|

ปตท.จัดทัพเร่งควบโรงกลั่น
ผู้จัดการรายวัน(14 ธันวาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ปตท.เร่งจัดทัพธุรกิจใหม่ให้เสร็จใน ปี 2550 โดยเหลือเพียง 3 ธุรกิจหลัก ล่าสุดเร่งศึกษาควบรวมธุรกิจโรงกลั่นหลังประสบความสำเร็จในการ ควบรวมกิจการโอเลฟินส์ โดยนำ"ปตท.เคมิคอล" เข้าเทรดซื้อขายในกระดานหุ้นวันแรกฉลุยเกินเป้าหมาย ลั่นทีพีไอหลังอยู่ภายใต้การบริหาร ปตท.จะเป็นบริษัทที่มีความแข็งแกร่งที่สุดรายหนึ่งในตลาดฯภายใน 2 ปี โดยวานนี้ (13 ธ.ค.) ปตท.และพันธมิตร ควักเงินจ่ายค่าหุ้นเพิ่มทุนทีพีไอเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.จะปรับโครงสร้างธุรกิจให้สมบูรณ์ในปี 2550 โดยจะมีการควบรวมบริษัทในเครือฯ เหลือเป็น 3 ธุรกิจหลักที่นำเข้าจดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกอบด้วย 1. บมจ.ปตท.สผ.(PTTEP) ทำธุรกิจ สำรวจและผลิตปิโตรเลียม 2. บมจ. ปตท.เคมิคอล (PTTCH) ทำธุรกิจ ด้านปิโตรเคมีที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็น วัตถุดิบ และ บมจ.ปตท.รีไฟเนอรี่ ทำธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน โดยทั้ง 3 บริษัทดังกล่าวจะมีมาร์เกตแคปใหญ่ติดอันดับท็อปเท็นของตลาดหุ้นไทย
นับจากนี้ ปตท.จะให้ความสำคัญในธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและโรงอะโรเมติกส์ โดยจะทำการไฟลิ่งบริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด(มหาชน) (RRC) ต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)ในปลายธ.ค.นี้ และจะเข้าเทรดในตลาดหุ้นไทยช่วงไตรมาส 1/2549 ซึ่งขณะนี้ปตท.กำลังศึกษาร่วมกับบริษัท อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ATC) ในการลงทุนร่วมกับ RRC โครงการอะโรเมติกส์โรง 2 เพื่อลดเงินลงทุนและสร้างความแข็งแกร่งให้ ATC เพื่อให้เกิดพลังร่วม (Synergy) หลังจากนั้นปลายปี 2549หรือต้นปี 2550 จะดำเนินการควบรวมระหว่าง RRC และ ATC
หลังจากนั้น ในปี 2550 ปตท.จะปรับปรุงโครงสร้างธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันครั้งใหญ่เพื่อควบรวมบมจ.ไทยออยล์ (TOP) RRC และ ATC โดยจะพิจารณาทรัพย์สินทั้งหมดของธุรกิจนี้ เพื่อควบรวมให้เหลือเพียงบริษัทเดียว คือ บมจ.ปตท. รีไฟเนอรี่ เพื่อทำธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันแทนปตท. รวมทั้งถือหุ้นในบริษัท โรงกลั่นน้ำมันสตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) และโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ที่ปตท.ถือหุ้นอยู่เพียง 25-30% ส่งผลให้ บริษัท ปตท.รีไฟเนอรี่ กลายเป็นบริษัทที่มีกำลังการกลั่นน้ำมันสูงถึง 5 แสนบาร์เรล/วัน แข่งขันกับโรงกลั่นน้ำมันอื่นๆในภูมิภาคนี้ได้
"ทิศทางธุรกิจการกลั่นยังอยู่ในช่วงขาขึ้น เนื่องจากกำลังการกลั่นมีจำกัด และการขยายโรงกลั่นมีไม่ทันความต้องการที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าขณะนี้การกลั่นจะชะลอตัวลงบ้างก็ตาม"
นายประเสริฐ กล่าวถึงความคืบหน้าในการเข้าไปถือหุ้นในบมจ.ปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน)(TPI)ว่า ปตท.ได้ชำระเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนของทีพีไอเรียบร้อยแล้วเมื่อวานนี้ (13 ธ.ค) ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้โครงสร้างการ ถือหุ้นของทีพีไอเปลี่ยนไปเป็นกลุ่มพันธมิตรร่วม ทุนถือหุ้น 60% กลุ่มเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นรายย่อย 40% หลังจากนี้ ผู้บริหารแผนฯทีพีไอจะดำเนินการยื่นออกจากกระบวนการฟื้นฟูกิจการและเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อปรับเปลี่ยนกรรมการ บริษัทฯ โดยปตท.จะส่งผู้บริหารเข้าไปดูแลบริหารจัดการบริษัทฯ ร่วมกับทีมงานเดิมของทีพีไอ
ทั้งนี้ ปตท.จะแยกการบริหารงานทีพีไอไว้ต่างหาก เนื่องจากทีพีไอมีการดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีแบบครบวงจร และปตท.ถือหุ้นเพียง 31.5% เท่านั้น แต่ในอนาคตหากปตท.ถือหุ้นเกิน 50% ก็จะพิจารณาอีกครั้งว่าจะมีการควบรวมกับ บจม. ปตท.เคมิคอลหรือไม่ แต่ปัญหาเฉพาะหน้าของ ทีพีไอนับจากนี้ คือการปรับโครงสร้างหนี้ที่เหลือ อยู่ 900 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้ทีพีไอดำเนินธุรกิจอย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ เชื่อว่าภายใน 2 ปีข้างหน้าทีพีไอจะเป็นบริษัททที่มีความ เข้มแข็งอีกบริษัทหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ฯ
สาเหตุต้องรีไฟแนนซ์หนี้ทีพีไอ 900 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากต้องการปลดล็อกพันธนาการเงื่อนไขต่างๆของทีพีไอ จนทำให้บริษัทฯไม่สามารถพัฒนาบริษัทฯต่อไปได้ อาทิ หากทีพีไอมีเงินเหลือจะต้องชำระหนี้ก่อน โดยไม่คำนึงว่าจะต้องนำไปลงทุนเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้บริษัทฯได้มีการเจรจากับเจ้าหนี้รายเดิมและเจ้าหนี้ใหม่เพื่อขอรีไฟแนนซ์หนี้ทั้งก้อน และยืนยันว่าเจ้าหนี้ทีพีไอจะได้รับการชำระหนี้ทุกบาททุกสตางค์ภายใต้การบริหารงานของ ปตท. หุ้น PTTCH เทรดวันแรกกระฉูด
นายประเสริฐ กล่าวต่อไปว่า หุ้นบมจ. ปตท. เคมิคอล (pttch) ซึ่งเป็นหุ้นควบรวมกิจการบมจ.ปิโตรเคมีแห่งชาติ (NPC) และบมจ. ไทยโอเลฟินส์ (TOC) ได้ดำเนินการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นวันแรก(13 ธ.ค.) ปรากฏว่า ราคาหุ้น pttch เมื่อเปิดตลาดกระโดดไปถึง 90 บาท/หุ้นเป็นระดับราคาที่น่าพอใจ เมื่อเทียบจากราคาเฉลี่ยของ 2 บริษัทที่ 79 บาท แสดงว่าตลาดตอบรับซึ่งการควบรวมกิจการ ถือเป็นมิติใหม่ของตลาดหลักทรัพย์ฯที่มีบริษัทฯขนาดใหญ่ ควบรวมกิจการกัน โดย PTTCH จะเป็นบริษัท หลักของ ปตท.ในการทำธุรกิจปิโตรเคมีที่ใช้วัตถุดิบจากก๊าซธรรมชาติ และทำให้บริษัทมีเข้มแข็งและกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ราคาหุ้น PTTCH เปิดตลาดที่ 89 บาท ราคาปิดที่ 84.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1,019.51 ล้านบาท
"ผมเชื่อมั่นว่า PTTCH จะเป็นบริษัทที่สามารถแข่งขันบริษัทปิโตรเคมีในภูมิภาคนี้ และจะเป็นบริษัทหลักในไม่กี่บริษัทของปตท.ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้ก๊าซธรรมชาติ โดยท่อก๊าซฯเส้น ที่ 3 จะแล้วเสร็จ มีปริมาณก๊าซฯเข้าระบบอีก 2 พันล้านลบ.ฟุต/วัน ทำให้ต้องมีการสร้างโรงแยก ก๊าซฯแห่งที่ 6-8 ในอนาคตทำให้ได้อีเทน โพรเพน และแอลพีจี เพื่อนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจปิโตรเคมี"
นายอดิเทพ พิศาลบุตร์ กรรมการผู้จัดการ ใหญ่ บริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รายได้ของบริษัท ปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 5.6-5.7 หมื่นล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นเป็น 6 หมื่นล้านบาท ในปี 2549 จากการประเมินราคาโอเลฟินส์ เฉลี่ยที่ 800-850 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีกำลังผลิตโอเลฟินส์ 1.4 ล้านตัน และในปีหน้าจะมีกำลังการผลิตโอเลฟินส์เพิ่มขึ้นอีก 1 แสนตัน และในไตรมาส 2/2549 จะมีกำลังการผลิตอีโอ/อีจีเข้ามาเพิ่มอีก 1.5 แสนตันในปี 2550 บริษัทฯจะดำเนินการหยุดโรงงาน เพื่อต่อเชื่อมยูนิตใหม่ในส่วนการขยายกำลังผลิตแบบคอขวด (DEBOTTLENECK)โรงที่ 1 เป็นเวลา 45-60 วัน ทำให้มีกำลังการผลิต โอเลฟินส์เพิ่มขึ้นเป็น 1.65 ล้านตัน/ปี
ทั้งนี้ PTTCH ไม่มีแผนที่จะเข้าไปถือหุ้นในบมจ.วีนิไทย เกิน 25% เนื่องจากไม่ต้องการตั้งโต๊ะซื้อหุ้นคืนจากรายย่อย(เทนเดอร์ออฟเฟอร์)
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|