"S-ONE ควบ FAS ดีลแรกของกลุ่มปิ่นที่ยึดแนวคิด "รวมกันเราอยู่"

โดย ภัชราพร ช้างแก้ว มานิตา เข็มทอง
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

3 เม.ย. 39 กลุ่มเอกธนกิจได้ทำให้คนในแวดวงธุรกิจไฟแนนต์ตื่นตะลึงด้วยการประกาศรวมกิจการระหว่าง S-ONE กับ FAS ตามนโยบายการลดต้นทุนการดำเนินงานของ "ปิ่น จักกะพาส" ด้วยระยะเวลาห่างกันไม่ถึงปี กลุ่มปิ่นก็ช็อกวงการด้วยข่าวการรวมกิจการระหว่าง บง. เอกธนกิจกับธนาคารไทยทนุภายใต้คำสั่งฟ้าผ่าจากแบงก์ชาติและกระทรวงการคลัง เนื่องด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัวได้ในเร็ววัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อ Fin1 ในความเชื่อมั่นของนักลงทุนถดถอยไปตามภาวะเศรษฐกิจด้วย

การรวมกิจการในครั้งนี้ของ Fin1 กับธนาคารไทยทนุถือเป็นการปรับโครงสร้างทางสถาบันการเงินครั้งใหญ่ในลักษณะ "รวมกันเราอยู่" เหมือนกับครั้งหนึ่งที่กลุ่มปิ่นเองก็ใช้แนวทางนี้มาแล้วกับ S-ONE และ FAS

หลังจากมีการประกาศรวมกิจการอย่างเป็นทางการระหว่าง S-ONE กับ FAS ทั้ง 2 บริษัทก็ได้กำหนดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นทันที เนื่องจากขั้นตอนในการรวมกิจการนั้นจะไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้ถ้าหากไม่ได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นทั้ง 2 บริษัท ดังนั้นดีลนี้จึงมี Fin1 และ บมจ. เอกโฮลดิ้ง หรือ ONE เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในฐานะของผู้ถือหุ้นของทั้ง 2 บริษัท โดยในวันที่ 18 เม.ย. และวันที่ 10 พ.ค. 39 ที่ผ่านมาเป็นวันประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อขออนุมัติขายหุ้น FAS จาก ONE และ Fin1 ตามลำดับ และเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 39 S-ONE ก็ได้ขอมติรับรองจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทในการเข้าซื้อ FAS

ภายหลังจากที่เสร็จกระบวนการขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นแล้ว S-ONE ก็ได้ประกาศทำคำเสนอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายย่อย 100% (TENDER-OFFER) ขณะเดียวกัน S-ONE ก็เพิ่มทุนจำนวน 30 ล้านหุ้น เพื่อให้ผู้ถือหุ้นของ FAS สามารถแลกหุ้นของ S-ONE ได้ในคราวเดียวกัน ซึ่งเท่ากับว่า S-ONE ได้ชำระค่าหุ้น FAS ด้วยหุ้นของ S-ONE ในอัตรา 2 หุ้น FAS ต่อ 1 หุ้น S-ONE นี้ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ S-ONE สามารถเป็นเจ้าของ FAS ได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ รายละเอียดของการเพิ่มทุน 30 ล้านหุ้นนั้นได้แบ่งเป็นหุ้นสามัญ เพื่อรองรับการแลกหุ้นสามัญของ FAS จำนวน 25 ล้านหุ้น และอีก 5 ล้านหุ้นสำหรับรองรับการใช้สิทธิ FAS-W ซึ่งราคาวอร์แรนต์ได้กำหนดไว้ที่ 55 บาท และในวันที่ 16 เม.ย. และ 16 ต.ค. ของทุกปีเป็นวันใช้สิทธิ

กระบวนการกำหนดราคาหุ้นของ S-ONE ได้กระทำอย่างละเอียด โดยมีการอิงกับปัจจัยหลายประการ ประการแรกก็คือ มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (CURRENT NET ASSET VALUE) ของทั้ง 2 บริษัท ปัจจัยที่สองก็คือ ความสามารถในการทำกำไรที่ผ่านมาและศักยภาพในอนาคตอีก 1 ปีข้างหน้า และปัจจัยสุดท้ายคือ ราคาตลาดย้อนหลัง 90 วันของหุ้นทั้ง 2 ตัว

เบื้องแรกของการคำนวณส่วนที่ได้นั้นออกมาที่ 2.095 หุ้น FAS ต่อ 1 หุ้น S-ONE หรือ 100 หุ้น FAS จะสามารถเปลี่ยนเป็นหุ้น S-ONE ได้ทั้งหมด 47.7327 หุ้น ซึ่งจะมีเศษหุ้นทาง S-ONE จึงได้มีการปรับสัดส่วนเป็น 2:1 เพื่อง่ายต่อการคำนวณ จากนั้นก็มาคำนวณหาราคาหุ้นย้อนหลัง 90 วันของ S-ONE ซึ่งเท่ากับ 250 บาท และได้มีการ DISCOUNT ประมาณ 10-15% จึงมาลงตัวที่ 220 บาท และเมื่อนำมาคำนวณตามสัดส่วน 2:1 ก็เท่ากับ 220:110 ซึ่งราคาของ FAS ก็เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับราคาเฉลี่ย 90 วันย้อนหลังของ FAS ที่อยู่ที่ 105 บาท ซึ่งนับว่าเป็นราคาที่ได้ประโยชน์ด้วย 2 ฝ่าย

สำหรับวิธีการบันทึกบัญชีเมื่อทั้ง 2 บริษัทรวมกิจการกันแล้ว S-ONE ได้ใช้วิธี POOLING INTEREST ซึ้งเป็นมาตรฐานการลงบัญชีสากลสำหรับกรณีที่มีการซื้อกิจการด้วยหุ้นในสัดส่วนที่มากกว่า 90% ด้วยการนำส่วนของผู้ถือหุ้นของทั้ง 2 บริษัทมารวมกัน ซึ่งวิธีการนี้ทำให้ S-ONE ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตัดค่าความนิยมซึ่งเกิดจากการเข้าไปซื้อหุ้น FAS

ภายหลังที่มีการรวมกิจการแล้ว โครงสร้างผู้ถือหุ้นของ S-ONE ก็ยังคงมีเอกธนกิจ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จำนวน 21.5% บมจ. เอกโฮลดิ้งถือจำนวน 21% บมจ. ธนาคารกสิกรไทย 6.33% บ. เอกภาคจำนวน 5.74% และ บงล. เอกธนาจำนวน 3.15% ส่วนอีก 9.39% เป็นส่วนของผู้ถือหุ้นชาวต่างชาติและที่เหลืออีก 32.89% เป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยและโครงสร้างสายงานบังคับบัญชาก็มีการปรับใหม่เพื่อสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 5 สายงานหลัก ประกอบด้วย สายงานประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจหลักทรัพย์และวิจัย สายงานปฏิบัติการ สายงานพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุน และสายงานวาณิชธนกิจ ซึ่งมีภควัติ โกวิทวัฒนพงศ์ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กิตติรัตน์ ณ ระนอง ดูแลสายงานธุรกิจหลักทรัพย์และวิจัย กัมปนาท โลหเจริญวนิช ดูแลสายงานปฏิบัติการ ส่วนสายงานพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุนมีขนิษฐา สรรพอาษา เป็นผู้ดูแล และชาญ ศรีวิกรม์ รับผิดชอบดูแลสายงานวาณิชธนกิจ

ปัจจุบัน กรณีการรวมกิจการของ S-ONE และ FAS ใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว ขาดแต่เพียงการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ครั้งสุดท้าย เพื่อให้ได้หุ้นจำนวนมากที่สุดตามที่ ก.ล.ต. ระบุไว้ ซึ่งการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ในครั้งนี้จะมีขึ้นภายในเดือน เม.ย. นี้เป็นเวลา 45 วัน หลังจากนั้นกระบวนการรับซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นรายย่อยก็จะเสร็จสิ้นลง ส่วนการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ครั้งแรกเมื่อปี' 39 ที่ผ่านมาก็มีผู้มาสวอปหุ้นทั้งสิ้นประมาณ 99% ซึ่งเหลือเพียงอีกนิดหน่อยเท่านั้น

และล่าสุดเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา S-ONE ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น (MOU) ระหว่างบริษัท FAS และ BANQUE PARIBAS (พาริบาส์) ในการขายหุ้นสามัญของบริษัท ASIA EQUITY HOLDING ซึ่งถือโดย S-ONE และ FAS ในสัดส่วน 70% และ 30% ตามลำดับให้แก่พาริบาส์ทั้งหมด

ซึ่งแต่เดิม S-ONE ตั้งใจที่จะให้ ASIA EQUITY เป็นแขนขาในการขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคนี้ โดยในครั้งนั้นภควัติ โกวิทวัฒนพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ S-ONE ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า "เราตั้งใจจะบุกธุรกิจในภูมิภาค ธุรกิจที่มะนิลาเป็นธุรกิจแบบ IN-IN คือ เป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นภายในฟิลิปปินส์เอง หากเราได้เอเชีย อิควิตี้ฯ มาก็จะเป็นลักษณะ OUT-IN คือจะนำนักลงทุนต่างประเทศเข้าไปซื้อขายหุ้นในท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งเรายังขาดตรงนี้ ฉะนั้นการรวม FAS ซึ่งพ่วงเอเชีย อิควิตี้ฯ มาด้วย จะทำให้เราสร้างฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นได้ไม่ยาก และสามารถรุกสู่ตลาดในภูมิภาคได้อย่างรวดเร็ว"

แต่จากภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวงดเร็ว ความคิด ความตั้งใจของภควัติเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมากับความคิด ณ วันนี้ของเขาก็เปลี่ยนแปลงไปตามภาวะเศรษฐกิจ เขาเริ่มมองว่าการที่ S-ONE จะเป็นผู้ดำเนินธุรกิจของเอเชีย อิควิตี้ฯ ก็จะเป็นภาระมากเกินไป สู้มองหาพันธมิตรทางธุรกิจที่สามารถจะมานำพาเอเชีย อิควิตี้ฯ ให้อยู่รอดได้โดย S-ONE ไม่สูญเสียอะไร ยิ่งไปกว่านั้น S-ONE ยังจะได้พันธมิตรทางธุรกิจชั้นนำจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งเอเชีย อิควิตี้ฯ และพาริบาส์ก็จะเป็นผู้ส่งคำสั่งเสนอซื้อขายหุ้นผ่านมายัง S-ONE ด้วย สำหรับความคืบหน้าในการซื้อขายหุ้นเอเชีย อิควิตี้ฯ นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำ DUE DILIGENCE ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายใน 3 เดือนนี้

สำหรับสถานะของ FAS ในปัจจุบันก็เป็นเพียงบริษัทหลักทรัพย์บริษัทหนึ่งที่ไม่ได้เป็นสมาชิกในตลาดหลักทรัพย์ หากยังเป็นสมาชิกในชมรมโบรกเกอร์อยู่ และยังดำเนินธุรกิจต่อไปจนกว่าจะมีการขายบริษัทให้กับพันธมิตรที่สนใจต่อไปในอนาคต ซึ่งเท่ากับว่า S-ONE เลือกที่จะขายหุ้นทั้งหมดที่ S-ONE ถืออยู่ใน FAS ให้กับผู้อื่นแทนการยุบกิจการของ FAS เพื่อให้หมดสภาพการเป็นนิติบุคคลและขายใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ออกไป

ทั้งนี้การตัดขาย FAS ทั้งบริษัทนั้นรวมถึงสาขาทั้ง 2 ของ FAS ด้วยคือที่ ถ. ศรีนครินทร์ และ ถ. วิภาวดีรังสิต เนื่องจาก ก.ล.ต. ไม่อนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์เปิดทำการสาขาใหม่ได้ เนื่องด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย ดังนั้น S-ONE จึงยังมีจำนวนสาขาเท่าเดิมคือ 13 สาขา รวมสำนักงานใหญ่แบ่งเป็นต่างจังหวัด 9 สาขา กรุงเทพฯ และปริมณฑลอีก 4 สาขา

อย่างไรก็ดีสำหรับสาขาที่มีความซ้ำซ้อนกัน S-ONE ก็จะเลือกเอาทำเลที่ดีที่สุดเป็นที่ทำการไป เช่น สาขาที่เชียงใหม่จะใช้สาขาของ FAS เป็นที่ทำการแห่งใหม่ของ S-ONE เนื่องจากมีทำเลที่เหมาะสมและมีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง ส่วนที่โคราชก็ใช้ของ S-ONE นอกจากนี้ สาขาเยาวราชของ S-ONE ก็ได้ย้ายมาที่ HEAD OFFICE ของ FAS ที่ตั้งอยู่ที่สาธรเพื่อใช้เป็นสำนักงานส่วนขยาย

การรวมกิจการของทั้ง 2 บริษัทนั้นแม้ว่าจะมีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ปีที่แล้ว แต่ก่อนหน้านั้นผู้บริหารและทีมงานที่เกี่ยวข้องทุกคนก็ได้มีการวางแผนกันมาแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2538 และต้องชมเชยผู้ที่เกี่ยวข้องในดีลนี้ทุกคนว่าสามารถเก็บงำควาบลับได้อย่างดีเพราะตลอดระยะเวลา 4 เดือนที่มีการเคลื่อนไหวกันภายในนั้นไม่มีข่าวหลุดออกมาสร้างความปั่นป่วนต่อราคาหุ้นและความเชื่อมั่นของนักลงทุนเลย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.