีความพร้อมในการเฉลี่ยค่าใช้จ่ายหรือไม่ ซึ่งมีเพียงรายเดียวที่ตอบรับการเฉลี่ยค่าใช้จ่ายคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ตามในความเหมาะสมแล้ว ทริสและ สกว. เห็นว่าจำนวนสถาบันที่จะนำมาจัดอันดับควรอยู่ในช่วง 5-15 รายเพราะถ้าน้อยหรือมากกว่านี้ก็ไม่เหมาะสมทั้งในเรื่องของเวลา และงบประมาณ รวมทั้งความน่าเชื่อถือในการเสนอผลงานออกมาสู่สาธารณชน

ทั้งนี้ ทีมงานจะใช้เวลาเข้าไปประเมินแต่ละที่ประมาณ 4-5 เดือน และเหลือเดือนที่ 6 ไว้สำหรับกรณีการยื่นอุทธรณ์ ซึ่งถ้าสามารถเริ่มงานได้ภายในเดือนเมษายนและเป็นไปตามกำหนด ทริสจะเผยแพร่ผลการประเมินในราวเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน ทริสจะมีเวลาทำงานประมาณ 6-7 เดือน ซึ่งนับว่าเพียงพอกับแผนงานที่วางไว้


ประกัน+ซิเคียวริไทซ์ งานใหม่ที่อย่างไรก็ต้องทำ

นอกจากการจัดอันดับการศึกษาในปีนี้แล้ว สำหรับปีหน้าทริสได้เตรียมที่จะขยายไปในส่วนธุรกิจประกันอีกด้วย

การจัดอันดับเครดิตของบริษัทประกันนี้ ทริสมองประโยชน์ใน 2 ทาง คือประการแรกถ้าบริษัทประกันต้องการระดมทุนจะได้ใช้เรตติ้งเหมือนกับบริษัททั่ว ๆ ไป และนำไปใช้ใน Bonds Market หรือตลาดอื่นที่มีลักษณะอย่างเดียวกันได้

อีกประการคือ สิ่งนี้จะแสดงถึงความมั่นคงของบริษัทประกัน เป็นเหมือนกับคู่มือผู้บริโภคอีกอย่างหนึ่งบอกผู้ที่จะซื้อกรมธรรม์ว่าบริษัทประกันนั้น ๆ มีสถานภาพมั่นคงอย่างไรบ้าง "โอกาสที่จะได้สินไหมทดแทนเมื่อเกิดเหตุการณ์มีมากน้อยแค่ไหนเพราะเวลาเราลงทุนเรื่องประกันชีวิตเราพูดกันเป็น 30-40 ปี เราก็อยากเห็นว่าบริษัทที่เราเอาเงินไปวางไว้นั้นมีความมั่นคง" ดร. วุฒิพงษ์ กล่าว

นอกจากนี้ ธุรกิจแปลงหนี้เป็นตราสารทางการเงินหรือซิเคียวริไทเซชั่น ก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่ทริสเตรียมไว้เช่นกัน แม้มีหลายเสียงติงว่ายังไม่เกิดขึ้นง่าย ๆ ในประเทศไทยระหว่าง 1-2 ปีนี้ เพราะติดในเรื่องตัวบทกฎหมาย

แต่ในกรณีที่เกิดในต่างประเทศ เช่น กรณีของบริษัทไทยคาร์ที่ไปออกยังเกาะเคย์แมน ทริสก็สามารถทำเรตติ้งให้ได้และพร้อมที่จะทำด้วย โดยอาจจะจับมือกับสถาบันจัดอันดับของต่างประเทศ ซึ่งทริสได้เตรียมไว้ทั้งในกรณีสินทรัพย์ในไทยจะไปเกิดในต่างประเทศหรือในระยะยาวก็อาจเกิดในไทยด้วย

ปี' 39 กำไร 15 ล้าน ได้มาแบบไม่ตั้งใจ

การที่ทริสแตกไลน์ออกมาจากการจัดอันดับเครดิตนี้ นับเป็นความชาญฉลาดของทริสอย่างหนึ่งเพราะตลาดในบ้านเรานั้นยังมีความจำกัดในหลาย ๆ ด้าน การหวังพึ่งรายได้จากการจัดเครดิตเรตติ้งอย่างเดียวคงไม่พอ

ขณะเดียวกันการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ 11 รายแรกกำลังจะออกมาและ 14 รายใหม่ที่กำลังตามไป "ขึ้นเขียง" รวมทั้งหน่วยงานราชการที่กำลังทยอยเข้ามาให้ประเมิน (ดูล้อมกรอบ)
สิ่งเหล่านี้ถ้าหากสะดุดหรือถูกปฏิเสธจากทางการไม่ว่ากรณีใดก็ตามรายได้มหาศาลที่คาดว่าจะได้ก็หายไปด้วย

การหาหนทางใหม่ ๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทริสอยู่ไม่น้อย "สิ่งที่เราเลือกทำแต่อย่างนี้ ไม่ใช่เพื่อทำมาหากินหรือเพื่อทำกำไร แต่เราเห็นว่าแต่ละอย่างมันไปสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้กับระบบ เพราะว่าถ้าเรามองดูการจัดอันดับเครดิตเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน การจัดอันดับผลการดำเนินงานเป็นการให้โครงสร้างพื้นฐานทางการบริหาร การจัดอันดับการศึกษาเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในเชิงการศึกษา" ดร. วุฒิพงษ์ กล่าว

"ในวันนี้ทริสสามารถบอกใครต่อใครได้อย่างภาคภูมิว่า สิ่งที่ทำลงไปนั้นไม่ขาดทุน" ดร. วุฒิพงษ์ กล่าว

ปีนี้จึงเป็นปีแรกที่ทริสปิดบัญชีแล้วกำไรเกือบ 15 ล้านบาทโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งสิ่งนี้ ดร. วุฒิพงษ์กล่าวไปด้วยความปลื้มใจ แต่ไม่วายย้ำว่าไม่ใช่การคุย เพียงแต่ต้องการชี้ว่า "การทำในสิ่งที่ถูกต้องและมีประโยชน์ต่อส่วนรวมนี้ในหลาย ๆ ครั้งก็นำมาซึ่งผลกำไรได้โดยไม่มีอะไรขัดแย้งกันเลย"

"เราสามารถทำกำไรได้แม้เราจะขาดทุนติดต่อมาเป็นเวลา 2 ปี เป็นจำนวน 45 ล้าน ปี'39 เราปิดไปประมาณ 15 ล้านบาทก็เหลืออีก 30 ล้าน ก็หวังว่าในปี' 40 หรืออย่างช้าปี' 41 จะล้างขาดทุนได้หมด ปีนี้ก็ยังไม่รู้เหมือนกัน บอร์ดเขาตั้งให้ล้างขาดทุนอีก 20 ล้าน แต่ไม่รู้จะทำได้หรือเปล่า" ดร. วุฒิพงษ์กล่าวอย่างกังวลใจด้วยใบหน้ายิ้ม

ทั้งนี้ รายได้หลักของปีนี้น่าจะมาจากงานจัดอันดับผลการดำเนินงานของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจซึ่งถือเป็นงานหลักในปีนี้ของทริส

อนาคตยืนได้สง่างามในเวทีโลกและแบบไทย ๆ

3 ปีเศษที่ผ่านมา ทริสได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็น "บริษัทจัดอันดับ" ของประเทศได้ แม้ว่าในระยะเริ่มต้นจะมีผลสะท้อนกลับค่อนข้างแรงจากวงการการเงินในลักษณะ "เธอเป็นใครจึงมาประเมินฉัน"

ถึงจุดนี้ไม่เพียงแต่งานจัดอันดับเครดิตซึ่งเป็นงานหลักเท่านั้น ทริสขยายพื้นที่การทำงานของตัวเองไปสู่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจและราชการ ซึ่งดีหน่อยตรงที่มีกรมบัญชีกลางให้การสนับสนุนการทำงาน

สำหรับงานจัดอันดับการศึกษาซึ่งเป็นงานใหม่ "แกะกล่อง" ทริสคงได้รับคำถามเจ็บ ๆ แบบเดิม เพราะครั้งนี้ก้าวขึ้นไปถึงระบบการสอนของอาจารย์มหาวิทยาลัยทั้งหลาย งานนี้ต้องยอมรับว่าไม่ใช่งานที่ง่ายเลยทั้งในตัวเนื้อหาที่ต้องประเมินและการทำความเข้าใจกับผู้ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลาย

ดร. วุฒิพงษ์เคยปรารภขึ้นเมื่อมีผู้ถามถึงการประเมินว่า "เรื่องถูกด่าก็โดนซะจนชินแล้ว ทำอาชีพนี้เหมือนกับเขาจ้างให้มาโดนด่าหรืออย่างไรไม่ทราบ"

แต่แม้จะมีอุปสรรคอย่างไรก็ตาม วันนี้เมื่อพูดถึงงานที่ทริสทำและกำลังจะทำนั้น เขายังพูดด้วยความกระตือรือร้นในการทำงานอย่างเต็มที่

เมื่อมีใครถามว่าทริสถึงขั้นอินเตอร์หรือยัง?

เขาจะตอบด้วยความภูมิใจว่า "เราเป็นทั้งสองอย่าง" งานของทริสจึงสามารถรับรู้ได้ทั้งในลักษณะไทย ๆ "เราก็ค่อนข้างจะพิถีพิถันในด้านมาตรฐานการเขียนเพราะฉะนั้นก็ต้องเขียนให้ระดับอธิบดีหรือปลัดกระทรวงยอมรับได้"

ในขณะเดียวกันงานของทริสก็สามารถเผยแพร่ให้นักลงทุนทั่วโลกรับรู้ได้ด้วย "คนที่กรุงเทพฯ, ขอนแก่น, โคราช, หาดใหญ่ได้อ่านอะไร คนที่นิวยอร์ก ที่ลอนดอน แฟรงเฟิรต์ หรือฮ่องกงก็ได้อ่านเช่นนั้น"

การทำงานในองค์กรอย่างทริสนั้น กร. วุฒิพงษ์พูดอยู่บ่อยครั้งว่า "ลูกน้องมีความคิดเห็นของตนเองได้ ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนหัวหน้า แต่เป็นในลักษณะที่มีสัมมาคารวะแบบคนไทย" ซึ่งเป็นการทำงานที่เหมือนกับนำระบบของต่างประเทศมาใช้กลาย ๆ โดยผสมผสานกับของไทยตามสไตล์วุฒิพงษ์

ไม่เพียงแต่การทำงานเท่านั้น มาตรฐานต่าง ๆ เขาก็พยายามเลียนแบบจากมาตรฐานสากลเช่นกัน "เราพยายามทำองค์กรให้เป็นมาตรฐานสากลแต่เราก็ใช้คนไทย วิธีการทำงานของเราก็ยังเป็นแบบไทย ๆ ออฟฟิศนี้ถ้าไม่ได้อยู่ที่สีลม เราอยู่ที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีท ออฟฟิศก็คงไม่ต่างกัน รูปลักษณะที่มีอยู่นี้ก็คือสิ่งที่เราอาจจะพบที่โตเกียว, นิวนอร์ก หรือลอนดอน"

เมื่อพูดถึงทิศทางต่อไปที่ทริสจะดำเนินต่อไปในขวบปีที่ 4 นี้ ดร. วุฒิพงษ์กล่าวว่า "ทิศทางโดยรวมของทริสสรุปง่าย ๆ ก็คือ วันนี้เรากลายจากสถาบันจัดอันดับเครดิตเป็นสถาบันจัดอันดับอเนกประสงค์แล้ว และในการทำสิ่งที่คิดว่าเป็นสาธารณประโยชน์นี้ เราจะทำโดยอยู่บนพื้นฐานของการดำเนินงานแบบธุรกิจ และอยากพิสูจน์ว่าสาธารณประโยชน์และกำไรไม่ได้ขัดแย้งกัน นอกจากนั้น เราอยากจะเป็นบริษัทไทยเล็ก ๆ ที่สามารถบริหารโดยคนไทย เจ้าของเป็นคนไทย แล้วก็สามารถยืนได้อย่างสง่างามในเวทีโลกและเวทีไทย"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.