"วัลยา จิราธิวัฒน์ มือบริหารซูเปอร์มาร์เก็ตของตระกูล ' จิราธิวัฒน์"


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

เอ่ยชื่อสกุล "จิราธิวัฒน์" ต่างเป็นที่รู้จักกันดีว่า ตระกูลนี้มีความสามารถเพียงใดในธุรกิจค้าปลีก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าเมืองไทยจะมีมือบริหารธุรกิจค้าปลีกชั้นแนวหน้าหลายคน มาจากตระกูลจิราธิวัฒน์

โดยเฉพาะการประกาศตัวจากกลุ่มนี้ที่จะยึดความเป็นหนึ่งในธุรกิจค้าปลีกของเมืองไทย ด้วยการร่วมมือกับรอยัล เอโฮลด์ จากเนเธอร์แลนด ์ เพื่อใช้ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นผู้บุกตลาดทางด้านนี้

บทบาทของการบุกตลาดของท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งบริหารโดยซีอาร์ซี. เอโฮลด์ จึงมีตัวจักรสำคัญอยู่ที่วัลยา จิราธิวัฒน์ ผู้หญิงคนเดียวของตระกูลจิราธิวัฒน์ที่มีบทบาทช่ำชองมากในด้านการบริหารซูเปอร์มาร์เก็ต

วัลยา จิราธิวัฒน์ รุ่นที่ 2 ของตระกูลค้าปลีกของไทย เริ่มต้นเข้ามาในธุรกิจค้าปลีก เพราะเหตุผลง่าย ๆ คือ ครอบครัวทำธุรกิจค้าปลีกมาแต่แรกในนามของกลุ่มเซ็นทรัลนั่นเอง

ถือได้ว่าวัลยา มีที่ฝึกงานด้านการค้ามาตั้งแต่เด็ก ในฐานะคนของตระกูล ด้วยการใช้เวลาในช่วงวันหยุด กับการช่วยงานจิปาถะในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ตั้งแต่ขายของ ห่อของขวัญ เป็นแคชเชียร์ เรียกได้ว่าสัมผัสกับธุรกิจค้าปลีกมาตั้งแต่เริ่มทำงานได้

"ทำมาตั้งแต่เล็ก สมัยเรียนชั้นประถมเป็นเด็ก ๆ ก็ช่วยขายขนม เฝ้า Play Land เรียกได้ว่าคลุกคลีมาตลอดอายุ จนถึงวันนี้ก็ 35 ปี รู้หมดว่าในบริษัทมีอะไร คนเก่าคนแก่ที่ทำงานอยู่กับเรารู้จักกันดี"

วัลยา มาเริ่มงานในห้างเซ็นทรัลอย่างจริงจังหลังเรียนจบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยฮาร์ท ฟอร์ด มลรัฐคอนเนกติกัต สหรัฐอเมริกา โดยมารับตำแหน่งผู้จัดการซูเปอร์มาร์เก็ต สาขาสีลม เป็นตำแหน่งแรก ทำงานในตำแหน่งนี้ได้สักระยะ ก็ย้ายมาเป็นผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ สุรา เทคโฮม เป็นตำแหน่งที่ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

จน พ.ศ. 2532 จึงได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบเต็มตัวในส่วนของซูปเปอร์มาร์เก็ตทั้งหมดของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล

"ตอนเรียนจบ พี่ใหญ่คุณสัมฤทธิ์ ถามว่าถ้าให้ทำงานซูเปอร์มาร์เก็ตคิดว่าทำได้ไหม พอตอบรับ คุณสัมฤทธิ์ ก็เลยบอกว่างั้นเริ่มเลยพรุ่งนี้ทำ"

เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้หญิงทุกคนชอบของสวย ๆ งามๆ แรกๆ วัลยาก็อยากจะทำอะไรที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับแฟชั่นที่ใกล้กับตัวผู้หญิง ทำให้รู้สึกค่อนข้างเสียใจในตอนแรกที่ได้รับผิดชอบให้ดูทางด้านซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะถ้าบอกว่าตอนนั้นถ้าผู้ใหญ่ให้เลือกทำอะไรก็ได้ จะเลือกทำแฟชั่น

ไม่ใช่ทุกหนทางที่จะโรยด้วยกลีบกุหลาบ วัลยา แม้จะเป็นคนในตระกูลจิราธิวัฒน์ แต่การทำงานทุกอย่างก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด

"พอเริ่มทำงาน ก็เจออุปสรรคค่อนข้างมาก ไม่ใช่ปัญหาในบริษัท แต่เป็นปัญหากับกลุ่มลูกค้าซัปพลายเออร์ ซึ่งวิธีการทำงานของซัปพลายเออร์ในตอนนั้น คือขายให้ได้มาก โดยไม่สนใจว่าผู้ซื้อจะขายได้หรือไม่ ทำให้เรากดดันมาก คนที่ติดต่อด้วยก็เป็นระดับเซลล์แมนที่มีจุดหมายว่าต้องขายของให้ได้ แล้วเขาก็มองว่าเราเป็นเด็กตอนนั้นอายุประมาณ 24 เวลาจะบอกให้เขาทำอย่างไรเขาก็ไม่เชื่อ"

อาจจะเรียกได้ว่าในยุคนั้น ยังไม่ใช่ยุคของเจ้าของพื้นที่ค้าปลีก ซึ่งมีอำนาจต่อรองกับซัปพลายเออร์มากเท่าปัจจุบัน เพราะการจำหน่ายสินค้าของซัปพลายเออร์สมัยก่อน ก็เน้นขายให้กับร้านขายของชำ ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว มากกว่าการขายให้ห้างสรรพสินค้าเหมือนสมัยนี้

ทำให้ยุคนั้นการที่ซัปพลายเออร์พยายามขายสินค้าให้กับเจ้าของพื้นที่ค้าปลีกมาก ๆ ทำให้ผู้บริหารซูเปอร์มาร์เก็ตต้องมาปวดหัวในเรื่องของการดูแลสต๊อกสินค้าอีกต่อหนึ่ง เหมือนกับที่วัลยาเปรยว่า ในช่วงนั้นเหมือนกับต้องเก็บของให้กับพวกซัปพลายเออร์

"สมัยก่อนเป็นตลาดของแมนูแฟคจูเรอร์ พวกรีเทลเลอร์จะน้อยมาก พวกผู้ค้าจะขายให้ร้านชำ ขายส่งเป็นหลัก พอเจอรูปแบบการทำงานแบบค้าปลีกก็ยังไม่เข้าใจ"

11 ปีหลังจากนั้น เหตุการณ์ก็ดีขึ้น เมื่อเรียกได้ว่าเจ้าของพื้นที่ค้าปลีกซึ่งมีการปรับตัวไปมาก ทั้งการผลิตสินค้าไพรเวทเลเบล ภายใต้ยี่ห้อของผู้บริหารพื้นที่ค้าปลีก มีอำนาจต่อรองกับกลุ่มซัปพลายเออร์มากขึ้น ทำให้แนวทางของซัปพลายเออร์ต้องเป็นฝ่ายปรับตัวตามผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกเสียมากกว่า

"ตอนนี้โมเดอร์เทรด โตมากขึ้น รีเทลเลอร์ ก็โตมากขึ้น บริษัทผู้ผลิตสินค้าที่เป็นบริษัทอินเตอร์ จะรู้ว่าซูเปอร์มาร์เก็ตจะสำคัญมากในการใช้ซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้า ผิดกับสมัยก่อนที่ผู้ผลิตไม่สนใจรีเทลเลอร์"

ความที่ยอมทุ่มเทกับงาน และการแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้วัลยา จัดเป็นคนที่คล่องตัวในธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตคนหนึ่งของเมืองไทย ซึ่งยังมีอยู่เป็นจำนวนน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตระกูลจิราธิวัฒน์ ที่วัลยา ถือเป็นคนเดียวที่ดูแลทางด้านนี้มาตลอด

"งานซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นงานหนัก การที่ผู้ใหญ่เลือกเรามาดูตั้งแต่แรก คงเพราะมองจากบุคลิกลักษณะของเรา ว่าเป็นคนที่มีความรับผิดชอบสูง อยากให้คนอื่นเข้ามาทำบ้างเหมือนกัน แต่ก็ยังไม่มีเพราะคนอื่นๆ ในตระกูลก็กระจายกันดูแลในหน่วยอื่นๆ"

งานหนักที่ว่าของวัลยา ถ้าเป็นเรื่องของบริหารซูเปอร์ก็จะมีทั้ง เรื่องราคาขายสินค้าซึ่งจะมีการขึ้นลงตลอด และผู้บริหารจะต้องคอยตรวจดูราคาขึ้นลง เพราะถ้าขายของผิดราคานิดหนึ่งก็ไม่ได้ จะขายสินค้าใหม่ก็ไม่ได้ สินค้าจะหายจากชั้นวางของก็ไม่ได้ เพราะงานขายเป็นงานที่หยุดไม่ได้ ทำให้การทำงานในธุรกิจนี้จึงหนัก แล้วส่วนใหญ่จึงมีแต่ผู้ชายที่เข้ามาทำ

แต่อย่างไรก็ตาม หากจะเปรียบปัญหาในเรื่องของการบริหารภายในแล้ว คงต้องเรียกได้ว่าเป็นปัญหาเล็กไปถนัดใจ เพราะจากการประกาศว่าจะเป็นหนึ่งในธุรกิจนี้ของสุทธิชาติ จิราธิวัฒน์ ผู้ดูแลกลุ่มซีอาร์ซี ทั้งหมด คงจะต้องบอกว่าเป็นเรื่องท้าทายมากกว่าปัญหาการบริหารงานภายในทั่วไปของซีอาร์ซี.เอโฮลด์เสียอีก

เพราะในฐานะผู้รับผิดชอบในส่วนของการบริหารซูเปอร์มาร์เก็ตของกลุ่มเซ็นทรัลมาตั้งแต่เริ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรับผิดชอบที่มีมากขึ้นหลังจากได้รับการแต่งตั้งให้มีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ ของบริษัท ซีอาร์ซี. เอ โฮลด์ จำกัด โดยการแต่งตั้งของสุทธิชาติ จิราธิวัฒน์ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2540 ที่ผ่านมา ทำให้วัลยาต้องเตรียมความพร้อมอยู่เสมอในทุกๆ ด้านรวมทั้งการตัดสินใจที่ฉับไว ซึ่งไม่ใช่ความพร้อมเฉพาะตัวแต่ต้องเป็นความพร้อมของทั้งองค์กร เพื่อก้าวสู่ความเป็นหนึ่งตามที่กลุ่มตั้งเป้าหมายไว้ให้ได้

แต่กระนั้นก็ดี คงจะเชื่อได้แน่ว่าสำหรับ วัลยา ประสบการณ์ที่สั่งสมมากับการบริหารซูเปอร์มาร์เก็ตโดยตรง คงไม่ใช่เรื่องที่จะก้าวพลาดกันได้ง่าย ๆ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.