บลจ.เดินหน้าจัดเรตติ้งกองทุน!แผนการตลาดเรียกความเชื่อมั่น


ผู้จัดการรายวัน(8 ธันวาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ฟิทช์ฯคาดธุรกิจกองทุนรวมหันมาจัดเรตติ้งกองทุนตราสารหนี้มากขึ้น หวังเป็นแผนการตลาดเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุน เนื่องจากมีตัวกลางที่ทำหน้าที่ประเมินคุณภาพตราสาร และการบริหารจัดการของบลจ. หลังแนวโน้มลูกค้าเงินฝากเริ่มโยกเงินลงทุนผ่านกองทุนตราสารหนี้ ชี้หลังสถาบันประกันเงินฝากเกิดจะทำให้คนเริ่มตื่นตัวในการวางแผนการลงทุน

นายวินเซนต์ มิลตัน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิทช์ เรตติ้งส์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า แนวโน้มหลังการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝากจะทำให้มีเงินฝากไหลเข้าสู่ธุรกิจกองทุนรวมมากขึ้น เพราะการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์มีการค้ำประกันเงินฝากบางส่วน ซึ่งทำให้กองทุนที่มี นโยบายลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง หรือพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับการตอบรับจากนักลงทุน
นายเลิศชัย กอเจริญรัตนกุล Associate Director Corporates บริษัท ฟิทช์ เรตติ้งส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า การจัดเรตติ้งกองทุนตราสารหนี้ของบริษัทในขณะนี้มี 2 บลจ.ที่ให้ฟิทช์ฯจัดเรตติ้งกองทุนตราสารหนี้ให้คือ บลจ. ทหารไทย และบลจ.อยุธยาเจเอฟ และในช่วงที่ผ่านมามีการเจรจากับบลจ.หลายแห่ง เพื่อเข้าไปทำหน้าที่จัดเรตติ้งกองทุนตราสารหนี้ให้

"การจัดเรตติ้งกองทุนรวม ฟิทช์ฯได้ทำมานานแล้วในต่างประเทศ ซึ่งได้รับตอบรับมาก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ในยุโรปเริ่มมีมากขึ้น ขณะที่ตลาดเอเชียเริ่มมีความต้องการให้จัดเรตติ้ง กองทุนรวมเช่นเดียวกัน เช่น เกาหลี จีน และ ในประเทศไทย เริ่มมีการจัดเรตติ้งกองทุนตราสารหนี้ในปีนี้เป็นครั้งแรก" นายเลิศชัยกล่าว

สำหรับกองทุนรวมตราสารหนี้กองแรกของประเทศไทยที่มีการจัดเรตติ้ง โดยฟิทช์ฯ คือ กองทุนเปิดอยุธยาตราสารเงิน (AJFCASH) ของบลจ.อยุธยาเจเอฟ ได้รับการจัดอันดับ ที่ระดับ "AA(tha)" / "V1(tha)" ส่วนกองที่สองคือ กองทุนเปิดทหารไทยธนรัฐ ของ บลจ.ทหารไทย ได้ประกาศให้เครดิตกองทุนดังกล่าวที่ระดับ AAA (tha)/V1+(tha)

นายเลิศชัย กล่าวว่า การจัดเรตติ้งกองทุนจะส่งผลดีทั้งกับกองทุนรวม และนักลงทุนที่ลงทุนผ่านกองทุน เนื่องจากมีตัวกลางที่มีอิสระเข้ามาทำหน้าที่วิเคราะห์กองทุนให้แก่นักลงทุน ซึ่งทำให้ผลการวิเคราะห์ออกมามีความโปร่งใส และเป็นธรรม ขณะเดียวกัน ยังทำให้กองทุน มีการเปิดเผยข้อมูลการลงทุน การบริหารจัดการมากขึ้น เนื่องจากการจัดอันดับเครดิตต้องมีการติดตามข้อมูลเป็นรายเดือน รายสัปดาห์ ว่า นโยบายการลงทุนของผู้จัดการกองทุนมีการปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง หรือมีการควบคุมความเสี่ยงอย่างไร ซึ่งหากพบความผิดปกติ

นอกจากนี้ บลจ.ที่จัดเรตติ้งกองทุนยังสามารถที่จะนำเรตติ้งที่ได้รับการจัดอันดับเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ถึงความโปร่งใสในการดำเนินงานของกองทุน ซึ่งจุดนี้ในแง่ของการตลาดถือว่าดีสำหรับบลจ.ที่ชี้ให้เห็นถึงความโปร่งใสในการทำงาน และเชื่อว่าหากกองทุนมีความตื่นตัวในเรื่องของการจัดเรตติ้ง จะทำให้ตลาดกองทุนรวมในอนาคตขยายตัวได้อีกมาก

"ในช่วงที่ผ่านมา เราได้มีการนำเสนอข้อมูลกับบลจ.หลายแห่ง และเริ่มเห็นการตื่นตัวของบลจ. ซึ่งเริ่มหันมาให้ความสำคัญต่อการจัดเรตติ้งกองทุนมากขึ้น โดยเชื่อว่าในปีหน้าจะมีบลจ.หลายแห่งที่จัดเรตติ้งกองทุน"

นายเลิศชัยกล่าวอีกว่า ในปีนี้มีเงินฝากไหลเข้ากองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ และกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในตลาดเงินเป็นจำนวนมาก มูลค่าประมาณ 2 แสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่นักลงทุนต้องการโยกเงินฝาก เพื่อหาโอกาสการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ในช่วงที่แนวโน้ม อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น และบางกลุ่มมีการพักเงินฝากไว้ในกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตลาดเงิน เพื่อรอจังหวะดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น ก่อนที่จะนำเงินไปลงทุนในระยะยาวซึ่งให้ผลตอบแทนสูงกว่า


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.