ตั้งบริษัทร่วมทุนเอกชนคัมภีร์ธุรกิจทีวียุคนี้ของช่อง 5 และ 9

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

ภายใต้ภาวะการเติบโตของธุรกิจทีวีที่มีมูลค่าถึง 2 หมื่นล้านบาทในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของธุรกิจมีเดียและเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ทำให้สถานีโทรทัศน์ทั้ง 6 ช่องต้องมีการปรับเปลี่ยน ทั้งในแง่ของรูปแบบรายการและตัวองค์กร เพื่อรับมือกับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นเงาตามตัว

จะเห็นได้ว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 เป็นสถานีโทรทัศน์ที่ครองส่วนแบ่งผู้ชมสูง ตามมาด้วยช่อง 3 ของตระกูลมาลีนนท์เป็นอันดับ 2 และตามด้วยช่อง 5 ช่อง 9 ซึ่งทั้งช่อง 5 และช่อง 9 ยังไม่เคยแซงหน้าขึ้นมาเป็นอันดับ 1 หรือ 2 เลย

แม้ว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทั้งช่อง 5 และช่อง 9 จะมีการปรับปรุงผังรายการ ตลอดจนรูปแบบรายการให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ชมมากขึ้นก็ตาม เช่น ในปีที่แล้ว ช่อง 5 ได้มีการขยายช่วงเวลาไพรม์ไทม์มาเป็นในช่วงเย็น ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับกลับมาเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองช่องก็ยังไม่สามารถตีตื้นขึ้นไปแซงหน้าช่อง 7 และช่อง 3 ได้ สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากความคล่องตัวในการบริหารของสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 และช่อง 9 ที่ยังอยู่ภายใต้การบริหารงานของภาครัฐ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการปรับตัวเพื่อรับมือกับการแข่งขัน ในขณะที่ช่อง 7 และช่อง 3 นั้นเป็นการบริหารงานของภาคเอกชนที่ได้สัมปทานเหมาเวลาจากหน่วยงานรัฐมาดำเนินงานเอง

ทั้งช่อง 5 และช่อง 9 ก็ตระหนักในปัญหาเหล่านี้ จึงเร่งให้มีการปรับองค์กร โดยทั้งสองช่องล้วนแต่มุ่งความเป็นอิสระขององค์กรทั้งสิ้น

"ที่ผ่านมา ช่อง 9 ต้องสูญเสียรายได้ไปเปล่าประโยชน์เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการถูกควบคุมของหน่วยงานรัฐ ตลอดจนการใช้จ่ายจากกระทรวงการคลัง ซึ่งผลจากการเข้ามาตรวจสอบของหน่วยงานรัฐนี้เอง ส่งผลให้เอเยนซี่ไม่มั่นใจ และถอนโฆษณาออกไป" อรสา คุณวัฒน์ ผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. สะท้อนถึงปัญหาความเป็นหน่วยงานรัฐ

ช่อง 9 ภายใต้การกำกับดูแลของ อ.ส.ม.ท. ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในหน่วยงานของกรมประชาสัมพันธ์นั้น เลือกใช้วิธีการจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาในลักษณะขององค์กรเอกชน เพื่อมาทำหน้าที่บริหารงานทางด้านการตลาดให้กับรายการต่าง ๆ ที่ อ.ส.ม.ท.เป็นผู้ผลิตเอง ไม่ว่าจะเป็นรายการโทรทัศน์ หรือ รายการวิทยุ

บริษัทที่ทำการตลาดนี้ จะถือหุ้น 41% และที่เหลือ 51% จะเปิดโอกาสให้เอกชนไม่ต่ำกว่า 2 รายเข้ามาร่วมมือ ซึ่งเท่ากับว่า อ.ส.ม.ท.จะถือหุ้นส่วนใหญ่ และอาศัยความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์จากภาคเอกชนมาช่วยในการบริหารกิจการให้มีความคล่องตัว

ที่ผ่านมา อ.ส.ม.ท. ต้องสูญเสียรายได้จากการโฆษณา อันเนื่องมาจากขั้นตอนของหน่วยงานรัฐ

"รายได้ที่ได้จากการโฆษณาน้อยกว่าเวลาของการโฆษณาจริง เพราะต้องผ่านขั้นตอนยุ่งยาก ต้องผ่านสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ผ่านสำนักงานป้องกันและปราบปรามความประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) ทำให้เอเยนซี่หนีไปลงช่องอื่น" อรสา สะท้อนปัญหา

การจัดตั้งบริษัทการตลาดให้กับรายการผลิตของ อ.ส.ม.ท. จึงเป็นทางออกอย่างหนึ่งในการแก้ปัญหาของช่อง 9 ซึ่ง อรสา กล่าวว่า ในอนาคต ช่อง 9 ก็อาจจะมีบริษัทร่วมทุนกับเอกชนเกิดขึ้นอีก เช่น ผลิตรายการ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ทางด้านสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 สังกัดกองทัพบก ภายใต้การนำของ พล.อ.แป้ง มาลากุล ณ อยุธยา ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับช่อง 5 อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเปิดศึกไพรม์ไทม์ นำละครมาแทนที่เวลาข่าวของช่องอื่น ๆ และการหันมามุ่งเน้นข่าวเศรษฐกิจ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายแยกองค์กรเป็นอิสระ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ด้วยการแยกโครงสร้างองค์กรอิสระใหม่ออกเป็นสายธุรกิจ 9 สายงาน และดึงเอกชนที่มีความชำนาญเฉพาะด้านให้เข้ามาร่วมทุน

วิธีนี้จะทำให้ช่อง 5 มีบริษัทลูกที่จะทำหน้าที่บริหารงาน ตั้งแต่การผลิตรายการ ซึ่งที่ผ่านมา ช่อง 5 ก็เริ่มหันมาเน้นการผลิตมากขึ้น อาทิ การผลิตคอนเสิร์ตทีวี 5 แทนโลกดนตรีที่ถอนออกไป และนิทานก่อนนอน ข่าวทุกต้นชั่วโมง และข่าวภาคค่ำ

นอกจากนี้ ช่อง 5 จะมีบริษัทลูกที่ทำทางด้านการตลาด เพื่อทำหน้าที่ขายโฆษณาให้กับรายการที่ผลิตขึ้นเอง ซึ่งเวลานี้รายการข่าวของช่อง 5 จะเป็นบริษัท มีเดียออฟมีเดียส์เป็นผู้ทำตลาดให้ นอกจากนี้ จะมีบริษัทผลิตฮาร์ดแวร์ ซึ่งจะเริ่มจากบริษัทผลิตโทรทัศน์ที่มีการผลิตภายใต้ชื่อ "RTA" รวมทั้งบริษัททำธุรกิจทางด้านสิ่งพิมพ์ บริษัททำธุรกิจผลิตแผ่นดีวีดี เป็นต้น

ช่อง 5 นับเป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีการปรับเปลี่ยนในเรื่องของการสลัดภาพของการเป็นหน่วยงานทหาร เพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น ซึ่ง พล.อ.แป้ง กล่าวตลอดเวลาว่า เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการทำธุรกิจทีวีในยุคนี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงสูงมาก ทำให้ช่อง 5 จำเป็นจะต้องหันมาทบทวน และเตรียมความพร้อมในเรื่องขององค์กร เพื่อรับมือการแข่งขัน และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.