ทุกวันนี้บริษัทต่าง ๆ มักจะมีปัญหาเกี่ยวกับไฟฟ้าขัดข้องอยู่เสมอ เช่น
ไฟดับ ไฟตก ไฟเกิน ซึ่งมีผลทำให้เกิดความเสียหายต่อองค์กรเหล่านั้นอย่างมาก
โดยเฉพาะต่อระบบคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่ปัญหาเหล่านี้สามารถป้องกันได้โดยใช้เครื่องสำรองไฟฟ้าแบบต่อเนื่องหรือ
UPS (Uninterruptible Power Supply) ซึ่ง UPS ก็คือแบตเตอรี่สำรองที่ติดตั้งอยู่ระหว่างแหล่งจ่ายกระแสไฟฟ้าหลักกับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง
ๆ เช่น คอมพิวเตอร์
โดมินิค ปาเลมู กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจีอี อิเล็กทรอนิกส์ สยาม
จำกัด กล่าวถึงความสำคัญของการใช้ UPS ในเมืองไทยว่าในอดีตที่ผ่านมาคนไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับอุปกรณ์
UPS เลย เนื่องจากมองว่าเป็นอุปกรณ์ที่สิ้นเปลืองและแพง แต่ละบริษัทยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับข้อมูลและเวลาที่เสียไปหรืออุปกรณ์ต่าง
ๆ ที่เสียหายไป จากการที่กระแสไฟฟ้าขัดข้องหรือตก ซึ่งในเมืองไทยมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยมาก
โดยเฉพาะในฤดูฝน
"แต่ปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว หลายบริษัทเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นในการติดตั้ง
UPS มากขึ้นแทบจะพูดได้ว่าทุกระดับธุรกิจและอุตสาหกรรมเริ่มให้ความสำคัญกับการป้องกันไว้ก่อนในเรื่องกระแสไฟฟ้าบกพร่อง"
โดมินิค กล่าว
เอ็มจีอี ดำเนินการขายและการให้บริการระบบ UPS ยี่ห้อ Merlin Gerin ในประเทศไทยถือกำเนิดด้วยความร่วมมือระหว่าง
MGE UPS System ประเทศฝรั่งเศส U Group ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่าย Merlin Gerlin
เหตุผลที่ตั้งเอ็มจีอีขึ้นมานั้นเนื่องจากความยากลำบากในการแข่งขัน ดังนั้นการร่วมทุนกับเจ้าของเทคโนโลยีได้แก่
MGE UPS System ผนวกกับ U Group ที่มีความชำนาญด้านการตลาดในเมืองไทยมาเป็นเวลา
8 ปี ทำให้ความได้เปรียบด้านการแข่งขันมีศักยภาพสูงขึ้น
"เอ็มจีอี มีทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท โดยทางฝรั่งเศสถือ 48% ส่วน
U Group ถือ 42% และบริษัทอื่น ๆ ในไทยถืออีก 9%" โดมินิค เล่า
เขากล่าวต่อไปว่าเนื่องจากบริษัทต่าง ๆ ให้ความสำคัญต่อ UPS มากขึ้นทำให้ช่องทางการตลาดของเอ็มจีอีตั้งแต่นี้เป็นต้นไปจะสดใสมากขึ้น
เพราะในปีที่ผ่านมาการเติบโตของตลาด UPS สูงถึงปีละ 40% และคาดว่าตลาดนี้ยังจะขยายตัวไปได้อย่างต่อเนื่อง
สาเหตุที่ตลาด UPS มีอัตราเติบโตดีนั้น ส่วนหนึ่งมาจากตลาดคอมพิวเตอร์ในไทยมีการเติบโตสูงมาก
คือ ประมาณปีละ 30% ดังนั้นเมื่อตลาดคอมพิวเตอร์ดี ตลาด UPS จะดีตามไปด้วย
เนื่องจากการทำตลาดส่วนใหญ่จะเป็นการทำธุรกิจพ่วงไปกับบริษัทคอมพิวเตอร์ชั้นนำในเมืองไทยแทบทุกบริษัท
เช่น ไอบีเอ็ม, ดิจิตอล, และอิวเล็ตต์ แพคการ์ด จึงกล่าวได้ว่าธุรกิจของเอ็มจีอีจะโตไปตามอัตราการเติบโตของตลาดคอมพิวเตอร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กิจกรรมช่องทางการตลาดของ UPS แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดของตลาดคอมพิวเตอร์
คือขนาดใหญ่ที่เป็นระบบเมนเฟรม, ขนาดกลางหรือมินิคอมพิวเตอร์และขนาดเล็กซึ่งเอ็มจีอีจะมีผลิตภัณฑ์กระจายอยู่ทั้ง
3 ตลาด
"ดังนั้นเราจะได้เปรียบคู่แข่งอย่างมากในด้านการแข่งขัน เพราะเราจะให้ความสำคัญต่อทั้ง
3 ตลาด โดยมีส่วนแบ่งตลาดรวมประมาณ 12% แต่ถ้ามองแต่ละตลาดจะมีส่วนแบ่งตลาด
ๆ ละประมาณ 50% ในขณะที่คู่แข่งบางรายเขาจะให้ความสำคัญบางตลาดเท่านั้น"
โดมินิค กล่าว
อย่างไรก็ตามแนวโน้มตลาดดังกล่าว กลุ่มที่ขยายตัวมากที่สุดจะเป็นขนาดกลางและขนาดเล็ก
สังเกตได้จากขณะนี้มีคนใช้เมนเฟรมน้อยลงต่างจากอดีตที่มีการใช้เมนเฟรมกันมากทำให้
UPS ขนาดใหญ่เป็นที่ต้องการสูง แต่ในปัจจุบัน UPS ขนาดกลางและเล็กเป็นที่ต้องการมากกว่า
ซึ่งเอ็มจีอีก็ได้ปรับกลยุทธ์ไปตามความต้องการของตลาดด้วยการผลักดันผลิตภัณฑ์
UPS ในกลุ่มขนาดกลางและเล็กให้มากขึ้น
"กลยุทธ์การตลาดปีนี้ จึงเน้นทำตลาด UPS ขนาดกลางและเล็กที่มีราคาต่ำ
เพื่อขยายตลาดให้กว้างมากขึ้น มุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นบริษัทที่มีการใช้คอมพิวเตอร์ไม่มาก
ซึ่งจากเดิมเราเน้นไปยังบริษัทขนาดใหญ่ที่มีการใช้คอมพิวเตอร์ระบบเมนเฟรม
เช่น สถาบันการเงิน บริษัททางด้านสื่อสารโทรคมนาคม รัฐวิสาหกิจ ฉะนั้นจุดแข็งของเราคือผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น
UPS ขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก และปัจจุบันเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเอ็มจีอีสามารถ
Move ตามแนวโน้มของตลาดพวกนี้ได้" โดมินิค เล่า
นอกจากนี้จุดเด่นของเอ็มจีอีอย่างหนึ่งคือการให้บริการหลังการขาย โดยจะมีพนักงานไว้บริการอย่างเต็มที่
รวมทั้งยังนำช่องทางวิธีการขายตรงเข้ามาใช้ เพราะในอดีตส่วนใหญ่จะเป็นการขายผ่านดีลเลอร์หรือซัปพลายเออร์
"ความสามารถในการบริการนั้นจะเป็นกลยุทธ์แบบใหม่ด้านตลาดของเรา คือจะเดินตามกระแสของความต้องการของลูกค้าอย่างใกล้ชิด
มีการปรับปรุงแก้ไขการบริการอยู่เสมอ วิธีที่เอ็มจีอีสามารถตอบสนองได้เร็วนั้น
คือมีพนักงานที่ใกล้ชิด เช่นมีช่างเทคนิคที่เพียงพอ มีระบบขนส่งที่ดีและการตั้งศูนย์บริการให้ใกล้กับลูกค้ามากขึ้น
ซึ่งภายในไตรมาสแรกนี้มีแผนขยายศูนย์บริการที่ระยอง, เชียงใหม่ส่วนภาคใต้ยังเลือกอยู่ว่าจะเปิดที่สงขลา
หรือหาดใหญ่ อีกทั้งจะขยายตลาดไปประเทศแถบอินโดจีนในปีหน้าด้วย โดยให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการขยายตลาด"
โดมินิค กล่าว
ปัจจุบันระบบ UPS ที่จำหน่ายในประเทศไทย มี มากมายหลายยี่ห้อ อาทิ APC,
DETEC, SIEMENT, VICTRON ด้านระดับราคานั้นจะแตกต่างกันไปตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักแสนบาท
แล้วแต่ขนาดและความต้องการที่นำไปใช้ ส่วนด้านการแข่งขันนับว่าเริ่มมีความเข้มข้นมากขึ้น
เนื่องจากความตื่นตัวของการใช้ UPS ที่เพิ่มสูงขึ้น
"เราหวังว่าจะสามารถนำสินค้าเข้ามาตีตลาด UPS ในเมืองไทยได้ โดยเฉพาะในเรื่องคุณภาพและบริการหลังการขาย
อีกทั้งสินค้าของเราได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีทั้งในแถบยุโรปทุกประเทศและแถบเอเชีย"
สำหรับความคาดหวังรายได้ในปีนี้ โดมินิคคาดว่าในปีนี้จะสามารถทำรายได้ที่ระดับ
200 ล้านบาท เพิ่มจากปีที่แล้วประมาณ 33% จากมูลค่าตลาดรวมที่คาดว่าจะมีประมาณ
2,000 ล้านบาท
ฟังแล้วน่าสนใจทีเดียว สำหรับแผนงานด้านการตลาดของบริษัทน้องใหม่อย่างเอ็มจีอีแต่มีผู้ร่วมทุนหน้าเก่า
ๆ ที่มีประสบการณ์ในวงการ UPS อย่างมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ความหวังที่โดมินิคหวังเอาไว้ว่าจะเป็นผู้นำในธุรกิจคงจะไม่ไกลเกินเอื้อม