|

หมดยุคหุ้นไซส์ยักษ์เข้าตลาดชี้ระดมทุนเกิน1พันล้านมีน้อย
ผู้จัดการรายวัน(12 ธันวาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
จับตาบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดทุนไทย ที่ระดมทุนเกินกว่า 1 พันล้านบาทเริ่มลดน้อยลง เหตุบริษัทใหญ่ที่ต้องการเข้าตลาดหุ้นไทยเริ่มลดลง รวมถึงบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งที่ไม่ต้องการสูญเสียความเป็นเจ้าของ จึงไม่ต้องการเข้ามาจดทะเบียนมีอีกมาก ประเมินถ้าต้องการให้ตลาดหุ้นไทยมีขนาดใหญ่หวังพึ่งได้แต่เพียงรัฐวิสาหกิจที่จะเข้ามาซื้อขายเท่านั้น
แหล่งข่าวจากวาณิชธนกิจเปิดเผยว่า ปัจจุบันนี้มีบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่มีแผนเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และต้องการระดมทุนเกินกว่าระดับ 1 พันล้านบาทเหลือจำนวนน้อยลง สาเหตุเนื่องจากบริษัทเอกชนขนาดใหญ่หลายบริษัทได้เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เรียบร้อยแล้ว จึงทำให้หลายบริษัทที่มีขนาดใหญ่ไม่มากนัก นอกจากนี้บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่อยู่นอกตลาดหลายแห่งผู้ถือหุ้นใหญ่หรือเจ้าของนั้นไม่ต้องการที่จะสูยเสียความเป็นเจ้าของ เพราะถ้านำบริษัทเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว ก็จะต้องนำหุ้นส่วนหนึ่งกระจายให้กับผู้ถือหุ้นรายย่อยหรือประชาชนทั่วไป ซึ่งทำให้กำไรที่ได้จากการบริหารงานก็จะต้องเฉลี่ยไปให้กับผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ด้วย และบางบริษัทเกรงว่าเมื่อเข้ามาจดทะเบียนแล้วอาจจะประสบปัญหาถูกครอบงำกิจการได้
นอกจากนี้การเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็จะต้องถูกกฎระเบียบต่างๆ ควบคุมทั้งในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือก.ล.ต.ที่จะเข้มงวดเกี่ยวกับระบบบัญชีที่จะต้องได้มาตรฐาน รวมถึงรายการที่เกี่ยวโยงต่างๆ ขณะเดียวกันในส่วนของตลาดหลักทรัพย์ก็จะเข้มงวดในส่วนของการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งในบางครั้งทำให้คู่แข่งทางธุรกิจที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ได้รับรู้ข้อมูลรวมถึงแผนการดำเนินธุรกิจต่างๆ ได้ ส่งผลทำให้ไม่มีความคล่องตัวในการบริหารเท่าที่ควร
อีกปัจจัยหนึ่งได้แก่ภาวะตลาดหุ้นที่ไม่เอื้ออำนวยภายในช่วงปีที่ผ่านมา จึงส่งผลทำให้หลายบริษัทที่เข้ามาระดมทุนได้จำนวนเงินเพื่อไปขยายกิจการไม่มากเท่าที่ควร เพราะไม่สามารถตั้งราคาหุ้นจองได้สูงมากนัก และเมื่อหุ้นเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ปรากฏว่าหุ้นจองหลายบริษัทราคาปรับตัวลดลงมาต่ำกว่าจองทำให้มูลค่าหุ้นของบริษัทลดลงไปอีก แต่ถ้าภาวะตลาดหุ้นกลับมาดี ก็จะส่งผลดีต่อบริษัทได้เช่นกันเพราะจะทำให้บริษัทมีมูลค่าหุ้นเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็มีข้อดีหลายประการเช่นกัน ทั้งเป็นแหล่งในการระดมทุนที่มีต้นทุนที่ต่ำ และมีผลดีในแง่ของภาพลักษณ์ เพราะทำให้มีความน่าเชื่อถือมากกว่าบริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ เพราะมีหน่วยงานที่คอยควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ถือหุ้นใหญ่ว่าจะชั่งน้ำหนักว่าจะเลือกเข้าจดทะเบียนหรืออยู่นอกตลาดหลักทรัพย์
แหล่งข่าวกล่าวว่า บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาจดทะเบียนและระดมทุนเกินกว่า 1 พันล้านบาทนั้นภายในปีหน้า ขณะนี้ก็มีบริษัทจี สตีล จำกัด(มหาชน) ซึ่งได้ยื่นแบบรายการแสดงข้อมูล(ไฟลิ่ง) ไปยังสำนักงาน ก.ล.ต.เรียบร้อยแล้ว เดิมมีแผนที่จะเข้าจดทะเบียนในปลายปีนี้ แต่เนื่องจากสภาวะตลาดหุ้นที่ไม่เอื้ออำนวย จึงทำให้เลื่อนไปขายหุ้นเป็นปีหน้าแทน นอกจากนี้ก็ยังมีหุ้นบริษัทไทยเบฟเวอเรจหรือเบียร์ช้าง ซึ่งได้ยื่นแบบไฟลิ่งแล้วเช่นกัน แต่อยู่ระหว่างรอให้คณะกรรมการก.ล.ต.ทบทวนเกณฑ์การนำธุรกิจแอลกอฮอล์เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อยู่ว่าจะอนุญาตหรือไม่ และยังมีบริษัทอิมแพค อารีน่า ซึ่งได้แต่งตั้งบล.ซีมิโก้เป็นที่ปรึกษาทางการเงินแล้ว แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเข้ามาระดมทุนในช่วงเวลาใด
"ในช่วงปี 2548 ที่ผ่านมานั้นหุ้นใหม่ที่เข้ามาระดมทุนนั้นจะเป็นบริษัทที่มีขนาดเล็กหรือขนาดกลาง ที่มีขนาดระดมทุนประมาณ 200-300 ล้านบาทเป็นส่วนใหญ่ ส่วนบริษัทเอกชนขนาดใหญ่มีไม่มากนัก ซึ่งเมื่อเทียบกับในอดีตแล้วถือว่าลดลงไปพอสมควร ดังนั้นการที่หวังให้ตลาดทุนไทยมีขนาดใหญ่ขึ้นนั้นการที่จะหวังให้มีบริษัทเอกชนขนาดใหญ่เข้ามาระดมทุนคงจะมีไม่มากนัก จึงหวังได้แต่รัฐวิสาหกิจที่จะเข้ามาจดทะเบียนซึ่งจะช่วยได้มาก"แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้จากการรวบรวมข้อมูลการเข้ามาจดทะเบียนในตลาทดหลักทรัพย์ในช่วง 3 ปีย้อนหลังนั้บตั้งแต่ปี 2546-2548 พบว่าในปี 2546 มีบริษัทที่เข้ามาจดทะเบียน 21 บริษัทและเป็นบริษัทที่ระดมทุนเกินกว่า1 พันล้านบาท จำนวน 7 บริษัทประกอบด้วยบริษัท ไมด้า แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน)(MIDA) ระดมทุน 1 พันล้านบาท,
บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน)(TK)ระดมทุน 1.1 พันล้านบาท,บริษัท ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน)(CP7-11) ระดมทุน 3 พันล้านบาท,บริษัท ไทยโอเลฟินส์ จำกัด (มหาชน)(TOC)ระดมทุน 5.9 พันล้านบาท,บริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน)(KEST)ระดมทุน 1.6 พันล้านบาท,บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน)(SIM)ระดมทุน 1.2 พันล้านบาทและ บริษัทไทยคูน เวิลด์ไวด์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)(TYCN)ระดมทุน 2.4 พันล้านบาท
ภายในปี 2547 มีบริษัทเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 36 บริษัทแต่มีบริษัทที่ระดมทุนเกินกว่า 1 พันล้านบาทจำนวน 5 บริษัทประกอบด้วยบริษัทซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน)(CSL)ระดมทุน 1.1 พันล้านบาท,บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)(TOP)ระดมทุน 32,966.4 ล้านบาท, บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน)(KH)ระดมทุน 1.2 พันล้านบาท,บริษัท ไทยน๊อคซ์ สเตนเลส จำกัด (มหาชน)(TNX)ระดมทุน 5.2 พันล้านบาทและบริษัท โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
ภายในปี 2548 มีบริษัทเข้ามาระดมทุนจำนวน 33 บริษัทและเป็นบริษัทที่มีการระดมทุนเกินกว่า 1 พันล้านบาทจำนวน 5 บริษัทประกอบด้วยบริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด(มหาชน)(KSL)ระดมทุนจำนวน 1.3 พันล้านบาท,บริษัทโกลว์ พลังงาน จำกัด(มหาชน)ระดมทุนจำนวน 12,144 ล้านบาท,บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด(มหาชน)(PHATRA)ระดมทุนจำนวน 1.7 พันล้านบาทบริษัทอินโดรามา โพลีเมอร์ส จำกัด (มหาชน)ระดมทุนจำนวน 1.3 พันล้านบาทและบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด(มหาชน)(PS)ระดมทุน 1.9 พันล้านบาท
นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บล.ไซรัส จำกัด (มหาชน)หรือ SYRUS กล่าวว่า ปีหน้าหุ้นไอพีโอ มีน้อยลง เพราะ จากที่มีนี้จะเร่งที่จะเข้าเพราะ จะมีการใช้เกณฑ์รับหลักทรัพย์ใหม่ และภาษีที่จะหมด แต่ก็มีบ้างจากบริษัทที่มียื่นไฟลิ่งปีนี้เพื่อรับสิทธิประโยชน์ภาษี โดยบริษัทก็จะมีงานด้านที่ปรึกษาทางด้านอื่น เช่น การควบรวมกิจการ การเพิ่มทุนแบบเจาะจง เพื่อทุนให้ประชาชนทั่วไป
“การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการควบรวมของบริษัทก็มีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นการควบรวมของบริษัทภายในประเทศ ซึ่งยังไม่มีงานในลักษณะที่เป็นการควบของบริษัทข้ามชาติ ”นายสมภพกล่าว
บริษัทเอกชนที่ระดมทุนเกิน 1 พันล้านบาท ใน 3 ปีที่ผ่านมา
2546
บริษัท Mida มูลค่าระดมทุน(ล้านบาท) 1,000
บริษัท TK มูลค่าระดมทุน(ล้านบาท) 1,100
บริษัท CP7-11 มูลค่าระดมทุน(ล้านบาท) 3,003
บริษัท TOC มูลค่าระดมทุน(ล้านบาท) 5,910
บริษัท KEST มูลค่าระดมทุน(ล้านบาท) 1,612.65
บริษัท SIM มูลค่าระดมทุน(ล้านบาท) 1,210
บริษัท TYCN มูลค่าระดมทุน(ล้านบาท) 2,435.36
2547
บริษัท CSL มูลค่าระดมทุน(ล้านบาท) 1,125
บริษัท TOP มูลค่าระดมทุน(ล้านบาท) 32,966.40
บริษัท KH มูลค่าระดมทุน(ล้านบาท) 1,254
บริษัท TNX มูลค่าระดมทุน(ล้านบาท) 5,250
บริษัท PTL มูลค่าระดมทุน(ล้านบาท) 1,656
2548
บริษัท KSL มูลค่าระดมทุน(ล้านบาท) 1,309.51
บริษัท GLOW มูลค่าระดมทุน(ล้านบาท) 12,144
บริษัท PHATRA มูลค่าระดมทุน(ล้านบาท) 1,778.56
บริษัท IRP มูลค่าระดมทุน(ล้านบาท) 1,380
บริษัท PS มูลค่าระดมทุน(ล้านบาท) 1,916.75
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|