"Welcome to our group"
วลีต้อนรับปนเสียงหัวเราะอย่างยินดีและเป็นกันเองของ ดร. สม จาตุศรีพิทักษ์
กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธ. นครหลวงไทย ถูกกล่าวขึ้นหลังจากพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงการเข้าร่วมทุนกับบริษัทหลักทรัพย์
คาเธ่ย์ แคปิตอล
แน่นอนการร่วมทุนกันครั้งนี้เป็นเรื่องระหว่าง "พันธมิตรทางธุรกิจ"
โดยแท้เพราะมิใช่เพียงคำกล่าวลอย ๆ เท่านั้น สิ่งที่ทำให้น่าเชื่ออีกประการคือบรรยากาศภายในงานเซ็นสัญญาเมื่อวันที่
24 กุมภาพันธ์ที่เป็นไปอย่างชื่นมื่น รวมทั้งเป้าหมายที่วางไว้อย่างเด่นชัดของคาเธ่ย์
แคปปิตอลเองด้วย
การหาผู้ร่วมทุนจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศเป็นแผนงานที่คาเธ่ย์
แคปปิตอลวางไว้เป็นอันดับแรกสำหรับภารกิจในปี' 40 นี้ หลังจากที่แยกธุรกิจหลักทรัพย์ออกมาจาก
บงล. คาเธ่ย์ ทรัสต์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ในการร่วมทุนกับ ธ. นครหลวงไทย จะมีผลบังคับจริงในเดือนกรกฎาคม
เพราะตามกฎ ก.ล.ต. ระบุว่า หลังจากแยกกิจการแล้วต้องดำเนินงานไปแล้วไม่น้อยกว่า
6 เดือนจึงจะหาผู้ร่วมทุนอื่นได้
ดร. สมกล่าวในช่วงเปิดงานว่า "การร่วมทุนครั้งนี้ค่อนข้าง simple"
เพราะ บล. คาเธ่ย์ แคปปิตอล นั้นเป็นบริษัทลูกของ บงล. คาเธ่ย์ ทรัสต์ ซึ่งก็ไม่ใช่ใครอื่นไกล
เนื่องจากผู้ถือหุ้นก็คือผู้ถือหุ้นของธนาคารนครหลวงไทยด้วยเช่นกัน และในด้านการดำเนินกิจการเอง
ทั้งคาเธ่ย์ ทรัสต์และธนาคารฯ ก็ทำธุรกิจด้วยกันมาเป็นเวลานาน นอกจากนี้กลุ่มผู้เป็นเจ้าของคือตระกูลศรีเฟื่องฟุ้ง
พานิชชีวะ และเตชะสมบัติก็ได้รับความเคารพรักใคร่จากผู้บริหารของธนาคารฯ
ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตามการที่มีการเซ็นสัญญาอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างนี้ ดร.
สม กล่าวว่าเป็นการกระชับความสัมพันธ์ที่รักใคร่แนบแน่นนั้นให้กระชับแนบแน่นขึ้นไปอีก
เพราะเขาเชื่อเหลือเกินว่า "ด้วยความรักและความเป็นกันเองของเรา คงจะเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า
บล. คาเธ่ย์ แคปปิตอลจะมีอนาคตที่สดใสแน่นอน"
ธ. นครหลวงไทยจะเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วน 9% ของทุนจดทะเบียน ซึ่ง ดร. สมได้ให้เหตุผลง่าย
ๆ ว่า "เพื่อไม่ต้องไปทำเรื่องขอจากทางแบงก์ชาติ" เพราะเป็นอัตราที่ยังไม่ถึง
10% ตามกฎที่แบงก์ชาติกำหนดไว้
แม้ว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่มากนักแต่สมบัติ พานิชชีวะในฐานะตัวแทนของ บล.
คาเธ่ย์ กล่าวว่า "ความหมายนั้นยิ่งใหญ่กว่าสัดส่วนที่ถือมากมายนัก"
และดูเหมือนการร่วมทุนกันครั้งนี้จะเป็นความหวังของชาวคาเธ่ย์ แคปปิตอลอยู่มากทีเดียว
ดังคำที่สมบัติกล่าวกับผู้บริหารของธนาคารฯ "ผมขอฝากคาเธ่ย์ แคปปิตอลไว้กับท่านทั้งหลายด้วย
ยังไงก็ช่วยอุ้มชูชี้แนะ และช่วยทำให้สถาบันนี้แข็งแกร่งและมั่นคง"
สิ่งหนึ่งที่ทั้งสองฝ่ายตระหนักดีคือ ธ. นครหลวงไทยนั้น มีบริษัทในเครือที่ทำธุรกิจด้านนี้อยู่แล้ว
ได้แก่ บงล. นครหลวงเครดิต ซึ่งในเรื่องนี้ ดร. สมกล่าวอย่างมั่นใจว่าการทำงานปกติอาจจะมีการแข่งขันกันบ้างโดยไม่รู้ตัว
แต่ในเชิงกรอบใหญ่แล้วจะร่วมมือกันหรือแม้กระทั่งแบ่งงานทำด้วยกัน เช่น ไปได้ดีลด้วยกัน
หรือการแลกเปลี่ยนข้อมูลงานวิจัยต่าง ๆ
"ไปด้วยกันได้ไม่ยาก ถ้าเรามองทุก ๆ อย่างในเชิง Healthy และอยู่ที่ว่าผู้ใหญ่เราเวลาประสานกัน
อย่าให้มีความลำเอียงหรือไปยุให้คนแตกกัน" ดร. สมกล่าว
สำหรับ บล. คาเธ่ย์ แคปปิตอลนั้นถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อแยกธุรกิจหลักทรัพย์มาจาก
บงล. คาเธ่ย์ ทรัสต์ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2540 โดยทุนจดทะเบียนเริ่มต้นที่
600 ล้านบาท มีศิริมา พานิชชีวะ ที่ได้รับความไว้วางใจให้มาดูแลกิจการของตระกูล
มานั่งเป็นกรรมการผู้จัดการ และต่อไปคงได้เห็นหน้าค่าตาของเธอมากขึ้น เพราะปกติเป็นคนเก็บเนื้อเก็บตัวชอบทำงานอย่างเดียว
ศิริมาไม่ได้มาคนเดียว เพราะได้มือดีมาร่วมงานถึงสองคนคือ ธนาธิป วิทยะสิรินันท์
มาเป็นรองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจฯ และคนที่สองคือ กอบเกียรติ บุญธีรวร
เป็นรองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกิจการนายหน้าค้าหลักทรัพย์ ซึ่งช่วงต้นดูทั้งกิจการในประเทศและรักษาการกิจการต่างประเทศด้วย
เพราะกำลังหาคนมาเสริมทีมอยู่
สำหรับแผนงานปี' 40 นอกเหนือจากงานหาผู้ร่วมทุนแล้ว หน้าที่หลักอีกประการคือการขยายฐานลูกค้าและสร้างธุรกิจใหม่
ๆ ซึ่งธุรกิจใหม่ที่ทางบริษัทสนใจในขณะนี้เป็นธุรกิจเกี่ยวกับตราสารอนุพันธ์
วาณิชธนกิจ และธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล ซึ่งอย่างหลังนี้เตรียมยื่นขอใบอนุญาตให้ทันภายในไตรมาสแรก
หลังจากกรณีร่วมทุนกับ ธ. นครหลวงไทยซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวระลอกแรกที่เข้ามาแล้ว
ขณะนี้ บล. คาเธ่ย์ฯ ก็กำลังอยู่ระหว่างการพูดคุยกับสถาบันการเงินต่างชาติที่สนใจเข้ามาถือหุ้นด้วยเหมือนกัน
คาดว่าในชั้นแรกอาจจะเปิดให้เข้ามาถือหุ้นได้ถึง 30% ทั้งนี้ขึ้นกับการตกลงกัน
ดังนั้นในปีนี้การเพิ่มทุนหรือเปิดให้สถาบันการเงินเข้ามาถือหุ้นของบริษัทจะมีให้เห็นอีกแน่เพื่อเป็นการรองรับงานที่จะเข้ามาในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การจะมองว่าบริษัทอยู่ตรงไหนในอนาคตนั้น ธนาธิปมองว่าขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยประกอบกัน
อาทิ ทางด้านมาร์จิน รวมทั้งขนาดของพอร์ตหุ้นกู้
"เอาง่าย ๆ อย่าง covered warrant ร่างกฎระเบียบที่ทางการกำลังดูอยู่
กำหนดส่วนของผู้ถือหุ้นมูลค่าขั้นต่ำพันล้านบาท ถ้าจะทำธุรกิจตราสารอนุพันธ์ซึ่งเราก็ทำแน่นอนเพียงแต่ว่าเวลาไหนเท่านั้นเอง
แต่คิดว่าสำหรับบริษัทหลักทรัพย์ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ถ้าจะเป็นผู้เล่นรายใหญ่อย่างที่เราอยากจะเป็น
ผมว่าต้องมีขนาด 1,500 ล้านบาทขึ้นไป" ธนาธิปกล่าว
แต่ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้การจะทำอะไรก็ตามทีมงานยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ยากกว่าตอนที่เศรษฐกิจดี
ซึ่งในมุมมองของศิริมาเองก็ยอมรับว่าเป็นความยากในการสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นในการดำเนินงาน
"เพราะเราหยุดอยู่กับที่ไม่ได้ นี่คือธรรมชาติของธุรกิจ เราจะต้องขยายแต่จะขยายอย่างไรให้ผลประกอบการออกมาดีด้วย
เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นศิลปะในการที่เราจะสร้างสมดุลให้เกิดตรงนี้ให้ได้"
สิริมากล่าว
"แต่ธุรกิจที่เราขยายไปนี้เราพยายามไปในทิศทางที่ไม่ขึ้นตรงกับตลาดหุ้น
คือส่วนหนึ่งธุรกิจขึ้นกับตลาดหุ้นอยู่แล้วและกระทบแน่นอน แต่อย่างพอร์ตหุ้นนี้เดิมเรามีอยู่เหมือนกัน
แต่ขนาดไม่ใหญ่นัก เมื่อเห็นว่าภาวะไม่ดีและทุกคนก็เจ็บหมด ปีที่แล้วประมาณกลางปีเราก็มีนโยบายขายทิ้ง
และตั้งแต่นั้นมาเราก็ไม่เล่นอีก" ธนาธิปกล่าวเสริม
คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ คาเธ่ย์ แคปปิตอลน่าจะมีกำไรออกมาให้เห็นได้ไม่ยาก
เพราะการปรับตัวที่ทำมาพอสมควรจนเกือบจะเรียบร้อยแล้วในเรื่องการแยกธุรกิจ
"อีกอย่างภาระในสาขาต่างจังหวัดเราก็ไม่มีเพราะเราเป็นบริษัทตั้งใหม่
ภาระเก่าที่ยกมาก็ไม่มี แต่อย่างไรก็ขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจด้วย" ศิริมากล่าวอย่างรอบคอบ
จะเห็นว่านโยบายของ บล. คาเธ่ย์ แคปปิตอล ค่อนข้างจะระมัดระวังเป็นนพิเศษ
ส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี อีกส่วนหนึ่งเนื่องจากเห็นว่าตัวเองยังเล็กอยู่ไม่ควรทำอะไรที่เสี่ยงมากนัก
เพื่อประคับประคองให้บริษัทโตขึ้นตามที่ตั้งเป้าไว้
วิธีหนึ่งที่เดินไปได้ถูกทางแล้วคือการร่วมทุนอย่างเป็นทางการกับ ธ. นครหลวงไทย
ถือเป็นแนวโน้มที่ดีของบริษัทในภาวะเศรษฐกิจและการแข่งขันปัจจุบัน ถ้าสถาบันการเงินรายอื่นจะเอาอย่างก็ไม่เลวทีเดียว