"ล็อกซเล่ย์จัดกระบวนทัพ "ยอมพลาดโอกาสดีกว่าเสี่ยง"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

ดูเหมือนจะเป็นธรรมเนียมของแทบทุกองค์กรพอถึงต้นปีก็ต้องมีการปรับโครงสร้างอค์กรใหม่ให้มีความกระฉับเกระเฉงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะเศรษฐกิจซบเซาเช่นนี้ ทำเอาหลายองค์กรต้องหันมา "รีสตรัคเจอร์" องค์กรให้มีความกระชับและลดค่าใช้จ่ายลงทุกทาง

เช่นเดียวกับล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) บริษัทเทรดดิ้งเก่าแก่ของเมืองไทย ที่มีนักธุรกิจมากมายจนได้ชื่อว่าค้าขายตั้งแต่ "ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ" ก็ถึงคราวต้องปรับองค์กรกันอีกครั้งเพื่อรับมือกับภาวะที่เกิดขึ้น

ปีนี้ล็อกซเล่ย์ใช้วิธีจัดทัพใหม่ด้วยการนำธุรกิจที่มีทั้งหมดที่กระจุกรวมอยู่กลุ่มเดียวกันนำมาแบ่งกลุ่มใหม่ โดยแบ่งออกเป็น 12 กลุ่ม ภายใต้ชื่อกลุ่มเทรดดิ้ง และมีกลุ่มสนับสนุนอีก 6 กลุ่ม (ดูตารางประกอบ) ซึ่งในแต่ละกลุ่มจะมีผู้บริหารที่มารับผิดชอบงานอย่างชัดเจน

เป้าหมายของการปรับโครงสร้างของล็อกซเล่ย์ครั้งนี้ ไม่ได้อยู่ที่รายได้หรือผลกำไร เพราะแน่นอนว่าการหวังเม็ดเงินก้อนโต หรือการสร้างธุรกิจใหม่ๆ ในภาวะเศรษฐกิจซบเซาแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ ดีไม่ดีอาจเพลี่ยงพล้ำยิ่งกว่าเดิม เพียงแค่บริหารธุรกิจที่มีอยู่รอดปลอดภัยก็เพียงพอ

"เป้าหมายของเราไม่ได้อยู่ที่รายได้หรือผลกำไรเลยในภาวะแบบนี้ ผมบอกได้เลยว่าทำยอดขายไม่ยาก ทำกำไรก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ขายแล้วเก็บเงินได้หรือเปล่าเป็นสิ่งสำคัญและจะจัดการอย่างไรให้องค์กรอยู่รอดได้ และจะช่วยคู่ค่าได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เราต้องทำ" ธงชัย ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัทล็อกซเล่ย์ จำกัด ชี้แจง

ในจำนวน 12 กลุ่มธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นจะมีทั้งธุรกิจดั้งเดิมที่ล็อกซเล่ย์ลงหลักปักฐานมานานแล้ว รวมทั้งธุรกิจใหม่ที่ถูกจัดตั้งขึ้นให้อยู่ในจำนวน 12 กลุ่มนี้ คือ กลุ่มสิ่งแวดล้อม กลุ่มจาโก้ กลุ่มมีเดียและบันเทิง กลุ่มบริการ

ธงชัย เล่าว่าการจัดองค์กรในลักษณะนี้จะส่งผลเกิดการกระจายอำนาจและทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจมากกว่าเดิม เนื่องจากล็อกซเล่ย์มีธุรกิจในมือหลากหลายย่อมมีทางเลือกและมีโอกาสกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจได้มากขึ้น

เขายกตัวอย่างให้ฟังว่า ในช่วง 3-4 ปีที่แล้วเป็นยุคที่ธุรกิจโทรคมนาคมบูม ธุรกิจคอมพิวเตอร์ อสังหาริมทรัพย์ และคอนซูมเมอร์โปรดักส์เติบโต ทั้ง 4 กลุ่มนี้จึงเป็นที่มาของรายได้ 70% ของรายได้รวม แต่เมื่อมาถึงช่วงเศรษฐกิจซบเซาและอาจส่งผลให้ธุรกิจเหล่านี้ไม่เติบโตหวือหวาเช่นแต่ก่อน ล็อกซเล่ย์ก็ยังมีโอกาสไปแสวงหารายได้จากธุรกิจในกลุ่มอื่นๆ ที่มีอยู่ได้

ดังเช่น ธุรกิจสิ่งแวดล้อมที่ธงชัยจะลงมารับผิดชอบเอง เขาเชื่อว่าธุรกิจนี้จะมีอนาคตที่ดีมากในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า จากนโยบายของรัฐและเอกชนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ โดยเฉพาะจากโครงการบำบัดขยะของกทม. ซึ่งหากล็อกซเล่ย์คว้าโครงการนี้ได้จะเป็นธุรกิจอนาคตของล็อกซเล่ย์

เช่นเดียวกับกลุ่มจาโก้ เป็นการร่วมลงทุนระหว่างล็อกซเล่ย์ และบริษัทจีเทค จากสหรัฐอเมริกา เพิ่งรับสัมปทานในการจัดทำสลากกินแบ่งอัตโนมัติมาหมาดๆ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของตรีจักร ตัณฑ์ศุภศิริ ที่โยกมาจากบริษัทโปรเฟสชั่นแนล คอมพิวเตอร์ คอมปานี หรือพีซีซี หนึ่งในกลุ่มคอมพิวเตอร์ที่ทำธุรกิจประมูลงานคอมพิวเตอร์มาเป็นผู้รับผิดชอบธุรกิจนี้ ธงชัยหวังว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจอนาคตอีกกลุ่มของล็อกซเล่ย์ แต่ยังไม่แน่ว่าความหวังของล็อกซเล่ย์จะเป็นจริงหรือไม่ เพราะเมื่อเร็วๆ นี้มีคำสั่งจากกระทรวงการคลังให้มีการวิจัยผลกระทบของโครงการนี้ใหม่อีกครั้ง

ทางด้านกลุ่มสนับสนุน แม้ไม่ใช่ธงนำของล็อกซเล่ย์ในเวลานี้ แต่ก็เป็นกิจกรรมของล็อกซเล่ย์ที่ไม่อาจมองข้ามได้ ดังเช่น การลงทุนในธุรกิจต่างประเทศ ที่ล็อกซเล่ย์ไม่ได้ลงทุนมากหรือหวังเม็ดเงินก้อนโต เพราะยังยึดคติลงทุนแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่เกิน 100 ล้านบาท ไม่ตูมตามเหมือนกลุ่มทุนอื่นๆ แต่ก็นับเป็นความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของล็อกซเล่ย์ ที่ผ่านมาล็อกซเล่ย์ได้เข้าไปลงทุนทางด้านโทรคมนาคม ในหลายประเทศ ทั้งในอินโดจีน อินเดียว ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ พม่า ลาว บังกลาเทศ และขยายไปถึงออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และเกาหลีเหนือ

รวมทั้งการที่ล็อกซเล่ย์เริ่มหันมามองตลาดต่างจังหวัดก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่น่าจับตามอง เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นมากในช่วง 2-3 ปีมานี้ ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายออกสู่ภูมิภาคของกลุ่มทุนหลายกลุ่มในเวลานี้

ธงชัย เล่าว่า ล็อกซเล่ย์จะเริ่มต้นด้วยการจัดตั้งสำนักงานสาขาที่เชียงใหม่และระยอง ซึ่งเขาเรียกสำนักงานเหล่านี้ว่า "มินิล็อกซเล่ย์" เพื่อทำหน้าที่กระจายสินค้าและบริการของล็อกซเล่ย์ไปยังจังหวัดต่างๆ ซึ่งปัจจุบันล็อกซเล่ย์ได้มีการลงทุนในธุรกิจหลายด้านไปแล้วในหลายจังหวัด

นอกจากนี้การจัดทัพใหม่ของล็อกซเล่ย์ ยังให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจเพื่อเน้นความคล่องตัวมากที่สุด ซึ่งก็อาจเรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ล็อกซเล่ย์หันมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้

"ผู้บริหารเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นเสมือนซีอีโอที่ต้องรับผิดชอบธุรกิจในกลุ่มของตัวเอง อาจจะเรียกว่าเป็นครั้งแรกของล็อกซเล่ย์ก็ว่าได้" ผู้บริหารของล็อกซเล่ย์สะท้อนแนวคิด

ผลพวงจากนโยบายนี้จึงมีการจัดตั้งกลุ่มโทรคมนาคมที่แยกตัวมาจากกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งในกลุ่มโทรคมนาคมได้โปรโมตให้ชิตชัย นันทภัทร์ ลูกหม้อเก่าแก่ของล็อกซเล่ย์ แต่เดิมรับผิดชอบธุรกิจวิทยุติดตามตัวฮัทชิสันเป็นผู้ดูแล ส่วนธุรกิจส่วนกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานมีสุจินต์ สุวรรณชีพ ที่หันมาเน้นโครงการใหญ่ เช่น โทรศัพท์ 1.5 ล้านเลขหมาย และโรงงานสวิทชิ่งจะต้องรับผิดชอบธุรกิจทางด้านพลังงานด้วย

เมื่อเป้าหมายของการจัดกระบวนทัพใหม่ไม่ได้เกิดจากปัจจัยของการเพิ่มรายได้ แต่เพื่อความอยู่รอดแน่นอนว่าการลงทุนในโครงการใหม่ๆ ย่อมเป็นสิ่งที่ล็อกซเล่ย์จำเป็นต้องชะลอไปก่อน เพราะเพียงแค่ทำอย่างไรให้ธุรกิจที่มีอยู่ทั้งหมดเดินหน้าต่อไปได้

วสันต์ จาติกวณิช กรรมการบริหาร บริษัทล็อกซเล่ย์ กล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่า ช่วงปีสองปีนี้จะเป็นช่วง "CONSERVATIVE" ของล็อกซเล่ย์ ซึ่งจะต้องระมัดระวังเรื่องการลงทุนธุรกิจใหม่ๆ เป็นพิเศษ

"ในช่วงเศรษฐกิจไม่แน่นอนเรายอมพลาดโอกาสดีกว่าเสี่ยง" วสันต์ตอกย้ำ

ด้วยสาเหตุนี้เอง นับจากนี้เป็นต้นไป "ล็อกซเล่ย์" ที่ยึดนโยบายช้าๆ ได้พร้าเล่มงามก็คงต้องช้าลงไปอีก!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.