ไอดีซีฟันธง EEE ตัวกำหนดทิศทางไอซีที


ผู้จัดการรายวัน(15 ธันวาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ไอดีซีคาดการณ์ EEE จะเป็นตัวกำหนดทิศทางไอซีทีในเอเชียแปซิฟิก ในรอบปี 2549 โดยมี 3 แกนหลักที่จะผลักดันให้เกิด EEE ส่วนในไทยตลาดพีซีโน้ตบุ๊กมาแรง บรอดแบนด์โตต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดโทรคมนาคมรายได้โทร. พื้นฐานถูก VoIP กินตลาดโดยประเมินรายได้รวม ของตลาดโทรคมนาคมรอบปี 2548 ไว้ที่ 5,490 ล้านเหรียญสหรัฐ และเพิ่มเป็น 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2550 โดยมีการสื่อสารประเภทเสียงและข้อมูลจากบริการมือถือเป็นตัวผลักดัน

นายฟิลลิป เดอ มาร์ซแลค รองประธานอาวุโส ฝ่ายธุรกิจระหว่างประเทศ ไอดีซี ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาและให้ข้อมูลการตลาดในอุตสาหกรรมไอทีและโทรคมนาคม กล่าวว่า จากการประเมินของไอดีซีคาดว่าการใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือไอซีทีขององค์กรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะถูกขับเคลื่อนโดย e-Empowered Employer (EEE) โดยมี 3 แกนหลักที่จะผลักดันให้เกิด EEE คือ

1. ในส่วนของผู้ใช้งาน ลักษณะพฤติกรรมการใช้งานฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ การเชื่อมต่อ และเนื้อหาอย่างต่อเนื่องของผู้บริโภค จากที่บ้านจะดำเนินต่อไปยังที่ทำงาน โดยผู้บริโภคหวังจะใช้ประสบการณ์การใช้งานไอทีแบบเดียวกับที่บ้านจากที่ทำงาน หรือไม่ก็มาตรฐานบริหารด้านฐานข้อมูลขององค์กรจะต้องดีกว่าซีไอโอหรือผู้จัดการระดับบริหารจำเป็นจะต้องปรับปรุง เพื่อตามให้ทันความต้องการในการแข่งขันขององค์กร รวมถึงความต้องการของบุคลากรโดยจำเป็นที่จะต้องตัดสินใจอย่างถ้วนถี่ในการลงทุนใดๆ

2. ในสังคมของผู้ค้าไอทีจำเป็นจะต้องคิดค้นลักษณะโครงสร้างธุรกิจที่สามารถวิวัฒนาการรูปแบบ การส่งมอบสินค้าความสามารถในการปรฏิบัติงาน และคัสโตเมอร์ เซอร์วิส เพื่อตอบสนองต่อ ความต้องการขององค์กรธุรกิจรวมไปถึงลักษณะการจัดซื้อ

3. รูปแบบของอุตสาหกรรมไอซีทีจะพบกับแรงกดดันที่จะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การเข้าตลาด ซึ่งจะทำให้เกิดการทดลองเพื่อพัฒนา การกระจายสินค้า และการสนับสนุนเพื่อลดค่าใช้จ่าย โอกาสลักษณะนี้จะทำให้เกิดผู้ค้ารายใหม่ๆ ในอุตสาห-กรรมนี้

"e-empowerment จะกลายเป็นพื้นฐานซึ่งบุคลการ ลูกค้า ซัปพลายเออร์ คู่ค้า และประชาชนทั่วไปเห็นว่า นี่เป็นสิ่งที่พวกเขาคาดหวังว่าจะได้รับจากไอซีทีในที่ทำงาน"

ไอดีซีเชื่อว่ามี 10 แนวโน้มที่จะเป็นตัวกำหนด ทิศทางของอุตสาหกรรมไอซีทีและจะขับเคลื่อนค่าใช้จ่ายด้านไอซีทีในเอเชียแปฟิก ไม่รวมญี่ปุ่นในปี 2549 คือ

1. คอนเทนต์สำหรับการเชื่อมต่อแบบไร้สายยังคงมีความร้อนแรง
2. Skype และ VoIP สำหรับผู้บริโภค ที่จะยังมีอัตราการโตอย่างต่อเนื่อง
3. อุปกรณ์แบบรวมหลากหลายฟังก์ชัน จะมีให้เลือกมากมายในตลาด
4. การควบรวมด้านไอทีจะผลักดันแบบแผนการจัดหาและการบริหารโครงสร้างพื้นฐานไอที 5. ข้อมูลอัจฉริยะหรือบิสิเนส อินเทลลิเจนซ์ (บีไอ) ซึ่งจะมีอัตราการโตอย่างเต็มที่ เพราะตัวสำคัญที่สุดในยุคนี้
6. การบริหารและควบคุมไอเดนทิตี้หรือการเข้าถึงข้อมูล
7. ความสามารถในการฟื้นคืนสู่ปกติ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดขององค์กรธุรกิจที่จำเป็นจะต้องพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานไอทีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
8. วิธีการใหม่ในการ จับคู่กับคู่ค้าเพื่อก้าวให้ทันความต้องการของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์
9. โอเพ่นซอร์สมีบทบาทมากขึ้นในตลาดบางประเทศ เช่น จีน อินเดีย และตลาดภาคราชการ
10. รูปแบบการส่งมอบบริการทางด้านไอทีจะเปลี่ยนแปลงไป

ส่วนมูลค่าตลาดบริการโทรคมนาคมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกไม่รวมญี่ปุ่น รอบปี 2549 ไอดีซีคาดการณ์ไว้ว่าจะโต 7% หรือมีมูลค่ากว่า 175 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ตลาดไอทีรวมจะมีอัตราการโต 6% คิดเป็นมูลค่าสูงกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสัดส่วน 64% จะมาจากจีน และอินเดียรวมกัน โน้ตบุ๊กในไทยมาแรง

สำหรับตลาดประเทศไทยในส่วนคอมพิวเตอร์ พีซีที่แยกเป็น 3 ประเภทคือ เดสก์ท็อป โน้ตบุ๊ก และเซิร์ฟเวอร์ โดยเดสก์ท็อปรอบปี 2547 ติดลบ 6% เนื่องจากปี 2546 มีโครงการคอมพิวเตอร์เอื้ออาทรของรัฐบาล และไม่มีโครงการขนาดใหญ่ในปีนี้ ส่วนปี 2548 มีอัตราการโตอยู่ที่ 13.9% ซึ่งถือว่าเข้าสู่อัตราการโตปกติ หรือมีอัตราการโตเฉลี่ย ต่อปีจากปี 2547-2552 อยู่ที่ 11.4%
โน้ตบุ๊กจะมีอัตราการโตมากกว่าเดสก์ท็อปโดยปี 2547 โต 12.3% ส่วนปี 2548 คาดว่าจะโตประมาณ 43.5% และคาดว่าจะมีอัตราการโตเฉลี่ยต่อปีจากปี 2547-2552 อยู่ที่ 17.7% ส่วนเซิร์ฟเวอร์ไม่มีอัตราการโต

ปัจจัยที่ส่งผลต่อตลาดพีซีมาจาก
1. เศรษฐกิจทั้งจากอัตราการโตของจีดีพี นโยบายของรัฐบาล รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยเงินตรา
2. ดีมานด์ ซึ่งเรื่องราคาถือว่ามีผลทำให้เกิดความต้องการจากตลาด มาก นอกจากนี้ ยังมีส่วนต่างของราคาระหว่างเดสก์ท็อปกับโน้ตบุ๊ก ที่ราคาโน้ตบุ๊กเริ่มลดลงเดสก์ท็อป ซึ่งเป็นสินค้าทดแทนแต่ไม่เต็มตัว
3. การพัฒนาของเทคโนโลยี
4. การผลักดันจากผู้ผลิต ผู้ค้า โดยการตอบโจทย์ด้วยความหลากหลายของสินค้า รวมถึงการโปรโมตในรูปแบบของแคมเปญต่างๆ สมาร์ทโฟนโตสูง

ส่วนทิศทางตลาดของอุปกรณ์สื่อสารในปี 2549 ซึ่งไอดีซีแยกเป็น 2 กลุ่มหลักคือ 1. แฮนด์เฮลด์ ดีไวซ์ ซึ่งประกอบด้วยเพน-เบส แฮนด์เฮลด์ กับคีย์แพด-เบส แฮนด์เฮลด์ 2. คอนเวอร์เจนซ์ ดีไวซ์ ที่รวมหลายเทคโนโลยีเข้าด้วยกันซึ่งประกอบด้วยดาต้า-เซนทริกที่เป็นพีดีเอที่เพิ่มฟังก์ชันโฟนเข้ากับวอยซ์-เซนทริกที่เป็นสมาร์ทโฟน ที่เพิ่มระบบปฏิบัติการหรือโอเอสเข้าไป

รอบปี 2548 เพน-เบสจะหดตัวลงโดยจะมีเพียง 1.5% ขณะที่สมาร์ทโฟนมีเพิ่มมากขึ้นโดย มีสัดส่วนอยู่ที่ 89.7% เพราะผู้บริโภคไม่ต้องการพกพาอุปกรณ์สื่อสาร 2 เครื่อง ที่เหลือเป็นดาต้า-เซนทริก 8.8% ทั้งนี้ ไอดีซีคาดการณ์ไว้ว่าอุปกรณ์สื่อสารจะมีอัตราการโตเฉลี่ยต่อปีจาก 2547-2552 อยู่ที่ 41.5% ปี 2552 ซอฟต์แวร์มีมูลค่าถึง 466 ล้านเหรียญ

ด้านตลาดซอฟต์แวร์ในปี 2548 ซอฟต์แวร์แอปพลิเคชันมีส่วนแบ่งอยู่ที่ 37.8% ซอฟต์แวร์ ซิสเต็ม อินฟราสตรักเจอร์มีส่วนแบ่ง 41.6% และซอฟต์แวร์แอปพลิเคชัน ดีเวลลอปเมนต์ แอนด์ ดีพลอยเมนต์ มีส่วนแบ่ง 20.6% และมีอัตราการโตเฉลี่ยต่อปีจาก 2547-2552 อยู่ที่ 12.4% และคาดว่า ปี 2552 จะมีมูลค่าสูงถึง 466 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากมีการใช้แอปพลิเคชันมากขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนทิศทางของตลาดซอฟต์แวร์ปีหน้า
1. ตลาดเอสเอ็มอีจะเป็นที่สนใจของผู้ค้า โดยจะมีการนำเสนอโซลูชันที่เหมาะสมใช้ นอกจากนี้ จะมีการขยายตลาดไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น
2. โอเพ่นซอร์สจะมีการใช้งานเพิ่มมากขึ้น
3. ผู้ค้าจะมีการพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง
4. กลุ่มการเงินการธนาคารจะมีการลงทุนมากขึ้นเพื่อให้ระบบ Compliance VoIP กระทบตลาดโทร.พื้นฐาน

สำหรับแนวโน้มของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ไทยรอบปี 2549 รายได้ของโทรศัพท์พื้นฐานจะลดลง 3.3% เนื่องจากการเข้ามาของบริการวอยซ์ โอเวอร์ ไอพี (VoIP) และมีความนิยมในการใช้มากขึ้น ส่วนอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือ บรอดแบนด์จะมีอัตราการโต 104% และมีผู้ใช้บริการรายใหม่ประมาณ 8 แสนราย จากรอบปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 4 แสนราย นอกจากนี้ จะมีการนำเทคโนโลยีไวแมกซ์มาทดลองติดตั้ง และให้บริการ ขณะที่ผู้ให้บริการจะมองหาช่องทางการเพิ่มรายได้จากการพัฒนาบริการใหม่ๆ จากการผสมผสานของเทคโนโลยีของโทรศัพท์พื้นฐานเข้าโมบาย หรือฟิกซ์-โมบาย คอนเวอร์เจนซ์

ด้านตลาดบริการประเภทไร้สายในเรื่องของ 3 จี ไม่สามารถคาดการณ์ได้เนื่องจากมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง และยังต้องรอใบอนุญาตหรือไลเซนส์ รวมถึงนโยบายของรัฐบาล แต่จะมีการนำมาทดสอบ นอกจากนี้ จะมีแอปพลิเคชันใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดเช่น การดาวน์โหลดเพลงทั้งอัลบั้มไว้บนมือถือ เป็นต้น ขณะเดียวกันก็จะมีการสร้างเครือข่ายให้ ผู้ประกอบการรายอื่นเช่า

ส่วนมูลค่าจากการให้บริการของอุตสาหกรรม โทรคมนาคมโดยรวมรอบปี 2548 คาดว่าจะอยู่ที่ 5,490 ล้านเหรียญสหรัฐ และเพิ่มเป็น 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2550 โดยมีรายได้จากบริการประเภทเสียงและข้อมูลที่มาจากมือถือเป็นตัวผลักดันตลาด ขณะที่ดาต้า เน็ตเวิร์ก เซอร์วิส ก็ยังจะโตต่อเนื่อง ส่วนรายได้ประเภทเสียงที่เป็นฟิกซ์ไลน์จะลดลง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.