แบงก์คาดธปท.ขึ้นอาร์/พีวันนี้ จับตาอัตราดอกเบี้ยหลัง Q1 ปี 49


ผู้จัดการรายวัน(14 ธันวาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

นายแบงก์เชื่อแบงก์ชาติปรับอัตราดอกเบี้ยอาร์/พี ขึ้น 0.25% เป็น 4.0% แบงก์กรุงเทพส่งสัญญาณปรับอัตราดอกเบี้ยอีกหากดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.50% ชี้หากปรับดอกเบี้ยมากจะกระทบธุรกิจ และการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีหน้าอาจไปไม่ถึง 4.50% จับตาดอกเบี้ยเป็นพิเศษหลังไตรมาสแรกปีหน้า ขณะที่ กนง.พิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก

นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายเสถียรภาพสถาบันการเงิน เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันนี้ (14 ธ.ค.) เพื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรอายุ 14 วันว่า จะดูปัจจัยของการเพิ่มขึ้น ของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในประเทศเป็นหลัก นอกจากนี้ จะพิจารณาภาวะเศรษฐกิจ ในประเทศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต และการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของต่างประเทศประกอบด้วย

"ที่ผ่านมาภาวะเศรษฐกิจของต่างประเทศเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการตัดสินใจของธนาคารกลางของหลายๆ ประเทศทั้งในยุโรป สหรัฐฯ และเอเชียที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งมีผลกระทบต่อเงินลงทุนที่ไหลเข้าออก และสภาพคล่องของระบบการเงินโลก ซึ่ง ธปท.จะต้องพิจารณาในเรื่องนี้ด้วย แต่ปัจจัยหลักที่จะพิจารณาคือ ภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจในประเทศของไทยมากกว่า"นายบัณฑิตกล่าว

สำหรับอัตราเงินเฟ้อล่าสุด เดือนพฤศจิกายนเพิ่มขึ้น 5.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูง แต่ลดลงจากเดือนตุลาคมที่อยู่ในระดับ 6.2% ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่อัตราเงินเฟ้อไม่ได้เร่งตัวขึ้น ขณะที่ตั้งแต่ต้นปี 2548 กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาร์พีมาแล้วทั้งสิ้น 8 ครั้ง รวม 2.50% จาก 1.25% มาเป็น 3.75%

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การที่อัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤศจิกายนไม่เร่งตัวขึ้น และ ธปท.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในไตรมาสที่ 4 จะอยู่ในระดับ 6% ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อย่างในการประชุม กนง. 2 ครั้งที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม คาดว่า ธปท.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันที่ 14 ธันวาคมนี้เพิ่มขึ้นอีก 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตร อายุ 14 วัน ปรับขึ้นเป็น 4% เพื่อกระตุ้นในเกิดการออมมากขึ้น รวมทั้งช่วยให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงกลับมาเป็นบวกได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2549
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ(BBL) กล่าวว่า โดยส่วนตัวไม่คิดว่า กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.50% เนื่องจากการประชุม 2 ครั้งที่ผ่านมา กนง. ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.5% อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากในการประชุมครั้งนี้ยังมีการปรับอีก 0.50% ถือว่าแรง และจะส่งผลต่อระบบสถาบันการเงินที่อาจจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตาม ที่เคยคาดการณ์ ว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้นสูงสุดประมาณกลางปี 2549 อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากสหรัฐฯยังอาจ จะเจอปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง ประกอบกับประเทศไทยก็เป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่มีปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้ เพราะฉะนั้นช่วงหลังไตรมาส 1 ปี 2549 อาจจะต้องมีการจับตาสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยเป็นพิเศษ ประกอบกับเรื่องอัตราเงินเฟ้อและปัญหาดุลบัญชีเดินสะพัด ถือเป็นความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ในปี 2549 ที่ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง

นายเดชา ตุลานันท์ กรรมการ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า หาก กนง.ปรับดอกเบี้ยอีก 0.50% ก็มีสิทธิ์ทำให้ธนาคารต้องปรับดอกเบี้ยตาม อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า กนง.จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่มาก ขณะที่ธนาคารเองก็พยายามที่จะดึงการปรับอัตราดอกเบี้ยไม่ให้สูงมากจนกระทบต่อประชาชน ซึ่งปัจจุบันธุรกิจบางประเภทได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงมาก ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และยอดการขายรถยนต์ใหม่และมือ 2 ที่ชะลอลง รวมทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีหน้าที่จะชะลอลง โดยอาจจะขยายตัวไม่ถึง 4.50%

ด้านนางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(ไทย) จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า เฟดคงขึ้นดอกเบี้ย 0.25% และมีแนวโน้มว่าในการประชุม กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% เพื่อให้สอดคล้อง กับการปรับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.