ปนัดดา เผือกขาว ชีวิตลงตัวในวัย 40

โดย จารุสุดา เรืองสุวรรณ
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

สำหรับผู้หญิงคนนี้ หากจะแยกงานกับชีวิตออกจากกันคงเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ง่ายนัก เพราะชีวิตของเธอคืองาน และงานก็คือชีวิต ในช่วงจังหวะแห่งวัย 40 ปี ชีวิตเธอได้เริ่มต้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง เมื่อเธอตกลงใจสร้างครอบครัวของตนเอง พร้อม ๆ กับตัดสินใจก้าวออกจากระบบราชการที่เธอผูกพันมากกว่า 20 ปี เข้าสู่ภาคเอกชน ซึ่งครั้งหนึ่งเธอตั้งปณิธานแน่วแน่จะไม่เข้ามาข้องแวะ ทว่าการตัดสินใจครั้งนั้น เธอได้พิสูจน์แล้วว่า เธอคิดไม่ผิด เพราะทุกวันนี้ เธอมีชีวิตที่มีงานรุมล้อม พร้อมกับพันธะทางใจที่ต้องดูแลด้วยหัวใจที่เปี่ยมพลัง

ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน สัจธรรมที่อาจจะเกิดขึ้นกับทุก ๆ ชีวิตในทุกขณะจิต ซึ่ง ปนัดดา เผือกขาว ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยเรทติ้ง อินฟอร์เมชั่นเซอร์วิส ก็เป็นผู้หนึ่งที่หนีไม่พ้นวัฎจักรนี้ ความเปลี่ยนแปลงเข้าจู่โจมชีวิตเธอที่สงบและราบเรียนในเวลาอันรวดเร็วแบบตั้งรับแทบไม่ทัน แต่ด้วยความที่เป็นคนมีสติตลอดเวลา เธอใช้เวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ตัดสินใจลิขิตชีวิตใหม่ให้กับตัวเอง แม้จะขัดกับปณิธานที่ตั้งไว้ตั้งแต่แรกก็ตาม

ย้อนหลังกลับไป 20 ปีก่อน บัณฑิตสาวจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี วิชาเอกการบัญชีจากรั้วแม่โดม ด้วยความที่คลุกคลีและแวดล้อมด้วยบุคคลในวงราชการ จึงทำให้เธอฝังใจว่าจะต้องเดินตามรอยทางที่ได้ปูไว้นั้น และความเชื่อนั้นได้ตอกย้ำหนักแน่นขึ้นเมื่อเธอได้มีโอกาสเข้าไปทำงานในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งระหว่างที่รอสอบเข้าราชการ หรือเพราะฟ้าลิขิตให้ชีวิตเธอต้องเดินทางนั้น จึงทำให้ประสบการณ์ที่ได้รับจากที่นั่นไม่ประทับใจพอที่จะดึงดูดเธอไว้ได้

ในที่สุด ความฝันก็เป็นจริง เมื่อเธอสอบเข้ารับราชการในสังกัดกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ตรงตามสายที่เธอร่ำเรียนได้สมใจ และชีวิตข้าราชการของเธอก็ได้เริ่มต้นขึ้น ณ บัดนั้นเป็นต้นมา ชีวิตในช่วงนั้นเปรียบเสมือนทะเลที่ไร้คลื่นเป็นช่วงแห่งการเรียนรู้ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ตามสไตล์ของผู้หญิงทำงานอย่างเธอ ยิ่งเมือ่ได้ทำงานในสายงานที่ตรงใจการทุ่มเทให้กับงานยิ่งไม่ต้องพูดถึง

ด้วยความที่เป็นคนใฝ่รู้อยู่ตลอดเวลา เธอจึงตัดสินใจที่จะไปเรียนต่อต่างประเทศเมื่อถึงเวลาอันสมควร โดยสอบชิงทุนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งมือชั้นนี้ไม่มีพลาดอย่างแน่นอน เธอสอบได้ทุนของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง สังกัดเดิมของเธออย่างไม่คาดฝัน ครั้งนี้เธอไปร่ำเรียนด้าน Business Administration ที่สหรัฐอเมริกา เพราะมั่นใจว่าตนเองจะต้องรับใช้ประชาชนจนถึงเกษียณอายุราชการอย่างแน่นอน หลังจากได้เป็นมหาบัณฑิตเธอก็กลับมาใช้ทุนที่ต้นสังกัดเดิม ชีวิตเธอกลับสู่วงจรของความเป็น Working Woman อีกครั้ง

"จากที่ได้สัมผัสมามีความรู้สึกว่า เนื้องานของราชการดี โอกาสในการเทรนนิ่งเยี่ยม เป็นงานที่ท้าทายความสามารถมาก มีความหมาย และมีโอกาสที่จะเรียนรู้เยอะ" ความในใจตอนหนึ่งที่เธอถอดให้ "ผู้จัดการรายเดือน" ฟังถึงเหตุผลที่ทำให้เธอรักและทุ่มเทให้กับงาน

หลังจากนั้นไม่นาน โอกาสก็มาเยือนเธออีกครั้งเมื่อได้รับทุน Fullbright เพื่อไป fresh up ตัวเองในด้าน Public Affairs ที่สหรัฐอเมริกา ระหว่างนั้น ด้วยความสนใจส่วนตัวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และเมื่อมีโอกาสไปใช้ชีวิตในแหล่งตลาดทุนที่ใหญ่ที่สุดของโลก เธอจึงได้ขอเข้าไปฝึกงานด้านวิจัยที่ Dow Jones เป็นเวลา 4 เดือน โดยที่ไม่มีลางสังหรณ์มาก่อนว่า ชีวิตของเธอจะต้องพลิกผันเข้ามาสู่วงการตลาดทุนดังเช่นทุกวันนี้

ณ ช่วงนั้นเอง เธอได้เปลี่ยนแปลงชีวิตอีกด้านหนึ่งของเธอด้วยการตัดสินใจแต่งงานกับ ดร.วิศวกรหนุ่ม สัญชาติเดียวกันที่ได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นนานถึง 14 ปี ซึ่งตอนนั้นเธออายุได้ 37 ปี

"พี่เป็นคนแต่งงานช้า เพราะมัวแต่ทำงาน แต่อันที่จริงพี่ตั้งใจว่าจะแต่งงานตอนอายุ 40 จุดที่ทำให้พี่ตัดสินใจเพราะต้องการมีลูก ทำให้รอ 40 ไม่ไหว"

เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก เธอกรำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยหลังกลับจากต่างประเทศ รู้แต่เพียงว่ามีงานท้าทายที่ยังรอให้เธอปะลองฝีมืออยู่อีกมากมาย จนเวลาอายุราชการเธอล่วงเลยถึง 20 ปี จุดหักเหในชีวิตของเธอก็เริ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย "ในช่วงแรกนั้น พี่ต้องทำงานดีลกับชาวต่างประเทศมาโดยตลอด จึงไม่เคยเกิดการเปรียบเทียบอะไรกัน แต่มาตอนหลังพี่ต้องมาดีลกับบริษัทเอกชนของไทย เพราะที่ กรมฯ ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาไทยมากขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่บริษัทที่ส่งมาเป็นรุ่นน้อย หากเทียบความรู้ในเรื่องงานแล้ว ยังไม่มากนัก พี่ต้องช่วยเสริมเขาแต่เมื่อถามถึงเงินเดือนปรากฏว่ามากกว่าพี่เกือบ 10 เท่าความรู้สึกแตกต่างจึงเริ่มเกิดขึ้นมาในใจ" ปนัดดา เล่าย้อนถึงจุดเริ่มของความท้อแท้ภายในใจ

ช่องห่างของแรงจูงใจระหว่างภาครัฐและเอกชนที่กว้างเช่นนี้เป็นจุดที่สะกิดใจเธอ และเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของความเหนื่อยหน่ายใจในเวลาต่อมา เมื่อเธอพบว่า Incentive โดยรวมของระบบราชการไม่น่าจูงใจนักในยามที่ครอบครัวเริ่มขยายจาก 2 กลายเป็น 4 ดังนั้น เธอจึงเริ่มกังวลถึงอนาคตภายภาคหน้า และด้วยตำแหน่งหน้าที่การงานระดับหัวหน้า เมื่อมีแขกมาเยือนในฐานะเจ้าของบ้านก็จะต้องต้อนรับให้สมควรทั้ง ๆ ที่ไม่มีงบประมาณในด้านนี้เหมือนเอกชน จึงจำเป็นต้องควักกระเป๋าตัวเองที่มีไม่มากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เช่นเดียวกัน เมื่อเธอได้รับมอบหมายให้ไปประชุม หรือสัมมนายังต่างประเทศ ด้วยความเป็นคนกระตือรือร้นเธอจะต้องทำการบ้านก่อนไปทุกครั้ง ซึ่งเธอก็ต้องควักเนื้อตัวเองอีกเช่นเคย เพราะงบประมาณและฐานข้อมูลของราชการไม่มีให้เธอได้ค้นคว้าตามใจปรารถนา

ประจวบเหมาะกับช่วงเวลานั้น ระบบราชการถูกแทรกแซงจากการเมืองมีกระแสที่รุนแรงมาก ซึ่งตำแหน่งของเธอขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการส่วนมาตรฐาน และค่าตอบแทนก็ใกล้ถึงจุดที่จะต้องเข้าไปสัมผัสกับการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ เธอจึงกลับมาทบทวนอนาคตราชการของเธออย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง และทางออกที่เธอค้นพบขณะนั้นก็คือ เกษียณก่อนอายุ

"ตอนที่ลาออกพี่อยู่ซี 8 ถ้าขึ้นซี 9 ก็เป็นรองอธิบดี ซึ่งตรงนี้ต้องสัมผัสกับการเมือง ยอมรับว่าเหนื่อยใจจริง ๆ แต่พี่ก็ไม่เคยคิดจะเข้ามาทำงานภาคเอกชน เพียงแต่คิดว่าต้อง early retirement เมื่อมีอายุราชการครบ 25 ปี แล้วก็จะออกมาทำงานส่วนตัว เป็นที่ปรึกษาอิสระ ทำงานที่คิดว่าอยากจะทำและรับเป็น job ไป เมื่อตัดสินใจได้ก็เข้าไปเรียนนายว่าจะขอทุ่มเทงานอีก 5 ปี ซึ่งตอนนั้นพี่คิดว่าต้องเลือกทางของเราแล้ว เพราะสิ่งแวดล้อมแบบนี้ พี่ไม่มีแรงจูงใจ และพี่ก็เป็นคนไม่ยึดติดกับตำแหน่งด้วย"

แต่เหมือนฟ้าจะลิขิตให้ชีวิตราชการของเธอต้องจบอยู่แค่นั้น ความอ่อนล้าทางใจของเธอเริ่มรุนแรงขึ้นทุกขณะ เพราะมีตัวอย่างการโยกย้ายข้าราชการอย่างไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นให้เห็นไม่เว้นแต่ละวัน และแล้วอยู่มาวันหนึ่ง ดร.วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ กรรมการผู้จัดการของทริคนปัจจุบันก็ได้เข้ามาชักชวนเธอให้เข้ามาร่วมทำงานด้วย โดยที่ไม่เคยระแคะระคายถึงความคับข้องใจของเธอเลย ทว่า ครั้งนี้มิใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้ ดร.วุฒิพงษ์ ได้เคยทาบทามให้เธอเป็นที่ปรึกษาของทริส แต่เธอก็ได้ปฏิเสธเรื่อยมาเพราะเห็นว่าจะเกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และที่สำคัญ เธอไม่เคยคิดที่จะย้ายตัวเองออกสู่ภาคเอกชนเลย

"พี่ไม่เคยเล่าความคับข้องใจให้ใครฟังเลย เพราะพี่ไม่คิดที่จะไปเอกชน อาจารย์วุฒิพงษ์ก็ทราบดีว่า พี่รักราชการแล้วคงอยู่ถึงเกษียณ เพราะมีความก้าวหน้านาย promote ดี ไม่มีความคับข้องใจเรื่องตำแหน่ง ฉะนั้นทุกคนจึงมองว่าพี่ไม่มีทางออกแน่นอน จริง ๆ แล้วพี่รู้จักอาจารย์มา 10 กว่าปีแล้ว ตั้งแต่สอนอยู่ที่ธรรมศาสตร์ แล้วเผอิญอาจารย์เป็นคนสนใจเรื่อง public policy เหมือนกัน พี่ก็ได้เชิญอาจารย์เข้ามาร่วมในคณะกรรมการหลายคณะ แต่ไม่เคยพูดเรื่องงาน พอดีในจังหวะที่เราแสนที่จะ down สุด ๆ อาจารย์ก็มาชวนและ offer งานที่น่าสนใจ เพราะเกี่ยวกับ public policy มีความเป็นกลาง ซึ่งคล้ายกับงานภาครัฐ แต่ใช้ facilities แบบเอกชน พี่ก็คิดว่ามันดีกว่าที่เราจะไปตั้งบริษัทที่ปรึกษาเอง พี่ก็มานั่งคิด 2 อาทิตย์ แล้วก็พบว่ามันไม่มีจุดไหนเลยที่จะปฏิเสธได้ ลักษณะงานก็ดี ความคล่องตัวดี อะไรที่เป็นจุดบอกที่เราเคยเจอตรงนี้มันไม่มี แล้วพี่จะไปปฏิเสธเขาได้อย่างไร"

นั่นคือ ที่มาของตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการทริสในวันนี้ของเธอ

ที่นี่ ชีวิตเธอกลับเข้าสู่ความสงบสุขอีกครั้ง เธอพร้อมที่จะลุยงานหนักที่รออยู่ข้างหน้าอย่างมีกำลังใจเต็มเปี่ยม ประสบการณ์ ความรู้ที่สั่งสมจาก Dow Jones เมื่อครั้งนั้นได้ถูกรื้อขึ้นมาใช้อย่างจริงจังก็ครั้งนี้เอง โดยตำแหน่งของเธอ เนื้องานที่ดูแลหลัก ๆ จะเป็นด้าน Credit Rating และการประเมินผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งงานนี้ล้วนแล้วแต่ท้าทายความสามารถของเธอไม่ยิ่งหย่อนกว่าเมื่อครั้งที่เธออยู่ในกรมบัญชีกลาง ต่างกันเพียงขอบเขตความรับผิดชอบเท่านั้น

"งานราชการความรับผิดชอบจะมากว่า เพราะถ้างานพลาดไปชิ้นหนึ่งจะกระทบกับระบบมหาศาล ตรงนั้นเป็นความเหนื่อยใจว่า เราจะรับผิดชอบอย่างไรจึงจะดีเท่าที่เราอยากจะทำ ยิ่งคุณขึ้นไปสูงเท่าไหร่ คุณจะเหนื่อยหนักกว่านั้นอีก เพราะความรับผิดชอบมากขึ้น ขณะที่งานเอกชน ความรับผิดชอบคุณ define ได้ เพราะฉะนั้นคุณรู้เลยว่า นั่นคือกรอบของคุณ แต่คุณต้องทำให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด หากเปรียบเทียบแล้ว งานไม่ได้เบาลง แต่เหนื่อยใจน้อยลง" ปนัดดา อธิบายถึงความแตกต่างที่เกิดขึ้นหลังเข้ามารับงานใหม่ได้ปีกว่า

หากพูดถึงผลตอบแทนไม่ต้องสงสัยเลยในระดับฝีมืออย่างเธอ แต่เธอได้ย้ำอย่างหนักแน่นว่า เรื่องนี้เป็นเพียงหนึ่งในอีกหลาย ๆ ปัจจัยที่รวมเป็นสิ่งแวดล้อมทั้งหมดที่มีผลต่อการตัดสินใจเท่านั้น และค่าเหนื่อยที่ได้มาเธอไม่เคยเอ่ยปากต่อรอง เพราะต้องการพิสูจน์ตัวเองให้ประจักษ์ก่อน

"เวลานี้พี่กลับบ้าน 2 ทุ่ม ยังมีพลังที่จะทำอย่างอื่นได้ต่อ แต่ตอนที่รับราชการกลับบ้าน 6 โมงเย็น แต่ต้องนอนแล้วเพราะเพลียใจ ความเหนื่อยใจมันทำให้เราไม่ได้ดูแลตัวเองเลย แต่เมื่อมาอยู่เอกชน เวลาแทบไม่มีนะคะ แต่ยังมีพลังเหลือที่จะดูแลตัวเอง นี่คือความแปลก"

ในวัย 42 ปี เธอมีความสุขตามอัตภาพกับครอบครัว ซึ่งบุตรชายคนเล็กเพิ่งลืมตาดูโลกได้เพียง 4 เดือน ขณะที่บุตรสาวคนโตย่างเข้าขวบปีที่ 4 ไล่เลี่ยกับทริส บริษัทที่เธอทำงานอยู่ ขณะที่สามีของเธอได้ผันตัวเองจากวิศวกรอาวุโสของกิจการบริษัทที่ปรึกษาไปเป็นอาจารย์ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต อันเป็นอาชีพที่เขารักและปรารถนาที่จะทำในเวลาไล่เลี่ยงกันกับเธอ โดยมิได้นัดหมายกันมาก่อน ณ วันนี้เธอยอมรับอย่างภาคภูมิใจและพิสูจน์ให้เห็นว่าชีวิตเริ่มต้นที่ 40 จริง ๆ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.