กลุ่มไอซีไอ ยักษ์ใหญ่วงการเคมีภัณฑ์ ซึ่งปัจจุบันหันมาสนใจธุรกิจสีมากขึ้นเรื่อยๆ
จนกระทั่งไอซีไอสำนักงานใหญ่ในอังกฤษระบุแล้วว่า ธุรกิจสีจัดเป็น 1 ในธุรกิจหลักของกลุ่มไอซีไอทั่วโลกในขณะนี้
พร้อมทั้งมอบนโยายไล่ซื้อบริษัทสีอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดจาก
7% ให้เป็น 20-25% ทั่วโลกในเวลาอันรวดเร็ว
เหตุที่ไอซีไอหันมาสนใจธุรกิจสีมากขึ้น เนื่องจากธุรกิจสีมีวัฏจักรขึ้นลงค่อนข้างน้อย
ไม่เหมือนกับธุรกิจเคมีภัณฑ์ธุรกิจดั้งเดิม ซึ่งมีความผันผวนสูง เวลาขึ้นก็ขึ้นมาก
ครั้นเวลาตกก็ตกสุดขีด ทั้งยังต้องลงทุนสูง คืนทุนล่าช้าใช้เวลา 7-10 ปี
ขณะที่ธุรกิจสีลงทุนน้อยกว่ากันมากแต่คืนทุนได้ภายใน 3-5 ปี
ดังนั้นเมื่อกลางปีที่ผ่านมา กลุ่มไอซีไอจึงได้เข้าซื้อกิจการของ "บังยีเพ้นต์"
กลุ่มบริษัทสีขนาดใหญ่ในอเมริกาใต้ มีขายใน 4 ประเทศ ส่งผลให้ไอซีไอมียอดขายมากเป็นอันดับหนึ่งในอเมริกาใต้และใหญ่ที่สุดในโลก
เนื่องจากเป็นบริษัทสีแห่งแรกที่มียอดขายเกินกว่า 1,000 ล้านลิตรต่อปี รวมเป็นมูลค่ากว่า
87,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีการซื้อธุรกิจสีในประเทศอื่นๆ อีกหลายแห่ง รวมทั้งการลงทุนสร้างโรงงานผลิตสีแห่งที่
2 ในมณฑลเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เป็นมูลค่า 1,000 ล้านบาท กำลังการผลิต 30 ล้านลิตรต่อปี
ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินงานได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้
ปัจจุบันไอซีไอมีโรงงานผลิตสีอยู่แล้วที่กวางโจว ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อนโดยมีกำลังการผลิต
15 ล้านลิตร เหตุที่ไอซีไอสร้างโรงงานแห่งที่ 2 ในเซี่ยงไฮ้เพราะเล็งเห็นศักยภาพการเติบโตในประเทศจีน
ซึ่งมีพลเมืองกว่า 1,000 ล้านคน
สำหรับประเทศไทย สุภัทร ตันสถิติกร ประธานและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท
ไอซีไอ 1996 (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า "โรงงานที่แจ้งวัฒนะของเราตอนนี้มีกำลังการผลิตประมาณ
35 ลิตรต่อปี และเรากำลังมีการขยายกำลังการผลิตขึ้นไปอีก ภายในปีนี้น่าจะขึ้นไปถึง
50-55 ล้านลิตร"
อย่างไรก็ตามธุรกิจสีในประเทศไทยทุกวันนี้ การแข่งขันทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
ประกอบกับภาวะความซบเซาทางเศรษฐกิจทำให้บ่อยครั้งที่มีปัญหาในการติดตามหนี้
ธุรกิจสีไอซีไอในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ สีทาอาคาร สีพ่นรถยนต์
สีเคลือบกระป๋อง และสีอุตสาหกรรม
สุภัทรคาดว่าในส่วนของสีทาอาคาร ซึ่งทำรายได้ประมาณ 80% ของยอดขายสีทั้งหมดของบริษัทนั้น
ปีนี้แนวโน้มการเติบโตของตลาดจะลดลง
"สีทาบ้านปีที่แล้วมูลค่าตลาดรวม 9,000 ล้านบาท แต่ปีนี้คาดว่าจะเหลือเพียง
8,500 ล้านบาท ปีที่ผ่านมามันโตลดลงแต่ปีนี้จะโตเป็นลบ" สุภัทรกล่าว
ทั้งนี้เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องมาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทยที่ซบเซาติดต่อกันหลายปี
ปัจจุบันอาคารที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นคอนโดมิเนียม ทาวน์เฮาส์ หรือบ้านเดี่ยว
ล้วนแล้วแต่ล้นตลาดทั้งสิ้น คาดกันว่าทุกวันนี้อาคารที่อยู่อาศัยซึ่งสร้างแล้วขายไม่ได้ในเขตกรุงเทพฯ
และปริมณฑลมีอยู่ประมาณ 2.5-3 แสนหน่วย หรือรวมกันทั่วประเทศจะมีประมาณ 5-6
แสนหน่วย เมื่อนำไปรวมกับของเดิมที่ซื้อเก็งกำไรกันไว้ทั่วประเทศอีกประมาณ
5 แสนหน่วย ก็จะทำให้มีบ้านที่ยังไม่มีผู้อยู่อาศัยเหลืออยู่ในตลาดประมาณ
1 ล้านหน่วย
1 ล้านหน่วยนี้ถ้ารัฐบาลช่วยให้ข้ราชการหรือผู้มีรายได้น้อยได้มีโอกาสซื้อบ้านได้สะดวกขึ้นด้วยการจัดหาเงินให้มาผ่อน
ก็ต้องใช้เวลาอย่างเร็วที่สุดประมาณ 3-5 ปีถึงจะหมดโดยที่ไม่มีการสร้างบ้านใหม่เลย
ส่วนอาคารสำนักงานที่สร้างกันในกรุงเทพฯ และปริมณฑลนั้น คาดกันว่าขณะนี้มีเนื้อที่สำนักงานเกินความต้องการสูงมากขนาดที่ว่าหากไม่มีการสร้างอาคารสำนักงานเพิ่มขึ้นเลยภายใน
5 ปีก็ยังขายไม่หมด
เมื่อสภาพการณ์เป็นเช่นนี้แล้วตลาดสีทาบ้านก็ย่อมจะชะลอตัวลงตามไปด้วย
อย่างไรก็ดีสุภัทรเชื่อว่าบริษัทจะพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ก็จะยังคงสร้างบ้านกันอยู่เรื่อยๆ
เพียงแต่สร้างน้อยลงและหันไปเร่งปิดโครงการเดิมๆ ที่ยังขายไม่หมดให้มากขึ้น
"รับรองว่าบริษัทเหล่านี้หยุดสร้างที่อยู่อาศัยขายไม่ได้หรอก เขาก็ยังจะสร้างกันอยู่
ซึ่งก็ดีถ้าเขาไม่สร้างกันผมก็เจ๊งแน่" สุภัทรกล่าวติดตลก
แม้ภาวะตลาดรวมของสีทาอาคารจะลดลงแต่ไอซีไอ 1996 (ประเทศไทย) ก็ตั้งเป้าส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจาก
25% เป็น 30% ในปีนี้ ซึ่งนั่นก็คือสัญญาณของการแข่งขันที่จะดุเดือดขึ้นอีก
โดยทุกค่ายเตรียมกลยุทธ์การตลาดไว้รับคมกันหลายกระบวนท่า ถึงขนาดว่าไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลใดๆ
ได้ ท่านประธานสุภัทรพูดได้คำเดียวว่า "บอกไม่ได้จริงๆ เดี๋ยวคู่แข่งรู้"
ก็คงต้องรอดูกันเอาเอง
ปัจจุบันสีทีโอเอมีส่วนแบ่งตลาดในไทยมากเป็นอันดับหนึ่งคือ 30% ตามด้วยไอซีไอ
25% โจตัน 8% นิปปอนเพ้นท์ 7% และยี่ห้ออื่นๆ รวมกันอีก 30%
ใบรับรองระบบคุณภาพตามมาตรฐานมอก./ISO 9001 จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
(สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาทำให้สุภัทรมีความมั่นใจมากขึ้น
เนื่องจากเป็นบริษัทผู้ผลิตสีรายแรกของไทยที่ได้รับใบรับรองดังกล่าว
อย่างไรก็ตามธุรกิจของบริษัทมิได้มีแต่เพียงเท่านั้น เหตุผลหนึ่งที่ทำให้บริษัท
สีไอซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บริษัท ไอซีไอ 1996 (ประเทศไทย)
จำกัด เมื่อปลายปีที่ผ่านมาก็เพื่อให้เป็นบริษัทตัวแทนของกลุ่มไอซีไออย่างแท้จริง
ซึ่งทำธุรกิจมากกว่าสี กล่าวคือบริษัทนี้จะดำเนินธุรกิจใน 3 ธุรกิจหลัก คือ
ธุรกิจสี ธุรกิจเคมีภัณฑ์ และธุรกิจโพลียูรีเทน
โดยธุรกิจเคมีภัณฑ์ จะเป็นการนำเข้าสินค้าของไอซีไอที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตสี
หมึก ฟิล์ม พลาสติก อะคริลิกเรซิน โมโนเมอร์และอื่นๆ เพื่อมาจัดจำหน่ายให้แก่ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ
ในประเทศ
ส่วนธุรกิจโพลียูรีเทน จะเน้นจำหน่ายเคมีภัณฑ์โพลียูรีเทนที่ใช้ในโรงงานต่างๆ
เช่น โรงงานผลิตตู้เย็น ฉนวนกันความร้อน ชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น โดยมีโรงงานอยู่ที่บางปู
สุภัทร ตั้งเป้ายอดขายของบริษัทในปีนี้ไว้ประมาณ 5,000 ล้านบาท แต่สำหรับยอดขายของบริษัทในเครือไอซีไอทั้งหมดในประเทศไทย
4 บริษัท คือ บริษัท ไอซีไอ 1996 (ประเทศไทย) บริษัทไอซีไอ เอเชียติ๊กเคมีภัณฑ์
บริษัทใช้ อินเตอร์เนชั่นแนล และบมจ. ไทยโพลีอะคริลิค นั้นคาดว่าปีนี่จะอยู่ที่
20,000 ล้านบาท
"เหตุที่ตั้งเป้าไว้สูงถึง 20,000 ล้านบาทนั้น เราจะโตได้ 3 ทางคือการขยายตัวของธุรกิจที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน
การมองหาบริษัทที่จะเข้าซื้อเพื่อควบกิจการซึ่งจะทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นทันที
และการลงทุนเพิ่ม ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้" สุภัทรอธิบาย
ปัจจุบันเฉพาะยอดขายของบริษัทไอซีไอ 1996 (ประเทศไทย) เพียงบริษัทเดียวก็มียอดขายกว่า
40% ของบริษัทเครือไอซีไอทั้งหมดในไทยอยู่แล้ว ฉะนั้นหนทางที่เป็นไปได้ที่จะเพิ่มยอดขายทั้งกลุ่มให้สูงถึง
20,000 ล้านบาทคงไม่พ้นการเข้าซื้อบริษัทที่ดำเนินการอยู่แล้วเพิ่มควบกิจการเป็นแน่
และจะต้องเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มียอดขายหลายพันล้านบาทด้วย แต่จะเป็นบริษัทใดนั้นยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาตัดสินใจ
เพราะหากพลาดพลั้งไปก็อาจจะเจ๊งได้เช่นกัน