วรวิทย์ โภคิน สร้างสีสันให้กับงานประมูลภาพเขียนอีกครั้ง


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

สายตาหลายคู่ ในห้องประมูลภาพ จับตามองไปยังชาวจีนร่างสูงวัยกลางคนที่เดินเข้ามาอย่างไม่สนใจพูดคุยกับใคร งานนี้ถ้ามีเขารับรองสนุกแน่นอน

เมื่อวันเสาร์ ที่ 18 มีนาคม 2543 ที่ผ่านมา บริษัท คริสตี้ส์ ประเทศไทยได้รับบทบาทสำคัญอีกครั้งในการเป็นผู้ดำเนินการประมูล ศิลปวัตถุ และธนบัตร ให้แก่ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนไทย จำกัด (มหาชน)

ศิลปวัตถุ และธนบัตร ซึ่งเป็นธนบัตร ที่ระลึก ซึ่งผลิตในวโรกาส หรือโอกาสพิเศษ หรือธนบัตร ที่มีเลขเดียวกัน หรือเลขเรียงกัน และเป็นที่นิยมของนักสะสมนี้ เป็นของลูกหนี้ของบริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ธนไทย จำกัด (มหาชน) รายการของธนบัตร มีทั้งหมด 14 ชุด จำนวน 2,151 ฉบับ ราคาเริ่มต้นมีตั้งแต่ชุดละ 108,000-525,000 บาท รวมราคากลาง 4,399,000 บาท

ส่วนศิลปวัตถุมีทั้งหมด 66 ภาพ อาทิ ถวัลย์ ดัชนี เหม เวชกร สุเชาว์ ศิษย์คเณศ สมนึก เพิ่มทองคำ

บรรยากาศในการประมูลครั้งนี้อาจจะไม่คึกคักเท่างานประมูลครั้งแรกของปรส. ที่บริษัทคริสตี้ส์เคยเป็นแม่งาน เพราะจำนวนภาพ และทรัพย์สิน ที่นำมาประมูลน้อยกว่ามาก ยอดขายทั้งสิ้นในวันนั้น เป็นจำนวนเงินเพียง 8,820,125.00 ล้านบาท โดยทรัพย์สินทั้งหมด 80 รายการนั้น มีการประมูล ไปได้เพียง 48 รายการ

งานประมูลในวันนั้น อาจจะเงียบเหงาไปยิ่งกว่านี้หากไม่มี วรวิทย์ โภคิน ชาวจีนวัย 53 ปี ผู้ที่เข้ามาสร้างสีสันให้กับวงการประมูลในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาอย่างมาก มาย และในงานวันนั้น เขาเป็นผู้ประมูลรูปภาพของเหม เวชกร รายการที่ 1-22 ไปได้ทั้งหมดในราคา ที่สูงมากๆ ด้วย

ภาพของเหม เวชกร ทวี นันทขว้าง รวมทั้งสุเชาว์ ศิษย์คเณศ เป็นศิลปิน ที่วรวิทย์ชื่นชอบ และดูเหมือนจะพยายามตามเก็บสะสมผลงานของท่านเหล่านี้อย่างจริงจัง

ภาพของเหมทุกรูปถูกกำหนดราคาเริ่มต้น ที่ 30,000 บาท และหลายภาพวรวิทย์ประมูลไปได้ในราคา ที่สูงมากเช่น ในรายการที่ 21 ประมูลได้ไป ที่ราคา 102,500 บาท รายการที่ 15 ประมูลไป ที่ราคา 97,375 บาท และรายการที่ 22 ประมูลไปได้ในราคา 87,125 บาท

วรวิทย์ ต้องจ่ายเงินให้กับภาพของเหมทั้งหมดในวันนั้น ประมาณ 1 ล้าน 2 หมื่นบาท และภาพสุดท้าย ที่เขาประมูลได้ในวันนั้น คือ ภาพผลงานของเฉลิมวุฒิในรายการที่ 23 ซึ่งมีราคาเริ่มต้นเพียง 15,000 บาท แต่เขาประมูลไปได้ในราคา 133,250 บาท

เมื่อครั้งงานประมูลภาพของ ปรส. ครั้งแรก เมื่อปี 2541 นั้น วรวิทย์ ชนะประมูลภาพ "ใบไผ่" ของทวี นันท-ขว้าง ด้วยราคา 2,877,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ดีที่สุดของงานครั้งนั้น

และเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2542 จากงานประมูลที่เป็นของบริษัท คริสตี้ส์จัดเองครั้งแรก วรวิทย์ก็สร้างสถิติใหม่ด้วยการประมูลภาพ "หญิงสาวเปลือย" ของทวี นันทขว้าง ไปด้วยราคา 2,530,000 บาท ซึ่งเป็นราคา ที่สูงที่สุดของการประมูลเช่นกัน ในงานคราวนั้น เขายังประมูลรูปของเหมไปด้วย 1 ภาพ เช่นกัน

มาคราวนี้แม้วรวิทย์ไม่ใช่ ผู้ประมูลภาพราคา ที่สูงที่สุด แต่เขาคือ ผู้ที่ประมูลภาพไปได้มากที่สุด รวมจำนวนเงินมากที่สุด

วันนี้วรวิทย์ยังเป็นคนเดิม ที่ยังคงลึกลับ ไม่เป็นที่รู้จักของวงสังคมชั้นสูง มาประมูลเงียบๆ และกลับไปเงียบๆ เช่นทุกครั้ง (ประวัติของเขาหาอ่านได้จากเรื่อง 2 วันจ่าย 4 ล้านบาท รางวัลชีวิตของวรวิทย์ โภคิน ผู้จัดการรายเดือน ฉบับ ที่ 192)

ส่วนภาพ ที่ทำราคาประมูลได้สูงที่สุดในวันนั้น คือ ภาพของ ถวัลย์ ดัชนีในรายการที่ 59 ตั้งราคาเริ่มต้นไว้ ที่ 550,000 บาท แต่ปิด ที่ราคา 1,230,000 บาท

รองลงมาคือ รายการที่ 28 ของ ดำรง วงศ์อุปราช ที่มีราคาเริ่มต้นอยู่ ที่ 400,000 บาท แต่ประมูลไปได้ ที่ราคา 922,500 บาท

ส่วนการประมูลธนบัตร ซึ่งมีทั้งหมด 14 ชุด ประมูลไปได้ทั้งหมด 9 ชุด ชุด ที่ประมูลราคาได้สูงสุดคือ รายการที่ 78 เป็นธนบัตรฉบับละ 500 บาท แบบ 11 เลขล้วนเป็นชุด 1-9 มีลายเซ็นของสมหมาย ฮุนตระกูล และกำจร สถิรกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาเริ่มต้นถูกกำหนดไว้ ที่ 5 แสนบาท แต่มีผู้ประมูลไปได้ในราคา 512,500 บาท



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.