"บลจ. ใหม่ค่ายแบงก์นครหลวง มั่นใจเต็มร้อยเปิดกองทุนหุ้น"


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

ระยะ 1-2 ปีให้หลังมานี้ บรรดาบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ทั้งหลายต่างหันมาให้ความสนใจออกกองทุนตราสารหนี้กันอย่างคึกคัก เนื่องจากภาวะตลาดหลักทรัพย์ไม่เอื้ออำนวย แต่ตลาดตราสารหนี้ยังมีอนาคต ยังพอทำตลาดได้อยู่ โดยเฉพาะในหมู่นักลงทุนสถาบัน

ห่างเหินจากกองทุนตราสารทุน หรือกองทุนหุ้นมานาน ทุกวันนี้ บลจ. ต่าง ๆ ก็ยังไม่กล้าลงสนามนี้กันสักเท่าไหร่ มูลเหตุสำคัญก็มิใช่อะไร เกรงว่าจะขายไม่ออก เพราะนักลงทุนอาจจะยังกล้า ๆ กลัว ๆ กับภาวะตลาดเช่นนี้ และสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยข่าวเศรษฐกิจแบบแปลก ๆ ในรัฐบาลชุดนี้

อย่างไรก็ดี บลจ. สยามซิตี้ แอสเซท แมเนจเม้นท์ จำกัด ของค่ายแบงก์นครหลวงกลับประกาศชัดเจนว่าจะเปิดกองทุนรวมซึ่งลงทุนในตราสารทุน 100% เป็นกองทุนแรกประเดิมใบอนุญาต บลจ. ที่เพิ่งได้รับมาเมื่อปลายปีก่อน

ดร. สม จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย เปิดเผยว่า บลจ. สยามซิตี้ฯ ขณะนี้เตรียมการที่จะออกกองทุนรวมทั้งประเภทตราสารทุนและตราสารหนี้

เหตุที่สนใจตราสารทุนเนื่องจากมองว่าตลาดหลักทรัพย์ ณ วันนี้ซบเซาลงมามากแล้ว ดัชนีเหลือไม่ถึง 700 จุด ดังนั้นโอกาสที่จะตกลงไปอีกคงมีไม่มากนัก แต่โอกาสที่จะขึ้นไปยังมีอีกมาก หากแต่ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการปรับตัว

ทั้งนี้ บลจ. ดังกล่าว ธนาคารนครหลวงไทย ถือหุ้นในสัดส่วน 25% ของทุนจดทะเบียนเท่ากับไอเอ็นจี แบงก์ (ING BANK) ที่เหลืออีก 50% ถือโดย บงล. เอสซีเอฟ (SCF) บงล. นครหลวงเครดิต (SCCF) บงล. สยามซิตี้ซินดิเคท (SCIS) บล. แอ๊ดคินซัน (ASL) และบริษัท ไทยศรีนครประกันภัย จำกัด ในสัดส่วนรายละ 10% ของทุนจดทะเบียน

การที่ผู้ถือหุ้นเป็นสถาบันการเงินหลายแห่ง และธนาคารขนาดใหญ่อย่างไอเอ็นจี แบงก์ ทำให้มนูญ เลิศโกมลสุข อดีตมือดีของ บงล. มหาธนกิจ ซึ่งย้ายค่ายมานั่งในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บลจ. สยามซิตี้ฯ มั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าจะสามารถสนับสนุนและร่วมมือในการออกกองทุนรวม และจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนประเภทต่าง ๆ ได้

มนูญ ตั้งเป้าว่า จะออกกองทุนตราสารทุนกองแรกได้ในราวเดือนพฤษภาคม หลังจากนั้นก็จะออกกองทุนตราสารหนี้เป็นกองที่ 2 ภายในปีนี้

"เราอยากดูก่อนว่า กองแรกจะเป็นอย่างไร ถ้าประสบความสำเร็จมาก กองที่ 2 ก็คงจะออกตามมาไม่นานนัก คิดว่าปีนี้คงออกแค่ 2 กองก่อน" มนูญอธิบาย พร้อมกับตั้งความหวังว่าจะสามารถขายหน่วยลงทุนได้ถึง 1,000 ล้านบาทสำหรับกองแรก ซึ่งเขาเองก็ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนักในภาวะที่นักลงทุนขาดความมั่นใจในตลาดหลักทรัพย์เช่นนี้

อย่างไรก็ตาม มนูญเตรียมทีมการตลาดไว้ 4 คน จากทีมงานทั้งหมดประมาณ14 คนในขณะนี้ เขาคาดว่าภายในปีนี้จะมีพนักงานทั้งหมดไม่เกิน 18 คน

"ในช่วงแรกจะเน้นการจัดจำหน่ายลงทุนผ่านสาขาของธนาคาร และบริษัทในเครือ โดยอาศัยฐานลูกค้าของธนาคารและบริษัทในเครือเป็นหลัก จากนั้นก็จะเป็นลูกค้าทั่วไป สถาบัน และต่างประเทศ" มนูญกล่าวย้ำว่าสิ่งสำคัญที่ต้องทำอีกอย่างคือการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่นักลงทุนว่าการลงทุนในหลักทรัพย์มีความเสี่ยง และควรจะมีระยะเวลาลงทุนพอสมควรอาจจะประมาณ 2-3ปี ไม่ใช่ซื้อเช้าขายบ่าย หรือเก็งกำไรระยะสั้น

เขาเชื่อว่าหากลงทุนในตราสารทุนวันนี้ โดยไม่ขายหน่วยลงทุนเลยใน 3 ปีโอกาสที่จะมีกำไรสูงกว่าโอกาสที่จะขาดทุนอยู่มาก

"ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทุกวันนี้ และสภาวะตลาดฯ อย่างนี้ ถ้าซื้อหน่วยลงทุนในหุ้นน่าจะดี เพราะโอกาสที่จะตกลงไปอีกไม่เกิน 10% คือที่ดัชนี 650 จุด แต่โอกาสที่จะขึ้นไปมีอยู่มาก ถ้าลงทุน 3 ปีไม่ถอนคืนเลย โอกาสที่จะมีกำไรมีอยู่สูงมาก" มนูญ กล่าว

การที่เป็น บลจ. เปิดใหม่ และกำลังจะประเดิมออกกองทุนแรกทำให้ต้องมีการเตรียมการอย่างมาก ทั้งในเรื่องระบบบริหาร ทีมงานและการตลาด อย่างไรก็ดีสิ่งที่ บลจ. สยามซิตี้ฯ ต้องเหนื่อยมากหน่อยคงไม่พ้นเรื่องการสร้างความเชื่อมั่นเพื่อให้นักลงทุนกลับเข้ามาซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนหุ้นอีกครั้ง เพราะที่ผ่าน ๆ มาบรรดานักบริหารกองทุนมืออาชีพทั้งหลาย เมื่อเจอกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ตลาดหลักทรัพย์ซบเซา มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) ของแต่ละกองก็ไม่ค่อยน่าดูสักเท่าไหร่ บางกอง NAV เหลือเพียง 5 บาทเท่านั้น จากราคาพาร์ 10 บาท

นักลงทุนที่เจ็บตัวกับกองทุนรวมไม่ว่ากองทุนปิดหรือกองทุนเปิดมีอยู่จำนวนมาก ทำให้ความมั่นใจในมืออาชีพถดถอยลงไปบ้าง

ซึ่งมนูญเตรียมพร้อมสำหรับคำถามนี้พอสมควร โดยให้เครดิตที่ไอเอ็นจี แบงก์ หนึ่งในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในยุโรปว่า พันธมิตรรายนี้จะเป็นทั้งผู้ถือหุ้นของ บลจ. สยามซิตี้ฯ และสามารถสานประโยชน์ทางธุรกิจซึ่งกันและกันได้ โดยเฉพาะเรื่องการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี

"อาจจะมีการส่งผู้จัดการกองทุนมาช่วยเราด้วย แต่คงไม่ใช่เวลานี้ อาจจะต้องรอให้มีธุรกิจมากกว่านี้ก่อน นอกจากนี้ไอเอ็นจี แบงก์ก็มีบริษัทประกัน มีกองทุนรวมในเครือที่ลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งพวกนี้ก็อาจจะมาลงทุนใน บลจ. สยามซิตี้ฯ ได้" มนูญ กล่าวเสริม

ขณะนี้กองทุนตราสารกองทุนแรกของ บลจ. สยามซิตี้ฯ กำลังอยู่ในระหว่างทำเรื่องเสนอสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) คาดว่าจะเปิดตัวได้พร้อม ๆ กับการเปิดสำนักงานของบริษัทประมาณกลางเดือนพฤษภาคมนี้ ถึงวันนั้นคงจะพอพิสูจน์ได้ว่า กองทุนหุ้นมีโอกาสจะเกิดหรือไม่ในยามนี้ หากประสบความสำเร็จด้วยดี ก็เชื่อได้ว่าศักราชใหม่ของกองทุนหุ้นจะกลับคืนมาอีกครั้ง เพราะ บลจ. ใหม่ ๆ อีกหลายแห่งที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง ต่างก็รอดูทิศทางลมอยู่เหมือนกัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.