ทีซีแอลฉีกภาพสินค้าจีนวัดรอยแบรนด์เกาหลี


ผู้จัดการรายสัปดาห์(12 ธันวาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

"ทีซีแอล" ยักษ์เครื่องใช้ไฟฟ้าจีน เร่งยกระดับแบรนด์ ตามสูตรเกาหลี เตรียมจัดทัพสินค้าไฮเอนด์ป้อนตลาดปี'49 ด้วยงบตลาดกว่า 200 ล้านบาท ล่าสุดจับมือ "ทศภาค" เป็นสปอนเซอร์ถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2006 พร้อมเสริมความแกร่งช่องทางขายผ่าน 7-11 หลังจากเข้ามาเปิดตลาดในไทยครั้งแรก ด้วยกลยุทธ์ราคาต่ำกว่าคู่แข่งมานาน 1 ปี การรุกครั้งนี้ มีเป้าหมายที่จะเขี่ยแอลจีให้พ้นทาง ก่อนจะขยับขึ้นสู่ Top 3 ภายใน 3 ปี

ที่ผ่านมา การแข่งขันของเครื่องใช้ไฟฟ้าในช่วงหลาย 10 ปีก่อน จะเป็นการขับเคี่ยวกันกันระหว่างสินค้าแบรนด์ญี่ปุ่น ยุโรป และเกาหลีเป็นหลัก โดยทุกค่ายต่างชูจุดขายเรื่องเทคโนโลยีเป็นหลัก ทว่า ในระยะ 2 - 3 ปีนี้ เครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีนเริ่มเข้ามาทำตลาดในไทยอย่างหนักและต่อเนื่อง โดยใช้ราคาชนิดที่ต่ำติดดินเมื่อเทียบกับคู่แข่งมาเป็นตัวดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคเป็นหลัก ขณะที่คุณภาพหรือเทคโนโลยีกลับเป็นจุดขายรอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกในการทำตลาดของเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีน

ทว่า โปรเจคการจับมือ ระหว่าง "ทศภาค" กับ "ทีซีแอล" เพื่อร่วมเป็นสปอนเซอร์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2006 อย่างเป็นทางการนั้น แม้ไม่ใช่เรื่องแปลกนัก แต่ถือเป็นครั้งแรกและแบรนด์แรกของเครื่องใช้ไฟฟ้าจีนที่หันมาจัดกิจกรรมในรูปแบบนี้ โดยมีเหตุผลอยู่ที่ต้องการโชว์ศักยภาพของแบรนด์ และสร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภคเห็นคุณภาพสินค้า รวมทั้งคุ้นเคยกับแบรนด์มากขึ้นด้วย เนื่องจากการทำตลาดในไทย 1 ปีที่ผ่านมา แม้ทีซีแอลจะเรียกความสนใจจากผู้บริโภคได้เป็นอย่างดีด้วยกลยุทธ์ราคาก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงกลุ่มลูกค้าระดับกลางลงมา ที่เป็นลูกค้าต่างจังหวัดประมาณ 70% กรุงเทพฯ 30% ซึ่งยังไม่เป็นไปตามแผนที่ค่ายนี้ตั้งไว้ ซึ่งความมั่นใจเรื่องคุณภาพเป็นก้างชิ้นโตที่ทำให้ลูกค้าระดับบนยอมเพิ่มเงินซื้อสินค้าแบรนด์ญี่ปุ่น หรือ เกาหลีแทน

"ผู้บริโภคไทยส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าสินค้าจีนที่จำหน่ายได้ราคาถูก เพราะว่าเป็นสินค้าคุณภาพต่ำ บริษัทจึงพยายามสร้างศักยภาพของแบรนด์ให้มีความน่าเชื่อถือ เช่น การเข้าซื้อกิจการของ Thomson ของฝรั่งเศส เมื่อปีก่อน หรือการซื้อ Aclatel ของฝรั่งเศสในปีนี้ เพื่อเข้าสู่ธุรกิจโทรศัพท์มือถือระดับโลก และให้แบรน์ TCL โกอินเตอร์อย่างชัดเจน

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าการจับมือกับทศภาค จะทำให้แบรนด์เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง และรู้จักคุณภาพสินค้าได้หลากหลายอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะลูกค้าระดับบนหรือคนกรุงเทพคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 50% เท่าลูกค้าต่างจังหวัดในปีหน้า เพราะบริษัทจะเลือกอุปกรณ์มาใช้ถ่ายทอดสดหลายชนิด ซึ่งตรงกับกลุ่มเป้าหมาย อาทิ พลาสม่า ทีวี,แอลซีดี ทีวี,ทีวีจอแบน,จอโค้งคอมพิวเตอร์ทุกชนิด ซึ่งสินค้าจะพ่วงไปกับลิขสิทธิ์ของทศภาคทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการทำแคมเปญโฆษณา หรือสัญญาอื่นๆ"เป็นคำกล่าวของ เมธา โรจนชัยชนินทร รองผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ทีซีแอล อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด

ดังนั้น การทำตลาดในปี 2549 ภายใต้งบกว่า 200 ล้านบาท จะแบ่งเป็นการทำตลาดระหว่าง Above The Line และ Below The Line ในสัดส่วนใกล้เคียงกัน ต่างจากปีนี้ที่จะเน้นกิจกรรมการตลาด ณ จุดขาย หรือการออกบูธแสดงสินค้าเป็นหลัก ถึง 70 % เพื่อให้แบรนด์คุ้นเคยกับผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด โดยมีราคาที่ถูกกว่าคู่แข่งเมื่อเทียบแต่ละสินค้าเป็นจุดขาย เช่น เมื่อเทียบกับโซนี่จะมีราคาถูกกว่าประมาณ 10%

สำหรับ นโยบายของทีซีแอลในปีหน้าที่ค่อนข้างชัดเจนว่า ต้องการยกระดับแบรนด์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือนั้น เพื่อรุกเข้าสู่กลุ่มคนเมือง ระดับบน ด้วยสินค้าไฮเอนด์ หลังจากที่ส่งสินค้าระดับล่างเข้ามาจับกลุ่มต่างจังหวัด หากย้อนไปเมื่อหลาย 10 ปีก่อน ย่อมไม่ต่างจากสูตรสร้างแบรนด์ของเครื่องใช้ไฟฟ้าเกาหลี ที่ครั้งหนึ่งก็มีสถานะไม่ต่างจากแบรนด์จีนในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็น แอลจี ที่เริ่มส่งสินค้าพรีเมียมเข้ามาจำหน่ายในไทยเมื่อปี 2547 หลังจากที่เริ่มเข้ามาทำตลาดด้วยสินค้าราคาถูก จนแบรนด์เป็นที่ยอมรับ หรือ แม้แต่ซัมซุง ผู้นำตลาดรวมทีวีที่ปัจจุบันมีส่วนแบ่ง 17% ก็เคยมีจุดเริ่มต้นเช่นเดียวกัน ที่ขณะนั้นได้มอบหมายให้ไอ.ซี.ซี.เป็นผู้จำหน่ายให้ โดยเน้นสินค้าราคาถูก แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ จนซัมซุงเข้ามาทำตลาดด้วยตนเอง โดยมีศูนย์วิจัยพัฒนาสินค้าอยู่ที่เกาหลี และเน้นทำตลาดในยุโรปจนเป็นที่ยอมรับ เพื่อนำสินค้าไฮเอนด์เข้ามาทำตลาดในไทยต่อไป

นอกจากนี้ ในปีหน้า ทีซีแอล ได้เตรียมเปิดตัวสินค้าระดับพรีเมียมหลายรายการ โดยเฉพาะกลุ่มทีวีจำนวน 17 รุ่น ซึ่งบริษัทตั้งเป้าติด 1 ใน 3 ผู้นำตลาดทีวีของไทยภายใน 3 ปี และขึ้นเป็นผู้นำได้ภายใน 5 ปี ซึ่งนอกจากคุณภาพ สินค้า ฟังก์ชั่นที่มีให้ผู้บริโภคได้เลือกแล้ว ราคาก็ยังเป็นจุดขายสำคัญในการเร่งการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคเช่นเดิม เช่น พลาสม่า ราคาเริ่มต้นที่ 6 หมื่นบาทขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างความมั่นใจเรื่องคุณภาพสินค้าจีนที่ยังเป็นปัญหาสำหรับความรู้สึกของผู้บริโภคไทย ในปีหน้าบริษัทมีนโยบายขยายช่องทางผ่าน 7- 11 โดยจะมีสินค้าวางโชว์ในร้านจำนวน 3 พันกว่าสาขา เช่น mp3 โทรศัพท์มือถือ หลังจากที่ทดลองขายผ่าน 7 แคตตาล็อกมาแล้ว ซึ่งคาดว่าช่องทางจำหน่ายดังกล่าวจะช่วยสร้างความเชื่อถือต่อแบรนด์ และทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าได้ง่ายมากขึ้นด้วย

สำหรับผลประกอบการ บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดทีวีประมาณ 10% คาดว่าปี 2549 จะเพิ่มเป็น 15% ซึ่งปีนี้ตั้งเป้ามีรายได้รวมประมาณ 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็นหมวดเอวี 75% โดยปีหน้าตั้งเป้าเติบโต 100% ปัจจุบันบริษัทมีดีลเลอร์จำนวน 300 รายและจะเพิ่มเป็น 400 รายในปีหน้า

นับเป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ ที่อาจส่งผลต่อตลาด TV. ของไทย โดยเฉพาะการจัดลำดับส่วนแบ่งตลาดของแต่ละแบรนด์ ซึ่งเป็นไปได้ว่า ทีซีแอล เครื่องใช้ไฟฟ้าสัญชาติจีน อาจได้การยอมรับจากผู้บริโภคในเรื่องคุณภาพ เช่นเดียวกับแบรนด์ญี่ปุ่น เกาหลี จนสามารถขยับจากอันดับ 5 ขึ้นสู่ ท็อป 3 ก็เป็นได้ เพราะครั้งหนึ่งแบรนด์เกาหลี อย่าง แอลจี หรือแม้แต่ซัมซุง ผู้นำตลาดทีวีโดยรวมขณะนี้ก็เคยใช้สูตรดังกล่าวสร้างแบรนด์จนประสบความสำเร็จมาแล้วเช่นกัน น่าจับตามองว่าปีหน้า แอลจี จะยังรั้งตำแหน่งที่ 3 ของตลาดทีวีได้หรือไม่ และแน่นอนว่าทั้งซัมซุงและโซนี่ก็คงอยู่เฉยไม่ได้ เพราะส่วนแบ่งตลาดที่ห่างกันเพียง 1 -2 % ก็ใกล้กันจนมีสิทธ์ที่จะตกอันดับได้เช่นกัน

"TCL ไม่ใช่แบรนด์ที่มีภาพลักษณ์เป็นสินค้าจีนแบบเดิมแล้ว เพราะเรามีการรวมกับบริษัทต่างชาติ และเริ่มโกอินเตอร์มากขึ้น ทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อถือให้กับผู้บริโภคคนไทย" เป็นคำกล่าวของ เมธา โรจนชัยชนินทร รองผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ทีซีแอล อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.