กาลครั้งหนึ่งเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าเป็นยุคเฟื่องฟูของการเทกโอเวอร์บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จึงเปรียบเสมือนของหวานที่ล่อตาล่อใจบรรดานักเทกโอเวอร์ทั้งหลาย
วิธีการที่จะสามารถย่นระยะยทางในการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้ง่ายวิธีการหนึ่งก็คือ
การเข้าไปซื้อกิจการที่กำลังประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ จนอาจนำไปสู่การถูกถอดถอนจากการเป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์ได้ในที่สุด
หรืออีกนัยหนึ่งซึ่งเป็นหนทางหนึ่งที่บรรดาผู้ใจบุญเหล่านี้ ใช้อ้างในการเข้าไปครอบงำกิจการที่กำลังย่ำแย่ด้วยการเข้าไปฟื้นฟูกิจการที่เจ้าของเดิมดำเนินการต่อไปไม่ไหวนั่นเอง
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ชื่อของเจ้าชายอาหรับ จากประเทศแดนไกลแถบตะวันออกกลางคงจะเป็นที่คุ้นหูกันในวงการเทกโอเวอร์
ซึ่งเป็นที่ทราบกันทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการว่า นักธุรกิจแดนไกลเหล่านั้นเข้ามาตามการชักชวนของ
"ราเกซ สักเสนา" บุรุษผู้สร้างรอยแผลฉกรรจ์ไว้กับ บมจ. ธนาคารกรุงเทพพณิชยการหรือ
BBC และเป็นที่ทราบกันว่าดีลส่วนใหญ่ที่มีบุคคลเหล่านี้เข้าไปเกี่ยวข้องก็มักจะล้มเหลว
และเงียบหายไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่กลุ่ม BBC ถูกปราบ
ระหว่างรอยคาบเกี่ยวของนักเทกโอเวอร์ที่มีกลุ่ม BBC เป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลัง
วงการนี้ก็ได้ปรากฏชื่อของชายอีกผู้หนึ่ง ซึ่งยอมพลิกผันตนเองจากอาชีพหลักที่เป็นหมอรักษา
"คนไข้" กลายมาเป็นหมอรักษา "หุ้นเน่า" แทน เขาผู้นั้นก็คือ
นายแพทย์บุญ วนาสิน หรือ "หมอบุญ" เจ้าของธุรกิจโรงพยาบาลธนบุรีนั่นเอง
"หมอบุญ" เป็นนักเทกโอเวอร์ชื่อดังอีกคนหนึ่งที่ผงาดมาจากดีลการเทกโอเวอร์กิจการของโรงพยาบาลลานนาหรือปัจจุบันใช้ชื่อว่า
"เชียงใหม่ธุรกิจการแพทย์" และดีลดังแห่งปีคือ บมจ. วิทยาคม หรือ
VK ซึ่งเป็นดีลที่เกี่ยวโยงกับอีกหลายบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย
"C" เช่นเดียวกัน ได้แก่ บมจ. บีพีทีอุตสาหกรรม หรือ BPT และ บมจ.
แปซิฟิค แอสเซ็ทส์ หรือ PA
ตามปกติการเทกโอเวอร์สามารถทำได้ 2 แนวทางคือ การเทกโอเวอร์เพื่อการฟื้นฟูกิจการ
และการเทกโอเวอร์เพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ทางอ้อม (BACK DOOR LISTING) ซึ่งในตลาดไทยเจตนาของการเทกโอเวอร
์เพื่อเข้าไปฟื้นฟูกิจการอย่างแท้จริงก็มีอยู่บ้าง ในขณะที่การเทกฯ เพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ทางอ้อมก็มีไม่น้อย
และจากภาพลักษณ์ของหมอบุญกับ ร.พ. ธนบุรีซึ่งดูว่าจะแยกกันไม่ออกนั้น ทำให้เกิดการเข้าใจว่า
การที่หมอบุญเข้าไปลงทุนในบริษัทใดก็ตามในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นการทำ BACK
DOOR LISTING เพื่อเอาธนบุรีเข้าตลาดฯ นั่นเอง อย่างไรก็ดีหมอบุญก็ได้ประกาศอย่างแน่วแน่ว่า
"ผมจะไม่เอา ร.พ. ธนบุรีเข้าตลาดฯ อย่างแน่นอน และการที่ธนบุรีเข้าไปถือหุ้นในโรงพยาบาลลานนา
และวิทยาคมก็เป็นลักษณะ HOLDING COMPANY โดยเข้าไปถือหุ้นใหญ่ เพื่อเป็นการขยายกิจการ
และผมมองว่าเป็นธุรกิจที่จะสร้างกำไรให้กับธนบุรีได้ในอนาคต โดยที่ตัวผู้ถือหุ้นของธนบุรีไม่ได้เข้าไปถือหุ้นเองโดยตรง
ฉะนั้นจึงไม่ใช่การทำ BACK DOOR LISTING"
หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่า เป็นไปได้หรือที่หมอบุญจะยอมเสียโอกาสที่เข้ามาสู่มือไปอย่างง่าย
ๆ …เขาในฐานะประธานกรรมการบริหารของวิทยาคมคนปัจจุบันยอมเปิดอกกับ "ผู้จัดการรายเดือน"
ว่า
"ร.พ. ธนบุรีไม่มีความจำเป็นต้องเข้าตลาดฯ เนื่องจากธนบุรีสามารถใช้ช่องทางในการระดมทุนจากบริษัทลูกที่มีอยู่หลายบริษัท
และที่สำคัญการที่ธนบุรีเป็นธุรกิจ HEALTH CARE ซึ่งเป็นหมวดที่ไม่น่าสนใจในการลงทุน
เนื่องจากเป็นหมวดที่ไม่มีสภาพคล่องและราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงไปมาก
แต่สิ่งที่ผมอยากทำก็คือ การให้ธนบุรีเข้าไปซื้อบริษัทที่จะทะเบียนอยู่ในหมวดนี้
เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มี GOOD ASSET และ GOOD RETURN ซึ่งเราสามารถดำเนินธุรกิจที่เราถนัดอยู่แล้วให้มีกำไรขึ้นมาได้"
ดังเช่นโรงพยาบาลลานนาที่ธนบุรีเข้าไปซื้อกิจการเมื่อปี' 39 ที่ผ่านมา
และเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. ปีเดียวกัน บริษัทเชียงใหม่ธุรกิจการแพทย์ได้เพิ่มทุนจำนวน
170 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวน 140 ล้านบาท บริษัทได้แบ่งการใช้เงินออกเป็น 2
โครงการคือ โครงการปรับปรุงอาคารเดิม ซึ่งประกอบด้วย การปรับปรุงตกแต่งห้องเก่าที่มีอยู่
และโครงการอาคารใหม่รวมทั้งระบบสาธารณูปโภคและอุปกรณ์ทางการแพทย์ของอาคารใหม่ทั้งหมด
"ที่ผ่านมาธนบุรีลงทุนใน ร.พ. 30 กว่าแห่ง และในปีนี้ 3 แห่ง เริ่มกำไร
ซึ่งในปีนี้เป็นปีแรกที่เงินที่เราลงทุนไปประมาณ 600-700 ล้านบาท จะเริ่มกลับมาหาผู้ถือหุ้น
เช่น ร.พ. ลานนาปีนี้ก็กำไรให้เราประมาณ 10-20 ล้านบาทได้" เป็นการย้ำของหมอบุญว่า
ธนบุรีไม่จำเป็นต้องเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอง เนื่องจาก CAPITAL
GAIN ที่อยากได้จากหมวดนี้ก็เป็นเรื่องที่ยากมาก ส่วนในเรื่องของเงินปันผลก็อาจจะน้อยกว่าที่ธนบุรีทำธุรกิจเช่นนี้
และที่สำคัญ การเข้าตลาดฯ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ทั้งหมด ซึ่งหากธนบุรีทำธุรกิจในลักษณะที่เป็น
HOLDING COMPANY การทำงานจะมีความยืดหยุ่นมากกว่า
นอกจากนี้เขายังมองว่า ปัจจุบันในตลาดหลักทรัพย์ยังมีบริษัทที่มีมูลค่าต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงเป็นจำนวนมาก
"มีบริษัทกว่าครึ่งในตลาดตอนนี้เขายินดีให้เราเข้าไปร่วมกิจการอยู่แล้ว
แต่ต้องอาศัยพาร์ตเนอร์ที่แข็งแกร่งเข้าไปด้วย เหมือนกับ ร.พ. ลานนาที่ธนบุรีอัดฉีดเงินเข้าไปครั้งแรกประมาณ
200 ล้านบาท และขณะนี้เราได้ชวนชาวต่างชาติเข้ามาร่วมทุนด้วย และกำลังจะเพิ่มทุนอีกเท่าตัว
เท่ากับมีเงินทุนเข้ามาเป็น 400 ล้านบาท และที่ผ่านมาลานนาไม่เคยกู้เงินเลย
แต่ตอนนี้เวิลด์แบงก์ได้อนุมัติเงินกู้ให้ลานนาแล้วประมาณ 400-500 ล้านบาท
ฉะนั้นจากเราเริ่มต้นเพียง 200 ล้านบาทก็จะกลายเป็นเกือบ 1,000 ล้านบาท เพื่อนำไปลงทุนในการขยายกิจการอีก
10 กว่าแห่ง" หมอบุญเล่าถึงแผนที่วาดไว้ พร้อมทั้งพยายามจะพิสูจน์ให้เห็นว่า
ถ้าเป็นบริษัทที่มี ASSET ดี แต่ EARNING ไม่ดี ซึ่งถ้าสามารถ GENERATE CASH
FLOW เข้าไปได้ ธนบุรีก็เข้าไปซื้อแน่ ซึ่งเท่ากับเป็นการเข้าไปทำของที่ไม่มีค่าให้มีค่าขึ้นมา
โรงพยาบาลลานนาเป็นตัวอย่างของหุ้นที่ไม่เน่า และเป็นหุ้นที่หมอบุญมองเห็นช่องทางในการเข้าไปสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ
แต่การเข้าไปซื้อหุ้นโรงพยาบาลลานนาของหมอบุญก็เป็นการเกี่ยวข้องชนิดที่เลี่ยงไม่ได้กับหุ้นเน่าอย่าง
VK, BPT และ PA ซึ่งบริษัทเหล่านี้ล้วนมีโครงการสร้างผู้ถือหุ้นที่เกี่ยวพันกันทั้งสิ้น
หลังจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำมากในช่วงปี 2532-2534 ทำให้ตระกูลวสุรัตน์
ผู้ก่อตั้ง VK จำเป็นต้องขายหุ้นให้กับบีพีทีอุตสาหกรรมของกลุ่มพงศธร และกลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์
จากนั้นในปลายปี' 37 เส้นทางของหมอบุญกับหุ้นเน่าเหล่านี้ก็ได้เริ่มขึ้นจากการเข้าไปถือหุ้นในวิทยาคมร่วมกับ
"ภัทรประสิทธิ์" ของวินัย พงศธร เจ้าของ "เฟิร์ส แปซิฟิคแลนด์"
หรือ PA ในปัจจุบัน ในสัดส่วนประมาณ 35% และวิทยาคมก็มีหุ้นในแปซิฟิคฯ ประมาณ
20%
วิทยาคมจากเดิมที่มีทีท่าว่าจะไปได้สวย เพราะได้มือดีอย่างหมอบุญที่อยู่ในวงการการแพทย์ซึ่งเกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักของวิทยาคมคือ
การจำหน่ายเครื่องมือทางการแพทย์รวมถึงการขยายธุรกิจไปในด้านอื่นที่เกี่ยวกับสุขภาพด้วยนั้นเป็นอันล่มสลายลง
เมื่อวิทยาคมได้เข้าไปลงทุนในธุรกิจที่ไม่เคยมีความชำนาญมาก่อน คือการเข้าไปลงทุนในบริษัทรีเทล
ซินดิเคท ซึ่งดำเนินกิจการห้างสรรพสินค้าแพรงตองส์ ณ ศูนย์การค้าเสรีเซ็นเตอร์
และต่อมาเมื่อ 6 ธ.ค. 38 ห้างสรรพสินค้าแพรงตองส์ได้ปิดกิจการลง เนื่องจากไม่สามารถบริหารงานต่อไปได้
เป็นผลให้วิทยาคมแบกรับภาระหนี้สินในทันที จากเงินที่นำไปลงทุนจำนวน 71.4
ล้านบาท และเงินที่ให้บริษัทรีเทลกู้อีก 240.3 ล้านบาท รวมถึงการค้ำประกันเงินกู้
3 รายการแก่บริษัทรีเทลและบริษัทในเครืออีก 2 รายการ รวมทั้งสิ้น 78.33 ล้านบาท
หรือรวมทั้งสิ้นประมาณ 400 ล้านบาท
สิ่งที่วิทยาคมได้ในเบื้องต้นก็คือ การพยายามเจรจากับเจ้าหนี้ทั้งหลายทำให้วิทยาคมต้องตัดขายหุ้นในบริษัทต่าง
ๆ ที่เข้าไปลงทุนได้แก่ เชียงใหม่ธุรกิจการแพทย์ หรือโรงพยาบาลลานนาที่โรงพยาบาลธนบุรีของหมอบุญเป็นผู้รับซื้อเอง
จำนวน 2,815,500 หุ้น มูลค่า 75.6 ล้านบาท นอกจากนั้นยังขายหุ้นของบริษัทไทยวีโก้
จำนวน 9,930 หุ้น และบริษัทวิทยาคม เอ็น. ที. จำนวน 20,396 หุ้น ซึ่ง 2 บริษัทหลังนี้ยอมขายขาดทุน
และการขาดทุนสะสมของวิทยาคมยังส่งผลกระทบต่อการขาดทุนของแปซิฟิค แอสเซทและบีพีทีด้วย
ปัจจุบันบีพีทีถือหุ้นอยู่ในวิทยาคมประมาณ 20% และวิทยาคมก็คงเหลือหุ้นในแปซิฟิค
แอสเซทไม่มากนัก แต่อย่างไรทั้ง 3 บริษัทก็ยังคงมีความโยงใยกันอยู่แม้ว่าหมอบุญจะกล่าวว่า
"ทั้งวิทยาคม บีพีทีและพีเอจะแยกกันฟื้นฟูธุรกิจของตัวเอง จนกว่าต่างคนต่างจะฟื้นแล้วเราจึงค่อยมาพิจารณาใหม่
ตอนนี้ PA คงแย่ไปอีก 2-3 ปี เพราะเป็นธุรกิจเรียลเอสเตทกับโรงแรม แต่ก็ยังพอมีรายได้เข้ามาไม่น่าห่วง
สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ก็คือพยายามจ่ายดอกเบี้ยไปก่อน การฟื้นฟูธุรกิจอสังหาฯ
ตอนนี้ก็ลำบาก พยายามประคองตัวให้ได้ก็แล้วกัน อย่าให้ถูกเขาเอาออก ที่น่าห่วงก็คือบีพีท
ีและวิทยาคม ซึ่งการที่บีพีทีใส่ธุรกิจอสังหาฯ เข้าไป ผมมองว่าตอนนี้ไปทำตรงนี้ก็ไม่ถูก
แก้ไม่ออก ผมก็ช่วยดู ๆ เขาอยู่"
ภายในสิ้นเดือนนี้ วิทยาคมถึงกำหนดเส้นตายที่จะต้องยื่นแผนฟื้นฟูที่ผ่านการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นแล้วให้กับตลาดหลักทรัพย์ฯ
จากมูลค่าหนี้ที่บริษัทมีอยู่เกือบ 1,000 ล้านบาท บงล. นวธนกิจผู้ถูกมอบหมายให้เป็นที่ปรึกษาในการจัดทำแผนฟื้นฟ
ูต้องสวมวิญญาณนักเจรจาที่ดีในการไปเจรจากับบรรดาเจ้าหนี้ของวิทยาคมที่มีกว่า
20 ราย ซึ่งก็ไม่ราบรื่นอย่างที่คิด มีเจ้าหนี้ประมาณ 3 รายไม่ยินยอมต่อเงือนไขที่ทางวิทยาคมเสนอให้
จึงทำให้เกิดความล่าช้า และขณะนี้การเจรจาก็ยังคงดำเนินต่อไป
หากการเจรจากับเจ้าหนี้ประสบความสำเร็จแล้ว สิ่งที่วิทยาคมต้องทำเป็นอันดับแรกก็คือเพิ่มทุนไม่ต่ำกว่า
1,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการชำระหนี้และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการของบริษัท
"เป้าที่เราวางไว้คือ เราจะล้างหนี้ให้หมดภายในปีครึ่ง และล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่ประมาณ
700-800 ล้านบาทให้หมดภายใน 2 ปี หลังจากที่เราเพิ่มทุนเราก็มีเงินทุนที่จะทำธุรกิจต่อไป
การจะทำอะไรต้องมีการวางแผนให้ดีและชัดเจน" หมอบุญกล่าว และย้ำว่าการฟื้นฟูวิทยาคม
เงินไม่ใช่สิ่งสำคัญมากนัก แต่ธุรกิจใหม่ที่จะเข้ามาสร้างรายได้ให้กับวิทยาคมต่างหากที่สำคัญ
"เงินนะพอหาได้แต่ธุรกิจที่จะใส่เข้าไปสำคัญกว่า ผมให้ความสำคัญกับตรงนี้มาก
คือเงินผมหาที่ไหนก็ได้ แต่ ธุรกิจใหม่คืออะไร เวลาเราเลือกพาร์ตเนอร์ เราต้องดูธุรกิจที่มันมีความก้าวหน้า
เพื่อจะสร้างความแข็งแกร่งให้บริษัท"
ปัจจุบันหมอบุญได้มีการทาบทามนักธุรกิจใหญ่ชาวต่างชาติไว้เรียบร้อยแล้ว
รอเพียงการอนุมัติจากแผนผู้ถือหุ้นและส่งไปยังตลาดหลักทรัพย์ฯ ทุกอย่างก็จะสามารถดำเนินการและประกาศอย่างเป็นทางการกับสาธารณชนได้
ซึ่งธุรกิจใหม่ที่หมอบุญนำมาสู่วิทยาคมจะสามารถสร้างกำไรได้ภายใน 1-2 ปี
และถือเป็นรายได้หลักของบริษัท ในขณะเดียวกันก็ยังคงธุรกิจเดิมของวิทยาคมไว้คือ
ธุรกิจคอมพิวเตอร์ไฮเทค ธุรกิจสาธารณูปโภค ธุรกิจเทรดดิ้ง โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจขายเครื่องมือการแพทย์ที่หมอบุญต้องการให้คงสัดส่วนไว้ที่
25%
การที่วิทยาคมจดทะเบียนอยู่ในหมวด COMMERCE ถือเป็นความโชคดีอย่างมาก เนื่องจากหมวดนี้สามารถทำธุรกิจได้หลากหลายทั้งเป็นผู้ผลิตเอง
หรือเป็นตัวแทนจำหน่าย หรือแม้กระทั่งไปลงทุนในบริษัทอื่นก็ทำได้ ดังนั้น
จึงเป็นการง่ายที่จะเสริมธุรกิจใหม่เข้าไป แต่ที่สำคัญจะต้องไม่ทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยเสียเปรียบ
ต่อไปนี้ภารกิจหนักของหมอบุญตงไม่ได้อยู่แค่เพียงการพยายามขยายฐานธุรกิจเท่านั้น
แต่ยังขึ้นอยู่กับธุรกิจที่เขาได้เข้าไปครอบครองแล้ว โดยเฉพาะวิทยาคมซึ่งถือเป็นผู้ป่วยหนักขั้นโคม่าที่มีโรคแทรกซ้อน
กระทั่งหมอบุญถึงขั้นเอ่ยปากว่า
"ผมยอมรับว่า วิทยาคมเป็นบริษัทที่แย่มาก นี่คือความผิดพลาดที่เราซื้อมา
แต่หลังจากที่ซื้อมาแล้วก็ต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ เพราะเราตกกระไดมาแล้ว"
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า "สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง"
นับประสาอะไรกับหมอที่รักษาคนไข้อยู่ดี ๆ กลับต้องมารักษาหุ้นเน่า ๆ ค่อย
ๆ รักษาไปก็แล้วกันคุณหมอ….