"แบงก์เทศไปไกลถึง Electronics Banking แล้ว"

โดย ฐิติเมธ โภคชัย
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า แบงก์ต่างประเทศมีความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีกว่าแบงก์ไทยหลายเท่าตัว ซึ่งแต่ละแบงก์ อาทิ ซิตี้แบงก์ ฮ่องกงหรือแม้แต่สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดแบงก์ก็ได้วางสถานะของตนเองเป็นธนาคารที่ให้บริการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นเวลานานมาแล้ว

ในขณะที่แบงก์ไทยเพิ่งเริ่มต้นมาพัฒนาด้านนี้อย่างจริงจัง แบงก์ต่างประเทศได้ไปไกลถึงขั้นพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองขึ้นมาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้เทคโนโลยีที่แบงก์ไทยและแบงก์ต่างชาตินำมาใช้ยังมีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก เพราะแบงก์ต่างชาติจะเน้นการพัฒนาระบบและซอฟต์แวร์ด้วยตนเอง ขณะที่แบงก์ไทยจะซื้อระบบสำเร็จรูปเข้ามาติดตั้ง

ตัวอย่างของฮ่องกงแบงก์ จะมีศูนย์การพัฒนาเทคโนโลยีทั้งที่เพื่อใช้ภายในองค์กรเอง และเป็นผลิตภัณฑ์บริการลูกค้า หรือที่เรียกว่า IT Center อยู่ที่แคนาดา ซึ่งจะเป็นสำนักงานใหญ่ และฮ่องกง แต่ถ้าเป็นฮาร์ดแวร์แบงก์นี้จะใช้บริการจากไอบีเอ็ม

หากจะมองถึงความคุ้มหรือไม่คุ้มในการพัฒนาเทคโนโลยนีด้วยตนเองกับการซื้อสำเร็จรูปในมุมมองของ ริชาร์ด ครอมเวลล์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารฮ่องกง ให้ความเห็นว่า

"การซื้อเทคโนโลยีสำเร็จรูปมาใช้จะมีข้อดีตรงที่มีราคาถูก แต่จะมีข้อเสียตรงที่คู่แข่งสามารถซื้อมาใช้ได้เช่นกัน ซึ่งจะทำให้เทคโนโลยีไม่มีความแตกต่างกัน และไม่ทันสมัยมากนัก แต่ถ้าเราทำเองมันสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีและมีราคาถูกแม้ว่าจะต้องใช้เงินลงทุนสูงก็ตาม" ซึ่งก็คงเป็นความโชคดีที่แบงก์นี้มีฐานเงินทุนที่ใหญ่มากแห่งหนึ่งในโลก

ในปีหนึ่ง ๆ แบงก์แห่งนี้ใช้เงินลงทุนด้านเทคโนโลยีไปไม่น้อย ซึ่งผู้บริหารของแบงก์ไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขได้ บอกได้แต่เพียงว่ามากจริง ๆ โดยธนาคารได้เริ่มต้นพัฒนาเทคโนโลยีมาตั้งแต่ปี 2512 หลังจากที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยกว่าครึ่งศตวรรษ โดยครั้งนั้นได้ทำการปรับองค์กรหรือ Re-engineering เช่นนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้กับบัญชีกระแสรายวัน บัญชีออมทรัพย์ บัญชีเงินฝากประจำทั้งหมด

ปัจจุบัน กลุ่มฮ่องกงแบงก์มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีจนถึงขั้นเป็น Electronics Banking System ซึ่งลูกค้าของแบงก์สามารถใช้บริการ และทำธุรกรรมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์เกือบทั้งหมด ขณะเดียวกันยังมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า HEXAGON โดยใช้เทคโนโลยีที่ล้ำหน้ามาก เพราะลูกค้าของแบงก์สามารถติดต่อและทำธุรกรรมกับแบงก์ ไม่ว่าจะเป็นการสอบถามบัญชี การโอนเงิน การจ่ายเงินผ่านเช็ค การสอบถามข้อมูลต่าง ๆ ตลอดจนการทำธุรกิจอื่น ๆ ได้โดยผ่านทางหน้าจอเครื่อง PC ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมาติดต่อที่แบงก์ ซึ่งระบบนี้ธนาคารได้นำออกมาให้บริการแก่ลูกค้าได้ประมาณ 3 ปี ซึ่งลูกค้าเป้าหมายจะเป็นบริษัท ปัจจุบันมีลูกค้าที่ใช้บริการ HEXAGON เกือบ 100 รายแล้วในประเทศไทย

"ระบบนี้มีความทันสมัยมากเป็นระบบที่ส่งผ่านขึ้นไปยังดาวเทียม และมีระบบ Backup cable ทำให้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงมากไม่ว่าจะคุณจะอยู่ห่างไกลแค่ไหน"

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้แบงก์ยังมีแผนที่จะพัฒนาระบบ PC Home Banking เพื่อใช้กับกลุ่มลูกค้ารายย่อย ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการทำธุรกิจของแบงก์จากนี้ไป โดยระบบนี้จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับ HEXAGON ซึ่งลูกค้าสามารถใช้บริการแบงก์ได้ทุกประเภท ยกเว้นเฉพาะถอนเงินสดเท่านั้นที่ทำไม่ได้ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการวิจัยความต้องการของลูกค้าในเบื้องต้น ซึ่งเมื่อผลวิจัยเสร็จสมบูรณ์แล้วก็จะนำผลนี้ส่งไปยังศูนย์ IT ที่ฮ่อกงเพื่อพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าคนต่อไป

ถึงจุดนี้หลายคนคงมีคำถามขึ้นในใจว่าแล้วจะวางใจได้อย่างไรว่าข้อมูลส่วนตัวจะไม่ถูกล้วงเข้าไปโดยบุคคลที่ไม่พึงปรารถนา ซึ่งเรื่องนี้ ครอมเวลล์ ยืนยันอย่างหนักแน่นว่าระบบนี้มีความปลอดภัยสูงที่สุดมิฉะนั้นบริษัทประกันยักษ์ใหญ่อย่างลอยด์ (Lioyd) คงไม่เข้ามารับประกันต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ลูกค้าไม่ว่าจะเป็นเงินจำนวนเท่าไหร่ก็ตาม

ล่าสุด ฮ่องกงแบงก์เพิ่งติดตั้งเทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้ในด้านการนำเข้า-ส่งออกและในเดือนนี้ก็จะนำระบบหลักทรัพย์เข้ามาติดตั้ง

"ระบบเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อลูกค้า และพนักงานของเรา เพราะสามารถทำงานได้เร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้นโดยเฉพาะค่าล่วงเวลา ผลตอบแทนที่ได้ก็จะตามมาและลูกค้าได้รับบริการดีขึ้น" ครอมเวลล์ อธิบาย พร้อมเสริมว่าหากจะดูผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนทางเทคโนโลยีแล้วสามารถวัดได้จากอัตราการเติบโตของแบงก์ซึ่งปัจจุบันกลุ่ม HSBC ได้ขึ้นมาอยู่ในอันดับแบงก์ที่รวยที่สุดในโลกแบงก์หนึ่ง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.