"เกียรตินาคิน ไม่เงียบอย่างที่คิด"


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

จากสภาพตลาดหุ้นในปัจจุบันซึ่งกำลังตกต่ำอย่างมาก ทำให้บริษัทในตลาดหลายบริษัทได้รับความเจ็บปวดไปตาม ๆ กัน โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เรียกว่าขวัญใจของบรรดานักลงทุนทั้งหลายที่ขณะนี้ได้รับผลกระทบจากสภาวะดังกล่าวอย่างมาก ทำให้ข่าวที่ออกมาในแต่ละวันมีแต่ด้านลบทั้งนั้น โดยเฉพาะไฟแนนซ์ที่มีหนี้เสียกับการปล่อยกู้ให้กับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ แต่อีกด้านหนึ่งก็มีบางไฟแนนซ์ที่เงียบไม่ค่อยมีความเคลื่อนไหว ราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับธุรกิจตัวเอง

อย่างเช่น บงล. เกียรตินาคิน หรือ KK ซึ่งดูเงียบ ๆ ไม่หวือหวาเหมือนบางไฟแนนซ์ ทั้ง ๆ ที่ KK เป็นไฟแนนซ์ที่มีปริมาณและมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในแต่ละวันสูงพอสมควร แต่ข่าวที่ออกมากลับไม่ค่อยมีเท่าไหร่ เรื่องนี้ วิเชียร เจียกเจิม กรรมการผู้จัดการกล่าวว่า

"จริง ๆ แล้วเราไม่เงียบ เรามีข่าวออกมาตลอดเวลาแต่ยอมรับว่าข่าวที่ออกมาถ้าเปรียบเทียบกับช่วงที่ตลาดหุ้นบูมจะมีน้อยกว่า"

แม้ว่าภายนอก KK จะไม่ค่อยมีข่าวออกมา แต่ภายในบริษัทนั้นกลับคึกคักพอสมควร โดยเฉพาะในปี 2540 นี้ วิเชียร มีแผนการดำเนินงานไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งจะเน้นไปยังธุรกิจที่ KK มีความถนัดและเป็นจุดแข็งของบริษัทที่จะสามารถรองรับกับภาวะการแข่งขันของสถาบันการเงินที่เข้มข้นขึ้นทุกขณะ

"แผนการดำเนินงานของเราในปีนี้ยังเน้นการดำเนินธุรกิจส่วนที่เราแข็งแกร่งอยู่ คือการปล่อยสินเชื่อรายย่อยเพราะธุรกิจเงินทุนยังสามารถทำได้ดี ส่วนธุรกิจหลักทรัพย์ก็เป็นไปตามภาวะของมัน อย่างไรก็ตามในช่วงนี้เราได้เตรียมตัวเพื่อรองรับการฟื้นตัวของตลาด เช่นการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบงาน ระบบพนักงาน" วิเชียรกล่าว

โดยการปล่อยสินเชื่อรายย่อยดังกล่าว วิเชียรจะเน้นการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 50% ของการปล่อยสินเชื่อทั้งหมด มีลูกค้าประมาณ 30,000-40,000 รายแล้วทั่วประเทศ โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์

วิเชียรได้กล่าวต่อไปว่าการที่มีนโยบายเน้นการปล่อยสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะการกระจายออกไปสู่ภูมิภาคเนื่องจากเป็นการรองรับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการกระจายความเจริญสู่ชนบท ดังนั้น ถ้า KK มีส่วนร่วมในการพัฒนาให้มีการเติบโตขึ้น ด้วยการปล่อยสินเชื่อให้มีการลงทุนหรือการขยายตัวธุรกิจในภูมิภาคได้ KK ก็ยินดีจะสนับสนุน

"ปีนี้เราจะทำการเปิดสำนักงานอำนวยสินเชื่อออกไปอีก 3 แห่ง ได้แก่ที่สุราษฎร์ธานี อุดรธานี และนครสวรรค์ ซึ่งปัจจุบันเรามีแล้วจำนวน 9 แห่ง และคิดว่าสัดส่วนรายได้จากการขยายตัวของสินเชื่อปีนี้จะขยายตัวประมาณ 30%"

แนวทางการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวยังคงเป็นไปในรูปแบบเดิม คือมุ่งที่จะปล่อยสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อประเภทเช่าซื้อ โดยจะเน้นการปล่อยสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ มีการคัดเลือกลูกค้า ตลอดจนการติดต่อกับตัวแทนจำหน่ายก็เป็นตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจากบริษัทจำหน่ายรถยนต์ จึงทำให้ที่ผ่านมา KK ประสบปัญหาเรื่องหนี้เสียน้อยมาก

ส่วนใหญ่ที่เราปล่อยสินเชื่อจะมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ประมาณ 95% จะมีหลีกทรัพย์ค้ำ และที่มีหลักทรัพย์ค้ำบางส่วนอีกประมาณ 3% ที่เหลือจึงเป็นการปล่อยสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการปล่อยให้กับสถาบันการเงิน" วิเชียร กล่าว

นอกจากแผนการดำเนินงานดังกล่าวแล้ว KK ยังมีแผนที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือนโยบายการเปลี่ยนแปลงแหล่งเงินทุนโดยพยายามลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ ด้วยการบริหารแหล่งเงินใหม่ซึ่งจากเดิมเน้นการพึ่งพาฐานเงินฝากจากลูกค้า เปลี่ยนมาเป็นระดมเงินในรูปแบบใหม่ ๆ เพราะถ้าดูสัดส่วนโครงสร้างการกู้ยืมเงินในอดีตของ KK จะอาศัยเงินฝากจากประชาชนประมาณ 95% ของจำนวนเงินที่ใช้ในการดำเนินงานทั้งหมด แต่ในปัจจุบันจะเหลือเพียงแค่ประมาณ 65% เท่านั้น สาเหตุที่ KK ทำอย่างนี้เนื่องจากความต้องการลดความเสี่ยง ความผันผวนด้านอัตราดอกเบี้ย การบริหารสภาพคล่อง

"ที่เราเปลี่ยนโครงสร้างครั้งนี้จะทำให้เรามีเสถียรภาพในการบริหารเงินมากขึ้น และความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ลดลง รวมทั้งเงินฝากจากประชาชนส่วนใหญ่จะฝากแค่ 3-6 เดือน ในขณะที่เราปล่อยกู้ออกไปถ้าเป็นเช่าซื้อจะมีอายุประมาณ 3 ปี ซึ่งไม่มีความสมดุลกันในเรื่องของเงินฝากกับการปล่อยสินเชื่อ" วิเชียร เล่า

โครงสร้างแหล่งเงินทุนใหม่ของ KK นั้นได้เริ่มปรากฏเด่นชัดมาตั้งแต่ปี 2536 ช่วงนั้นบริษัทได้ออกหุ้นกู้แปลงสภาพจำนวน 60 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1,500 ล้านบาท ต่อมาในปี 2538 ออกหุ้นกู้ 3,200 ล้านบาท และล่าสุดเมื่อปีที่แล้วได้ออกหุ้นกู้แปลงสภาพจำนวน 2,000 ล้านบาท ส่วนปี 2540 นี้ KK มีแผนออกหุ้นกู้อีกจำนวน 6,000 ล้านบาท

"แต่เรายังไม่รู้ว่าจะออกมาในรูปไหน เพราะต้องดูตลาดด้วยว่าเขาต้องการแบบไหน คาดว่าไตรมาส 3 นี้เราระดมทุนแน่นอน แต่คนรอบข้างมองว่าภาวะอย่างนี้จะระดมทุนได้หรือไม่ ซึ่งก็แล้วแต่คุณภาพของบริษัทว่าจะออกได้หรือไม่ เพราะสภาพตลาดไม่ค่อยเอื้ออำนวยเท่าไหร่เพราะมีความเสี่ยงพอสมควร แต่เราก็เชื่อมั่นในบริษัทว่าเราจะสามารถระดมทุนรูปแบบนี้ได้"

นอกจากนี้แผนการด้านหลักทรัพย์ วิเชียรก็ยังไม่ทิ้ง แม้จะมีข่าวลือหนาหูว่าซับโบรกเกอร์ ได้แก่ Barclays de Zoete Wedd Limited (BZW) จะไม่ยอมต่อสัญญาในการส่งออเดอร์ลูกค้าจากต่างประเทศให้กับ KK หลังหมดสัญญาในไตรมาส 2 ปี 2540 นี้ เรื่องนี้วิเชียรให้คำยืนยันว่า "BZW จะต่อสัญญากับเราไปอีกอย่างแน่นอน ถึงแม้ว่าปริมาณการซื้อขายที่เขาเคยส่งมาให้เราเป็นส่วนใหญ่ประมาณ 70-80% และปัจจุบันเขาส่งเหลือเพียง 25% ในแง่ของรายได้ก็เป็นปัญหากับเราเหมือนกันแต่ในความจริงแล้วเมื่อภาวะตลาดเป็นอย่างนี้คงจะไม่กระทบต่อเรามากอย่างที่คิด แต่ก็พยายามหาลูกค้ารายอื่น ๆ คือหันไปหารายได้ที่มีความมั่นคงมากขึ้น นั่นก็คือรายได้ด้านเงินทุน"

ความตั้งใจของวิเชียรสำหรับรายได้ระหว่างที่มาจากเงินทุนกับหลักทรัพย์ สัดส่วนจะอยู่ที่ 90:10 โดยมีเป้าหมายการเติบโตของบริษัทเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วอยู่ที่ระดับ 20-25% โดยเฉพาะอัตราการเติบโตด้านสินเชื่อซึ่งเป็นรายได้หลัก KK คาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวประมาณ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์

"ด้านหลักทรัพย์นั้นปีนี้คงยากมากที่จะทำให้โตได้ ก็ได้แต่หวังว่าตลาดจะฟื้นขึ้นมาได้ถ้าอัตราดอกเบี้ยในตลาดลดลง แต่จะลดลงอย่างไรก็มีหลายเรื่อง เช่น เงินเฟ้อ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ตัวเลขการส่งออก ค่าเงินบาท ถ้าตัวเลขเหล่านี้ดีขึ้นก็เชื่อมั่นว่าตลาดหุ้นจะกลับมาอีกครั้ง" วิเชียร กล่าว

อย่างไรก็ตามถ้าตลาดหุ้นฟื้นขึ้นมารายได้ด้านหลักทรัพย์ของ KK คงจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นไม่เท่ากับรายได้ด้านเงินทุนเพราะบริษัทจะเน้นการขยายตัวในเรื่องเงินทุนเป็นหลัก สังเกตได้จากผลการดำเนินงานปี 2539 บริษัทมีรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผล 2,801.34 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2538 ที่มีเพียง 2,055.73 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้นถึง 36.26% ส่วนที่รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยมีเพียง 475.88 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2538 สามารถทำได้ 479.71 ล้านบาท ลดลง 3.83 ล้านบาท และปี 2539 มีกำไรสุทธิ 216.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2538 ที่มีกำไรสุทธิ 155.64 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้น 39.12%

"รายได้จากค่านายหน้ายอมรับว่าลดลงเนื่องจากภาวะตลาดไม่ดี แต่รายได้อื่น ๆ ที่เข้ามาช่วยเสริมจะมาจากค่าธรรมเนียม รายได้จากการเป็นที่ปรึกษา ซึ่งรายได้ส่วนนี้เรามีมากขึ้น ทำให้รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยค่อนข้างคงที่" วิเชียร กล่าว

อย่างไรก็ตามเมื่อ KK มีการปรับเปลี่ยนแหล่งระดมทุนทำให้มีค่าใช้จ่ายในการกู้ยืมเงินปี 2539 จำนวน 2,079.32 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2538 ที่มีเพียง 1,542.42 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้น 34.80% และมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปี 2539 จำนวน 903.62 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2538 มีเพียง 788.87 ล้านบาท ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ KK จะต้องขบคิดต่อไปว่าหลังจากปรับวิธีหาแหล่งระดมทุนใหม่จะบริหารต้นทุนทางการเงินได้ดีแค่ไหน เนื่องจากการระดมทุนที่ KK ใช้ในปัจจุบันนี้คือวิธีการหาเงินที่ลำบากพอสมควร เพราะตลาดไม่เอื้ออำนวย

นอกจากปัญหาเรื่องการบริหารเงินแล้ว ปัญหาด้านธุรกิจก็ยังไม่ค่อยแจ่มใสมากนัก เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อของ KK ในปัจจุบันไม่ค่อยเอื้ออำนวยเท่าไหร่เพราะสภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในอาการโคม่าอยู่

ทีนี้เราต้องมาติดตามดูว่าในปีนี้ความตั้งใจของวิเชียรที่จะให้ธุรกิจไฟแนนซ์ของตัวเองสามารถฝ่าฟันไปได้โดยไร้บาดแผลได้หรือไม่ เพราะล่าสุดไฟแนนซ์บางแห่งเริ่มทนกับสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ต่อไปไม่ไหวแล้ว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.