|

บิ๊กทหารไทยปฏิเสธเพิ่มทุนไฟเขียวดีบีเอสขยายสัดส่วน
ผู้จัดการรายวัน(9 ธันวาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
กระทรวงคลังไฟเขียวดีบีเอส เพิ่มสัดส่วนถือหุ้นในแบงก์ทหารไทย ระบุผู้บริหารดีบีเอสเข้าพบขุนคลังยืนยันซื้อหุ้นเพิ่มทุน เพื่อไถ่ถอน สลิปส์-แคปส์ 4-5 พันล้านบาท บิ๊กทหารไทยประสานเสียงปฏิเสธใช้วิธีเพิ่มทุนเพื่อล้างขาดทุนสะสม รอผลศึกษาสศค.หาเครื่องมือใหม่ ยันไม่กระทบผู้ถือหุ้น ด้าน "ไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์" เผยแบงก์พาณิชย์ไทยส่วนใหญ่สามารถปรับตัวเพื่อรับมือกับเกณฑ์บาเซิล 2 ทันกำหนดในปี 2551 ส่วนแบงก์ที่ทำไม่ได้จะได้รับการผ่อนผันจากแบงก์ชาติ เผยช่วง 1-2 ปีข้างหน้า แบงก์จะมีการเพิ่มทุน คาดทหารไทยรายแรก
นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ยังได้กล่าวถึงกรณีการลดราคาพาร์ของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) จาก 10 บาท เหลือ 3 บาท ว่า ตนเห็นชอบตามที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เสนอไม่เห็นด้วยกับแนวทางในการขอลดพาร์ของทหารไทย แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่ขัดข้อง หากธนาคารจะใช้วิธีในการเพิ่มทุนเพื่อล้างขาดทุนสะสม และนำไถ่ถอนตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน (สลิปส์-แคปส์) จำนวน 4,000-5,000 ล้านบาท ของธนาคารทหารไทยที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในกลางปี 2549 นี้
อย่างไรก็ตาม หากธนาคารตัดสินใจที่จะเพิ่มทุน กระทรวงการคลังยังไม่ตัดสินใจว่าจะใช้สิทธิ์ในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวหรือไม่ เพราะต้องรอดูแผนการเพิ่มทุนของธนาคารก่อน ว่าน่าสนใจที่จะลงทุนหรือไม่ ประกอบกับดูถึงราคาหุ้นที่จะขายด้วย ซึ่งทางด้านธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ นั้น หากทหารไทยตัดสินใจเพิ่มทุน ทางดีบีเอสก็ยินดีที่จะเพิ่มทุนด้วยเช่นกัน
"นายสมหมาย ภาษี ประธานกรรมการบริหาร ได้พาผู้บริหารดีบีเอสเข้าพบเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้หารือเรื่องแบงก์ทหารไทยจะเพิ่มทุน ซึ่งผมรับทราบและคาดว่าดีบีเอสคงจะเพิ่มทุนตามด้วย" รัฐมนตรีคลังกล่าว
อนึ่งโครงสร้างผู้ถือหุ้นธนาคารทหารไทย จำกัด ณ เดือนกันยายน 2548 คือ กระทรวงการคลังสัดส่วน 31.2 % ธนาคารดีบีเอส สิงคโปร์ 16.1% ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 5.4% กองทัพ 3.3% ที่เหลืออื่นๆ และรายย่อย
บิ๊กทหารไทยปฏิเสธเพิ่มทุน
นายสมใจนึก เองตระกูล ประธานกรรมการ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารจะไม่เลือกใช้วิธีการขายหุ้นเพิ่มทุน แต่จะรอผลการศึกษาเครื่องมือทางการเงินใหม่ ที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กำลังศึกษาร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อนำมาใช้ในการเพิ่มเงินกองทุนขั้นที่ 1 และ 2 ของธนาคาร
"ขณะนี้ TMB มีเงินกองทุนเเพียงพอ และการไถ่ถอนสลิปส์และแคปส์ ในส่วนของธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ ก่อนจะมีการควบรวมกิจการ ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนราวกลางปีหน้า ก็จะไม่เป็นปัญหาสำหรับธนาคาร และกำลังรอนวัตกรรมทางการเงินที่สศค.กำลังศึกษา เพื่อมาใช้ในการเพิ่มเงินกองทุนของธนาคาร โดยเฉพาะเรื่องของการไถ่ถอนสลิปส์และแคปส์ในกลางปีหน้า" นายสมใจนึกกล่าว
นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า หลังจากที่กระทรวงการคลังไม่อนุมัติแผนล้างขาดทุนสะสม โดยวิธีการลดพาร์จาก 10 บาท เหลือ 3 บาท ธนาคารยังคงมีวิธีอื่นในการแก้ไขปัญหา โดยจะไม่ใช่วิธีการเพิ่มทุนอย่างเด็ดขาด และธนาคารไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มทุนในช่วงนี้
"ขณะนี้กำลังหารือเกี่ยวกับแนวทางการล้างขาดทุนสะสมอยู่ ซึ่งยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะใช้แนวทางใด แต่ที่แน่ๆ ยืนยันว่าจะไม่ใช่วิธีการเพิ่มทุน" นายสุภัคกล่าว
โดยนายสุภัคเคยกล่าวไว้ว่า หากจะใช้วิธีนำกำไรสุทธิมาล้างขาดทุนสะสม จะต้องใช้เวลาเกือบ 6 ปี ตามปกติธนาคารมีการดำเนินธุรกิจมีกำไรสุทธิอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ได้มีการควบรวมกิจการกับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรม (ไอเอฟซีที) และธนาคารดีบีเอสไทยทนุ โดยเฉลี่ยปีนี้ธนาคารมีกำไรสุทธิไตรมาสละ 2,000 ล้านบาท ปัจจุบันธนาคารทหารไทยขาดทุนสะสม 55,000 ล้านบาท
ไพร้ซฯ ชี้ธปท.ผ่อนผันบาเซิล 2
นางชนิตา สายเชื้อ เจ้าหน้าที่ฝ่ายให้คำปรึกษาและบริการลูกค้า บริษัทไพร์ซวอเตอร์เฮ้าส์ คูเปอร์ส เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมในการรองรับกับเกณฑ์การกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินฉบับที่ 2 ของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (บีไอเอส) หรือ บาเซิล 2 ว่า ธนาคารพาณิชย์ของไทยจะสามารถปรับตัวเพื่อรองรับเกณฑ์บาเซิล 2 ที่จะนำมาใช้ให้มีมาตรฐานเดียวกันในระดับสากล และจะมีความพร้อมก่อนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดในปี 2551
"ส่วนใหญ่มีการเตรียมความพร้อมมาระยะหนึ่งแล้ว คาดว่าถ้าถึงเวลาที่จะนำเกณฑ์มาใช้แล้ว มีบางแบงก์ยังไม่สามารถทำได้ เชื่อว่าถึงเวลานั้น ทาง ธปท.คงจะผ่อนผัน ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ให้คำแนะนำแบงก์พาณิชย์บางแห่งไปบ้างแล้ว"
เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายหนึ่ง กล่าวว่า จากกรณีที่บริษัท ไพร้ซ วอเตอร์เฮ้าส์ คูเปอร์ส ระบุว่า ธนาคารพาณิชย์ของไทยควรมีการเพิ่มทุนอีก ก่อนที่จะเริ่มใช้เกณฑ์บาเซิล 2 นั้น คาดว่าธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB มีโอกาสที่จะเพิ่มทุนมากที่สุดในกลุ่มของธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดนั้น เพราะมีความพร้อมและเหมาะสมกว่าธนาคารแห่งอื่น
"ธุรกิจทุกประเภทในโลกย่อมต้องมีการเพิ่มทุนเพื่อนำเงินจากการเพิ่มทุนมาใช้สำหรับขยายธุรกิจ ซึ่งแบงก์ของไทยเองก็มีโอกาสที่จะเพิ่มทุน แต่กระบวนการเพิ่มทุนจะต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่แบงก์ชาติกำหนด" แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับรายละเอียดของเกณฑ์บาเซิล 2 นั้น จะมีวิธีคำนวณความเสี่ยงแบบง่าย Simple Approach (SA) สถาบันการเงินอาจเลือกนำมาใช้ชั่วคราว แต่หากศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดจะเห็นว่าวิธี Advanced Approach ( IRB) จะป้องกันความเสี่ยงได้ดีกว่า และยังสามารถช่วยวัด และจัดการความเสี่ยงที่มีอยู่ได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ไม่ว่าสถาบันการเงินแต่ละแห่งจะเลือกใช้วิธีใดในการปฏิบัติ แต่การบริหารความเสี่ยงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่สถาบันการเงินจะต้องคำนึงถึง
อย่างไรก็ตาม ธนาคารจะต้องดูแลเงินกองทุนให้เพียงพอทั้งวิธีการเพิ่มทุน หรือตั้งสำรองจากกำไรเพิ่มขึ้นเพื่อนำมากันสำรองหนี้ตามความเสี่ยงด้านปฏิบัติการในเกณฑ์การดำรงเงินทุนสำรองต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บาเซิล 2 ) ซึ่งฐานะของธนาคารพาณิชย์ของไทยโดยรวมในขณะนี้ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีและแข่งแกร่งพอที่จะรองรับกับเกณฑ์ดังกล่าว
"ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า อาจเห็นการเพิ่มทุนของแบงก์บางแห่ง แต่การเพิ่มไม่ได้มากจนทำให้แบงก์ล้ม ซึ่งการเพิ่มทุนขึ้นอยู่กับฐานะทางการเงินของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง หากเห็นว่าเพียงพอแล้วก็อาจไม่จำเป็นต้องระดมทุน ส่วนบริษัทในเครือก็ต้องปรับตัว และต้องทำความเข้าใจกับระบบ"
นางชนิตากล่าวด้วยว่า ธนาคารจะต้องมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดี สามารถเผชิญกับความผันผวนในระบบเศรษฐกิจได้ และจัดสรรเงินกองทุนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งบาเซิล 2 ไม่ใช่เพียงการดูแลความเสี่ยงเท่านั้น แต่จะเป็นเครื่องมือในการกำหนดกลยุทธ์ และการหาลูกค้า อีกทั้งการปรับพอร์ตสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในช่วงต่อไป
ทั้งนี้ ในปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่นิยมใช้วิธีการคำนวนเงินระบบขั้นต้น หรือ SA เพราะเป็นวิธีที่ง่าย และไม่ซับซ้อน รวมทั้งยังมีต้นทุนที่ต่ำด้วย แต่ธนาคารพาณิชย์ควรใช้วิธีการคำนวณเงินกองทุนแบบ IRB เพราะผลที่ประเมินออกมาจะมีความแม่นยำมากกว่า แต่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|