|
"เอฟทีเอไทย-จีน/อาเซียน"ทำป่วนรากหญ้ากระอัก-ดุลการค้าติดลบ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(12 ธันวาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
นโยบายค้าเสรีไทย-จีน/อาเซียนทำป่วน อุตสาหกรรมชา/แผนปลุกปั้น TEA CITY เชียงรายกระเทือนทั้งระบบ เกษตรผู้ปลูกกว่า 2 หมื่นครัวเรือนได้รับผลกระทบถ้วนหน้า ขณะที่ผู้ปลูกพืช-ผักรายย่อยเริ่มหมดทางหากิน หลังถูกพืช-ผักราคาถูกจากจีนตีตลาดกระจุย แถมทิ้งกล่องโฟมไว้ดูต่างหน้า สงว.จวกนโยบายค้าเสรีไทย-จีนลักลั่น สินค้าไทยต้องแบก VAT จีนถึง 13% ขณะที่สินค้าเกษตรจีนเข้าไทยได้รับการยกเว้นภาษี 0%ถ้วนหน้า ทั้งเรือไทยหมดสิทธิ์เกิดในแม่น้ำโขง
นโยบายค้าเสรีไทย-จีน รวมทั้งอาเซียน ที่เดินหน้าเต็มตัวมากขึ้นทุกขณะ จากเดิมที่ไทย-จีน มีข้อตกลงเปิดเสรีสินค้าเกษตรระหว่างกันนำร่องไปตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2546 เป็นต้นมา ล่าสุดเริ่มเกิดผลกระทบมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยปรากฏให้เห็นทั้งในลักษณะของข้อมูลตัวเลขทางการ / ความเดือดร้อนเฉพาะหน้า ที่เกษตรกรทั้งรายย่อย - กลาง ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะในพื้นที่เชียงราย เริ่มรวมตัว กันนำข้อมูลความเดือดร้อน - ผลกระทบที่ได้รับออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเข้ามาดำเนินการแก้ไขกันมากขึ้น
ในแง่มุมของตัวเลขอย่างเป็นทางการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ได้สรุปภาวะการค้าไทย-จีนหลังจากมีการทำข้อตกลงเปิดเสรีการค้าผักผลไม้ว่า ในช่วง 9 เดือนของปี 48 การค้าผักผลไม้ระหว่างไทย-จีน ส่งออกผ่านด่านศุลกากรในพื้นที่ภาคเหนือมูลค่ารวมทั้งสิ้น 229.6 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 47 ที่มีมูลค่าการส่งออก 343.1 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 33.1 และลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2546 ที่ยังไม่มีการเปิดเสรีการค้าระหว่างกันที่มีมูลค่า 1,504.1 ล้านบาทหลายเท่าตัว
ส่วนการนำเข้าผ่านทางภาคเหนือในช่วง 9 เดือนของปี 48 นั้น มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 305.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 47 ร้อยละ 24.9 ทำให้การค้าผักผลไม้ไทย-จีนผ่านทางภาคเหนือ ขาดดุลการค้า 75.6 ล้านบาท ทั้งที่ในช่วงเดียวกันของปีก่อนเกินดุล 98.7 ล้านบาท และช่วงเดียวกันของปี 2546 เคยเกินดุลสูงถึงกว่า 1,272 ล้านบาท
สำหรับสาเหตุที่ทำให้การค้าผักผลไม้ไทย-จีนผ่านทางภาคเหนือ มีมูลค่าการส่งออกลดลงและขาดดุลอย่างต่อเนื่องหลังจากทำข้อตกลงเปิดเสรีการค้าระหว่างกันนั้น เป็นผลเนื่องมาจากการที่ผู้ส่งออกหันไปใช้ท่าเรือกรุงเทพฯ ในการส่งออกสินค้าผักผลไม้ไปยังประเทศจีนแทนการส่งออกผ่านทางภาคเหนือ เพราะมีความสะดวกมากกว่าโดยที่เป็นการ
ค้าในอัตราภาษี 0% เหมือนกันพืชผักเชียงรายราคาร่วงหนัก
ส่วนผลกระทบจากเอฟทีเอไทย-จีน ที่เกิดขึ้นกับเกษตรรายย่อย - กลาง โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ที่เริ่มปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นทุกขณะก็คือ ราคาพืชผักที่จำหน่ายที่สวนของเกษตรกรที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ที่ขณะนี้กำลังประสบปัญหาราคาตกต่ำอย่างหนักในรอบหลายปี ไม่ว่าจะเป็น ผักกาดขาว กระหล่ำ ฯลฯ ที่เกษตรกรจะปลูกตามแนวฝั่งแม่น้ำโขงเป็นเนื้อที่หลายพันไร่ โดยที่เกษตรกรเอง ก็จำเป็นต้องจำหน่ายให้กับพ่อค้าคนกลาง เนื่องจากไม่มีทุนพอในการส่งสินค้าไปยังตลาดใหญ่ ในตัวเมืองต่าง ๆ หรือตลาดไทยที่กรุงเทพฯ
นายสุวิทย์ บุญรัตน์ ตัวแทนกลุ่มชาวบ้านหมู่บ้านป่าสักหางเวียง ต.เวียง อ.เชียงแสน กล่าวว่า เดิมราคาพืชผักของเกษตรจะมีราคาจำหน่ายผ่านพ่อค้าคนกลางเฉลี่ยกิโลกรัมละ 4-5 บาท แต่ล่าสุดเอกชนที่รับซื้อได้กดราคาพืชผักให้เหลือเพียงกิโลกรัมละ 1.50 บาท ทำให้เกษตรกรเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะไม่มีช่องทางที่จะลดต้นทุนสู้กับพืชผักนำเข้าจากจีนได้ ทำให้มีหนี้สินล้นพ้นตัว รวมทั้งไม่สามารถเปลี่ยนอาชีพได้เนื่องจากพื้นที่ไม่มีที่ดินทำนาข้าวและทำการปลูกพืชมายาวนานหลายชั่วอายุคนแล้วจึงอยากให้หน่วยงานต่างๆ เข้าไปช่วย
ด้านนายมิติ ยาประสิทธิ์ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงแสน กล่าวว่า ราคาพืชผลตกต่ำดังกล่าวเกิดจากการเปิดการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ไทย-จีน ซึ่งลดภาษีพืชผักเหลือ 0% ทำให้พืชผักของจีนซึ่งมีราคาถูกทะลักเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยจะส่งจากเชียงแสนไปยังตลาดที่ อ.เมือง จ.เชียงราย หรือที่ภาคกลางก่อนและส่งย้อนกลับมาตีตลาดในภาคเหนือ แม้กระนั้นก็ยังมีราคาถูกกว่าพืช ผักในประเทศ เพราะต้นทุนถูกกว่าเกษตรกรไทย
แหล่งข่าวจากศุลกากรเชียงแสน จ.เชียงราย ระบุว่า ปีนี้ (2548) มีผักจากจีนนำเข้ามาท่าเรือเชียงแสน เช่น บรอกเคอร์รี่,ผักกาดขาว นำเข้า 8,663 ตัน มูลค่า 105 ล้านบาท หรือราคาขายเฉลี่ยขาย ก.ก.ละ ไม่ถึง 25 สตางค์ เพราะน้ำหนักอาจรวมภาชนะไปด้วย และราว 50% ส่งขายไต้หวัน และประเทศอื่น เนื่องจากการนำเข้าผักจากจีนโดยตรงบางประเทศเช่นไต้หวันทำไม่ได้ ซึ่งไม่แน่ชัดว่าจะมีผลต่อผักท้องถิ่นมากน้อยแค่ไหน
นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่า ยังไม่แน่ชัดว่า ผักจากจีนจะมีผลกระทบต่อผักในท้องถิ่นอย่างไร เพราะเท่าที่ทราบผักสดจากจีนหลายชนิด เช่น บรอกเคอร์รี่,ผักกาด มีการแพคในกล่องโฟมอย่างดี และมักส่งตามภัตตาคาร และไม่ได้มีวางขายทั่วไปแต่อาจจะกระทบในทางอ้อม หรือไม่ต้องมาติดตามศึกษาดูให้ชัดเจน
ผู้ปลูกชาค้านสุดตัว นโยบายเปิดเสรีค้าชาไทย-จีน/อาเซียน
ขณะที่กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายค้าเสรีไทย-จีน/อาเซียน ที่ออกมาเคลื่อนไหวอีกกลุ่มคือ กลุ่มผู้ปลูกชาเชียงราย ที่ได้รวมตัวกันกว่า 200 คน เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 48 นำโดยนายกำจร มานิตวิรุฬห์ ประธานสหกรณ์ชาเชียงราย เพื่อขอพบ ดร.ทะนง พิทยะ รมว.คลัง ที่เดินทางมาประชุมคลังสัญจร ที่โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์รีสอร์ท จ.เชียงราย โดยมีนายปิยะพันธ์ นิมมานเหมินท์ รองปลัดกระทรวงการคลัง รับเรื่องแทน
ประธานสหกรณ์ชาเชียงราย ได้เรียกร้องว่า กรณีที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายที่จะเกิดเสรีการค้าใบชากับจีน / อาเซียนในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งจะทำให้มีใบชาจากต่างประเทศ เข้ามาจำหน่ายในไทยมากขึ้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวเริ่มสะท้อนออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมแล้ว คือ กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตชาเขียวในประเทศ เริ่มชะลอสั่งซื้อใบชาเขียวจากเกษตรกรไทยแล้ว เพื่อรอดูใบชาต่างประเทศทะลักเข้ามา อันจะทำให้ราคาชาในประเทศตกต่ำลงแน่นอน
จะทำให้เกษตรกรผู้ปลูกชาเขียว / ชาพันธุ์ดี อาทิ ชาอู่หลง ของเชียงราย ที่มีกว่า 20,000 ครัวเรือนได้รับความเดือดร้อนถ้วนหน้า จึงขอให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายเปิดเสรีการค้าใบชากับต่างประเทศ เพื่อช่วยปกป้องเกษตรกรผู้ปลูกชาในประเทศ เพราะเชื่อว่า มาตรการที่รัฐบาล จะเปิดให้นำเข้าใบชาปลอดภาษี เพื่อเก็บภาษีกับผู้ผลิตชาพร้อมดื่ม จะทำให้ผู้ผลิตชาพร้อมดื่มหันมากดราคารับซื้อชาเขียวจากเกษตรกรอีกทอดหนึ่ง
นอกจากนี้นโยบายดังกล่าว ยังจะมีผลกระทบต่อนโยบายผลักดัน ให้เชียงรายเป็นเมืองแห่งชา หรือ TEA CITY ที่นายวรเกียรติ สมสร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดกำลังผลักดันอย่างเต็มที่ โดยใช้งบประมาณ ผู้ว่าฯซีอีโอซื้อต้นกล้ามาจำหน่ายให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการอยู่ ล่าสุดมีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 1 แสนไร่ และมีมูลค่าการค้าชานับพันล้านบาท/ปีด้วย
สำหรับราคาใบชาในขณะนี้ มีตั้งแต่ กก.ละ 80 - 400 บาท ส่วนชาอู่หลง ราคาหน้าสวนอยู่ที่ 1,000 บาท/กก.ขึ้นไป
ผักจีนทั้งโฟมให้ดูต่างหน้า
นายบุญส่ง เชื้อเจ็ดตน นายกเทศมนตรี ต.เวียงเชียงแสน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีเรือสินค้าสัญชาติจีนขนสินค้าในแม่น้ำโขงขึ้นฝั่ง ที่ท่าเรือเชียงแสนเป็นจำนวนมาก พบว่า มีผู้ประกอบการค้าจากจีนได้นำขยะเข้ามาทิ้งในฝั่งไทยมากขึ้นทุกทีด้วย เมื่อเทศบาลเข้มงวดมากขึ้น ก็ได้มีการขนขยะไปยังสถานที่ฝังกลบขยะของเทศบาลตั้งอยู่พื้นที่หมู่บ้านห้วยเกี๋ยง หมู่ 8 ต.เวียง อ.เชียงแสน ห่างจากตัวเมืองเชียงแสนเล็กน้อย
โดยขยะที่สร้างปัญหามากที่สุด คือ ขยะประเภท "โฟม" ซึ่งใช้บรรจุพืชผักและผลไม้มาจากจีน เพราะขยะประเภทนี้ไม่สามารถกำจัดได้เลย เพราะเผาก็สร้างมลภาวะ และกลิ่นอย่างรุนแรง ฝังกลบก็ไม่ย่อยสลาย และไม่สามารถหาที่มาฝังกลบได้เพราะมีปริมาณมหาศาลหรือจะใช้ทำปุ๋ยก็ไม่ได้อีก
นายบุญส่ง กล่าวอีกว่า ในปัจจุบันปัญหานี้ ได้เริ่มลดน้อยลงเนื่องจากสังเกตเห็นว่ามีเอกชนไทยบางราย ได้ขอนำโฟมซึ่งมีลักษณะเป็นถังไปใช้ประโยชน์ และบางส่วนชาวบ้านก็นำไปใช้ประโยชน์รวมทั้งขยะประเภทนี้ก็เริ่มกระจายเข้าสู่ด้านในของประเทศมากขึ้นทำให้ปัญหาที่เชียงแสนลดน้อยลงแล้ว
กระนั้นก็ไม่แน่ใจว่าในอนาคตโฟมจำนวนมหาศาลจะกลับมาระบาดหรือไม่ ล่าสุดเทศบาล ต.เวียงเชียงแสน ได้รับการอนุมัติโดยหลักการจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้โรงงานคัดแยกขยะแบบครบวงจรบนพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ พื้นที่หมู่บ้านห้วยเกี๋ยง หมู่ 8 ต.เวียง งบประมาณ 204 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างรอให้อำเภออนุมัติการใช้ที่ดินซึ่งหากว่าได้รับการอนุมัติ ก็จะสามารถก่อสร้างได้ในเร็วๆนี้ คาดว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาขยะล้นเมืองนี้ได้
ส.ว.จวกนโยบายค้าเสรีไทย-จีนลักลั่น
ขณะที่คณะกรรมาธิการยุติธรรมวุฒิสภา นำโดยนายประสิทธิ์ ปทุมรักษ์ ประธานกรรมาธิการฯที่ได้เดินทางลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์การค้าชายแดนไทย-จีน ที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เมื่อเร็ว ๆ นี้ ระบุว่า การค้าชายแดนผ่านแม่น้ำโขงขณะนี้มีปัญหาหลายด้าน ทั้งเรื่องการเปิดเอฟทีเอสินค้าเกษตรไทย-จีน ที่ฝ่ายไทยได้ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรจากจีนทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ แต่จีนกลับไม่ได้ยกเลิกเก็บภาษีสินค้าเกษตรไทยทั้งหมด โดยยังคงจัดเก็บ VAT จากพืช ผัก ผลไม้ ที่นำเข้าจากไทยอยู่ เช่น ลำไยอบแห้ง ต้องเสียภาษีภายในประเทศให้จีนอีก 13% ซึ่งถือเป็นนโยบายที่ลักลั่นไม่เท่าเทียมกัน
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการเดินเรือในแม่น้ำโขงที่ปัจจุบันไม่มีเรือที่เป็นของคนไทยแม้แต่ลำเดียว เป็นของชาวจีนทั้งหมด เนื่องจากไม่เป็นที่ยอมรับของประเทศพม่าและประเทศลาว อีกทั้งชาวจีนไม่ยอมรับคนไทยเป็นกัปตันหรือไต้ก๋งเรือ เพราะคิดว่าไม่ชำนาญเส้นทางการเดินเรือ อาจทำให้ชนหินโสโครกได้
"เรือสินค้าที่แล่นเข้าออกท่าเรือเชียงแสน มีราวปีละ 2,500 ลำ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงควรก่อสร้างท่าเรือเชียงแสน แห่งที่สอง ที่ท่าสบกก ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน ตอนใต้ของท่าเรือเชียงแสน ราว 6 ก.ม. เพื่อเป็นที่รองรับจำนวนของเรือ อย่างไรก็ตามพบว่าส่วนใหญ่เป็นของชาวจีนทั้งหมด ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาก่อนที่เรือสินค้าของจีนจะยึดแม่น้ำโขงทั้งหมด"
เขาบอกว่า ในภาพรวมสินค้าเกษตรของไทยจะเสียเปรียบประเทศจีน อีกทั้งเริ่มมีการนำเข้า ผัก ผลไม้ ผ่านท่าเรือกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น เพราะสะดวกและมีคอนเทนเนอร์แช่เย็นขนาดใหญ่ทำให้ผักผลไม้ ไม่บอบช้ำ ซึ่งจะส่งผลต่อการนำเข้าทางท่าเรือเชียงแสนอย่างแน่นอน
ด้านนางเกศสุดา สังขกร เจ้าของบริษัทชิปปิ้งแห่งหนึ่ง กล่าวว่า เป็นที่ทราบดีว่ากลุ่มทุนของจีนเข้ามาลงทุนใน อ.เชียงแสน มาหลายปีแล้ว มีการตั้งบริษัทชิปปิ้งของจีน และให้ชาวจีนแต่งงานกับคนไทยเพื่อลงทุนซื้อที่ดิน ทำให้พ่อค้าไทยทุกคนต้องปรับตัว เนื่องจากการแข่งขันสูงเพราะจีนมีบทบาทในแม่น้ำโขงเป็นอย่างมาก ทั้งนี้รัฐบาลควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการแข่งขันกับต่างชาติได้ และพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพควบคู่ไปด้วย ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการหลายรายต้องปิดตัวลง หรือทำธุรกิจรูปแบบอื่น และในอนาคตหากไม่มีคนไทยทำแล้ว เชื่อว่าธุรกิจที่เชียงแสนจะเป็นของชาวจีนทั้งหมด
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|