|
'การศึกษา' ติดชาร์จอันดับ 3 แฟรนไชส์ที่น่าลงทุนในรอบปี
ผู้จัดการรายสัปดาห์(12 ธันวาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ธุรกิจการศึกษาถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องภาวะเศรษฐกิจน้อยกว่าธุรกิจประเภทอื่น เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรพ่อแม่ ผู้ปกครองพร้อมทุ่มเทให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาของลูกมาก่อนเรื่องอื่นๆ ส่งผลให้ในแต่ละปีเกิดธุรกิจการศึกษาขึ้นมากมาย
แฟรนไชส์การศึกษา เป็นธุรกิจที่นักลงทุนไทยให้ความสำคัญไม่แพ้ธุรกิจอื่นๆ เพราะจากอันดับธุรกิจแฟรนไชส์ที่ได้รับความสนใจทั้งในแง่การลงทุน และการเติบโตของธุรกิจแล้วจัดอยู่ในอันดับ 3
จากการรวบรวมข้อมูลของ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" พบว่า การแข่งขันของธุรกิจแฟรนไชส์การศึกษาจะเน้นเรื่องคุณภาพของการศึกษาเป็นหลักและโลเกชั่น ส่วนเรื่องราคาแทบจะไม่มีผลกระทบต่อธุรกิจแต่อย่างใดโดยเฉพาะหลักสูตรการศึกษาวิชาสามัญ ทำให้เม็ดเงินที่สะพัดในธุรกิจแฟรนไชส์การศึกษาเป็นตัวดึงดูดทั้งนักลงทุนรายใหม่และรายเก่าเพื่อขยายสาขายังทำเลที่มีช่องว่างจะเห็นว่าตลอดปี 2548 อัตราการเติบโตสาขาตามต่างจังหวัดของแต่ละแบรนด์เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
'ภาษาอังกฤษ-จีน' รั้งตำแหน่งฮิต
"ผู้จัดการรายสัปดาห์" ได้สำรวจข้อมูลการลงทุนของธุรกิจแฟรนไชส์การศึกษา พบว่า สถาบันหรือโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษยังเติบโตและเป็นธุรกิจที่นักลงทุนเลือกลงทุนมาที่สุดในกลุ่มแฟรนไชส์การศึกษา โดยในแต่ละแบรนด์ที่มีอยู่เดิมหรือแบรนด์ใหม่ได้จับตลาดลงลึกในแต่ละเซ็คเม้นท์ เช่น หลักสูตรภาษาอังกฤษสำหรับเด็กเล็กหรือสำหรับผู้ใหญ่เพื่อใช้ในการทำงาน ทั้งนี้พบว่าเกิดความต้องการทั้ง 2 ฝ่ายคือผู้เรียนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและนักลงทุนที่เข้าสู่ธุรกิจนี้
แต่การขยายสาขาในระยะหลังต้องให้เป็นเน้นตลาดต่างจังหวัดแทนเพราะตลาดในกรุงเทพฯ อยู่ในขั้นของการอิ่มตัว ในขณะที่ตลาดต่างจังหวัดก็มีศักยภาพเพียงพอ และพ่อแม่กลุ่มต่างจังหวัดก็พร้อมที่จะเสียเงินในด้านการศึกษาเพื่อให้ลูกได้เรียนภาษาเหมือนเด็กในกรุงเทพฯ อย่างไรก็ดี จำนวนการขยายสาขาของโรงเรียนภาษาอังกฤษต่อปีตั้งไว้ที่ 5-10 สาขาเป็นอย่างต่ำ
ขณะที่สถาบันสอนภาษาจีน พบว่ามีการเติบโตอย่างมากในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา โดยกลุ่มผู้เรียนส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา คนทำงาน เพื่อหาโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ และการแข่งขันในตลาดแรงงาน เมื่อเปรียบเทียบกับผู้รู้ภาษาอังกฤษแล้วยังค่อนข้างน้อยกว่ามาก ทำให้บุคคลเหล่านี้เห็นโอกาสของการเรียนภาษาจีนแทนการเรียนเฉพาะภาษาอังกฤษเหมือนที่ผ่านมา รวมถึงกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีนที่ต้องการให้ลูกหลานได้เรียนรู้ภาษาจีน จึงเกิดการขยายการลงทุนของสถาบันสอนภาษาจีนเป็นจำนวนมาก
แต่ปัจจุบันพบว่าการเข้ามาลงทุนของรายใหม่ค่อนข้างนิ่ง สวนทางกับจำนวนผู้เรียนที่โตแบบก้าวกระโดด เพราะการลงทุนของสถาบันสอนภาษาจีนนั้นแตกต่างจากธุรกิจทั่วไปผู้ลงทุนต้องที่มีประสบการณ์และมีความรู้ด้านภาษาจีนเป็นอย่างดี ทำให้ปัจจุบันมีผู้ประกอบการในตลาดไม่ถึง 10 ราย แต่มูลค่าตลาดรวมของธุรกิจไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี
หลักสูตรเสริมทักษะจ่อคิวโต
สมจิตร ลิขิตสถาพร เลขาธิการสมาคมแฟรนไชส์ ฉายภาพว่า การขยายการลงทุนของธุรกิจแฟรนไชส์ด้านการศึกษาจากต่างประเทศเข้ามาในไทยยังมีอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดจากประเทศสิงคโปร์อีก 1-2 แบรนด์ ที่ผ่านมาจะเห็นว่าหลักสูตรการเรียนแบบคณิตคิดเร็วจะได้รับความนิยมอย่างมากและเริ่มมีหลักสูตรการเรียนเสริมทักษะ เช่น คอมพิวเตอร์ ศิลปะ ดนตรี เพื่อเสริมสร้างทักษะความสามารถนอกจากการเรียนด้านวิชาการหรือวิชาสามัญ
ขณะเดียวกัน จะเห็นว่าผู้ประกอบการได้จัดสรรพื้นที่ให้สามารถรองรับวิชาเรียนที่หลากหลายขึ้น โดยการซื้อแฟรนไชส์หลายๆ วิชามาลงในพื้นที่เดียวกันเพื่อเป็นสถาบันการศึกษาที่ครบวงจรมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2548 แฟรนไชส์ธุรกิจการศึกษาที่ได้รับความนิยมยังเป็นเรื่องของภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษกับภาษาจีน แม้ว่าภาษาจีนพึ่งเริ่มต้นเข้าตลาดมาได้ไม่นาน ปัจจุบันตลาดมีธุรกิจแฟรนไชส์การศึกษา 28 แบรนด์ มีสาขารวมกันทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ประมาณ 800 แห่ง อย่างไรก็ตามตนเชื่อว่าในอนาคตธุรกิจแฟรนไชส์การศึกษายังคงเติบโตได้อย่างเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีข้อดี เรื่องระยะเวลาการดำเนินงานได้ยาวนานและมั่งคงกว่าธุรกิจทั่วๆ ไป
ศิลปะ-วิทย์ฯ กลุ่มทางเลือก
แฟรนไชส์โรงเรียนสอนศิลปะหรือวิทยาศาสตร์เป็นธุรกิจแฟรนไชส์ที่พึ่งเข้าสู่ตลาดมาได้ไม่นานแต่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีทั้งในแง่ของการลงทุนและการได้รับการยอมรับจากพ่อแม่ เพราะปัจจุบันพ่อแม่มีความต้องการที่จะให้บุตรหลานเรียนสิ่งที่ไม่เครียดแต่ต้องคงความสร้างสรรค์ด้านความคิด
พัธนะชัย กมลเนตร ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โกลเบิล อาร์ต แอนด์ ครีเอทีฟ (ไทยแลนด์) จำกัด ได้กล่าวกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ไว้ว่า ตลาดเอ็ดดูเทนเม้นท์ในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นอย่างมาก เนื่องจากครอบครัวคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านอารมณ์หรืออีคิวควบคู่กับสติปัญญาหรือไอคิว รวมทั้งการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็ก โดยในปีที่แล้วตลาดเอ็ดดูเทนเม้นท์ในไทยคาดว่ามีมูลค่ารวม 3,000 ล้านบาท
แต่หากมองในเรื่องของการลงทุนแล้วต้องยอมรับว่าโรงเรียนสอนศิลปะหรือวิทยาศาสตร์ต้องใช้เวลาในการวัดผลกำไรกันในระยะยาวจึงเหมาะกับคนที่ต้องการความมั่นคงระยะยาวมากกว่า เพราะพ่อแม่ส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญกับการเรียนเสริมในวิชาสามัญมากกว่าการเรียนเสริมทักษะอื่นๆ
ศูนย์ฯ เด็กเล็กส่อแววรุ่ง
ปัจจุบันพ่อแม่ไทยมีความตื่นตัวและเป็นห่วงอีคิวของลูกมาก จนทำให้ศูนย์ดูแลเด็กเล็กซึ่งส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ดังจากต่าประเทศทั้งอังกฤษ อเมริกา และเกาหลี ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดศูนย์เด็กเล็กภายใต้แบรนด์ของคนไทยเกิดขึ้นอีกหลายแบรนด์ โดยแต่ละแบรนด์จะเน้นเรื่องของคุณภาพ หลักสูตรการเรียน ราคา และอุปกรณ์ในการเรียนต่างๆ
อย่างทิว เบรน สคูล แฟรนไชส์ศูนย์เด็กเล็กจากเกาหลีชูจุดต่างคือ 1. มีกิจกรรมที่แตกต่างถึง 2,000 กว่ากิจกรรม 2. ครูผู้ฝึกสอนต้องเป็นครูที่มีจิตวิทยา มีความรักเด็กสูง และต้องเป็นครูที่มีความอดทนสูง 3. ทฤษฎีของทิว เบรน สคูลเป็นทฤษฎีที่ต้องการกระตุ้นให้เด็กคิดตลอดเวลา และ 4.ในหนึ่งชั้นเรียนจะมีนักเรียนไม่เกิน 5 คน เพื่อสร้างบรรยากาศของการเป็น child center อย่างแท้จริง ในขณะที่ Gymboree ในช่วงกันยายนที่ผ่านมาบริษัทมีการเปิดตัวโปรแกรมใหม่ๆ เข้ามา 30 โปรแกรม และยังมีการปรับโปรแกรมที่อยู่แล้วทั้ง 3 โปรแกรมคือ โปรแกรมเพลย์ อาร์ต และมิวสิค ใหม่
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|