เกรทไชน่าขายรร.-สนง. ใช้หนี้กรุงไทย1.5พันล.


ผู้จัดการรายวัน(15 ธันวาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

"เกรทไชน่าฯ" เล็งขายโรงแรม สำนักงานให้กลุ่มทุนนอก หวังรับเงินกว่า 2,000 ล้านบาทเตรียมใช้หนี้คืนแบงก์กรุงไทย 1,500 ล้านบาท อ้างไม่มีประสบการณ์ด้านบริหารโรงแรม ส่วนคอนโดฯขายได้เพียง 30% รอดู สถานการณ์ปีหน้าหากขายไม่ได้เล็ง ปรับเป็นเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์

นายวิทวัส วิภากุล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เกรทไชน่า มิลเลนเนียม (ไทยแลนด์) จำกัด เจ้าของโครงการประตูน้ำ เซ็นเตอร์ ซึ่งมีทั้งศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน โรงแรม และคอนโดมิเนียม เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับกลุ่มทุน อสังหาริมทรัพย์จำนวน 2 กลุ่มคือฮ่องกง และสิงคโปร์ เพื่อเจรจาซื้อขายโรงแรมของบริษัทที่อยู่ภายในโครงการประตูน้ำ เซ็นเตอร์ มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท จำนวน 400 ห้อง โดยคาดว่ากลุ่มที่ได้รับการคัดเลือกน่าจะเป็นทางสิงคโปร์ เนื่อง จากปัจจุบันกลุ่มดังกล่าวทำธุรกิจโรงแรมอยู่ทั่วโลกแต่ยังไม่มีเชนโรงแรมในประเทศไทย ซึ่งเป็นโรงแรมระดับ 4 ดาว ทั้งนี้ คาดว่าน่าจะสามารถลงนามบันทึกความเข้าใจกันได้ภายในปีนี้

สำหรับเงื่อนไขที่มีการเจรจากันนั้นมี 2 ทางเลือก คือ ทางเลือก แรกกลุ่มดังกล่าวจะซื้ออาคารโรงแรมจากบริษัท 100% หรือทางเลือกที่ 2 อาจจะซื้อแค่ 80% และอีก 20% บริษัทจะยังคงถือหุ้นเหมือนเดิม แต่กลุ่มดังกล่าวจะเลือกแนวทางใดนั้นขึ้นอยู่กับทางนักลงทุนเป็นหลัก ซึ่งบริษัทสามารถ รับได้ทั้งสองทางเลือก สำหรับสาเหตุที่ขายตัวโรงแรมออกไป เนื่องจากบริษัทไม่มีความชำนาญหรือมีประสบการณ์ในด้านโรงแรม รวมถึงต้องใช้เชนเข้ามาบริหาร ดังนั้นจึงเห็นว่าการขายเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

"กลุ่มทุนที่เข้ามาเจรจาซื้อเขายืนยันว่าจะทำได้ แม้ว่าในบริเวณใกล้เคียงจะมีโรงแรมระดับ 4 ดาวอยู่แล้วก็ตาม นอกจากนี้ใน ส่วนของอาคารสำนักงานซึ่งมีมูลค่า 800-900 ล้านบาทนั้นบริษัทก็อยู่ระหว่างเจรจากับกองทุนอสังหา ริมทรัพย์จากยุโรป โดยคาดว่าจะซื้อทั้งตึกเช่นกัน ซึ่งส่วนนี้ การเจรจา แล้วเสร็จเมื่อไหร่ยังไม่สามารถบอก ได้ หากขายไม่ได้ก็ไม่มีปัญหาบริษัทจะบริหารเองก็ได้ ทั้งนี้ เงินที่จะได้จากการขายทรัพย์สินทั้ง 2 อย่าง ซึ่งจะมีมูลค่ารวมกว่า 2,000 ล้านบาท บริษัทจะนำมาใช้หนี้ธนาคารกรุงไทยที่ปัจจุบันบริษัทใช้สินเชื่อเพื่อก่อสร้างโครงการอยู่รวมประมาณ 1,500 ล้านบาท"นายวิทวัสกล่าว

นายวิทวัส กล่าวต่อว่า ในส่วนของโครงการ คอนโดมิเนียมนั้น ยอมรับว่าการขายค่อนข้างล่าช้า โดยขณะนี้ขายไปได้เพียง 30% เท่านั้น หรือ 250 ล้านบาท จากมูลค่าทั้งหมด 800 ล้านบาท ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุมาจากการขายดังกล่าวเป็นการขายสิทธิให้เช่า 30 ปี จากกรมการศาสนา ในขณะที่คู่แข่งในย่านเดียวกันแม้ว่าจะขายในราคาแพงกว่า 30% ผู้ซื้อได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ทำให้ลูกค้าลังเลในการซื้อ อย่างไรก็ตามบริษัทคง ต้องรอดูว่าในปี 2549 ซึ่งเป็นช่วงที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จ ยอดขายจะคืบหน้าไป ได้มากน้อยแค่ไหน และแม้ว่าจะไม่สามารถขายได้ทั้งหมดก็สามารถนำไปทำเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ ได้ เพราะมีโรงแรมอยู่ในบริเวณเดียวกันอยู่แล้ว

"จริงๆ แล้ว ในเรื่องคอนโดฯนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นที่ดินฟรีโฮล หรือมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เพราะในที่สุดเมื่อครบ 30 ปีแล้วอาคารก็ทรุดโทรมต้องการปรับปรุงใหม่ ซึ่งไม่เหมือนบ้านที่จำเป็นต้องเป็นกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เพราะเมื่อบ้านหมดสภาพก็ทุบแล้วสร้างใหม่ได้เลย" นายวิทวัสกล่าว

ด้านนายวรพงษ์ บุพสิริ หัวหน้าส่วนการตลาด บริษัท เกรทไชน่าฯ กล่าวว่า ความคืบหน้า การขายพื้นที่ศูนย์การค้าในประตูน้ำคอมเพล็กซ์ เซ็นเตอร์ขณะนี้ ขายพื้นที่ได้แล้ว 60% แต่มีปัญหาว่าคนที่ซื้อไปแล้วประมาณ 50% ไม่ยอมเปิดบริการ ทำให้ลูกค้าเข้ามาเดินไม่มากนัก บริษัทจึงมีแผนที่จะดึงกลุ่มค้าปลีกขนาดใหญ่มาใช้พื้นที่ เพื่อดึงลูกค้าเข้ามาใช้บริการได้ โดยขณะนี้กำลังเจรจากับทางกลุ่มเทสโก้ โลตัส และคาร์ฟูร์ เพื่อให้มาเปิดซูเปอร์มาร์เกตในพื้นที่ของโครงการอยู่ นอกจากนี้ในสัปดาห์หน้าจะเจรจากับทางกลุ่มเซ็นเตอร์ พอยต์ ที่ปัจจุบันเปิดบริการที่สยาม สแควร์มาใช้พื้นที่ในศูนย์ด้วย โดยคาดว่ากลุ่มเซ็นเตอร์พอยต์จะใช้พื้นทั้งชั้น บริเวณชั้น 2 หรือชั้น 4 ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป

ทั้งนี้ ในส่วนของพื้นที่ใต้ดินนั้นกลุ่มนารายภัณฑ์ได้เช่าทั้งพื้นที่โดยจะเข้าใช้พื้นที่ในปีหน้า เนื่องจากพื้นที่เดิมด้านข้างของห้างสรรพสินค้าเกษร พลาซ่าหมดสัญญาเช่า นอกจากนี้ยังเปิดศูนย์ท่องเที่ยวกว่า 200 บูท โดยมีสัญญา เช่า 3 ปี และต่อสัญญาได้อีก 3 ปี ซึ่งจะทำให้มีคนเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.