ปรับยุทธศาสตร์ธุรกิจ เพิ่มความสามารถเวทีโลก


ผู้จัดการรายสัปดาห์(5 ธันวาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ตลาดหลักทรัพย์ฯ "ถ้าตั้งใจจริงก็ทำได้"

กิติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ คือการมองในเรื่องของส่วนประสมการตลาด 4P ซึ่งหลายครั้งอาจจะไม่ได้ผลเพียงพอ ต้องใช้ 3M : Market, Money, Management เข้ามาประกอบ ซึ่งทั้ง 7 ตัวของเครื่องมือการจัดการนี้มักจะใช้ได้ผลในทุกกรณี และสร้างโอกาสให้ธุรกิจประสบผลสำเร็จ

อย่างไรก็ดี การแข่งขันในระดับโลก ไทยเราอาจจะติดขัดใน P ตัวที่ 5 คือเรื่องของ People เป็นปัญหาที่เราสร้าง หรือไทยเราทะเยอทะยานไม่พอ? ซึ่งต้องหันกลับมามองให้ชัดๆ ว่า เราฝึกคนให้เก่งกว่าคนที่นั่งอยู่โต๊ะถัดไป หรือเก่งกว่าคนที่อยู่ออฟฟิศถัดไป แต่ไม่ได้ทำให้เก่งพอจะต่อสู้กับคนนอกประเทศหรือไม่?

เขามองว่า การทำงานในทุกองค์กร ถ้าคิดตามหลักการ 7 ตัว แง่ของบริหารจัดการ ต้องมองได้ว่า คนในองค์กรมีความสามารถในเชิงภาษาและเทคโนโลยีเพียงพอไหม? "ผมเชื่อว่าเราสู้ได้ เพียงแต่ใจไม่สู้ ทำให้ไม่เกิดผลลัพธ์ เราไม่เคยพร้อมอยู่เรื่อยๆ หรือพยายามจะบังคับใจให้พร้อมเสมอ เราต้องบอกใจตัวเองว่าพร้อมตลอดเวลา เหมือนเวลาใกล้จะหมด ที่ผ่านมาคนไทยเราไม่ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง ทั้งๆ ที่ถ้าไทยเราตั้งใจจริง ก็เชื่อว่าเราทำได้"

เขามองว่า หลายปีที่ผ่านมากำไรของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ดีขึ้น แต่ผู้คนก็ยังไม่มีความสุข เพราะมีความคาดหวังหลายอย่างที่อยากทำแต่ไม่ได้ทำ คำถามคือ เราประสบความสำเร็จแน่นอนหรือไม่? ซึ่งอย่างน้อยควรจะดูจาก 2 ปัจจัยจากมิติทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการศึกษา

ซึ่งถ้าไปมองเกาหลี ไทยเราตามไม่ทันในหลายเรื่อง ทำให้ล้าหลัง ในฐานะเอกชนต้องมีส่วนในการรับผิดชอบ ตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ คือ บางหมู่บ้านใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่เคยมีห้องน้ำ ไม่เคยมีทีวี สังคมเมืองก็มีปัญหาอีกแบบ

ดังนั้นการพัฒนายุทธศาสตร์ธุรกิจ ต้องไม่มองแค่ว่าเราจะไปอวกาศกันแล้ว แต่บางพื้นที่รองเท้าแตะยังไม่มีใส่ สังคมไทยต้องเพิ่มการเรียนรู้ เปลี่ยนจากความไม่รู้ ให้มีความรู้ ความเข้าใจแยกแยะได้

มองออกว่าทำไมถ้าเอาธุรกิจน้ำเมาเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วราคาขายปลีกจะถูกลงเพราะมีการระดมทุน แต่ทำไมถ้าเอาธุรกิจไฟฟ้าเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วค่าบริการจะแพงขึ้น ประเด็นถูกหรือแพงเป็นสิ่งที่คนมีความรู้จะสามารถแยกแยะได้

ทรู คอร์ปอเรชั่น"ต้องเปลี่ยนกรอบความคิด"

ศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ทรูเปรียบเหมือนเด็กที่ไปแข่งขันกับผู้ใหญ่ในธุรกิจเดียวกัน ดังนั้นจุดเปลี่ยนที่ต้องทำคือแปลงจากความเป็นเด็กไปหาความเป็นผู้ใหญ่ด้วยการเปลี่ยนกรอบความคิดหรือ mind set เพราะถ้าไม่เปลี่ยนก็ไม่สามารถโตเป็นผู้ใหญ่ได้

การแข่งขันของธุรกิจทุกวันนี้ทุกองค์กรจะมองหาจุดเพิ่มมูลค่า ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาลงทุนของต่างชาติหรือบริษัทไทยออกไปลงทุนต่างประเทศ สิ่งสำคัญคือต้องหาความรู้ หาเทคโนโลยีที่สามารถ up date ตัวเองจากการไปดูงาน ไปฝึกอบรม

เขามองว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดจากคนทำงาน แต่ต้องเกิดจากผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ แล้วนำมาผสมผสานให้เกิดมูลค่าเพิ่ม เกิดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในองค์กร การหลีกเลี่ยงความล้มเหลวในการทำธุรกิจ จะต้องมีความเข้าใจตลาดที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ ลึกซึ้งในตลาดท้องถิ่น เงื่อนไขความเสี่ยง ถ้าไม่อย่างนั้นจะเข้าเร็วออกเร็ว

อีกประเด็นก็คือ การทำธุรกิจจะต้องไม่ใช้ความรู้สึกมาเป็นตัววัด ว่าต้องดีแน่ๆ เพราะนำมาซึ่งความไม่ยั่งยืน กลายเป็นจุดกำเนิดความล้มเหลว สิ่งสำคัญคือข้อมูล ต้องไปหาความรู้และสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้น

อนาคตการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีจะเกิดอย่างรวดเร็ว ดาวน์โหลดเพลงผ่านมือถือจะสูงขึ้นกว่าการขายเทป มือถือลดราคาจากที่เคยเครื่องละ 2 แสนบาทมาเป็น 2 พันบาท ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งข่าวสารข้อมูล ปัญญาความรู้ จะเป็นฐานรากสำคัญของยุค information based society

อมตะ คอร์ปอเรชั่น "ทุนต่างชาติทางลัดโนว์ฮาว"

วิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากประเทศไทยต้องการเติบโตให้ไปดูจีนที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการลงทุน และดึงเงินต่างชาติเข้ามาในประเทศได้นับแสนล้านเหรียญ หรือไต้หวันเองก็มีประสิทธิภาพในการพัฒนาประเทศ จากที่ไทยเคยมีอัตราแลกเปลี่ยน 1 บาทเท่ากับ 2 เหรียญไต้หวัน ตอนนี้ 1 บาทสามารถแลกได้เพียง 70 สตางค์

ประเทศไทยมีทั้งที่ดินและแรงงาน การเปิดทางให้ต่างชาติมาลงทุนในไทยถือเป็นทางลัดของการเรียนรู้โนว์ฮาว และสร้างวิสัยทัศน์การมองตลาดโลกให้เป็นตลาดหนึ่งเดียว กรณีศึกษาของซัมซุงที่เอาชนะโซนี่ได้ ขณะที่ซัมซุงมียอดขายทั่วโลก 7 หมื่นล้านเหรียญ โซนี่ทำได้ 6 หมื่นล้านเหรียญ ซัมซุงมีกำไรสุทธิ 9 พันล้านเหรียญ ขณะที่โซนี่มีเพียง 1.5 พันล้านเหรียญ สิ่งที่แตกต่างกันคือ โซนี่ไม่สามารถคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายและทำวิจัยพัฒนาได้เท่าซัมซุง

วิกรมชี้ว่า ขณะที่คนไทยเก่งแต่กลับมีความสามารถในการสื่อสารต่ำ คุณภาพประชากรไทยเทียบกับสิงคโปร์ จีดีพีของคนสิงคโปร์สูงกว่าคนไทย 10 เท่า จากการวางระบบการศึกษาโดยจ้างมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์มาสร้างรากฐานให้ ทุกวันนี้คนสิงคโปร์ตื่นขึ้นมาสามารถพูดได้ถึง 3 ภาษา

สิ่งที่ประเทศไทยต้องมีและขาดไม่ได้คือ อุทยานวิทยาศาสตร์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในทุกด้านของการพัฒนาประเทศไม่เว้นแม้แต่สินค้าโอทอป คนมีความสำคัญในการสร้างการเติบโตให้องค์กรไทย สามารถเติบโตได้สม่ำเสมอและระยะยาว จึงจำเป็นต้องสร้างคนให้มีความรู้ มีคุณภาพ ไทยเราถึงจะมุ่งไปข้างหน้า

เรียบเรียงจากงานสัมมนา "Sangvian Forum 2005" จัดโดย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ร่วมกับสมาคมศิษย์เก่า X-MBA มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปลายเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา ณ โรงแรมแชงกรี-ลา

ยุทธศาสตร์ก้าวกระโดด

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เล่าว่า ประเทศไทยมีทุกอย่างพร้อม แต่คนไม่เคยพร้อมเลย ดังนั้นถ้าหากหันกลับมาสร้างคนอย่างจริงๆ จังๆ ได้ ก็จะมีโอกาสขึ้นเป็นที่หนึ่ง ซึ่งตัวอย่างนี้เห็นได้ชัดเจนในยุคสมัยที่ญี่ปุ่นสร้างชาติ คนในประเทศช่วยกันผลักดันต่อสู้ ช่วยกันวางแผนจนกลายเป็นที่หนึ่งทางเศรษฐกิจ

หรือหันกลับมาดูเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ทุกวันนี้ก็แซงหน้าไทยไปเรียบร้อยแล้ว เหตุผลง่ายมากเลยว่าทำไมถึงแซงได้ ก็เพราะการจัดอันดับการแข่งขันมาเลเซียทำแต้มได้เหนือกว่าไทยหลายขุม และให้ชัดขึ้นไปอีกเกาหลีใต้ก็เป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ สามารถผลักดันตัวเองขึ้นมาจนประสบความสำเร็จ เป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงสุดในโลก

จุดเด่นของเกาหลีใต้ ดร.สมคิดกล่าวว่า มาจากความที่คนมีความมุ่งมั่นทำงาน บรรลุเป้าหมายให้สำเร็จ ไม่หยุดยั้ง ย่อท้อ มุ่งบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ซึ่งตัวอย่างนี้เห็นได้ชัดเจนในกรณีบริษัทยักษ์ใหญ่ซัมซุง ซึ่งเปลี่ยนทิศทางธุรกิจอนาล็อกสู่ดิจิตอล เบนเข็มเข้าตลาดมือถือ มัลติมีเดียเต็มตัว จากการมองว่ามีศักยภาพมหาศาล และเริ่มต้นพัฒนาวิจัยอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เน้นบุคลากรด้านวิศวกรรองรับธุรกิจ

"ซัมซุงกลายเป็นตราสินค้าของผู้นำ มีส่วนแบ่งในตลาดสูงกินขาดคู่แข่ง นี่คือยุทธศาสตร์แห่งการก้าวกระโดด ไม่ใช่เพียงแค่ค่อยๆ ปรับเปลี่ยน แต่เน้นการใช้สมอง เน้นวิชาการวิจัยและพัฒนามารองรับ ไม่ใช่ใช้เพียงแรงงานอย่างเดียว"

เขายอมรับว่า ไทยไม่ค่อยเน้นแนวทางการสร้างคุณค่า มากสุดที่ทำคือเน้นในคุณภาพสินค้า ทำให้สมองไม่เกิดความคิดสร้างสรรค์ แต่ถ้าหันไปศึกษายุทธศาสตร์เกาหลีใต้ ประเด็นวิชาการไม่ใช่เบื้องหลังความสำเร็จอย่างเดียว แต่มีเรื่องของวัฒนธรรมเข้ามาเป็นตัวเสริมด้วย

เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการใช้ทีมศึกษาเนื้อหาของวัฒนธรรมอย่างถึงแก่นแท้ มีหน้าที่ในการคิดค้นวัฒนธรรมทั้งเก่าและใหม่ เอามาสร้างดารา นักร้อง การ์ตูนแอนิเมชั่น ทุกอย่างเป็นการอุบัติขึ้นโดยตั้งใจ หนังเกาหลีใต้ทำให้คนชาติอื่นรู้จักประเทศ สามารถพัฒนาไปสู่การขายลิขสิทธิ์ สินค้าที่ระลึก เป็นแนวคิดสร้างสรรค์ที่ทำรายได้ให้มหาศาลในทุกอุตสาหกรรม

"ทุกอย่างมาจากความคิดสร้างสรรค์ มีความพยายามมุ่งมั่น ไม่เหยาะแหยะ เป็นความมุ่งมั่นเชิงยุทธศาสตร์ มาจากวิทยาการ ถ้าคนไม่มีคุณภาพอย่าหวังว่าจะคิดสิ่งเหล่านี้ได้"

ดร.สมคิดกล่าวต่อว่า ประเทศไทยยังมีโอกาสก้าวกระโดดได้เหมือนเกาหลีใต้ เพราะอาเซียนเป็นประตูการค้าโลก แต่สิ่งที่ต้องเน้นให้มากคือเรื่องของการสร้างความสามัคคี ไม่ใช่ทำงานไปวันต่อวัน ความตั้งใจจริงทำให้ไทยเราสามารถแข่งขันได้ ไทยเรามีศักยภาพ มีความรู้ มีมันสมอง มีคุณค่า ในขณะที่เกาหลีใต้กล้านำความเปลี่ยนแปลง โอกาสที่กำลังมาของไทยขึ้นอยู่ว่าจะหยิบฉวยไว้ในกำมือหรือไม่

"ทุกวันนี้เกาหลีใต้พยายามผลักดันไอเดียใหม่ๆ หาทางทำให้ตัวเองเก่งขึ้น บ้านเรามีงานหลายอย่างยากต้องช่วยกัน ต้องทำตัวเองให้ตื่นตัวกระฉับกระเฉง รู้ว่าเทรนด์การเปลี่ยนแปลงคืออะไร? มองว่าทั้งโลกคือตลาด ไม่ใช่แค่ประเทศไทย ต่อไปปี 2010 ภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ ไม่ต้องไปบุกตลาดต่างประเทศ เขาก็แห่มากันเอง ถ้าไม่เตรียมพร้อมก็ต้องเตรียมตัวสูญพันธุ์"

เขาย้ำว่า ถ้าไทยไม่เปลี่ยนแปลงก็จะไม่มีวันก้าวกระโดดได้แบบเกาหลีใต้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.