"ม.ร.ว. สุชาติจันทร์ยันเสียงแข็งจีเอฟไม่คิดควบกิจการในเครือ"


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

ภายหลัง บมจ. เงินทุนเอกธนกิจ ไฟแนนซ์ขนาดใหญ่อันดับ 1 ของเมืองไทยต้องซวนเซเนื่องจากปัญหาสภาพคล่อง จนถึงขั้นต้องให้ บมจ. ธนาคารไทยทนุเข้าควบกิจการ กระแสข่าวลือเกี่ยวกับไฟแนนซ์มากมายเริ่มทยอยกันออกมาป่วนตลาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ 10 สถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยบังคับให้เพิ่มทุนอย่างเร่งด่วน เรื่อง บงล. ศรีมิตรเตรียมควบกิจการเช่นกัน บงล. ซิทก้าและพันธมิตรทั้ง 7 เตรียมรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อสนองนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย หวังได้ใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์

ล่าสุด บงล. จีเอฟ (GF) ไฟแนนซ์อันดับ 8 ของไทยก็ตกเป็นข่าวอีกเช่นกันว่าจะจับมือกับ บง. จีซีเอ็น บริษัทในเครือเพื่อผนวกกิจการกับธนาคารจีเอฟ ซึ่ง GF ถือหุ้นอยู่ 5% ของทุนจดทะเบียน 7,500 ล้านบาท และเป็นแกนนำในการจัดตั้ง เนื่องจากปัญหาเรื่องการขาดสภาพคล่อง และหนี้เสียจากการปล่อยกู้ภาคอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก

งานนี้เล่นเอาผู้บริหารของ GF เรียงหน้าออกมาปฏิเสธข่าวลือกันยกใหญ่ โดย ม.ร.ว. สุชาติจันทร์ ประวิตร กรรมการผู้อำนวยการนำทีมเปิดแถลงข่าวด่วนว่า "ฐานะทางการเงินของจีเอฟในขณะนี้ยังแข็งแรงดีไม่มีปัญหา และขณะนี้ก็ยังไม่มีการยื่นหนังสือต่อทางการในเรื่องควบกิจการดังที่เป็นข่าว ทั้งยังไม่เคยมีแนวคิดที่จะดำเนินการด้วย"

ม.ร.ว. สุชาติจันทร์ ให้เหตุผลว่า จีเอฟเป็นไฟแนนซ์ขนาดใหญ่ จึงไม่จำเป็นต้องควบกิจการกับจีซีเอ็นซึ่งเป็นไฟแนนซ์ขนาดเล็ก เพราะหากจีเอฟมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องจริงจีซีเอ็นก็ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้

ดร. อัจนา ไวความดี กรรมการผู้จัดการกลุ่มวิจัยและวางแผนของจีเอฟยังมีสุขภาพดี จากผลประกอบการประจำปี 2539 จีเอฟมีการปล่อยกู้ทั้งสิ้น 55,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 22,000 ล้านบาท หรือประมาณ 40% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (Margin loans) 13-14% สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 1% ที่เหลือเป็นสินเชื่อในภาคพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม


เหตุที่สินเชื่อเช้าซื้อรถยนต์มีสัดส่วนเพียง 1% เนื่องจากบริษัทได้มีการโอนพอร์ตเช่าซื้อรถยนต์ทั้งหมดไปให้บริษัทจีเอสซีซี ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับบริษัท จีอี แคปปิตอล โดยจีเอฟถือหุ้นอยู่ 10% ของทุนจดทะเบียน

อย่างไรก็ดีสินเชื่อที่ปล่อยให้กับภาคอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 22,000 ล้านบาทนั้น ดูจะเป็นปัญหาสำคัญ เนื่องจากมีบริษัททางด้านอสังหาฯ หลายแห่งไม่สามารถชำระดอกเบี้ยแก่จีเอฟได้ตามกำหนด

ณ สิ้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาจีเอฟมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-performing loans) ถึง 3,400 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด 55,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นสินเชื่อต่ำกว่ามาตรฐาน 1,600 ล้านบาท และเป็นหนี้สงสัยจะสูญอีก 1,700 ล้านบาท ซึ่งในส่วนหนี้มีหลักทรัพย์ค้ำประกันอยู่ประมาณ 1,200 ล้านบาท

"บริษัทต้องทำการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 600 ล้านบาท แต่ขณะนี้บริษัทตั้งสำรองไว้ถึง 925 ล้านบาท หรือคิดเป็น 125% ซึ่งเป็นการตั้งสำรองสูงกว่าเกณฑ์ที่แบงก์ชาติกำหนด" ดร. อัจนา กล่าว

สำหรับเรื่องที่จีเอฟจะมีการควบกิจการกับบริษัทในเครือและธนาคารจีเอฟนั้น เธอกล่าวปฏิเสธว่า ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็น และกลุ่มจีเอฟก็มีนโยบายที่จะทำธุรกิจการเงินให้ครบวงจร เพื่อเอื้อประโยชน์กันภายในกลุ่มมากกว่าการควบกิจการกันตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย

ปัจจุบันกลุ่มจีเอฟมีธุรกิจในเครือมากมายทั้งส่วนที่เป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บริษัทจัดการกองทุนรวม บริษัทลิสซิ่ง ธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกันภัย ส่วนบริษัทประกันชีวิตกำลังอยู่ระหว่างการรออนุมัติจากกระทรวงพาณิชย์

ปัญหาเรื่องสภาพคล่องอันสืบเนื่องมาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และเช่าซื้อรถยนต์นั้นส่งผลกระทบต่อไฟแนนซ์หลายแห่ง จีเอฟอาจจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากในฐานะที่เป็นไฟแนนซ์ขนาดใหญ่ และมีการปล่อยกู้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ค่อนข้างสูง

อย่างไรก็ดีในปี 2540 นี้ บริษัทมีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนของสินเชื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมให้มากขึ้น พร้อมทั้งปรับลดสัดส่วนขนาดของสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ลง และพยายามลดดอกเบี้ยค้างรับ โดยการส่งทีมงานเข้าไปช่วยนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเรื่องการขายโครงการ

นอกจากนี้สิ่งที่ ม.ร.ว. สุชาติจันทร์ ให้ความสำคัญมากก็คือเรื่องของการปรับลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลง โดยจะมีการเกลี่ยพนักงานของจีเอฟไปยังธนาคารจีเอฟและบริษัทในกลุ่มจีเอฟ

"คนของเรามีเยอะเพราะเตรียมไว้เพื่อแยก บง. บล. แต่ตอนนี้นโยบายของเราคือไม่แยกเพราะไม่ได้ประโยชน์นัก เราก็เลยจะพิจารณาเกลี่ยพนักงานไปให้เหมาะสม ฝ่ายไหนอ้วนไปผอมไป ก็เกลี่ยให้เหมาะสม และเปิดโอกาสให้เขาไปสมัครงานในธนาคารจีเอฟได้ หากคุณสมบัติไม่ตรงกับที่ธนาคารต้องการ เช่น ไม่ตรงกับสายงานที่ธนาคารต้องการ เขาก็อยู่กับเราต่อไปได้โดยไม่ตะขิดตะขวงใจ" ม.ร.ว. สุชาติจันทร์ยกตัวอย่าง

แผนการลดพนักงานอย่างค่อยเป็นค่อยไปนี้จีเอฟกำลังดำเนินการอยู่ภายใต้การดูแลของ ดร. อัจนา รวมถึงการพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จีเอฟมีการจูงใจให้พนักงานช่วยกันหาเงินฝากเข้ามา โดยมีการให้รางวัล และนำผลงานนี้ไปประกอบการพิจารณาขึ้นเงินเดือนประจำปี

จากผลประกอบการในปี 2539 เมื่อเทียบกับปี 2538 พบว่าจีเอฟมีกำไรสุทธิลดลงประมาณ 14% กล่าวคือลดลงจาก 641.3 ล้านบาทในปี 2538 เหลือ 548 ล้านบาทในปี 2539 นับว่าผลประกอบการตกต่ำลงบ้าง แต่ไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับทั้งอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดีสำหรับปีนี้ ม.ร.ว. สุชาติจันทร์ตั้งเป้าเพียงว่า ขอแค่รักษาระดับกำไรสุทธิให้ได้เท่ากับปีที่ผ่านมาก็พอ

ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ธุรกิจย่ำแย่อย่างนี้ขอแค่นี้ก็พอ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.