|
กลุ่มทรูยืนหยัดเป็นบริการสื่อสารไทย ไม่ก้มหัวให้ต่างชาติคุมอำนาจบริหาร
ผู้จัดการรายวัน(5 ธันวาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
กลุ่มทรูย้ำชัดจะยืนหยัดในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในแบบของคนไทย ไม่ยอมให้ต่างชาติกุมอำนาจบริหาร กระทุ้งรัฐหากไม่ปลดแอกสัญญาสัมปทานผู้ให้บริการอาจกัดฟันลงทุนเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง 3 จี แม้จะกระทบเศรษฐกิจประเทศ ส่วนแผนการลงทุนปีหน้าอัดอีกหมื่นล้านบาทขยายเครือข่าย ล่าสุดเปิดสถานีฐานที่ประยุกต์เทคโนโลยีให้เข้ากับธรรมชาติในแบบต้นกระจาว
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีเอ ออเร้นจ์ และกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวถึงอนาคตอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยว่า กลุ่มทรูยังต้องการอยู่ในอุตสาหกรรม และต้องการเห็นองค์ความรู้หรือโนว์เลจเบสเป็นของคนไทย บริหารโดยคนไทย ซึ่งกลุ่มทรูมีศักยภาพที่สามารถทำได้อยู่แล้ว
"ในอนาคตยังลิขิตไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะบริษัทโทรคมนาคม ไม่แข็งแรงเท่าต่างชาติ แต่ในไทยต้อง มีบริษัทไทย แม้จะมีต่างชาติบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะหากไทยจะเป็นสังคมแห่งองค์ความรู้ต้องมีอาร์แอนด์ดีแนวลึกของไทย ไม่เช่นนั้นจะเสียเปรียบและรู้ไม่เท่าทันต่างชาติ"
ที่สำคัญรัฐต้องมีการแก้สัญญาสัมปทาน เพราะจะทำให้ต้นทุนของ ผู้ประกอบการจะสูงกว่าต่างชาติ และต้องสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม ไม่เช่นนั้นจะเป็นเป้าหมายในการถูกเทกโอเวอร์ได้ง่าย ขณะเดียวกันก็อาจจะเป็นการบีบให้ผู้ให้บริการต้องกัดฟันลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น 3 จี ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ของประเทศ เนื่องจากต้องมีการนำเข้า อุปกรณ์ต้องลงทุนเพิ่ม ต้องใช้เครื่องลูกข่ายใหม่ ผู้บริโภคใช้เทคโนโลยีใหม่ เป็นต้น
แต่ในมุมมองของศุภชัยไม่ใช่ว่า กลุ่มทรูจะไม่ต้องการพันธมิตรหรือพาร์ตเนอร์ แต่พาร์ตเนอร์ในสายตาของผู้บริหารทรูคือต้องเป็นการผสมผสานหรือ Synergy ด้านเทคโนโลยี ไม่ใช่เข้ามากุมอำนาจในการบริหาร มั่นใจได้ 3 จี
สำหรับการให้บริการ 3 จี ทีเอ ออเร้นจ์ได้ยื่นขอใบอนุญาตหรือ ไลเซนส์ต่อคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ไปได้ประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อนำอุปกรณ์มาทดสอบด้านเทคนิคก่อน โดยจะใช้สถานีฐานในการทดสอบประมาณ 2-3 สถานี ลงทุนประมาณ 10 ล้านบาท เน้นในเมืองที่มีชุมชนหนาแน่น เช่น สีลม ส่วนซัปพลายเออร์ขณะนี้มีผู้เสนอตัวเข้ามาหลายราย แต่ยังไม่มีการตัดสินใจต้องรอให้ได้รับอนุญาตจากกทช.ก่อน
"การทดสอบ 3 จีก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสปีด การส่งต่อสัญญาณระหว่างเครือข่ายหรือแฮนด์ ออฟ และอำนาจทะลุทะลวง เหมือนไวแมกซ์ก็ต้องมีการทดลองก่อน ว่าระบบเป็นอย่างไร ต้องลงทุนมากน้อยขนาดไหน" นายศุภชัยกล่าวและว่า กลุ่ม ทรูมั่นใจว่าจะได้สิทธิ์ในการให้บริการ 3 จีแน่ เนื่องจากความถี่ที่มีอยู่ขณะนี้ เหลือน้อยมาก แต่ยังคงสามารถให้บริการในปีหน้าได้ ทั้งนี้ หากไม่ได้ความถี่ 3 จี รัฐต้องหาความถี่ย่านอื่น มาทดแทน
สำหรับบริการ 3 จี นายศุภชัยเชื่อว่าจะไม่ใช่บริการที่เข้ามาแทนที่ 2 จี แต่จะเป็นการเข้ามาตอบสนองความต้องการด้านนอนวอยซ์กับการ บริโภคเท่านั้น และจะไม่ตอบโจทย์มัลติมีเดียเต็มรูปแบบ เพราะหากมีการให้บริการในลักษณะมัลติมีเดียเต็มรูปแบบต้องลงทุนสูง ไม่มี กสช.ไม่มีผลกระทบ
ส่วนกรณีที่คณะกรรมการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ยังไม่เกิดนั้น นายศุภชัยยืนยันว่าไม่มีผลกระทบกับกลุ่มทรู เนื่องจากการให้บริการทุกอย่างอยู่ใต้สัมปทานเดิม และเทคโนโลยีมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วจะการกำกับดูแลตามไม่ทัน อย่างกรณีของไอพีทีวี มีการให้บริการไปแล้ว หรืออย่างการดูทีวีผ่านมือถือ หรือการดูทีวีผ่านคอมพิวเตอร์พีซีก็สามารถทำได้แล้ว และการที่นำยูบีซีไปทำบรอดแบนด์ทีวีเชื่อว่าก็ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะยังอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานเดิม
ลงทุนด้านเครือข่ายปีหน้าหมื่นล้าน
นายศุภชัยกล่าวถึงการลงทุนด้านเครือข่ายของออเร้นจ์ว่า ปีนี้มีการลงทุนทั้งหมด 7,000 ล้านบาท และจะมีการลงทุนจนถึงเฟส 4 หรือประมาณกลางปี 2549 เป็นมูลค่ารวมแล้วประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท และจะลงทุนในส่วนที่เกี่ยวกับบริการ เสริมอีกประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาและอีก 6 เดือนข้างหน้า เครือข่ายของออเร้นจ์จะมีสถานีฐานเพิ่มอีก 1,000 สถานี
นอกจากนี้ ออเร้นจ์ยังได้มีการพัฒนาโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้เริ่มมีการเปิดใช้โครงข่ายอัจฉริยะหรืออินเทลิเจนซ์ เน็ตเวิร์ก หรือเน็กต์ เจเนอเรชัน เน็ตเวิร์ก (เอ็นจีเอ็น) ซึ่งเป็นไลฟ์สไตล์ เน็ตเวิร์ก ซึ่งกลุ่มทรูจะพัฒนาให้โครงข่ายให้ทั้งโมบายและฟิกซ์ไลน์ใช้งานร่วมกันได้ และในอนาคตต้องใช้งานร่วมกับอินเทอร์เน็ต และอินเตอร์แอ็กทีฟทีวีได้ด้วย
"ปีหน้าจะเริ่มเห็นอะไรใหม่ๆ ระหว่างโมบายกับฟิกซ์ไลน์มากขึ้นจาก กลุ่มทรูหลังมีการทดลองระบบเสร็จ พร้อมกันนี้ ออเร้นจ์ได้มีการเปิดสถานีฐานที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีการประยุกต์เรื่องของเทคโนโลยีให้มีความกลมกลืนธรรมชาติ ด้วยการทำสถานีฐานในรูปทรงของต้นกระจาว ซึ่งใช้รวมทั้งหมดสำหรับสถานีฐานประมาณ 5 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีสถานีฐานลักษณะเดียวกันนี้ที่เกาะสมุยที่เป็นรูปทรงของต้นปาล์ม ส่วนที่อื่นจะเป็นแบบไหนนั้น ขึ้นอยู่กับพื้นที่เป็นหลัก เราจะพัฒนาสถานีฐานในลักษณะนี้ควบคู่ไปกับการขยาย เครือข่ายที่เราวางแผนไว้"
องค์กรยังเน้นเมทริก ออแกไนเซชัน
นายศุภชัยกล่าวถึงการปรับโครงสร้างองค์กรว่า ปีหน้าโครงสร้างของกลุ่มทรูยังจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง อะไรมาก แต่ยังจะยึดแนวทางที่เรียก ว่าเมทริก ออแกไนเซชัน หรือเน็ตเวิร์กกิ้ง ออแกไนเซชัน ที่มีการทำงานรวมกันแบบประสานงานข้ามหน่วยงานได้อยู่แล้ว ซึ่งปีหน้าก็จะ มียูบีซีมาผสมผสานเข้ากับกลุ่มทรูเต็มรูปแบบในลักษณะเดียวกับออเร้นจ์
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|