|
บลจ.ยันไม่ใช่ตัวการทุบหุ้นIPO อ้างกลไกตลาดเป็นตัวการชี้ขาด
ผู้จัดการรายวัน(15 ธันวาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
กองทุนโต้ข่าวเป็นตัวการทุบหุ้น IPO ยันนักลงทุนสถาบันไม่ใช่มีเพียงแค่ บลจ.เท่านั้น แนะที่ปรึกษาทางการเงินจัดสรรหุ้นไอพีโอ ให้พอเหมาะอย่าจำกัดแค่รายย่อยโดยที่ไม่แจกจ่ายให้นักลงทุนสถาบัน ระบุจะเป็นการกระจายหุ้นที่ไม่สมบูรณ์ ชี้โดยหลักการแล้วถือเป็นผู้ลงทุนรายหนึ่งที่ควรเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยเพราะจะได้เข้าถึงความลึกของตัวหุ้น หนุนกลไกการสร้างราคาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
นายมาริษ ท่าราบ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงกรณีที่บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) และบริษัทจดทะเบียนรายหนึ่งจะไม่จัดสรรหุ้นไอพีโอให้แก่นักลงทุนสถาบันว่า ในหลักการการกระจายหุ้นจริงๆ แล้วควรกระจายออกไปให้พอเหมาะ ทั้งนักลงทุนรายย่อย และนักลงทุนสถาบัน เพราะถ้าหากไม่กระจายให้นักลงทุนประเภทใดประเภทหนึ่งแล้วก็ถือว่าการกระจายหุ้นนั้นไม่สมบูรณ์
"การที่สถาบันขายทำกำไรออกมา เหตุผลหลักมาจากการไถ่ถอนหน่วยลงทุนของผู้ถือหน่วย ซึ่งเราก็ต้องขายหุ้นออกไปเพื่อนำเงินมาคืนให้ อีกทั้งนักลงทุนสถาบันเองก็มีทั้งกองทุน กบข. และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งปัจจัยที่จะเข้ามาช่วย คือ การที่ผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนนั้นไม่ได้ไถ่ถอนหน่วยลงทุนออกไป"นายมาริษกล่าว
อย่างไรก็ตาม ปกติในการลงทุนจะต้องมีการวิเคราะห์อยู่แล้วว่า หุ้นตัวใดน่าสนใจ ซึ่งถ้าหุ้นตัวนั้นมีปัจจัยพื้นฐานดีหรือมีราคาที่เหมาะสม นักลงทุนสถาบันก็ถือได้อยู่แล้ว
นายณสุ จันทร์สม ผู้จัดการกองทุนตราสารทุน บริษัทหลักทรัพย์ จัดการกองทุน (บลจ.) อเบอร์ดีน กล่าวว่า ในแง่ของหลักการแล้วควรพิจารณาให้กว้าง เนื่องจากนักลงทุนสถาบันโดยเฉพาะกองทุน ซึ่งเป็นผู้บริหารเงินให้ผู้ลงทุนรายย่อยรวมกัน หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นตัวแทนของผู้ลงทุนหลายๆ คน และประชาชนทั่วไป ซึ่งในหลักการแล้วควรจะเป็นผู้ลงทุนรายหนึ่งที่เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม จะส่งผลถึงการลงทุนของกองทุนหรือไม่นั้นคงต้องพิจารณาดูความเหมาะสม การที่กองทุนจะขายหรือไม่ขายออกไปขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานของบริษัทนั้นๆ รวมถึงการตั้งราคาไอพีโอด้วยว่าเหมาะกับบริษัทหรือธุรกิจนั้นๆ อย่างไร
"ถ้าไม่จัดสรรหุ้นให้กองทุน เราก็คงทำอะไรไม่ได้ ซึ่งในส่วนของเราเองในการลงทุนหุ้นแต่ละตัวนั้น ก็มีการวิเคราะห์อยู่แล้ว อีกทั้งหุ้น ที่อยู่ในตลาดซึ่งมีความน่าสนใจและราคาถูกก็ยังมี เชื่อว่าคงจะไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญมากนัก แต่ก็ถือว่าเป็นอะไรที่น่าเสียดาย" นายณสุกล่าว
นายณสุกล่าวว่า คงเข้าถึงความลึกของตัวหุ้นไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นการจำกัดไม่ให้ผู้ลงทุนที่มีความหลากหลายเข้าไปแล้ว ซึ่งในหุ้น บางตัวที่ให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน เนื่องจากต้องการความลึกจาก นักลงทุนเหล่านี้ ซึ่งจะมีส่วนในกลไกการสร้างราคาที่เหมาะสม อีกทั้งนักลงทุนทั้งรายย่อยเองหรือนักลงทุนที่เป็นสถาบันก็มีความเสี่ยงที่แตกต่างกันออกไปด้วย
ขณะที่แหล่งข่าวจากผู้จัดการกองทุนรายหนึ่งกล่าวว่า ส่วนหนึ่งเป็นความจริงที่สถาบันจะเทขายทำกำไรสำหรับหุ้นไอพีโอที่ได้รับการจัดสรร โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรกของการซื้อขาย เนื่องจากผู้จัดการกองทุนบางรายต้องการเกาะดัชนีอินเดกซ์ไว้ ซึ่งหุ้นบางตัวที่เป็นหุ้นขนาดเล็ก เวลาที่ดัชนีปรับตัวขึ้นหุ้นเหล่านี้อาจจะไม่ขยับตามไป ทำให้สภาพคล่องของตัวหุ้นมีน้อยทั้งๆ ที่หุ้นบางตัวก็มีปัจจัยพื้นฐานที่ดี
อย่างไรก็ตาม สำหรับหุ้นไอพีโอ ส่วนใหญ่ได้มาในสัดส่วนที่น้อยอยู่แล้ว ซึ่งในการขายทำกำไรออกไปแต่ละครั้งมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (เอ็นเอวี) ของกองทุนแทบจะไม่ขยับเลย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเราเองก็ปฏิเสธ ที่จะรับหุ้นไอพีโอบางตัว เนื่องจากบริษัทที่เข้าจดทะเบียนส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดเล็ก ซึ่งถ้าหากเป็นบริษัทขนาดใหญ่ แน่นอนว่าไม่มีใครอยากขายออกไปอยู่แล้ว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|