|

ดันกองทุนบอนด์ระยะยาว เพิ่มเงินออมลดขาดดุลบัญชี
ผู้จัดการรายวัน(14 ธันวาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์ชาติ ผลักดันกองทุนพันธบัตรระยะยาว หวังดึงเงินออมภายในประเทศเพิ่มขึ้นรองรับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด คาดจะมีกองทุนพันธบัตรเอเชียกองที่ 2 หรือ ABF2 เป็น กองทุนแรกที่เริ่มดำเนินการในต้นปี 2549 ระบุต้องการให้ผู้บริหารกองทุนของไทยใช้ "ดัชนีพันธบัตร" ในการบริหารกองทุนพันธบัตรให้มีต้นทุนที่ต่ำลง
นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพสถาบันการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ต้องการที่จะสร้างเครื่องมือใหม่ๆ ในการระดมเงินออมของประเทศเพื่อรองรับการลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงปีหน้าและปีต่อๆ ไป ซึ่งการลงทุนของรัฐบาลและเอกชนในช่วงต่อไปจะส่งผลให้ประเทศไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง ดังนั้นจึงต้องมีความพยายามในการสร้างการออม ของประเทศให้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ การส่งเสริมให้เกิดกองทุนพันธบัตรและตราสารหนี้ระยะยาวนับว่าเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วย ให้เกิดการออมเงินระยะยาวของประเทศ และช่วยให้การระดมทุนของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ ที่ต้องการเงินลงทุนระยะยาวในการลงทุนในโครงการต่างๆ รวมทั้งโครงการ ลงทุนในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) ทำได้ต่อเนื่อง เพราะมูลค่าของกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้และพันธบัตร ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นมา มีมูลค่ารวมสูงถึง 230,000 ล้านบาท แต่ที่ผ่านมาเป็นการลงทุนในพันธบัตรระยะสั้น และเป็นการลงทุนโดยใช้การตัดสินใจของผู้จัดการกองทุนเป็นหลัก ซึ่งต้องใช้เวลา และเงินทุนในการหาข้อมูลเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม การมีดัชนีตลาดพันธบัตร และตราสารหนี้เพิ่มขึ้นมา ซึ่งจะเป็นการรวมเอาตราสารหนี้ และพันธบัตรระยะยาวประเภทต่างๆ ทั้งของรัฐบาล เอกชน และรัฐวิสาหกิจ อายุตั้งแต่ 1-15 ปี ที่มีพื้นฐานที่ดีมารวมกันไว้ และมีการแสดงความเคลื่อนไหวของผลตอบแทนของแต่ละพันธบัตร และตราสารหนี้ที่ออกมาเป็นรายวัน ทำให้กองทุนที่ตั้งใจลงทุนในตราสารหนี้มีข้อมูลที่ชัดเจนในต้นทุนที่ต่ำมาก และเลือกลงทุนในตราสารหนี้ และพันธบัตรระยะยาวได้มากขึ้น ทำให้มีกองทุนพันธบัตรระยะยาวเกิดขึ้นในประเทศไทย และทำคนไทยที่สนใจออมเงินระยะยาวมีทางเลือกในการออมเงินระยะยาวที่มีความมั่นคงมากขึ้น
นายบัณฑิต กล่าวต่อว่า ในขณะนี้สถาบันที่ทำดัชนีพันธบัตรและตราสารหนี้ ในต่างประเทศสนใจที่จะทำดัชนีให้ประเทศไทย และนำเอาดัชนีตลาดตราสารหนี้ไทยเผยแพร่เป็นราย วัน ซึ่งจะทำให้ข้อมูลพันธบัตรที่ประเทศไทยออกระยะยาว ไปถึงนักลงทุนจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ และเชื่อว่าจะทำให้เกิดกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรระยะยาวมากขึ้น และการขายหน่วยลงทุนของกองทุนพันธบัตรระยะยาว ให้กับภาคเอกชน และประชาชนจะทำให้ไทยมีเงินออมระยะยาวเพิ่มขึ้นด้วย
โดยกองทุนพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Fund) กองที่ 2 หรือ ABF 2 จะเป็นกองทุนแรกที่ ธปท.ดูแล ที่จะลงทุนในพันธบัตรระยะยาวสกุลท้องถิ่น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดตั้ง คาดว่าจะเริ่มขายหน่วยลงทุนได้ในต้นปีหน้า และเชื่อว่าจะมีประโยชน์ต่อประเทศไทยใน 3 ด้านคือ 1. เป็นการเพิ่มเงินออมให้กับประเทศ 2. สร้างสภาพคล่องให้กับตลาดการเงิน และ 3. ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้นเพราะมีดัชนีอ้างอิง
"หลังจากการสัมมนาในครั้งนี้ เชื่อว่าจะทำ ให้ผู้บริหารกองทุนมีความเข้าใจ และมีการลงทุน ในพันธบัตรระยะยาวมากขึ้น ตามดัชนีพันธบัตร ของไทยที่เกิดขึ้นมา"นายบัณฑิตกล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|