การเลือกตั้งส.ว.และรอยยิ้มในรูปถ่าย

โดย ธีรภาพ วัฒนวิจารณ์
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

ขณะที่ผมเขียนบทความนี้ผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาอย่างเป็นทางการที่ประกาศโดย กกต.ยังคงทยอยออกมาเป็นระยะ ซึ่งทำให้คนส่วนใหญ่ไม่มั่นใจว่าเราจะได้สมาชิกวุฒิสภาครบ 200 คนเมื่อไหร่ รวมถึงคำถาม และแรงสนับสนุนให้ กกต.แขวนว่า ที่ ส.ว.ป้ายแดงทั้งหลาย ที่หลายคนเชื่อว่าไม่น่าจะได้รับการเลือกตั้งเข้ามาแบบสุจริต

แน่นอนว่าเราได้แสดงความเห็นความต้องการตามสิทธิของเราไปแล้วว่า เราต้องการเลือกใครหรือว่าอยากได้ใครเป็น ส.ว. ในกระบวนการเลือกตั้งของบ้านเรา ที่ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตย ซึ่งบางคนก็ยังอุตส่าห์ห้อยท้ายไว้ว่าแบบไทยๆ นั้น บทบาทของประชาชนทั้งหลายดูจะจบลงแค่นี้ ยกเว้นหากผลการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามความคาดหมายก็อาจจะมีกลุ่มคนบางกลุ่มออกมา ประท้วง และแสดงความไม่ยอมรับผลที่ออกมาโดยการกล่าวหาว่าอีกฝ่ายหนึ่งทุจริต

นั่นอาจจะเป็นช่องทางหนึ่ง ที่กฎหมายบัญญัติไว้ให้เป็นทางออกสำหรับการแก้ไขปัญหาการทุจริต แต่คำถาม ที่น่าคิด คือ หากคนที่ได้รับเลือกตั้งถูกกล่าวหาว่าทุจริตเพียงสักสิบคน ผมคิดว่าคงเป็นเรื่องวุ่นวายค่อนข้างมากในการพยายามพิสูจน์ หาหลักฐาน รวมไปถึงการนับคะแนนใหม่ นั่นเป็นเรื่อง ที่ต้องรอดูกันต่อไป หากเราลองมองย้อนไปถึงกระบวนการแนะนำตัว (เพราะกกต.ห้ามหาเสียง) ก่อนการเลือกตั้ง ผมคิดว่ามีปรากฏการณ์บางอย่างที่น่าสนใจ และสะท้อนถึงวิธีคิดของทั้งผู้สมัคร ส.ว. และ บรรดา เราผู้ไปลงคะแนนเสียงโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกตั้งในเขตกรุงเทพฯ ที่ มี ส.ว. ได้ 18 คน

การที่ห้ามผู้สมัครหาเสียงนั้น ผู้ร่างกฎหมายอาจจะมีวิธีคิดว่าผู้สมัครจะต้องเป็นผู้มีคุณวุฒิ มีความสามารถเป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วไปอยู่แล้ว การโฆษณานโยบายว่าตัวเองจะเข้าไปทำอะไรเมื่อเป็น ส.ว.จึงเป็นเรื่องไม่จำเป็น นี่เป็นจุดที่ทำให้ผู้สมัครต้องหาวิธีการโฆษณาตัวเองโดยไม่ผิดกฎเกณฑ์ ที่กำหนดไว้ ช่องทางการแนะนำตัวจึงเหลืออยู่ทางเดียว คือ โปสเตอร์แนะนำตัว

ปรากฏการณ์ ที่น่าสนใจบนแผ่นโปสเตอร์คือ ถ้าคุณผู้อ่านยังจำได้ถึงโปสเตอร์โฆษณาในช่วงก่อนการเลือกตั้งนั้น สิ่งที่ค่อนข้างแตกต่างไปจากโปสเตอร์การเลือกตั้ง ส.ส.ในครั้งก่อนในความเห็นของผม คือ ใบหน้าของผู้สมัครหลายคนมีรอยยิ้ม จะยิ้มน้อยๆ แบบอมยิ้มนิดหน่อยของผู้สมัครบางท่าน เช่น หมอเหวง ไปจนถึงรอยยิ้ม ที่มากขึ้นของ "เสี่ยตาชั่ง" หรือมากขึ้นอีกแบบของคุณมีชัย ไปจนถึงมากสุดๆ ไปเลยจนเห็นฟันแบบโฆษณายาสีฟันของคุณโสภณ ความหมายของรอยยิ้มบนใบหน้านั้น น่าจะมีความหมาย บอกกับคนทั่วไปว่า ผู้สมัครแต่ละคนมีความเป็นมิตร และไม่ไว้ตัว สิ่งที่ผมสังเกตคือ ประเภทของคนที่ใช้รอยยิ้มบนโปสเตอร์ มักจะเป็นคนที่ไม่เคยรับราชการ หรือลาออกมานานแล้ว ถ้าหากผมจำไม่ผิดประเพณีนิยมของการมีรอยยิ้มบนโปสเตอร์โฆษณานั้น เริ่มมาจากคุณจำลองตอนลงสมัครผู ้ว่ากทม. ครั้งแรก ซึ่งค่อนข้างจะฉีกไปจากรูปแบบเดิมๆ ที่รูป ที่ปรากฏของผู้สมัครมักจะแสดงสีหน้าเคร่งขรึม ซึ่งอาจจะต้องการบอกหรือสื่อสารด้วยภาพว่าตนเป็นคนเอาจริงเอาจัง และไว้ใจได้ รอยยิ้มของคุณจำลองบนโปสเตอร์ในตอนนั้น เป็นรอยยิ้มกว้างแบบเห็นฟัน ผมเองก็เพิ่งจะเห็นว่าคุณโสภณเป็นคนที่สอง ที่เลือกการสื่อด้วยภาพเช่นนี้

โปสเตอร์อีกแบบหนึ่งเห็นจะเป็นประเภท ที่เน้นเครื่องแบบ หรือชุดแต่งตัวอย่างเป็นทางการ มีตั้งแต่ เสื้อสูท ชุดขาว ที่ดูคล้ายเครื่องแบบข้าราชการ (เช่น บรรดาอดีต ส.ส. หรือ สก. สข. ทั้งหลาย) เครื่องแบบไปจนถึงชุด ครุย หรือชุดเนติบัณฑิต และ ชุดเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ลักษณะ ที่เน้นเครื่องแบบของโปสเตอร์เหล่านี้ ต้องการสื่อถึงว่าตนเองมีความรู้ความสามารถ เคยผ่านงานราชการหรืองาน ที่เกี่ยวข้องกับราชการมาก่อน เครื่องแบบโดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องแบบราชการเป็นตัวอย่างที่ดีถึงสิ่งที่เราเชื่อหรือ โปรแกรมไว้แล้วในสมองของเราว่า การได้มา ซึ่งเครื่องแบบไม่ใช่ของง่ายต้องมีความรู้ความสามารถ และเป็นที่น่าเชื่อถือ เราคงไม่เคยเห็นผู้สมัครคนไหน ใส่เครื่องแบบของพนักงานธนาคาร หรือฟาสต์ฟูดออกหาเสียง เครื่องแบบน่าเป็นตัวรับประกันในจุดนี้ และคงจะเหมาะกับผู้สมัคร ที่คิดว่าตนเองไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มน้ำหนักให้กับคนที่เป็นที่รู้จักอยู่แล้วให้ดูน่าเลื่อมใส คนที่ใช้ลักษณะเช่นนี้มักจะเป็นข้าราชการที่เพิ่งเกษียณหรือลาออกจากราชการ หรือคนที่ยังคงทำงานอยู่ เช่น บรรดาทนายความทั้งหลาย หรือ หากผู้สมัครท่านนั้น ไม่เป็นที่รู้จัก การแต่งชุดครุยก็ยังน่าจะสื่อได้ว่าตนเองเป็นคนมีความรู้ จบการศึกษาระดับปริญญา และดูเหมือนว่าครุยจะเป็นเครื่องแบบ ที่ชาวบ้านธรรมดาสามารถสวมใส่ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ถ้าลองสังเกตจะพบว่าใบหน้าของคนในโปสเตอร์ประเภทนี้จะไม่ค่อยมีรอยยิ้มปรากฏให้เห็น อาจจะเป็นเพราะต้องการเน้นความน่าเชื่อถือมากกว่าความเป็นมิตร แต่เราอาจจะรู้สึกว่าคนในโปสเตอร์เหล่านี้อยู่ห่างจากเรามาก ไม่เหมือนคนในโปสเตอร์ประเภทแรก

ยิ่งคนในโปสเตอร์ประเภทแรกไม่ใส่เครื่องแบบยิ่งเน้นถึงความเป็นคนธรรมดาสามัญ แต่แน่นอนว่า คนที่จะเลือกโปสเตอร์ประเภทนี้ต้องมั่นใจว่าตนเองเป็นสินค้า ที่ขายได้จริงๆ

ลักษณะโปสเตอร์ของอาจารย์เจิมศักดิ์ และคุณดำรง เป็นโปสเตอร์ ที่ต่างไปจากทั้งสองแบบ ที่ผมกล่าวข้างต้น ไม่มีเครื่องแบบ เพื่อแสดงความรู้ความ น่าเชื่อถือ ไม่มีรอยยิ้มบนใบหน้า เพื่อแสดงความเป็นมิตรหรือเข้าถึงได้ มีแต่หน้าตาให้รู้จักเท่านั้น เหมือนกับเตือนผู้ดูโปสเตอร์ว่า คุณรู้จักผมดีอยู่แล้ว และผมลงสมัครครั้งนี้ อย่าลืมไปเลือกก็แล้วกัน

โปสเตอร์บางประเภทแสดงให้เห็นว่าผู้สมัครท่านนั้น กำลังปฏิบัติภารกิจบางอย่าง เช่น ของอาจารย์แก้วสรร และ ของอาจารย ์อมร ลักษณะเหมือนกำลังดำเนินการประชุมบางอย่าง อาจจะต้องการบอกว่า ผมเคยทำหน้าที่นี้อยู่ น่าจะเลือกผม เพื่อเข้าไปทำหน้าที่นี้ต่อ

เคยมีคนกล่าวในทำนองว่าภาพหนึ่งภาพแทนคำพูดได้เป็นร้อยเป็นพัน ภาพเป็นโปสเตอร์ก็ดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น แต่การที่ภาพจะสื่อข้อความ หรือความหมายอะไรบางอย่างถึงผู้รับได้นั้น ผู้รับเองก็ต้องถูกโปรแกรมไว้แล้วว่า สัญลักษณ์บนภาพแต่ละอันนั้น บ่งถึงอะไร

รอยยิ้มบนใบหน้าดูจะเป็นภาษาสากล ที่ทุกคนถูกโปรแกรมไว้ในสมองเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าหลายคนจะกล่าวว่ารอยยิ้มบนใบหน้าอาจจะเป็นรอยยิ้ม ที่จริงใจ เสแสร้ง หลอกลวง หรือยิ้มเชือดเฉือน แต่นั่นก็คือ รอยยิ้ม เพียงแต่รายละเอียด หรือคุณสมบัติเพิ่มเติมของรอยยิ้มนั้น จะเป็นอย่างไรอันนี้ขึ้นกับโปรแกรม ที่แต่ละคนถูกบรรจุไว้ นั่นหมายความว่าการตีความในเชิงรายละเอียดเป็นเรื่องของคนแต่ละคน ซึ่งพื้นฐานการตีความเกิดจากประสบการณ์ ของแต่ละบุคคล ที่แตกต่างกันไป เช่น ในสมัย ที่คุณจำลองลงเลือกตั้ง หลายคนมองว่ารอยยิ้มบนภาพนั้น ถูกสร้างขึ้นมาอย่างไม่เป็นธรรมชาติ ในขณะที่อีกหลายคนมองว่ารอยยิ้มนั้น แสดงความจริงใจออกมา

ถ้าหากสมอง ความทรงจำ และประสบการณ์ เป็นตัว ที่เล่นตลกกับเรา เป็นตัวแปลความ และแปรข่าวสาร ที่เราได้รับ เราจะเชื่ออะไร เชื่อสิ่งที่เราคิด ซึ่งอาจจะไม่เหมือนสิ่งที่คนอื่นคิด หรือเชื่อคนอื่นไม่เชื่อประสบการณ์ของเรา สูตรสำเร็จของคำตอบสำหรับผมคือ เชื่อสิ่งที่คุณเห็นด้วยตา และประสบการณ์ ที่เกิดขึ้นจริง คำโฆษณา และประชาสัมพันธ์มักจะเป็นข้อมูลด้านเดียว และเป็นด้าน ที่กระตุ้นประสบการณ์ด้านบวก ที่เราเคยมีต่อสิ่งนั้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ก็คงเป็นคำสรุป ที่บรรดานักการเมือง ที่ได้เป็นรัฐบาลมักจะชอบพูดว่าประชาชนไม่เข้าใจเพราะรัฐบาลอ่อนทางด้านการประชาสัมพันธ์ คำพูดประเภทนี้หมายความว่า ต่อไปนี้รัฐบาลจะให้ข้อมูลบางด้าน ที่กระตุ้นประสบการณ์ หรือความทรงจำด้านบวกในอดีต ที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลมากขึ้น

ในการเลือกตั้งคราวหน้าเราอาจจะเห็นยุทธวิธีการหาเสียง ที่เปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น โปสเตอร์แบบเดิมๆ ที่แสดงถึงความเคร่งขรึม เอาจริงเอาจังอาจจะหายไป เราอาจจะเห็นรอยยิ้มบนโปสเตอร์มากขึ้น โปสเตอร์ ที่แสดงนโยบาย หรือผลงานอาจจะน้อยลง โปสเตอร์ ที่จะเน้นภาพ ที่เร้าประสบการณ์ด้านบวกของเรา ที่มีผู้สมัครพร้อมไปกับภาพ ที่เร้าประสบการณ์ด้านลบ ที่มีต่อผู้สมัครฝ่ายตรงข้ามน่าจะมากขึ้น ตัวอย่างที่ดีผมคิดว่า เรายังน่าจะจำกันได้ คือ โปสเตอร์ในโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งครั้งก่อน ที่ประชาธิปัตย์ใช้รูปของอาจารย์ปร ีดี กับอาจารย์ป๋วย แล้วสรุปความต่างระหว่างประชาธิ (ปัตย์) ปไตย กับอนาธิปไตย (พลังธรรม)



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.