|
บทพิสูจน์โครงการประมูลบิลลิ่งฉาว ทีโอทีร้องเทเลเมติกส์ชดใช้149ล้าน
ผู้จัดการรายวัน(6 ธันวาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
กรรมตามสนอง ผลของการประมูลที่ส่อไปในทางไม่โปร่งใส ของระบบบิลลิ่ง พ่นพิษ เปิดใช้งานกว่า 7 เดือนแต่มีปัญหาตลอด จนทีโอทีต้องทำหนังสือถึงเทเลเมติกส์ขอให้ชดเชย 149 ล้านบาทสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น ด้านคนทีโอทีชี้ ปัญหาความไม่โปร่งใสในการประมูล แทบไม่ต้องถามหาใบเสร็จแล้ว ให้เฝ้ามองโครงการประมูลที่เกี่ยวกับหัวเหว่ยมักใช้วิธีพิเศษงาบไม่เลิก
แหล่งข่าวในบริษัท ทีโอที กล่าวว่า จากการที่นายธีรวิทย์ จารุวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอทีได้ส่งหนังสือไปยัง บริษัท เทเลเมติกส์ เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้ชดเชยค่าความเสียหายจากระบบบิลลิ่งที่ทำงานไม่ได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด ตามสัญญาเลขที่ 311/3100001236/2546 ลว. 10 กรกฎาคม 2546 ตั้งแต่เปิดใช้ระบบบิลลิ่งเมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นรวมกว่า 149 ล้านบาทแบ่งเป็น
1. ความเสียหายในการออกใบเสร็จรับเงินไม่ถูกต้องรวม 60,000 ฉบับ เสียหายเป็นเงิน 120 ล้านบาท
2. ระบบไม่สามารถบันทึกรายการชำระหนี้ราชการของเลขหมายบริษัทร่วมการงาน ทำให้ ทีโอที ชำระเงินส่วนแบ่งล่าช้าจนถูกบริษัทร่วมการงานเรียกให้ชำระเบี้ยปรับตามสัญญา เป็นเงิน 1.170 ล้านบาท
3. ระบบไม่สามารถจัดทำรายงานเพื่อเรียกเก็บเงินจากการใช้บัตรเครดิตชำระหนี้ค่าบริการ จากบริษัทร่วมการงาน ทำให้ ทีโอที ไม่สามารถเก็บเงินได้ เป็นจำนวนเงิน 8 ล้านบาท
และ 4. ค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความเข้าใจกับลูกค้าถึงความผิดพลาดของระบบ เป็นจำนวน 20 ล้านบาท
โดยหลังจากที่ยื่นหนังสือไปแล้วนั้นในขณะนี้ ทางผู้ที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการตอบรับแต่อย่างใด ทั้งในการชดใช้ค่าเสียหาย รวมถึงการแก้ไขระบบบิลลิ่งให้สามารถใช้งานเป็นไปตามข้อตกลงตามสัญญาการจ้าง
แหล่งข่าวกล่าวว่า ปัญหาระบบบิลลิ่งไม่สามารถทำงานได้ตามทีโออาร์ได้ถูกทักท้วงจากนายพรชัย มีมาก อดีตรองประธานสหภาพฯ ทีโอที ซึ่งได้ทำหนังสือถึงนายธีรวิทย์ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมาเพื่อขอให้แก้ไขปัญหาระบบบิลลิ่ง หลังจากที่พนักงานได้ร้องเรียนไปยังสหภาพฯของนายนุกูล บวรสิรินุกูล แต่กลับเพิกเฉยและไม่ตอบสนองกับข้อร้องเรียนของพนักงาน เนื่องจากในช่วงของการประมูลระบบบิลลิ่ง สหภาพฯชุดเก่าของนายพรชัย ได้เกาะติดขั้นตอนการประมูล เนื่องจากพบความไม่โปร่งใสหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ในลักษณะการถือหุ้นไขว้กันระหว่างบริษัทที่ชนะการประมูลกับบริษัทที่ปรึกษา ที่มีบทบาทสำคัญในการทำขั้นตอน Benchmark เพราะบริษัทที่ปรึกษาจะเป็นผู้ออกข้อสอบในการทดสอบขั้นตอนนี้
เนื่องจากได้รับการร้องเรียนว่ามีการเอื้อประโยชน์ในลักษณะคนออกข้อสอบการทำ Benchmark เสนอตัวที่จะทำคำตอบให้ แต่เมื่อมีผู้เข้าประมูลรายไหนไม่ตอบรับ ก็จะถูกเขี่ยออก ซึ่งทำให้บริษัทที่เข้าประมูลรายหนึ่งที่ใช้ซอฟต์แวร์ระบบบิลลิ่งที่ปัจจุบันเอไอเอสที่มีฐานลูกค้า 16 ล้านรายใช้บริการอยู่ก็ถูกเขี่ยตกไปในขั้นตอนนี้
นอกจากนั้น หลังจากมีการเปิดโปงความไม่โปร่งใสในการประมูล โดยเฉพาะการทำ Benchmark ซึ่งหมายถึงการทดสอบการทำงานจริง หากระบบและซอฟต์แวร์ของเทเลเมติกส์ ไม่ได้รับการเลือกปฏิบัติเป็นพิเศษ เมื่อชนะการประมูลและมาใช้งานจริงเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2548 ก็ไม่น่าจะมีปัญหาเหมือนที่เกิดขึ้น รวมทั้งในช่วงของการประมูลกรรมการบอร์ด อดีตกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ และนายชัยเชวง กฤตยาคม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที ต่างตบเท้ากันออกมายืนยันว่าโครงการโปร่งใสชอบธรรมทุกขั้นตอน ซึ่งกรรมการบอร์ดบางคนปัจจุบันยังอยู่ในบอร์ดทีโอทีชุดปัจจุบัน
"ถึงแม้นายธีรวิทย์ได้สั่งปลดนายชัยเชวง ก่อนหน้านี้ แต่ดูเหมือนจะกลายเป็นแพะรับบาปตัวแรก ซึ่งความจริงแพะที่เกี่ยวข้องยังมีอีกน่าจะลากตัวออกมาให้หมด เนื่องจากความเสียหายแค่ 149 ล้านบาท ยังน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับความเสียหายทั้งหมด โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการ"
อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์สุกจนงอมแทบจะหล่นจากต้น สหภาพฯของนายนุกูล บวรสิรินุกูล ถึงได้เคลื่อนไหว ทำนองว่าจะยื่นเรื่องให้ปปช. และ สตง.ตรวจสอบและจะให้ผู้บริหารระดับสูง และกรรมการบอร์ดทีโอที เข้ามาเร่งแก้ไข พร้อมกับลงโทษผู้กระทำผิด รวมถึงการดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทผู้ที่เข้ามาดำเนินการติดตั้งระบบ ซึ่งมีผู้ที่เกี่ยวข้อง 3 บริษัท คือ บริษัท เทเลเมติกส์ จำกัด บริษัท เอคเซนเซอร์ โซลูชั่น จำกัด และบริษัท ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด
แหล่งข่าวกล่าวว่า ระบบบิลลิ่งที่อื้อฉาวในเรื่องความโปร่งใสตั้งแต่ตอนประมูล แต่ก็ดันทุรังจัดซื้อโดยไม่สนใจข้อทักท้วง เมื่อมาใช้งานจริงก็เกิดปัญหา จนถึงขั้นต้องเรียกร้องให้ชดเชยความเสียหาย เรียกได้ว่าไม่ต้องถามหาใบเสร็จกับหน่วยงานนี้อีกต่อไปแล้ว เพราะทุกอย่างพิสูจน์ได้ถึงการบริหารงานและการจัดซื้อที่น่าจะเป็นคำถามใหญ่ในประเด็นการบริหารงานแบบบรรษัทภิบาลสำหรับนักลงทุนที่จะเลือกลงทุนกับบริษัทที่กำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯเร็วๆ นี้
ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะโครงการระบบบิลลิ่งเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายโครงการ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับอุปกรณ์ของหัวเหว่ย อย่างเช่น ที่ ม.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ซึ่งผู้บริหารจะเลือกใช้วิธีพิเศษ ไม่สนวิธี e-Auction ที่เป็นนโยบายรัฐ ไม่คำนึงถึงความถูกต้อง ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องเริ่มทนไม่ได้กับพฤติกรรมเสือหิวและเตรียมที่จะเปิดโปงอีกหลายๆ โครงการ ทั้งๆ ที่ในวงการโทรคมนาคมใครๆ ก็รู้ว่า มาดามซุน ประธานบริษัทหัวเหว่ย และนายบุญคลี ปลั่งศิริ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มชินคอร์ป มีความรู้จักมักคุ้นกันเนื่องจากเคยเป็นเพื่อนร่วมรุ่นที่ HARVARD รวมทั้งอุปกรณ์ไอเอ็นที่วัน-ทู-คอลของเอไอเอสใช้ก็เป็นของหัวเหว่ย รวมทั้งหัวเหว่ยก็เคยให้อุปกรณ์ชุมสายเอไอเอสมาทดลองใช้ฟรี
ประเด็นประมูลวิธีพิเศษอุปกรณ์หัวเหว่ยเป็นอีกหลายโครงการที่ส่อพิรุธ ถึงแม้นายกรัฐมนตรีจะพูดในรายการนายกฯทักษิณพบประชาชนชื่นชมหัวเหว่ยมากก็ตาม แต่การรู้จักมักคุ้นระหว่างผู้บริหารระดับสูงของกลุ่ม ชินคอร์ปกับหัวเหว่ย ก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าละเลย สำหรับวงการประมูลเมืองไทย โดยเฉพาะหน่วยงานอย่างทีโอที
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|