|
แลนด์ฯ มั่นใจครองตำแหน่งเจ้าตลาด ไม่หวั่นทุนข้ามชาติรุกอสังหาฯเมืองไทย
ผู้จัดการรายสัปดาห์(5 ธันวาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
*"อนันต์" มองการลงทุนระยะยาว พร้อมวางแผนตั้งรับกลุ่มทุนต่างชาติ
*ชูนโยบายขยายการลงทุนในธุรกิจแบบครบวงจร เดินหน้าลุยธุรกิจแบงก์รองรับลูกค้าโครงการ
*ฟันธงตลาดอสังหาฯ ปี 49 ยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว ระบุเมกะโปรเจกต์กระตุ้นอสังหาฯ ปลุกทำเลที่อยู่อาศัยโซนใหม่
จากกลไกทางการตลาดประกอบกับแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ทำให้กลุ่มประเทศในโลกที่ 3 ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาจำเป็นต้องลงทุนในระบบสาธารณูปโภค และโครงการต่างๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานประเทศให้มีศักยภาพยิ่งขึ้น ดังนั้น ภาพรวมของอุตสาหกรรมก่อสร้างในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาจึงมีศักยภาพการขยายตัวสูงกว่ากลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว นับตั้งแต่กลุ่มสินค้าประเภทวัสดุก่อสร้าง ไล่เรื่อยไปจนถึงธุรกิจอสังหาฯ ในทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ตลอดจนสิ่งปลูกสร้างประเภทอาคารหรือคลังสินค้าขนาดใหญ่ รวมทั้งที่พักอาศัยจึงมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
แนวโน้มภาพรวมตลาดอสังหาฯ ในปี 49 จึงกำลังก้าวย่างสู่การแข่งขันแบบอินเตอร์เนชั่นแนล เพราะกลุ่มนักลงทุนข้ามชาติขยายการลงทุนในธุรกิจอสังหาฯ เมืองไทยมากขึ้น เนื่องจากมองเห็นศักยภาพการขยายตัวของตลาดอสังหาฯ ในไทย โดยการเข้ามาของกลุ่มทุนข้ามชาติส่งผลให้รูปแบบการแข่งขันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งเป็นการแข่งขันกันเองระหว่างดีเวลลอปเปอร์ท้องถิ่น แต่ในอนาคคตภาวะการแข่งขันของตลาดอสังหาฯ จะเป็นการแข่งขันที่เกิดขึ้นระหว่างดีเวลลอปเปอร์ท้องถิ่นและกลุ่มทุนข้ามชาติ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และจีน ที่ทยอยตบเท้าเข้ามารุกตลาดอสังหาฯ ในไทยอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่แนวโน้มตลาดรวมมีการแข่งขันสูงอยู่แล้ว จากปัจจัยดังกล่าวทำให้ดีกรีการแข่งขันของตลาดอสังหาฯ ในปี 49 เพิ่มความรุนแรงและเข้มข้นขึ้น โดยอาศัยความได้เปรียบด้านเทคโนโลยีก่อสร้างและฐานการเงินที่แข็งแกร่ง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการลงทุนแข่งกับดีเวลลอปเปอร์ท้องถิ่นซึ่งค่อนข้างเสียเปรียบทางด้านฐานการเงิน
แน่นอนที่สุดว่าดีเวลลอปเปอร์ท้องถิ่นจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแผนงานทางการตลาด เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์แข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็กที่ค่อนข้างเสียเปรียบรายใหญ่ เพราะกลุ่มทุนข้ามชาติส่วนใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในไทยมักเลือกที่จะร่วมทุนกับดีเวลลอปเปอร์ท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการลงทุน และเพิ่มขีดความสามารถตลอดจนสร้างอำนาจในการแข่งขันให้เหนือกว่าคู่แข่ง โดยเฉพาะคู่แข่งในกลุ่มทุนข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยเช่นเดียวกัน
แลนด์ฯ ตั้งรับทุกรูปแบบ
ดูเหมือนว่ายักษ์ใหญ่ในธุรกิจอสังหาฯ อย่าง บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จะไม่สะทกสะท้านกับทิศทางการแข่งขันในอนาคต เพราะเชื่อว่าด้วยฝีมือการบริหารของแม่ทัพเอกอย่าง อนันต์ อัศวโภคิน ซึ่งมีประสบการณ์และคร่ำหวอดในแวดวงอสังหาฯ มานานย่อมมีมุมมอง และเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันอยู่ตลอดเวลา โดยพิจารณาจากการกำหนดนโยบายของกลุ่มแลนด์ฯ ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเน้นการดำเนินธุรกิจในรูปแบบที่ครบวงจร
นับตั้งแต่การวางแผนงานและกำหนดนโยบาย รวมทั้งขอบเขตการดำเนินธุรกิจให้กับบริษัทในเครือ ด้วยการวางตำแหน่งสินค้า เจาะกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน เพื่อเลี่ยงปัญหาแย่งลูกค้ากันเอง นอกจากนี้ยังแตกไลน์การลงทุนสู่ธุรกิจใหม่ที่รองรับการขยายตัวของธุรกิจอสังหาฯ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจหลัก โดยการเข้าซื้อหุ้นในบริษัทเงินทุนบุคคลัภย์ เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย ภายใต้ชื่อ “ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์เพื่อรายย่อย” หรือ “Land And House Retail Bank” ซึ่งเน้นปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย 90% ที่เหลือเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล 10% โดยมีฐานลูกค้าในโครงการของ แลนด์ฯ , ควอลิตี้เฮ้าส์ และ เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ เป็นฐานลูกค้าหลักกลุ่มแรก
ระบุอสังหาฯยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว
อนันต์ กล่าวถึงแนวโน้มธุรกิจอสังหาฯ ในปี 49 ว่ายังคงมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะหลังจากช่วงวิกฤตฟองสบู่ผ่านพ้นไปการขยายตัวของธุรกิจอสังหาฯ ยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว หากพิจารณาจากจำนวนผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่ในตลาดประมาณ 500-600 รายในขณะนี้ยังถือว่าอยู่ในอัตราที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ประกอบการที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในช่วงก่อนเกิดวิกฤติฟองสบู่ ซึ่งมีจำนวนกว่า 2,000 ราย และเริ่มลดจำนวนลงเหลือเพียง 50-100 รายหลังจากฟองสบู่แตก
เจ้าพ่ออสังหาฯ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกด้วยว่า จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ทำให้แนวโน้มผลประกอบการในธุรกิจอสังหาฯ ปี 49 ยังคงขยายตัวได้ดี โดยคาดว่าปริมาณการขายบ้านในปีหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 80,000 ยูนิต จาก 70,000 ยูนิตในสิ้นปีนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนเครือข่ายขนส่งระบบราง ซึ่งจะทำให้เกิดทำเลที่อยู่อาศัยใหม่ๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในบริเวณเลียบแนวเครือข่ายระบบราง ซึ่งส่งผลให้อสังหาริมทรัพย์ประเภท คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน และพื้นที่เช่าเพื่อการค้าปลีกขยายตัวควบคู่ไปกับโครงการจัดสรรในแนวราบ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|