"ปราโมทย์ โชคศิริกุลชัย ยืนหยัดทวนกระแส HBO"


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

หลายปีก่อน ยามเข้าไปรื้อปรับระบบองค์กรในบริษัท ยู แอนด์ ไอ คอปอเรชั่น จำกัด ธุรกิจในกลุ่มช่อง 3 ปราโมทย์ โชคศิริกุลชัย เข้าข่ายยอดนักสู้ทีเดียวทว่าบัดนี้ริ้วรอยแห่งขวากหนามก็คงจางไปแล้ว

วันนี้ ในการทำงานร่วมกับทีวีบี ฮ่องกง เพื่อเผยแพร่รายการของคนเอเชียแข่งกับรายการที่ผลิตจากซีกโลกตะวันตก เช่น HBO ปราโมทย์ พบเกมใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม เพราะการเดินแนวทางนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่หนุ่มร่างเล็กที่ดูทะมัดทะแมงคนนี้ ก็คงเฉียบแหลมพอที่จะแสดงผลงานอีกครั้งหนึ่ง

ระยะ 3 ปีที่ผ่านมาแนวคิดในการส่งซอฟต์แวร์รายการไปสร้างตลาดยังต่างประเทศขึ้นสู่กระแสสูง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม มีเดียพลัส, มีเดีย ออฟ มีเดียส์ และบางกอกเอนเตอร์เทนเมนท์ หรือช่อง 3 เพียงแต่มีวิธีคิดแตกต่างกันไป

ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจคอมพิวเตอร์ โทรคมนาคม สิ่งพิมพ์ และบันเทิง นักธุรกิจส่วนหนึ่งก็เริ่ม "คิดเหมือนกัน" คือจะต้องไม่จำกัดสายตาอยู่เพียงภายในประเทศที่ตลาดเริ่มแน่นขนัด

หากเป็นธุรกิจบันเทิงคำว่าตลาด มิได้หมายถึงประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงประเทศที่อยู่ต่างทวีปทั้งในอเมริกา และยุโรปซึ่งมีคนเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือคนไทยและคนจีนอาศัยอยู่

การจะพิชิตตลาดในทำนองนี้ ต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ในการอ่านอารมณ์มนุษย์ เพราะหนังจีน แม้จะสอดคล้องกับความต้องการของคนจีน ก็ยังไม่ได้หมายความว่า คนจีนทั่วไปจะดูหนังเหมือนกันหมด ยกตัวอย่างเปาบุ้นจิ้น เป็นหนังที่คนจีนในไทย ฮ่องกง และสิงคโปร์ ติดกันงอมแงม แต่ในไต้หวันกลับไม่ค่อยได้รับความนิยมนัก

คนไทยจำนวนไม่น้อยเบื่อละครไทยที่ไม่เพียงแต่น้ำเน่า แต่ยังอุตส่าห์ส่งกลิ่นอีกด้วย ครั้นเมื่อดูเคเบิลทีวีที่ลอกเลียนแนวคิดอเมริกา คนไทยจำนวนมากรู้สึกว่า เคเบิลทีวีก็คือทีวีช่องภาษาอังกฤษ จึงต้องผสมผสานรายการให้มีความเป็นท้องถิ่นมากขึ้น เป็นเหตุให้เคเบิลทีวีเกือบจะทุกเจ้าต่างเคยคุยนักคุยหนาว่าจะผลิตรายการเอง

"ยูทีวี ไอบีซี ไทยสกาย ทีวี ประกาศมากี่ครั้งแล้วว่าจะทำโปรแกรมเป็นรสนิยมท้องถิ่น แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำได้ง่ายเนื่องจากค่าใช้จ่ายสูง และเคเบิลทีวีก็มีปัญหาที่เก็บค่าสมาชิกได้ไม่คุ้มสักที" ปราโมทย์ให้ความเห็น

ปัจจุบันเขาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจของช่อง 3 และเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ทีวีบี 3 เน็ตเวิร์ก จำกัด ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนระหว่างช่อง 3 และทีวีบีฮ่องกง ในอัตรา 60:40

มิใช่ว่า ปราโมทย์จะดูเบาเคเบิลทีวี เพียงเพราะเขาสังกัดอยู่ในค่ายฟรีทีวี อันที่จริงช่อง 3 นั้นวางตัวเป็นเพื่อนร่วมธุรกิจของเคเบิลทีวีมากกว่า เนื่องจากคลังซอฟต์แวร์รายการจำนวนมากของช่อง 3 สามารถสนองความต้องการของเคเบิลทีวีได้

"เคเบิลทีวีไม่มีทางลงทุนทำรายการเอง เพื่อสร้างช่องรายการไทย 5-10 ช่องอะไรทำนองนี้ เพราะมันแพงมาก ลงทุนสร้างละครเรื่องเดียว 10 ล้าน ไปฉายโรงหนังแล้วเก็บเงินได้ 20 ล้านบาทคุ้มค่ากว่าฉายทางเคเบิลทีวีซึ่งมีคนดูจำนวนน้อย เก็บได้แต่ค่าสมาชิก ค่าโฆษณาก็ไม่มี" ปราโมทย์กล่าว

นี่จึงเป็นช่องทางให้ช่อง 3 ประสานมือกับทีวีบี จัดแพ็กเกจรายการ ASIAN ENTERTAINMENT NETWORK (AEN) ขายให้แก่เคเบิลทีวีบางช่อง เช่น ยูทีวี เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่คลังบันเทิง แต่ธุรกิจก็มิได้หยุดเพียงเท่านี้เพราะ AEN มีโครงการที่จะขยายตัวไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และต่างทวีปที่มีคนไทยและคนจีนอยู่หนาแน่น

จากการเริ่มคอนเซ็ปต์ AEN มาจนวันนี้ ก็เป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม ในแง่การดำเนินงานก็กินเวลา 7 เดือน ปราโมทย์กล่าวอย่างสบายใจว่า AEN ได้ผลและทำกำไรแต่เขาก็มิได้แจกแจงตัวเลขว่าเท่าไร จึงต้องฟังหูไว้หูกันก่อนอย่างไรก็ตาม พออนุมานได้ว่า เป็นการเริ่มต้นที่ดี

การประสานซอฟต์แวร์รายการระหว่างช่อง 3 กับ ทีวีบี ถือได้ว่าเป็นการรวมตัวของสองเจ้าถิ่น ที่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะทีวีบีนั้นมีการขยายตัวออกไปยังไต้หวัน จีน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และแม้กระทั่งสหรัฐ หรือ TVB USA ประเทศเหล่านี้มีฐานคนจีนอยู่มากพอสมควร

เท่ากับว่าทั้งช่อง 3 และทีวีบี เริ่มทวนกระแสผู้ยิ่งใหญ่เช่น HBO ช่องทางของทีวีบี ก็จะกลายเป็นช่องทางธุรกิจช่อง 3 ด้วย

ภายใต้โลโก AEN-ที่ปรากฎบนจอโทรทัศน์ ผลประโยชน์ต้องเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย แต่ทั้งช่อง 3 และทีวีบี ก็มีอิสระที่จะดำเนินธุรกิจต่างแดนด้วยตนเอง

เห็นได้ชัดว่า ช่อง 3 เล่นบทสร้างภาพใหญ่ในลักษณะที่ไม่เสี่ยงจนเกินไปนัก ขณะที่ทีวีบีก็จะได้ประโยชน์จากตลาดในไทยและเพื่อนบ้าน โดยอาศัยมือการตลาดเช่นช่อง 3

เมื่อเริ่มต้นทั้งทีวีบีและช่อง 3 อาศัยการขายรายการที่มีอยู่แล้ว แต่ต่อไปก็จะเป็นการสร้างรายการใหม่ เพื่อกระจายไปตามช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเคเบิลทีวี ทีวีผ่านดาวเทียม และฟรีทีวีต่าง ๆ ซึ่งเป็นฐานตลาดที่ใหญ่กว่าเคเบิลทีวีเพียงอย่างเดียว

ความสำเร็จของ AEN ต้องอาศัยการปรุงรสที่สอดคล้องกับคนเอเชียเป็นหลักใหญ่ โดยที่ไม่กังวลกับการมีเครือข่ายแพร่ภาพกระจายเสียงมากนัก

"คนที่เป็นเจ้าของซอฟต์แวร์ต่างหากที่จะเป็นเจ้าโลก" ปราโมทย์กล่าวอย่างมั่นใจ "ต่อให้เป็นเจ้าของฮาร์ดแวร์เป็นเจ้าของดาวเทียม มีทีวีนับร้อยช่อง แต่จะใส่รายการอะไรลงไปนี่สิเป็นปัญหาเคเบิลทีวีถึงลำบากไง เพราะซอฟต์แวร์ดี ๆ ล้วนมีราคาสูงทั้งสิ้น"

ความสำเร็จของช่อง 3 ทำให้ปราโมทย์มีพื้นฐานความคิดเช่นนี้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดในแง่ของเครือข่ายการส่งสัญญาณทีวี เป็นที่รู้กันดีว่าช่อง 3 มิได้มีแต้มต่อมากไปกว่าช่องอื่น ๆ แต่ออกจะเป็นรองด้วยซ้ำ แต่ช่อง 3 ได้รับความนิยม เพราะมีคุณภาพและรสชาติของรายการถูกใจผู้ชมมากกว่า เมื่อเรตติ้งสูงก็สามารถดึงดูดโฆษณาได้

"ละครช่อง 3 ไม่ได้ดังตูมตามทั้งปี บางเรื่องของช่อง 5 ดังกว่าก็มี แต่ช่อง 5 ดังเรื่องเดียว แล้วก็หายไป จึงไม่ได้สร้างความน่าเชื่อถือให้แก่เอเยนซี"

ช่อง 3 กำลังเริ่มยุคมหาอำนาจซอฟต์แวร์เอเซียไปยังตลาดใหม่ โดยไม่ผลีผลามลงทุนในเรื่องเน็ตเวิร์กทีวีอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะในรูปไหนเพราะอันที่จริงช่อง 3 ก็เป็นฟรีทีวีอยู่แล้ว

ในระยะนี้ ทีวีบี 3 เน็ตเวิร์ก ภายใต้โลโก AEN เริ่มผลิตรายการเพลงของชาวเอเชียที่เรียกว่า ASIN JUCTION และรายการสารคดีด้านสังคมธุรกิจเพื่อป้อนในไทยและขายในตลาดเอเซีย

ในตอนปลายปีนี้ ก็จะอาศัยเครือข่ายของ TVB USA เพื่อแพร่โปรแกรมของช่อง 3 คิดเงินจากการขายรายการ TVB USA มีถึง 8 ช่อง จึงนับเป็นช่องทางธุรกิจที่น่าสนใจทีเดียว ตอนนี้อยู่ระหว่างเปลี่ยนการส่งสัญญาณจากอะนาล็อกเป็นดิจิตอล จากนั้นก็จะเป็นการทดสอบสัญญาณ

นอกจากนี้ AEN ยังได้รับการติดต่อจากบริษัทไทย เวฟ อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง จำกัด เพื่อให้แพร่ภาพรายการไปยุโรป โดยมีศูนย์แพร่ภาพอยู่ในอังกฤษแต่ก็ยังไม่เป็นที่ตกลงกัน

ทาง AEN มองว่า การดำเนินงานของไทยเวฟยังไม่เป็นธุรกิจอย่างเต็มตัว แต่ออกจะเป็นลักษณะ "กุศล" คือเป็นกระบอกเสียงของไทยในยุโรป จึงได้รับการสนับสนุนซอฟต์แวร์ฟรีจากช่อง 5 และช่อง 9 ทั้งที่ไทยเวฟมีการเก็บค่าสมาชิก เดือนละ 930 บาท จากผู้รับบริการ ซึ่งจะต้องติดตั้งจานรับสัญญาณดาวเทียม และอุปกรณ์ถอดรหัสสัญญาณ

การดำเนินงานในระยะแรกของไทยเวฟ ไม่ได้ผลนักจึงต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ เพื่อให้อยู่ในธุรกิจต่อไปได้

ต่อมาไทยเวฟจึงเป็นบริษัททีวีผ่านดาวเทียมช่องภาษาไทยในเครือสหวิริยา โอเอ โดยสหวิริยาถือหุ้นอยู่ถึง 60% ผู้ก่อตั้งคือ ไวยวุฒิ จันทร์หอม ถือหุ้น 30 % อีก 10% เป็นของบริษัทซิสเท็กส์ อินโฟร์ โปร

"ผมใช้คำว่าไทยเวฟเป็นกระบอกเสียง เพราะเขาได้ซอฟต์แวร์ฟรี แต่ถ้าเมื่อไรเป็นธุรกิจอย่างจริงจังใครจะให้ซอฟต์แวร์ฟรีกับไทยเวฟ อย่าลืมว่าค่าเน็ตเวิร์กกับค่าซอฟต์แวร์มันแพง" ปราโมทย์ให้ความเห็น

แจ็ค มินทร์ อิงค์ธเนศ ประธานกรรมการสหวิริยา โอเอ ซึ่งเข้ามาต่อชีวิตของไทยเวฟให้ยืนยาวขึ้น ก็คงไม่ได้มองผลกำไรในระยะสั้นเท่านั้น ด้านหนึ่งก็เป็นการชิมลางในธุรกิจใหม่ ๆ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็หวังให้ไทยเวฟเป็นเครื่องมือทางการตลาดของสหวิริยาในระยะยาว ซึ่งอาจจะเป็นในแง่การประชาสัมพันธ์และการขายสินค้า แต่เขาก็ยังไม่ได้ให้ภาพร่างที่ชัดเจนนัก

การที่กลุ่มบันเทิงในไทยเริ่มมีความคิดในระดับภูมิภาคตลอดจนระดับโลก เป็นเรื่องน่าติดตาม เพราะธุรกิจเริ่มก้าวมาถึงจุดที่จะกระจุกตัวอยู่แต่เพียงในประเทศไม่ได้แล้ว

คนไทยส่วนหนึ่งก็มิได้มีชีวิตอยู่เฉพาะในเมืองไทยอีกต่อไป แต่ชีวิตอาจหมายถึงทั้งทวีปหรือทั้งโลก ทั้งในแง่ของการเดินทางและการสื่อสารนั่นคือคนชั้นกลางในเมืองไทยอาจกลายไปเป็นคนชั้นกลางในยุโรป ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกาได้ในวันรุ่งขึ้น โดยมีวิถีชีวิตไม่ต่างกันนัก เพียงแต่รสชาติบันเทิงต่างหากเล่า ซึ่งยังต่างกันอยู่

นักธุรกิจมองว่า การสนองตรงส่วนนี้ได้อย่างมีศิลป์คือ เงิน เงิน และก็เงิน

นี่เป็นตลาดใหม่ที่มิใช่เป็นเรื่องแอบแฝงอีกค่อไปเหมือนกับการที่มีคนญี่ปุ่นมากมายในละตินอเมริกา มีคนหลายสัญชาติที่อาจกลายเป็นคนส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ ในสองทศวรรษหน้า

มีเดียพลัสเคยถึงกับต้องล้มเลิกโครงการวิทยุข้ามชาติไปยังลอสแองเจลิส เมื่อพบความจริงว่า ยังไม่ได้รับความสนใจ และไม่คุ้มกับการลงทุนเท่าไรนัก ไทยเวฟ ก็ยังขาดความน่าสนใจในเชิงธุรกิจแต่แนวคิดแบบ AEN ก็ยังมีโอกาสเร้าใจได้ โดยอาศัยฐานการตลาดที่กว้างกว่า และการลงทุนร่วมกับพันธมิตรซึ่งทำให้เสี่ยงน้อยที่สุดนั่นเอง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.