|

บริษัททัวร์จี้ภาครัฐเพิ่มเงินจดทะเบียนสางสงครามราคา
ผู้จัดการรายวัน(6 ธันวาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ผู้ประกอบการทัวร์โวย บริษัทนำเที่ยวเปิดเกลื่อนเมือง เปิดศึกสงครามราคาหั่นกำไรลดลงวูบกว่า 50% ขณะที่ผู้ซื้อ ทัวร์ก็จะได้รับบริการแบบทัวร์คุณภาพต่ำไม่ประทับใจทำให้ภาพลักษณ์ธุรกิจเสียหาย วอนรัฐเร่งสร้างมาตรฐานสกัดทัวร์คุณภาพต่ำ แนะควรมีการปรับขึ้นเงินค้ำประกันจดทะเบียนบริษัททัวร์จากปัจจุบันที่วางแค่ 1-2 แสนบาท ด้านทัวร์อินบาวนด์ ระบุ บริษัททัวร์ข้ามชาติตัวการตัดราคา
นายศุภฤกษ์ ศูรางกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท หนุ่มสาวทัวร์ จำกัด อดีตนายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจบริษัทนำเที่ยวมีการแข่งขันสูงเนื่องจากมีบริษัทนำเที่ยวเปิดตัวเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งคนไทย และต่างชาติ อันเนื่องมาจากรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนและกระตุ้นอย่างชัดเจน และเปิดเสรีให้ผู้สนใจสามารถเข้ามาจดทะเบียนประกอบธุรกิจโดยไม่วางเงื่อนไขหรือมาตรฐานอะไรมากนัก เป็นผลให้ปัจจุบันบริษัททัวร์เกิดการแข่งขันด้านราคาอย่างเห็นได้ชัด มีการขายทัวร์ตัดราคาและจัดโปรโมชัน แพกเกจทัวร์ราคาถูก
"ปัจจุบันหากเป็นทัวร์ในประเทศ และเป็น กลุ่มทัวร์แบบกรุ๊ปประชุมสัมมนาจัดนำเที่ยวพนักงานกำไรเพียงหัวละร้อยบาทเศษก็รับแล้ว ส่วนทัวร์ต่างประเทศก็คิดค่าทัวร์แบบกำไรเพียงหัวละพันบาทเศษก็รับทำจากในอดีตเมื่อ 4-5 ปี ก่อนจะต้องกำไรเป็นหลักหมื่นบาทต่อหัว ซึ่งเป็น เพราะการแข่งขันที่รุนแรง ตรงนี้จะทำให้ลูกค้าเกิด ความเสี่ยงสูง ที่จะได้รับบริการที่ไม่ดีพอ ส่งผลให้ภาพรวมของธุรกิจเกิดความเสียหายได้"
แนะรัฐวางแนวทางตั้งบริษัททัวร์
จากปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาจัดหรือกำหนดมาตรฐาน บริษัทนำเที่ยว จากปัจจุบันธุรกิจนี้สามารถจดทะเบียนบริษัทได้ง่ายโดยไม่มีเงื่อนไขมากนัก ขณะเดียวกันก็ต้องการให้กำหนดวงเงินค้ำประกันเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันอัตราเงินค้ำประกัน ที่ผู้จดทะเบียนบริษัททัวร์ต้องนำมาวาง คือ บริษัททัวร์เอาต์บาวนด์ 2 แสนบาท บริษัททัวร์อินบาวนด์ 2 แสนบาท และบริษัททัวร์โดเมสติก 1 แสนบาท ซึ่งเป็นอัตราที่ถูกมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆที่ต้องวางเงินค้ำประกันเป็นหลักล้านบาท แม้กระทั่งประเทศลาว หรือจีน หากจะจดทะเบียนตั้งบริษัททัวร์ก็ต้องวางเงินค้ำประกันราว 7 แสนถึง 1 ล้านบาทเป็นขั้นต่ำ ซึ่งการที่ไทยวางเงินค้ำประกันน้อย อาจเป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้การคัดกรองผู้ที่จะเข้ามาทำธุรกิจนี้มีมาตรฐานต่ำ เกิดความเสี่ยงกับลูกค้า
ในส่วนของบริษัทหนุ่มสาวทัวร์ จึงวางกลยุทธ์ด้วยการเร่งปรับตัว สร้างความแตกต่างให้ลูกค้าเห็นได้ชัดเจน และเป็นการสร้างแบรนด์ ไปด้วยพร้อมๆกัน โดยหลักการคือ เน้นบริการที่ดีและเปลี่ยนเซกเมนต์มาจับกรุ๊ปทัวร์ขนาดเล็กตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป และกลุ่มครอบครัวในรูปแบบเทเลอร์เมสโปรแกรม หรือ คลัสเตอร์เมส โปรแกรมที่ลูกค้าสามารถเลือกตั้งโจทย์การเดินทางได้ด้วยตัวเอง โดยมีบริษัทคอยให้บริการจัดวางโปรแกรมขณะเดียวกันก็จะชักชวนฐานลูกค้าที่เป็นกลุ่มบริษัทห้างร้านที่เคยใช้บริการของ หนุ่มสาวทัวร์ ในการจัดอินเซนทีฟ หรือสัมมนาในเส้นทางภายในประเทศ ให้มาใช้บริการท่องเที่ยวในเส้นทางต่างประเทศด้วย
ชี้คนไทยตัดสินใจซื้อทัวร์ที่ราคา
ทางด้านนายอเนก ศรีชีวะชาติ นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) กล่าวว่า ยอมรับธุรกิจบริษัทนำเที่ยวมีการแข่งขันที่รุนแรง และส่วนใหญ่จะตั้งเป็นแพกเกจทัวร์ราคาถูกจูงใจลูกค้า ซึ่งผู้บริโภค 80% ก็ตัดสินใจซื้อทัวร์ที่ราคา ส่วนอีก 20% จะดูที่คุณภาพส่งผลให้เกิด ปัญหาไม่พอใจในบริการ และถูกเอาเปรียบเป็นจำนวนมาก ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของธุรกิจนำเที่ยว ในสายตาผู้บริโภค
"การแข่งขันด้านราคาที่เกิดขึ้นทำให้ธุรกิจนี้ไม่สามารถปรับขึ้นค่าบริการได้ตามต้นทุนที่แท้ จริง ประกอบกับสภาพธุรกิจท่องเที่ยวปีนี้ไม่คึกคักนัก ราคาน้ำมันก็แพงส่งผลกำไรลดลงลงมากกว่า 50% จากที่ควรจะเป็น ปัจจุบันบริษัททัวร์ที่ทำทั้งอินบราวนด์ เอาต์บราวนด์ และโดเมสติก ที่จดทะเบียนอย่างถูกต้อง มีรวมกันราว 2-3 พันบริษัท หากมองว่าโอเวอร์ซัปพลายก็น่าจะเป็นได้"
เร่งให้ความรู้ผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม ในสภาพการเปิดเสรีทางธุรกิจตามนโยบายรัฐบาลสมาคมฯ คงไม่สามารถ ทำอะไรได้มากนัก คงเพียงแต่ให้ความรู้แก่ผู้บริโภคให้มากขึ้นในเรื่องของการเลือกซื้อทัวร์ เช่น การตรวจสอบบริษัททัวร์ ก่อนตัดสินใจซื้อตลอด จนการสร้างจิตสำนึกในวิชาชีพให้แก่ผู้ประกอบ การนำเที่ยวถึงผลเสียของการตัดราคาว่า สุดท้าย จะไม่มีใครอยู่รอด แต่ควรเน้นสร้างองค์กร ด้วยบริการ การเปิดเส้นทางใหม่ๆ ให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อ
โดยเฉพาะเส้นทางในประเทศ เพราะตลาด คนไทยจะเลือกซื้อทัวร์ในประเทศก็ต่อเมื่อเป็นเส้นทางทัวร์ใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยไป เพราะการคมนาคมที่สะดวกทำให้คนไทยหันมาเดินทางเอง มากขึ้น แทนที่จะใช้บริการจากบริษัทนำเที่ยว
บริษัททัวร์ข้ามชาติต้นเหตุตัดราคาขาย
แหล่งข่าวจากบริษัททัวร์อินบาวนด์ ที่นำคนจีนเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยรายหนึ่ง กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลเข้ามากวดขันดูแลผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว ที่จดทะเบียนกันง่ายได้ ซึ่งบางรายอาศัยช่องว่างทางกฎหมาย ในการ เข้ามาทำธุรกิจนี้ โดยเฉพาะ บริษัทนำเที่ยวอินบาวนด(นำต่างชาติเข้ามาเที่ยวประเทศไทย) ที่ปัจจุบันนี้ กว่า 50% เป็นของชาวต่างชาติ หรือ คนจีนที่เข้ามาจดทะเบียนตั้งบริษัท เห็นได้จาก โดยบริษัททัวร์อินบาวนด์ เฉพาะตลาดจีนมีทั้งหมดราว 50-60 บริษัท ในที่นี้เป็นบริษัทชาวจีนที่เข้ามาจดทะเบียนในประเทศไทยมากถึง 30-40 ราย ส่งผลให้มีการขายทัวร์แบบตัดราคา ขณะเดียวกันหากผู้ประกอบการคนไทยจะทำธุรกิจให้อยู่รอดได้ ก็ต้องจำใจลดราคาทัวร์ลงมา ให้สามารถแข่งขันได้ บางครั้งกำไรค่าทัวร์ต่อหัวลดลงเหลือไม่ถึงรายละ 1,000 บาท ก็ต้องทำ
"ตรงนี้ทำให้การแก้ไขปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญไม่หมดไปจากประเทศไทยเสียที เพราะเมื่อขายทัวร์ราคาถูกก็จะต้องมีการซื้อออปชัน หรือรายการทัวร์เพิ่มเติม ขณะเดียวกันก็มองว่า การขายรายการทัวร์เพิ่มเติม ก็มีทำกันทุกประเทศ ทั้งมาเลเซีย ฮ่องกง หรือแม้แต่ในประเทศฝรั่งเศส เพราะยอมรับว่าราคาทัวร์ก็เป็นปัจจัยสำคัญของการตัดสินใจเดินทางและเลือกซื้อแพกเกจทัวร์ของลูกค้า แต่ทั้งนี้เราต้องมีการชี้แจงให้ลูกค้าทราบว่า ในแพกเกจทัวร์ราคาเท่านี้ลูกค้าจะได้รับบริการอะไรบ้าง"
แหล่งข่าวคนเดิม กล่าวอีกว่า การที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สั่งการให้ตำรวจ ท่องเที่ยว หันมาเข้มงวดมากกับบริษัททัวร์ที่ขาย รายการทัวร์เพิ่มเติม เพราะเกรงว่าจะเกิดปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญ แต่ภาพที่ออกไปส่วนหนึ่งทำ ให้นักท่องเที่ยวคนจีนไม่อยากมากประเทศไทย เพราะมองว่ายุ่งยากขณะเดียวกันประเทศอื่นๆ ที่ต้องการดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศอยู่แล้ว ก็อัดโปรโมชันมากมาย ดังนั้น วันนี้คนจีนมีทางเลือกเยอะที่จะท่องเที่ยวไปในประเทศต่างๆ ที่ไม่ใช่ประเทศไทย ซึ่งตรงนี้ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล และเร่งจัดการโดยเฉพาะบริษัททัวร์ที่เจ้าของเป็นชาวต่างชาติ ที่เป็นต้นเหตุของการขายตัดราคา
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|