หุ้นฟืนคลายกังวลการเมือง


ผู้จัดการรายวัน(7 ธันวาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ตลาดหุ้นไทยพุ่งเกือบ 3% หลังอุณหภูมิการเมืองลดลง ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3/48 ออกมาดูดีช่วย หุ้นน้ำมันรับอานิสงส์น้ำมันราคายังสูง ดันดัชนี "ภัทร" ชี้เงินลงทุนตรงในตลาดหุ้นมีเพียง 6 แสนล้านบาท ถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับฐานเงินฝาก คนไทยต้องเก็บออมมากขึ้น แนะลงทุนหุ้น "แบงก์-อาหาร-ก่อสร้าง" "ก้องเกียรติ" เผยตลาดหุ้นไทยยังแข่งขันกับใครยาก เหตุนักลงทุนต่างชาติน้อย ความน่าสนใจน้อยทำให้ดึงยักษ์ใหญ่ นอกมาจดทะเบียนยาก ประเมินอัตราการทำกำไรของ บจ.ในปีหน้าอาจจะติดลบ

ภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์วานนี้ (6 ธ.ค.) ดัชนีเปิดตัวในแดนบวกก่อนจะปรับขึ้น อย่างต่อเนื่องหลังได้แรงซื้อเข้ามาในหุ้นพลังงาน ธนาคาร ไฟแนนซ์ สื่อสาร ส่งผลให้ดัชนีปิดที่จุดสูงสุดของวันที่ระดับ 679.16 จุด เพิ่มขึ้น 19.25 จุด หรือ 2.92% ขณะที่จุดต่ำสุดอยู่ที่ 662.04 จุด มูลค่าการซื้อขาย 18,865 ล้านบาท

นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 935.28 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 420.47 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 1,355.75 ล้านบาท กลุ่มพลังงานกลับมาคึกคัก ดัชนีปิดที่ 13,893.25 จุด เพิ่มขึ้น 573.44 จุด หรือ 4.31% มูลค่าการซื้อขาย 5,348.73 ล้านบาท หุ้น บมจ.ปตท. ปิดที่ 222 บาท เพิ่มขึ้น 10 บาท หรือ 4.72%, บมจ.ไทยออยล์ ปิดที่ 63 บาท เพิ่มขึ้น 3.50 บาท หรือ 5.88%, บมจ.สำรวจและผลิตปิโตรเคมี ปิดที่ 460 บาท เพิ่มขึ้น 20 บาท หรือ 4.55%

นางสาวปองรัตน์ รัตนะตวณานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตลาดฯรับข่าวที่นายกรัฐมนตรีได้ถอนฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุลในทุกข้อกล่าวหา ส่งผลให้นักลงทุนคลายความกังวลในเรื่องประเด็นของการเมือง ซึ่งถือว่าคลี่คลายในทางที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นข่าวเรื่องของตัวเลขเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตัวเลขของผลิต-ภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 3 ที่ออกมาเกินคาด ทำให้นักลงทุนหันกลับมาและก่อนหน้าหุ้นขนาดใหญ่ได้ปรับตัวลดลงถึงจุดหนึ่งทำให้มีแรงซื้อกลับเข้ามา

"กลุ่มพลังงานที่ปรับตัวขึ้นแรง ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก ซึ่งมองว่าอากาศเริ่มที่จะหนาว และความต้องการใช้น้ำมันจึงเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะไม่สูงเหมือนในช่วงที่ผ่านมาแต่มีแนวโน้มว่าการใช้จะสูงขึ้น"

สำหรับดัชนีในวันนี้ (7 ธ.ค.) คาดว่าตลาดหุ้นยังปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีหุ้นกลุ่มหลัก อย่างกลุ่มพลังงาน สื่อสาร และแบงก์ ยังคงเป็นตัวนำตลาด ประเมินแนวรับที่ 670 จุด แนวต้านที่ 685 จุด

นายวีรวัฒน์ ชุติเชษฐพงศ์ กรรมการบริหาร บล.ภัทร จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ค่าพี/อีเรโช ของตลาดหุ้นไทยอยู่ในระดับต่ำ 8.5 เท่า จึงจำเป็นจะต้องเพิ่มสัดส่วนนักลงทุนสถาบันให้มากขึ้น ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้ประชาชนเพิ่มการออมเงินมากขึ้น ทั้งการออมเงินที่ผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) หรือแม้แต่บริษัทประกันภัย ประกันชีวิตเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ หากพิจารณาสัดส่วนเงินลงทุนตรงในตลาดหุ้นมีเพียง 6 แสนล้านบาท ถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับฐานเงินฝากที่มีประมาณ 5 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของฐานเงินฝาก ขณะที่ลงทุนผ่านกองทุนรวมอีก 4 แสนล้านบาท คิดเป็น 8% ของเงินฝาก และแม้ว่าจะรวมเงินลงทุน ทั้ง 2 ส่วนที่ลงทุนในตลาดหุ้นแล้วจะมีราว 1 ล้านล้านบาท นับว่าเป็น อัตราที่ต่ำเมื่อเทียบกับเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่มีถึง 1.2 ล้านล้านบาท ทำให้นักลงทุนต่างประเทศกลายเป็นผู้ลงทุนหลักในตลาดหุ้นไทย และมีอิทธิพลต่อการขึ้นลงของดัชนีหุ้นไทย

นอกจากนี้ การเพิ่มจำนวนนักลงทุนสถาบันจะทำให้มีความต้องการลงทุนมากขึ้น จะสอดคล้องกับแก้ปัญหาในภาวะการขยายฐานนักลงทุนหน้าใหม่ไม่ทันกับการเติบโตของจำนวนบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ราคาหุ้นไอพีโอต่ำกว่าราคาจอง และพี/อีอยู่ในระดับต่ำ

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนในระดับ 12% เมื่อรวมกับผลตอบแทนเงินปันผลโดยเฉลี่ยซึ่งจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวของจีดีพี 4-5% จะได้ระดับสูงถึง 16% ซึ่งสูงกว่าเงินฝากอย่างมาก แต่นักลงทุนต้องเลือกลงทุนในบริษัทที่มีความมั่นคงของรายได้ที่สม่ำเสมอ ผู้บริหารมีธรรมาภิบาล และราคาหุ้นยังไม่แพง ตามบทวิจัยของบล.ภัทรหุ้นกลุ่มที่อยู่ในขอบเขตนี้มีเพียง 2-3 กลุ่ม คือธนาคารพาณิชย์ อุตสาหกรรมอาหาร และก่อสร้าง

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล. กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อพิจารณาจากค่าพี/อี เรโช ที่อยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศยังเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ผ่านมานักลงทุนรายย่อยยังไม่มีความเชื่อมั่นในการลงทุนตลาดหุ้นเท่าที่ควร ดังนั้นถ้าปัจจัยลบต่างๆ คลี่คลาย จะทำให้นักลงทุนรายย่อยเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น ชี้ตลาดหุ้นไทยแข่งยาก

นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บล. เอเชียพลัส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัญหาของตลาดหุ้นไทยยังคงเป็นปัญหาเดิมที่นักลงทุนต่างชาติมีการตั้งข้อสังเกตเอาไว้ คือ จำนวนนักลงทุนที่ซื้อขายในตลาดเป็นนักลงทุนรายย่อยในสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนสถาบัน

ส่วนผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนยังพบว่าเริ่มปรับตัวลดลง โดยคาดว่าอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิในปีนี้จะอยู่ที่ 9% ขณะที่กำไรสุทธิในปีหน้าจะเติบโตไม่ถึง 5% ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าตลาดหุ้นอื่นๆในภูมิภาค เนื่องจากหุ้นในกลุ่มต่างๆ ไม่สามารถปรับตัวขึ้น สะท้อนภาพเศรษฐกิจได้ เช่น การเติบโตของกลุ่ม พลังงานอยู่ที่ 30% เกินกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ ขณะที่ชิ้นส่วนรถยนต์มีอัตราการเติบโตประมาณ 1% ต่ำกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ

"หากปีหน้าราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ผลกำไรของกลุ่มพลังงานก็ต้องลดลงตาม ก็ถือว่ามี โอกาสที่อัตราการทำกำไรของ บจ.ในปีหน้าจะติดลบ ความสามารถในการแข่งขันลดลง เพราะต้นทุนของ บจ.แพงขึ้น" นายก้องเกียรติกล่าว

สำหรับปัจจัยบวกที่ตลาดหุ้นไทยรอคอย เรื่องการเข้ามาจดทะเบียนของบริษัทขนาดใหญ่ข้ามชาติ ซึ่งหากตลาดหุ้นไทยยังมีระดับความน่าสนใจในเรื่องพีอีเรโชในระดับต่ำ ความสนใจจะกลับไปสู่ประเทศที่มีระดับพีอีเรโชในระดับที่สูงกว่า ประกอบกับหลายบริษัทมีความคุ้นเคยและเข้าใจกับกฎหมายของประเทศอังกฤษ ซึ่งสิงคโปร์ ฮ่องกง ซึ่งเป็นประเทศที่เข้าจดทะเบียนได้ง่าย ดังนั้น ประเทศไทยจึงเสียเปรียบ ประกอบกับกฎเกณฑ์ที่ซับซ้อนรวมถึงมีกระแสการต่อต้านในบางเรื่อง ดังนั้นคิดว่าคงเป็นเรื่องที่ยากที่จะดึงบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่มาไทย

"ในส่วนมาตรการจูงใจด้านภาษี หากเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นในสิงคโปร์ที่เก็บภาษีนิติบุคคล 22% ฮ่องกงที่ 15% และ ไทยที่ 30% ประเทศไทยก็ยังเก็บภาษีสูงกว่า ผู้จัดการกองทุนเค้ามองว่าเราไม่ค่อยต้อนรับนักลงทุน นักลงทุนต่างชาติไม่ได้สร้างความเสียหายให้ตลาดหุ้นไทย หรือจะมีบ้างก็เป็นเพียงส่วนน้อย" นายก้องเกียรติกล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.