"ก้นกระเป๋าเงินราศรี"

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

ในช่วง 2-3 ปีผ่านมา แชลเล้นจ์ กรุ๊ปต้องใช้เงินก้อนใหญ่เพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยจะมีรายได้ส่วนหนึ่งจากการวางเงินจอง และผ่อนดาวน์ในโครงการต่าง ๆ ที่กำลังขยาย

แต่ตัวบริษัทที่ทำกำไรเห็น ๆ ในขณะนี้ก็มีเพียงบริษัทยิ่งรวยเรียลเอสเตท ซึ่งเข้ามาทำโครงการยิ่งรวยนิเวศน์ตั้งแต่ปี 2535 และขณะนี้บ้านบางส่วนเพิ่งทยอยการโอน โดยตัวเลขเมื่อปี 2538 มีกำไร 13 ล้านบาท

ด้านธุรกิจประเภทอื่น ๆ ที่กลุมแชลเล้นจ์ กรุ๊ป ยอมเปิดเผยให้ปรากฏและน่าที่จะเป็นฐานทางการเงินให้กับราศรีได้นั้น ก็พบว่าส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทขนาดเล็ก และจะประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องมาตลอดแม้แต่บริษัทเจริญเลิศเอ็นเตอร์ไพรส์ซึ่งเป็นบริษัทดั้งเดิมของราศรี ก่อตั้งมาเมื่อปี 2527 มีกำไรเมื่อปี 2529 1 ล้านบาท และหลังจากนั้นก็มีตัวเลขขาดทุนมาตลอด (ดูตารางประกอบ)

ส่วนบริษัทแชลเล้นจ์อินดัสทรีส์ ปี 2538 ขาดทุนประมาณ 6 ล้านบาท บริษัทแชลเล้นจ์ เทคโนโลยี่ ขาดทุนเมื่อปี 2538 ประมาณ 7 แสนบาท

ยอดขาดทุนสะสมของบริษัทที่ไม่เกี่ยวกับเรียลเอสเตทไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท!

ในขณะที่ตัวโรงแรมที่นิวซีแลนด์และโครงการใหญ่บนถนนสีลมนั้น กว่าจะเห็นตัวเลขกำไร ก็ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 8 ปี

อย่างไรก็ตามทางแชลเล้นจ์ กรุ๊ปก็มีโครงการที่กำลังสร้างรายได้ทยอยเข้ามาด้วยปีที่ผ่านมาอาจจะยังเห็นตัวเลขไม่ชัดเจน ยิ่งรวยนิเวศน์เองหลังจากที่หยุดขายไปนาน ก็เพิ่งมาเปิดขายใหม่เมื่อปลายปีนี้เอง รายได้หลักจะมาจากโครงการโรยัลปาร์ควิลล์ซึ่งมียอดขายประมาณ 1 พันล้านบาท

ส่วนปี 2540 ตัวโรยัลปาร์ควิลล์ ก็ยังเดินหน้าต่อ โรแยลสายไหมก็กำลังจะเปิดในเดือนมีนาคม นอกเหนือจากโรแยลกรีนพาร์คซึ่งเป็นเฟสใหม่ของยิ่งรวยนิเวศน์

โรยัลเจริญกรุงจะเริ่มโอนปลายปี 2541 เม็ดเงินก้อนใหญ่จะทยอยเข้ามาตอนนั้น ดังนั้นรายได้ทั้งหมดส่วนใหญ่ตอนนี้จะมาจากยอดจองโครงการเป็นส่วนใหญ่ ส่วนเงินก้อนใหญ่ที่จะมาจากการโอนมีเพียงยิ่งรวยนิเวศน์เพียงแห่งเดียว ในขณะเดียวกันยังต้องใช้เงินจำนวนมากในการพัฒนาโครงการ ดังนั้นเงินส่วนใหญ่ในการทำธุรกิจของราศรีก็เป็นเงินกู้

แหล่งข่าวในแชลลเล้นจ์กรุ๊ปเล่าให้ "ผู้จัดการรายเดือน" ฟังว่า ราศรีมีสายสัมพันธ์ที่ดีมากกับธนาคารกรุงไทยที่ปล่อยเงินกู้ให้ตลอด ส่วนในการลงทุนที่นิวซีแลนด์นั้น ก็จะมีธนาคารท้องถิ่นของนิวซีแลนด์เป็นผู้สนับสนุนโครงการ

ในขณะที่มีภาระเงินกู้เต็มมือ แต่ทำไมราศรีจึงกล้าที่จะวางแผนเข้าไปสู่ธุรกิจสายการบิน ธุรกิจโทรคมนาคม การวางแผนที่จะเข้าไปทำโรงแรมในต่างประเทศอีก 4-5 แห่ง รวมทั้งศึกษาที่จะเทกโอเวอร์โครงการอสังหาริมทรัพย์บางโครงการ

เธอน่าจะมีแหล่งเงินที่ดีกว่านี้ จริง ๆ!?



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.