แบงก์ชาติปรับอาร์พี0.25% ห่วงเงินเฟ้อ-จับศก.สหรัฐฯ


ผู้จัดการรายวัน(15 ธันวาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์ชาติค่อนข้างระมัดระวังใน การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุด ก่อนจะตัดสินใจปรับอาร์พีขึ้น 0.25% จากที่สองครั้งก่อนปรับขึ้นครั้งละ 0.5% เผยความจำเป็นในการปรับดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วมีน้อยลง แต่ยังคงเกาะติดเงินเฟ้อเพราะมีแรงกดดันด้านราคา ยอมรับกังวลแนวโน้มราคาน้ำมัน และความไม่สมดุลของเศรษฐกิจสหรัฐฯ นักวิเคราะห์ชี้ กนง.อิงตามเฟดที่เริ่มหยุดขึ้นดอกเบี้ย ด้านแบงก์กรุงไทยขึ้นดอกเบี้ยฝากระยะยาวสูงสุดถึง 0.75% ส่วนเงินกู้ 0.25% มีผลวันนี้

วานนี้ (14 ธ.ค.) นางอัจนา ไวความดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมนัดสุดท้ายปี 2548 ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่า มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรืออัตราดอกเบี้ย ตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน (อาร์พี 14 วัน) อีก 0.25% ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นจาก 3.75% มาอยู่ที่ 4% เนื่องจากพิจารณาภาวะเศรษฐกิจ และแนวโน้มในระยะต่อไปแล้วเห็นว่าความ เสี่ยงของอัตราเงินเฟ้อยังคงมีแรงกดดันด้านราคาอยู่ อย่างไรก็ตาม ความจำเป็นที่ต้องปรับอย่างรวดเร็ว มีน้อยลง

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤศจิกายนชะลอลงมาอยู่ที่ 5.9% จากเดือนตุลาคมที่อยู่ในระดับ 6.2% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวในเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 2.4% คาดว่าอัตราเงินเฟ้อปีหน้ายังอยู่ที่ 3.5-5%

"แม้ว่าเงินเฟ้อปรับตัวไปในทิศทางที่ชะลอลง แต่ในระบบเศรษฐกิจก็ยังมีแรงกดดันที่อาจส่งผลให้เงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นได้อีก เช่นราคาน้ำมันที่อาจปรับสูงขึ้นในระยะต่อไป"นางอัจนากล่าว

สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ที่แท้จริงขณะนี้ยังคงติดลบ 1.6% การปรับอาร์พีขึ้นครั้งนี้จึงน่าจะช่วย ให้ดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงติดลบน้อยลง ซึ่งหากพิจารณาจากแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปที่จะชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้าตามการอ่อนตัวของราคาน้ำมันดิบโลก และการขยับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก ของธนาคารพาณิชย์ คาดว่าดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงคิดจากดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน จะกลับมาเป็นบวกได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2549

นางอัจนากล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจ และนโยบายการเงินในต่างประเทศว่า ธนาคารกลางหลาย ประเทศทั้งในเอเชียและยุโรปเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ย แม้กระทั่งธนาคารกลางของสหภาพยุโรปก็ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรก แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของโลกยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และการดำเนินนโยบายการเงินที่สร้างเสริมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของธนาคารกลางทั่วโลก ชี้ให้เห็นว่าเงินเฟ้อ โลกอยู่ในภาวะที่ถูกควบคุมไม่ให้สูงขึ้นอย่างเร็วนัก แต่สิ่งที่ไทยและทั่วโลกเป็นห่วงคือ เรื่องราคาน้ำมันในอนาคต และปัญหาความไม่สมดุลของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งต้องจับตาดูในระยะต่อไป

นายทนง พิทยะ รมว.คลัง กล่าวว่า ดอกเบี้ยที่เหมาะสมจะต้องทำให้เกิดการออมและไม่ทำให้เกิดการไหลเข้าและออกของเงินทุนเกินกว่าความจำเป็น ทั้งนี้ ดอกเบี้ยในประเทศไม่จำเป็นต้องปรับตามสหรัฐฯทุกครั้ง อย่างไรก็ตาม นายทนงคาดว่าจากนี้เฟดอาจปรับดอกเบี้ยขึ้นอีกครั้ง กรุงไทยกระชากดบ.ฝากยาว 0.75%

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารจะปรับเพิ่มดอกเบี้ยเงินฝากขึ้นอีก 0.25-0.75% ต่อปี และเงินกู้ขึ้นอีก 0.25% ต่อปี ประกอบด้วยเงินฝากประจำ 3 เดือน วงเงินน้อยกว่า 1 ล้านบาท จ่ายในอัตรา 2.00% วงเงินตั้งแต่ 1 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 10 ล้านบาท 2.50% วงเงินตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป 2.75% เงินฝากประจำ 6 เดือน วงเงินน้อยกว่า 1 ล้านบาท 2.25% ต่อปี วงเงิน ตั้งแต่ 1 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 10 ล้านบาท 2.75% ต่อปี วงเงินตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป 3.00% เงินฝากประจำ 12 เดือน วงเงินน้อยกว่า 1 ล้านบาท 2.50% ต่อปี วงเงินตั้งแต่ 1 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 10 ล้านบาท 3.00% วงเงินตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป 3.25% เงินฝากประจำ 24 เดือน 3.25% เงินฝากประจำ 36 เดือน 3.75%

สำหรับเงินฝากกรุงไทยทวีคูณ ซึ่งเป็นเงินฝากปลอดภาษี โดยผู้ฝากต้องฝากเท่ากันทุกเดือนเป็นระยะเวลา 24 เดือน ผลตอบแทนอิงกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนสูงสุด บวก 1% ธนาคารจะจ่ายดอกเบี้ย 4.25% หรือเพิ่มขึ้น 0.75%

ด้านเงินกู้ ธนาคารจะปรับดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทขึ้นอีกอย่างละ 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ปรับเพิ่มเป็น 6.50% MOR ปรับเป็น 6.75% และ MRR ปรับเป็น 7.00% มีผลตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะอัตราดอกเบี้ยในตลาด ทั้งนี้ การปรับดอกเบี้ยของธนาคารกรุงไทยครั้งนี้ เป็นการ ปรับตามหลังธนาคารพาณิชย์เอกชนขนาดใหญ่ที่ได้ปรับขึ้นไปก่อนหน้า

นางชาลอต โทณวณิก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ธนาคารกรุงศรีฯ คาดว่า กนง.จะมีการปรับดอกเบี้ย นโยบาย 0.50% แต่เมื่อ กนง.ปรับขึ้นเพียง 0.25% ธนาคารฯ จึงยังไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในตอนนี้

นายเมฆ เมฆเสรีกุล นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบสองครั้งก่อนหน้า กนง.ได้ปรับเพิ่มอาร์/พี 14 วัน ขึ้นครั้งละ 0.5% การปรับเพียง 0.25% ในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าแม้ดอกเบี้ยนโยบายยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น แต่ความจำเป็นที่จะต้องปรับอย่างรวดเร็วลดลง

"การปรับดอกเบี้ยดังกล่าว ส่วนหนึ่งมาจาก การปรับดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งหลายคนเชื่อว่า นโยบายการเงินของสหรัฐฯที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ได้มาถึงจุดที่สมดุลแล้ว และจะหมดลงในไม่ช้า"

เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.25%

ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) มีมติวันอังคาร(13) ขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปอีก 0.25% เป็นครั้งที่ 13 ต่อเนื่องกัน แต่ก็ส่งสัญญาณบ่งบอกว่า กระบวนการเพิ่มความเข้มงวดด้านสินเชื่อขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) ลงมติด้วยเสียงเอกฉันท์ให้เพิ่มเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยเฟดฟันด์เรต ซึ่งเป็นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นไปหนึ่งสลึง เป็น 4.25% อันเป็นระดับสูงที่สุดนับแต่เดือนเมษายน ปี 2001 เป็นต้นมา ความเคลื่อนไหวของเฟดคราวนี้เป็นเรื่องที่คาดหมายกันอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว และนักวิเคราะห์ในตลาดการเงินพุ่งความสนใจไปที่คำแถลง อธิบายความมากกว่าว่าจะบ่งชี้ทิศทางแนวโน้มในอนาคตอย่างไร

ประเด็นหนึ่งซึ่งได้รับการหยิบยกขึ้นมาพูดกันมาก คือ ในคำแถลงหลังการประชุมคราวนี้ไม่ปรากฏ วลีที่บรรยายภาวะดอกเบี้ยว่าอยู่ในสภาพ "เอื้ออำนวย" ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ หลังจากที่อยู่ใน คำแถลงภายหลังการประชุมเอฟโอเอ็มซีมาต่อเนื่องหลายครั้งหลายครา ดังนั้นจึงน่าจะหมายถึงว่า การรณรงค์ที่เฟดผลักดันดอกเบี้ยให้พุ่งขึ้นจากระดับ ต่ำเตี้ยติดดินที่ 1.0% เมื่อตอนกลางปี 2003 บัดนี้กำลังใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว

แต่กระนั้น คำแถลงคราวนี้ก็มีถ้อยคำบ่งชี้เช่นกันว่า เฟดยังจะไม่หยุดในตอนนี้ ทว่าน่าจะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ไปอีกอย่างน้อยครั้งหนึ่ง โดยกล่าวว่า "คณะกรรมการวินิจฉัยว่า นโยบายมุ่งให้เกิดความมั่นคงอย่างค่อยเป็นค่อยไปต่อไปอีกสักหน่อย น่าจะยังมีความจำเป็น ทั้งนี้เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่างๆ และจะได้สามารถบรรลุทั้งอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ทั้งเสถียรภาพของราคาในอาการที่ค่อนข้างสมดุลได้"

เอฟโอเอ็มซีกำหนดประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 31 มกราคม ปีหน้า ซึ่งจะเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายที่ อลัน กรีนสแปน ได้เข้าร่วมในฐานะประธานเฟด นักวิเคราะห์บางคนจึงมองว่า การที่คำแถลงของเฟดเปลี่ยนถ้อยคำไปจากเดิมบ้าง น่าจะเป็นการปูพื้น เผื่อให้ เบน เบอร์นานกี ว่าที่ประธานเฟดคนใหม่ มีที่ทางที่จะปรับนโยบายได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.