|
อุ๋ยเบรกเมกะโปรเจกต์หวั่นขาดดุลบัญชี
ผู้จัดการรายวัน(9 ธันวาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติห่วงประเทศประสบปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดยาว เตือนรัฐบาลอย่ามือเติบทุ่มเงินลงเมกะโปรเจกต์ซ้ำเติมปัญหาขาดดุลที่ถูกปัจจัยน้ำมันแพงรุมเร้า เสนอเลื่อนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เลิกกู้เงินจากต่างประเทศ แต่ควรให้ความสำคัญกับการออมเพื่อการลงทุนในอนาคต เผยอันตรายรายย่อยมีพฤติกรรมมุ่งเป็นหนี้แทนการออม
วานนี้ (8 ธ.ค.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคใต้ จัดสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2548 เรื่อง "ความท้าทายในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจยุคน้ำมันแพง" ณ โรงแรมเจบี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมีนักธุรกิจและประชาชนที่สนใจเข้าร่วมฟังเป็นจำนวนมาก
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า ปัจจัยความผันผวนทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 48 ทั้งผลกระทบภัยสึนามิ ราคาน้ำมัน ภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตการเกษตรตกต่ำ แต่มีปัจจัยบวกหนุน คือ ราคาผลผลิตทางการเกษตร ส่วนไตรมาส 2 ยอดส่งออกวงจรอิเล็กทรอนิกส์ต่อเนื่องไตรมาส 3 เฉลี่ยเดือนละ 25% หลังจากชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลกมาก่อน ทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ไม่ได้ตกต่ำมากนักและคาดว่าปี 49 จะโตไม่น้อยกว่า 5% แม้จะไม่พุ่งสูง แต่ถือว่ามีความเชื่อมั่นในสัญญาณของความมั่นคงในเสถียรภาพของเศรษฐกิจที่ไม่ดิ่งลงและผกผัน
แม้ว่าเมื่อคำนวณแล้วราคาน้ำมันจะฉุดอัตราการเติบโตของ GDP เพียง 1% เท่านั้น แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ต้องนำเข้าน้ำมันเป็นเม็ดเงินมหาศาล เนื่องจากยังไม่มีมาตรการประหยัดอย่างจริงจัง กลายเป็นผู้บริโภคน้ำมันที่สูงที่สุดในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเทียบกับหน่วยที่ผลิตได้จาก GDP ที่สูงขึ้น
"สาเหตุที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นนั้นเนื่องจากเมื่อ 2 ปีก่อน มีราคาต่ำประมาณ 25 เหรียญต่อบาเรลล์ ไม่คุ้มทุนกับการสร้างโรงกลั่นและขุดเจาะใหม่ แต่เมื่อราคาสูงกว่า 50 เหรียญต่อบาเรลล์ ทำให้มีการสำรวจและขุดเจาะอย่างเต็มที่ อีก 5 ปีข้างหน้าคาดว่าจะมีโรงกลั่นและหลุมเจาะน้ำมันเพิ่มขึ้น 20% พร้อมๆ กับพลังงานทางเลือกทดแทนน้ำมันอีก 30% และเชื่อว่าราคาน้ำมันจะอยู่ในระดับปัจจุบันต่อไป 3-4 ปี แล้วค่อยๆ แนวโน้มจะลดลงแต่ต้องใช้เวลา"
เตือนรัฐบาลอย่ามือเติบเมกะโปรเจกต์
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวอีกว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ไทยจะประสบภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อไปจนกว่าราคาน้ำมันจะอ่อนตัวลง ร่วมกับปัจจัยอื่นๆ คือการลงทุนของภาคเอกชนในอุตสาหกรรมการผลิตที่ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องสั่งซื้อเครื่องจักรกล เทคโนโลยี และการลงทุนเมกกะโปรเจกต์ของภาครัฐที่ทับถมปัจจัยราคาน้ำมัน
"ขณะนี้มีสัญญาณการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดยังไม่เกิน 2% ของ GDP หากอยู่ในระดับปีละ 5,000 ล้านเหรียญ ก็ยังคงรับได้ แต่รัฐควรทบทวนเมกะโปรเจกต์อีกครั้งเพื่อความไม่ประมาท เช่น การก่อสร้างโรงไฟฟ้าว่ามีความคุ้มทุนหรือไม่ หรือจะชะลอจนกว่าจะถึงเวลาอันเหมาะสมเพื่อไม่ซ้ำเติมตัวเอง และหันมาเพิ่มการออมสำหรับลงทุนในอนาคตโดยไม่ต้องกู้เงินจากต่างประเทศ"
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของการดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาล เป็นเรื่องที่อยู่ในระดับน่าพอใจ เพราะมีวินัยทางการคลังที่ดี ตามมาตรการสร้างหนี้ประชาชาติไม่เกิน 50% และยอดการชำระหนี้ไม่เกิน 16% ของรายได้ทั้งหมด"
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวอีกว่า หากช่วงแรกรัฐบาลไม่ปล่อยให้เกิดหนี้กองทุนน้ำมันสูงสะสมตั้งแต่ปี 47 ภาวะเงินเฟ้อก็จะค่อยๆ ปรับตัว ซึ่งปัจจุบันธนาคารกลางทุกแห่งมีความกังวลถึงมาตรการดูแลเงินเฟ้อ จะบั่นทอนการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศ มีผลกระทบทั้งการส่งออก ความเชื่อมั่นของนักลงทุน และความเป็นอยู่ของคนไทยที่ได้รับความเดือดร้อน จึงต้องมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเริ่มปรับตั้งแต่ ส.ค.47 รวมทั้งสิ้น 8 ครั้ง พร้อมกับมีมาตรการเสริมอื่นๆ เพื่อสร้างเสถียรภาพของเศรษฐกิจ
"สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกเรื่องหนึ่ง คือ พฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนจากการออมก่อนเป็นหนี้ได้เปลี่ยนไปหลังพิษเศรษฐกิจ 2540 ซึ่งคนกลุ่มนี้อุ้มภาคธุรกิจที่ล้มไม่ให้เจ็บหนัก แต่ยุคนี้มีสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิตกว่า 8 ล้านใบทั่วประเทศ แม้จะแก้โดยเพิ่มอัตราดอกเบี้ยก็ไม่สามารถลดความฟุ้งเฟ้อได้ หากมีหนี้คงค้างสูงจะเป็นอันตรายถึงระดับรากหญ้า จึงต้องมีมาตรการอื่นมาเสริมการแก้ไขความไม่สมดุลทั้งการกำหนดเงินได้ไม่ต่ำว่า 1.5 หมื่นต่อเดือนสำหรับการใช้บัตรเครดิต และออกกฎชำระสินเชื่อเร็วขึ้นภายใน 10 เดือน หวังให้ผู้บริโภคคิดก่อนเป็นหนี้ และมีศักยภาพในการผ่อนชำระ" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว
สภาพัฒน์ห่วงลอจิสติกส์
นายธานินทร์ ผะเอม ผอ.สำนักพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า การดำเนินนโยบายรัฐในด้านยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์ของรัฐบาล แม้จะมีการเตรียมความพร้อมหลายด้าน แต่ติดขัดที่การบริหารแบบราชการที่ใช้เวลานาน จึงควรปรับการจ่ายงบประมาณโดยพิจารณาที่ความพร้อมและความชัดเจนของโครงการ
ด้านภาพรวมของเศรษฐกิจปีนี้จะเจอกับปัญหาที่เป็นปัจจัยลบหลายด้าน มีความเสี่ยงปัจจัยเงินเฟ้อ และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอันเป็นข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ เนื่องจากมีการขยายตัวด้านการลงทุนทั้งในภาครัฐและเอกชน แต่ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้น่าจะมี GDP 5% อย่างแน่นอน และมีแนวโน้มเศรษฐกิจคลี่คลายคลี่คลายในทางที่สดใสในปี 49 คาดว่าจะสามารถส่งออกสินค้าเพิ่มอีก 15% ตามเป้าที่วางไว้
"กลไกของผลกระทบการปรับเพิ่มในราคาน้ำมันที่ต้องเฝ้าจับตา คือ ป้องกันการเก็งกำไรราคาน้ำมัน ซึ่งจะส่งผลต่อการบริโภค การลงทุน ส่งออก นำเข้า แม้เชื่อว่าราคาน้ำมันในปีหน้าไม่ผันผวนมากนัก เฉลี่ยประมาณ 52 ดอลล่าห์สหรัฐ เนื่องจากมีการตื่นตัวในการเพิ่มบ่อขุดเจาะน้ำมันใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อความผันผวนราคาขายปลีกในประเทศรายวันน้อยลง"
จับตาจีนมหาอำนาจไทยรับอานิสงส์
นายวิรไทย สันติประภพ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์ลูกค้าธุรกิจ บริษัท ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในปี 49 จะเป็นช่วงของการลงทุน หลังมีการสะสมทุนอย่างพอเพียงแล้วในปีที่ผ่านมา ทั้งการขยายตัวด้านสินเชื่อ บัตรเครดิต ซึ่งเป็นไปตามเศรษฐกิจที่มีการขยายตัว ทำให้สินเชื่อประเภทอัตราดอกเบี้ยคงตัวระยะยาวอาจจุถูกยกเลิก เนื่องจากอยู่ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นที่ต้องการแก้ภาวะเงินเฟ้อ เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยแท้จริงเป็นบวกทำให้มีการออมเงินมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีการออกลดเหลือ 4% จากที่มีระดับการออมถึง 15% ของ GDP
วัฎจักรของเศรษฐกิจโลกในปีหน้ายังถูกกระทบจากปัจจัยเสี่ยงมากมาย มีการขยายตัวแต่ไม่สดใสเหมือน 2 ปีที่ผ่านมา เพราะส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐอเมริกา ทำให้การแลกเปลี่ยนเงินมีความผันผวน การชะลอตัวของราคาอสังหาริมทรัพย์ การกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะการทำ FTA กับประเทศออสเตรเลีย ที่ไทยได้รับผลประโยชน์ในช่วงแรก แต่เสียเปรียบในระยะยาวและความเสี่ยงของแหล่งสำรองน้ำมันที่มีการผูกขาดใน 6 ประเทศมากถึง 90% ทำให้ต้องมีความระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจ
"เป็นที่น่าจับตามองว่าในอนาคตที่จีนกำลังก้าวสู่บทบาทผู้นำทางการแข่งขันด้านและเป็นเครื่องยนต์ที่สำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจโลก ด้วยการเป็นผู้ส่งออกสูงกว่าการนำเข้า ซึ่งไทยได้รับอานิสงส์จากการหลั่งไหลของนักธุรกิจของจีนมาเป็นพันธมิตรกับนักธุรกิจไทย เพื่อหวังขยายการผลิตสินค้า และนำเข้าสินค้าบางตัวจากไทยเพื่อการบริโภคภายในประเทศ ทำให้จีนกลายเป็นคู่แข่งและตลาดสินค้าของไทยในขณะเดียวกัน" นายวิรไทกล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|