ติดสปริง “ขนมไทย” “สวัสดี” ชูธง พาบุกตลาดโลก


ผู้จัดการรายสัปดาห์(12 ธันวาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

- เชื่อหรือไม่ว่าขนมไทยกำลังโกอินเตอร์?
- “สวัสดี” สร้างฐาน 3 ปี แทรกตลาดเจาะกลุ่มชาวต่างชาติศักยภาพสูง
- แผนปี’49 ชูบทบาทสปริงบอร์ดชัดขึ้น หนุนวิสาหกิจกลาง-เล็ก-จิ๋ว อย่างเป็นระบบ
- พัฒนาจาก Zero Base สู่ Knowledge Base เน้นเชิงรุกหนักกว่าเดิม
- ดึงรัฐ-เอกชนสานประโยชน์ เตรียม “อากิโกะ” พันธมิตรใหม่
- พลิกภาพลักษณ์ขนมไทย โชว์จุดเด่นเพียบเบียดสแน๊กระดับโลก เล็งแตกเซ็กเม้นต์ ผุด 2 ซับแบรนด์ “Say Hi” ปูพรมไตรมาสสอง

ในการพัฒนา “ขนมไทย” มีหน่วยงานเล็กๆ แห่งหนึ่งที่ก่อตั้งขึ้นด้วยเงินลงทุนทั้งสิ้น 4 ล้านบาท เมื่อเดือนมกราคม 2546 คือ บริษัท อุตสาหกรรมขนมไทย จำกัด เป็นองค์กรที่มีรูปแบบดำเนินการแบบนิติบุคคลเช่นเดียวกับบริษัทเอกชน โดยมีสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นผู้ถือหุ้น 100% ตามการริเริ่มของ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในขณะนั้น ที่เห็นว่าขนมไทยเป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มหนึ่งซึ่งน่าจะมีอนาคตที่ดีในการพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมสามารถขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ

เล็งยอดขายโตคู่เครือข่าย

พีรวงศ์ จาตุรงคกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทฯ กล่าวกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์” ว่า แผนปี 2549 จะขอพื้นที่จากการท่าอากาศยานประมาณ 200 ตารางเมตร แบ่งเป็น 50 ตารางเมตร 4 ร้าน เพื่อจะได้ครอบคลุมทั่วท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ คาดว่าอย่างต่ำจะมียอดขายประมาณ 100 ล้านบาท กำไรประมาณ 10% หรือ10 ล้านบาท

ปัจจุบันร้าน “Sawasdee” (สวัสดี) 1 แห่ง เปิดบริการอยู่ที่อาคารผู้โดยสารขาอออก terminal 2 สนามบินดอนเมือง ปีนี้คาดว่าจะมียอดขายประมาณ 40 ล้านบาท (ดูตารางประกอบ)

รวมทั้ง มีแผนจะเปิดร้านต้นแบบในประเทศ รูปแบบคีออสหรือช็อปตามความเหมาะสมของพื้นที่ เริ่มในแหล่งท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ และภูเก็ต โดยสนใจทำเลในสนามบิน ส่วนพัทยาต้องการพันธมิตรที่เหมาะสม เพื่อประชาสัมพันธ์ขนมไทยให้คนในประเทศรับรู้มากขึ้น และขยายช่องทางจำหน่ายไปต่างประเทศในอนาคต

ประกอบกับ กำลังขยายพันธมิตรในภาคเอกชน เช่น เตรียมจะร่วมมือกับกลุ่มอากิโกะ ซึ่งมีโรงงานบรรจุขนมที่มีความทันสมัย เพื่อให้เป็น packaging house และตัวแทนการค้าในต่างประเทศโดยเริ่มที่ฮ่องกงซึ่งกลุ่มอากิโกะมีความชำนาญ และการร่วมมือกับร้านอาหารไทยที่เป็นพันธมิตรอยู่แล้วประมาณ 20 แห่ง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมแบรนด์สวัสดี ศึกษาตลาดและการบริหารจัดการ

สำหรับกิจกรรมที่เน้นในปีหน้ายังอยู่ที่การสาธิตและให้ชิม ซึ่งที่ผ่านมาได้ผลมาก เพราะพบว่าชาวต่างชาติไม่กล้าทานเพราะไม่รู้จัก แต่การชิมทำให้กล้ารับประทานและซื้อมากขึ้นโดยเฉพาะชาวเอเชียที่คุ้นเคยกับส่วนผสมและนิยมซื้อเป็นของฝากด้วย ขณะที่ชาวตะวันตกมักจะซื้อทานเอง

“ปัจจุบันขนมสดที่เป็นพระเอกในร้านคือข้าวเหนียวมะม่วง รองลงมาคือลูกชุบ ตามด้วยบ้าบิ่น และขนมหม้อดินไทยก็เริ่มเกิด เช่น เต้าส่วน ปลากริมไข่เต่า เขากินกันหน้าร้านเลย ได้ผลมาก ชาวต่างชาติไม่ได้มาชิมเพราะกินฟรีแต่มาซื้อด้วย มีถึงขั้นลูกค้าที่เดินทางประจำขอเบอร์โทรเพื่อจองล่วงหน้า และขอเป็นตัวแทนการค้า เห็นชัดว่าวิธีนี้ทำให้ขนมไทยขายดีขึ้น แม้กระทั่งขนมสดก็มีอนาคตมาก”

โดยสัดส่วนยอดขาย “สวัสดี” ในปัจจุบัน แบ่งเป็น ผลไม้แปรรูป 35% ขนมสด และขนมแห้งอย่างละ 25% และสแน๊ก 15% จากเดิม ผลไม้แปรรูป 40% ขนมแห้งและสแน๊กอย่างละ 26% และขนมสด 8% โดยประมาณ

มุ่งพัฒนา-ถ่ายทอดเชิงรุก

พีรวงศ์กล่าวต่อไปว่า เพราะบทบาทขององค์กรนี้ คือการช่วยเหลือผู้ประกอบการ จึงวิจัยและพัฒนาค่อนข้างมาก เช่น บรรจุภัณฑ์ การยืดอายุสินค้า เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น การแปรรูป เน้นผลไม้และพืชเศรษฐกิจเพื่อช่วยแก้ปัญหา เช่น ทุเรียน ลำไย และการเพิ่มมูลค่า เช่น มะขาม มะละกอ ฯลฯ

แน่นอนว่าต้องเน้นหนักเชิงรุกในปีหน้า โดยหน่วยงานที่ร่วมมือในด้านต่างๆ เริ่มมีมากขึ้น ทั้งการตลาด แก้ปัญหาและพัฒนากระบวนการผลิต นำเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้

ไม่ว่าจะเป็น กรมส่งเสริมการส่งออก ร่วมกันพัฒนาตลาดโดยออกงานแสดงสินค้าอาหารหรือขนมที่มีอยู่ทั่วโลก ทำให้พบผู้ซื้อที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย ส่วนสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ (สวทช.) มีแนวโน้มที่ดีในเรื่องการพัฒนาสินค้าให้ถึงเกณฑ์สากล เช่น ข้าวตังทำให้สามารถส่งออกได้ ข้าวแต๋นมีปัญหาเรื่องความหืน ลูกชุบพยายามยืดอายุให้ส่งออกได้ และกำลังพัฒนาขนมนวัตกรรมใหม่ เช่น ทุเรียนอัดแผ่นเหมือนมันฝรั่งเลย์

“เรานำร่องก่อน ต่อไปจะถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ เวลาผู้ประกอบการมาหา เราจะวิเคราะห์จนเขาเองรู้ว่าทำได้หรือไม่ เพราะต้องการให้เขายั่งยืนและเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจจริง”

“บางคนติดข้อจำกัดเรื่องการลงทุน หรือการตลาด แต่บางคนพร้อมแล้วขาดแค่โนว์ฮาว เราก็เติมให้เต็ม เช่น มีผู้ประกอบการรายหนึ่งซื้อทุเรียนปีละเกือบ 30 ตันอยู่แล้วเพื่อทำทุเรียนกวน แต่มีปัญหาควรมีโปรดักต์มากกว่านี้ เราก็ถ่ายทอดให้ เราวิจัยถึงกระบวนการผลิต เครื่องจักร เครื่องไม้เครื่องมือ และโนว์ฮาว ตอนนี้อยู่ในช่วงถ่ายทอดเพราะงานวิจัยเพิ่งได้มา นี่คือช่วงเริ่มต้น”

นอกจากนี้ ยังมีสถาบันอาหาร สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมอนามัย กรมพัฒนาการเกษตร รวมทั้งกรมพัฒนาชุมชนของกระทรวงมหาดไทย ที่ส่งผู้ประกอบการที่มีศักยภาพมาให้ช่วยพัฒนา โดยเฉพาะเครือข่ายหลักของกระทรวงอุตสาหกรรม คือ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานหลักช่วยผลักดัน

“ที่ผ่านมา ขอความร่วมมือเพื่อตัวเราเอง แต่ช่วงหลังเป็นสะพานให้เอสเอ็มอีด้วย ปีหน้าจะเห็นภาพการเชื่อมโยงจากเรามากขึ้น”

นอกจากนี้ เริ่มเน้นเข้าหาผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาพันธมิตรที่มีอนาคตมาเข้าร่วม เหมือนหาช้างเผือก เช่น ที่จันทบุรีพบผู้ประกอบการทุเรียนกุลนารถ หรือไอศกรีมฟรุทไอซ์ หรือน้ำลูกสำรอง ที่มีศักยภาพพัฒนาเชิงพาณิชย์ มาพัฒนามาตรฐานสู่การส่งออก ซึ่งพัฒนาเสร็จสมบูรณ์ในแต่ละรายโดยใช้เวลาประมาณ 6 เดือนเท่านั้น คาดว่าปีหน้าจะพัฒนาได้ 20-30 ราย ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ส่งเสริมและเป็นพันธมิตรประมาณ 360 ราย (ดูตารางประกอบ)

“ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและโอทอปที่ควรจะได้รับการผลักดัน เราจะไปวิเคราะห์ถึงสถานที่ว่าเขามีโอกาส หรือปัญหาอะไรที่เขาไม่เข้าร่วม บางรายที่มีสินค้าดี มีรูปแบบและคุณประโยชน์ มีจุดแข็งมาก แต่มีปัญหาความลับทางการผลิต อย่างไรก็ตาม อยากให้ใช้เราเป็นสปริงบอร์ดเพื่อพัฒนาสู่การส่งออกด้วย เพราะหน่วยงานนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับและพร้อมให้บริการอยู่แล้ว” กรรมการผู้จัดการ บริษัทฯ ย้ำบทบาท

นอกจากนี้ จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนมไทยทำธุรกิจในรูปแบบ eCommerce ผ่านเว็บไซต์www.thaiconfection.comที่มีอยู่แล้ว เพื่อเป็นศูนย์กลางให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจทั้งแบบ Business to Business และ Business to Consumer โดยจะเริ่มให้บริการในเดือนมกราคม 2549

รวมทั้ง จะพัฒนาองค์กรเป็น Business Center บริการแบบ One Stop Service มีการวิเคราะห์ปัญหา แนะนำ ช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งการผลิตและการตลาด โดยอาศัยความเป็นหน่วยงานภาครัฐประสานงานกับพันธมิตรทั้งรัฐและเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละเรื่อง เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความสะดวกยิ่งขึ้น คาดว่าจะเปิดบริการประมาณเดือนกรกฎาคม 2549

ทั้งนี้ ในส่วนบรรจุภัณฑ์ซึ่งเป็นจุดแรกที่ให้ความสำคัญและพัฒนาไปไกล ล่าสุด “สวัสดี” เพิ่งจะได้รางวัลชนะเลิศการออกแบบบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ 2 รางวัลจาก Thai Star Award 2005 เวทีระดับท้องถิ่น และ Asia Star Contest 2005 เป็นเวทีระดับชาติมีคู่แข่งจาก 14 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ซึ่งจัดขึ้นโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสหพันธ์บรรจุภัณฑ์แห่งเอเชีย (The Asian Packaging Federation) เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ การชนะครั้งนี้และผลงานใหม่ๆ ที่จะสร้างสรรค์ออกมาเรื่อยๆ น่าจะทำให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นมากขึ้น

“เราสร้างทั้งซัพพลายเชนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เราเริ่มเสาะหาแต่ละโซนแต่ละภาค จริงๆ ตอนเริ่มต้นบริษัทนี้ไม่มีแนวคิดเนื่องจากไม่มีหน่วยงานไหนลงมาสัมผัสกับผู้บริโภคด้านนี้ เราเริ่มจากศูนย์ ซีโร่เบส (Zero Base) เก็บข้อมูลใหม่หมด ซึ่ง ณ วันนี้เราน่าจะรู้ข้อมูลมากกว่าใคร รู้แนวโน้ม กลุ่มผู้บริโภค ตลาดเป้าหมาย แนวทาง พัฒนาสู่โนว์เลจเบส (Knowledge Base) ตอนนี้เราก็เริ่มถ่ายทอดสิ่งที่รู้ และพัฒนาศึกษาไปด้วย เพื่อจะเป็น Knowledge Center ทำให้แนวทางที่เราจะส่งเสริมผู้ประกอบการทำได้ดีขึ้นแน่นอน” พีรวงศ์ อธิบายถึงพัฒนาการ

3 กลไกสู่ความสำเร็จ

ผู้ประกอบการที่ส่งเสริม แบ่งเป็น 3 กลุ่ม

1. กลุ่มขนาดกลาง (Medium) สำเร็จด้านยอดขาย วันนี้ยืนได้ด้วยตัวเอง แต่อยากให้ภาครัฐช่วยผลักดัน เพราะการแข่งขันในตลาดสากลยังมีปัญหาเชิงลึก เช่น การกีดกันทางการค้า การพัฒนาสำเร็จทำให้กลุ่มนี้โฟกัสตลาดได้ชัดขึ้น เลือกตลาดที่เหมาะและแข่งขันได้ทั้งเชิงคุณภาพและการพัฒนา ไม่ใช่ในเชิงราคาอย่างเดียว เช่น ถั่วเขาช่อง โก๋แก่ ข้าวเกรียบมโนราห์ ไปตลาดต่างประเทศได้อย่างสวยงาม

2. กลุ่มขนาดเล็ก (Small) ถือเป็นกระดูกสันหลัง จะพัฒนาให้เข้มแข็งกว่าเดิม จุดอ่อนเดิมทุกราย คือ บรรจุภัณฑ์ กระบวนการผลิต ต้องพัฒนาให้ได้มาตรฐาน ส่วนโนว์ฮาวมีอยู่แล้ว ส่วนกลยุทธ์ทางการตลาด หาลูกค้าและได้มาอย่างไร การสื่อสาร การออกต่างประเทศเพราะเก่งในประเทศแล้ว

“เราจึงไปช่วยโปรโมทช่วยขายในต่างประเทศ และเป็นอีกกลุ่มที่เรามาช่วยรีแบรนด์เป็นสวัสดี เพราะสินค้าได้มาตรฐาน เพราะบางทีมีปัญหาในการรีแบรนด์หรือพัฒนาบรรจุภัณฑ์ของตัวเอง เราก็จับมือไปด้วยกัน”

และ3. กลุ่มไมโคร ชุมชนเล็กๆ ต้องยกระดับออกสู่ตลาดข้างนอกมากขึ้น บางรายก้าวหน้ามาก เช่น ขนมเทียนบ้านณัฐธิดา แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีหน้าร้าน ขายเฉพาะในงานต่างๆ แต่วันนี้ขายที่ร้านสวัสดีในสนามบินดอนเมืองมียอดขายน่าพอใจ ชาวต่างชาติชอบขนมเทียนที่ห่อด้วยใบตองอย่างสวย รีดฆ่าเชื้อ ซื้อเป็นของฝากได้ เดิมกลุ่มเหล่านี้ไม่มีโอกาส มักจะล้มหรือหมดแรงก่อน

ความสำเร็จมีความสำคัญ 3 ส่วน คือ 1. ผู้ประกอบการต้องพร้อมและเข้ามาหา 2. บริษัทฯ มีหน้าที่ประสานงานและช่วยพัฒนา และ3. หน่วยงานสนับสนุน เพราะการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนจะทำให้ได้เปรียบทางการต่อรองและการพัฒนา มากกว่าจะไปเดี่ยวเหมือนเดิม

“ความสำเร็จจะเกิดได้จากการร่วมมือจากเครือข่ายทั้งหมด แต่สปริงบอร์ดเองมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ เพราะการผลักดันผู้ประกอบการฯ ทั้งซัพพลายเชน จำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพราะปัญหาแต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม จุดแข็งที่มีในวันนี้ คือ องค์ความรู้ ทรัพยากรและแรงงาน ความหลากหลายในวัตถุดิบและการแปรรูป เช่น กล้วย มีทั้ง กวน ฉาบ ตาก เชื่อม ทอด บด"

พีรวงศ์ สรุปว่า สิ่งที่ทำมาตลอด 3 ปี กำลังสะท้อนความเป็นไปได้และมีผลงานเป็นรูปธรรมว่าเอสเอ็มอีขนมไทยมีพัฒนการในเชิงบวก อนาคตน่าจะเป็นกำลังหลักได้ในการแข่งขันกับสินค้าต่างประเทศหรือสร้างรายได้เข้ามา เกิดเป็นอุตสาหกรรมที่แข็งแรง แข่งขันได้ด้วย 3 กลไกร่วมกันขับเคลื่อน

*************

ส่ง “Say Hi” เจาะตลาดใหม่

เนื่องจากเป็น “โครงการนำร่อง” เพื่อศึกษาว่าตลาดขนมไทยที่ถูกต้องเหมาะสมอยู่ตรงไหน เบื้องต้นจึงสร้าง “มาสเตอร์แบรนด์” ชื่อ “สวัสดี” วางเป้าหมายการทดสอบศักยภาพกลุ่มชาวต่างชาติแต่ละชาติแต่ละโซน และใช้ร้านสวัสดีในสนามบินดอนเมืองเป็นสถานีหลักเพื่อวิจัยและส่งเสริมสินค้าขนมไทย

ในการดำเนินการเห็นได้ว่า แนวโน้มตลาดขนมไทยมีความเป็นไปได้สูงในกลุ่มตลาดเอเชีย เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเอเชียบางส่วนรู้จักขนมไทยอยู่แล้ว คุ้นเคยกับการบริโภค ตลอดจนวัตถุดิบใกล้เคียงกับขนมของเขา ไม่แปลกเกินไปทำให้กล้าทดลองชิมหรือซื้อ ขณะที่ชาวตะวันตกจะซื้อบริโภคเองเท่านั้น เพราะค่อนข้างระมัดระวังเรื่องส่วนผสม ทำให้ตลาดตะวันตกต้องพัฒนาต่อ แต่ตลาดตะวันออกได้ผลทันที

ขณะนี้แบรนด์สวัสดีเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค มีความทันสมัยเป็นอินเตอร์ และบางสินค้าล้ำสมัย ผู้บริโภคชอบมากกว่าจะติดอยู่ในกรอบแบบเดิมๆ เน้นบรรจุภัณฑ์ขนาดเหมาะสม สีสันสดใสสวยงามแบบเอเชีย ซึ่งเป็นดินแดนของสีสัน แต่ดูสะอาดน่ารับประทาน โดยใช้ภาพเป็นหลัก เพราะภาพสินค้าดีๆ ทำให้ขายได้มาก ถือว่าได้ผล

“เราเห็นโอกาสเจาะขยายตลาดใหม่ ซึ่งสแน๊กมีศัยภาพสูง โฟกัสเด็กและวัยรุ่น ซึ่งบริโภคสแน๊กมาก จึงพัฒนา ‘ซับแบรนด์’ โดยการนำสินค้าของเอสเอ็มอีและโอทอปมาสร้างแบรนด์ใหม่ ชื่อ เซย์ไฮ (Say Hi) แปลว่าสวัสดีเหมือนกัน โดยวางคาแร็กเตอร์ของสินค้าชัดเจน เป็นโมเดิร์นไทยสแน๊ก คาดว่าจะวางตลาดประมาณไตรมาสสองของปีหน้า” พีรวงศ์ กล่าวถึงการพัฒนาขนมไทยอีกขั้น

การประชาสัมพันธ์มุ่งตลาดเป้าหมาย เจาะช่องทางจำหน่ายร้านค้าปลีกสมัยใหม่ สำหรับในประเทศ เช่น ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ราคาประมาณ 10 บาท หรือ 20 บาทต่อหน่วย เหมาะกับกำลังซื้อ และมั่นใจว่าจะเปลี่ยนภาพลักษณ์ยกระดับผู้ประกอบการโอทอปสู่ความทันสมัย

"เซย์ไฮ" มีจุดขายที่คาแร็กเตอร์ของบรรจุภัณฑ์สดใสน่ารักกระทัดรัดจะเป็นตัวนำ ราคาไม่สูง มีความยืดหยุ่นทางการตลาด และสินค้าเป็นตัวสนับสนุน ขนมหวานมากกว่าปกตินิดนึง เพราะขนมจืดๆ เด็กไม่ทาน เช่น ข้าวแต๋น จะออกรสหวานมากกว่าเค็ม และมีรสชาติและรูปแบบของขนมแปลกใหม่ เมืองไทยยังไม่มีการเริ่ม จะทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาสแน๊กไทยขึ้นมาสู้กับขนมต่างประเทศ

“จุดแข็งสู้ด้วยสินค้าที่เป็นประโยชน์ ตั้งแต่วัตถุดิบมาจากธรรมชาติโดยตรงไม่ใช่สังเคราะห์ ซึ่งของต่างชาติส่วนใหญ่ใช้แป้งกับน้ำตาล แต่ของเราเน้นเรื่องข้าว เช่น ข้าวแต๋น หรือผลไม้ เช่น กล้วย เผือก มัน มะม่วง ลำไย สัปปะรด เป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติ มีคุณค่าทางโภชนาการที่รู้กันอยู่แล้ว และมีรสชาติเฉพาะ เป็นสินค้าเอสเอ็มอีไทยที่มีอยู่แล้ว อร่อยและสะอาด ที่ผ่านมาขาดโอกาสเข้าตลาด จึงยังไม่ได้ลงไปสู้โดยตรง” พีรวงศ์ กล่าวอย่างมั่นใจถึงอนาคตของขนมไทย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.