"ออมสิน"แบงก์รัฐขวัญใจคนจน ปล่อยกู้รากหญ้าฐานสำคัญที่ถูกเมิน


ผู้จัดการรายสัปดาห์(2 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

รากหญ้ากลุ่มชนที่มักถูกธนาคารพาณิชย์ปฏิเสธการให้สินเชื่อ ด้วยถูกเพ่งเล็งว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง กู้เงินแล้วโอกาสเป็นหนี้เสียค่อนข้างมาก ทำให้กลุ่มชนดังกล่าวถูกปิดตายอยู่ในโลกที่ปราศจากโอกาสการสร้างตัวสร้างอาชีพ ขาดแหล่งทุนที่เป็นปัจจัยสำคัญของการเปิดประตูแห่งโอกาส แต่วันนี้ประตูดังกล่าวได้แง้มเปิดขึ้นโดยผ่านธนาคารรัฐอย่าง "ออมสิน"ที่มาพร้อมกระแสนโยบายประชานิยม กระนั้นก็ตามสำหรับรากหญ้าแล้วการเข้าถึงแหล่งทุนเป็นสิ่งสำคัญเพราะหมายถึงโอกาสในการยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ธนาคารออมสินคือเครื่องมือชิ้นสำคัญที่รัฐใช้เพื่อแก้ปัญหาความยากจนในชนชั้นรากหญ้า ด้วยภาครัฐมองว่าชนชั้นดังกล่าวเป็นฐานหลักที่สำคัญของประเทศ เป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมที่ถ้าสร้างให้แข็งแกร่งแล้วทั้งเศรษฐกิจและประเทศชาติจะมีความมั่นคง แต่ปัจจุบันฐานดังกล่าวมีความอ่อนแอเพราะขาดโอกาสและการได้รับความช่วยเหลือที่ไม่เท่าเทียมทางสังคม

ซึ่งเมื่อเทียบกับคนรวย ภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มักเป็นกลุ่มที่ได้รับความช่วยเหลือเป็นอันดับต้น ๆ ทั้งในเรื่องของแหล่งทุน และนโยบายการสนับสนุนต่าง ๆ จากภาครัฐ ในขณะที่คนจนถูกปฏิเสธและกีดกันออกมาจากสังคม

การให้บทบาทความสำคัญของชนชั้นรากหญ้าต้องเริ่มจากภาครัฐ ที่ต้องยืนมือเข้ามาช่วยเหลือก่อน เพราะสำหรับภาคเอกชนแล้วแม้จะให้การสนับสนุนบ้างแต่ก็แฝงไว้ด้วยผลประโยชน์หรือกำไร เนื่องจากการให้ความช่วยเหลือนั้นมุ่งเน้นไปที่เงินทุน เพราะมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้ชนชั้นรากหญ้ามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยการนำทุนไปสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ ซึ่งรัฐเชื่อว่าเป็นการแก้ปัญหาความยากจนในระยะยาว

กระนั้นก็ตามนโยบายดังกล่าวถูกวิจารณ์ว่าเป็นประชานิยม เพราะนอกจากช่วยเหลือที่ไม่ถูกวิธีแล้วยังเป็นการสร้างหนี้ประชาชนในระดับรากหญ้าให้เพิ่มขึ้นอีก อีกทั้งโครงการต่าง ๆ ที่รัฐทำความสำเร็จก็ยังไม่เป็นที่ประจักชัดมากนัก เช่นโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่ดำเนินมากว่า 2 ปี ก็ยังมีปัญหาในเรื่องการตลาดและช่องทางการจำหน่าย เนื่องจากชาวชุมชนยังไม่สามารถจัดการได้ด้วยตนเอง ต้องพึ่งพาอาศัยรัฐในการประชาสัมพันธ์และหาช่องทางใหม่ๆให้ เป็นภาระที่ต้องเข้าไปอุ้มและดูแลตลอดเวลา

อย่างไรก็ตามภาครัฐพยายามออกมาอธิบายถึงเหตุผลว่า นโยบายการให้ความช่วยเหลือรากหญ้าเป็นการช่วยเหลือด้านแหล่งทุนสำหรับประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ที่ต้องมีความหลากหลายในอาชีพหรือธุรกิจเพื่อให้เศรษฐกิจมีความยืดหยุ่นและมีเสถียรภาพ

สิ่งสำคัญต้องกระตุ้นและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้เข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น ไม่เน้นเฉพาะกระตุ้นเศรษฐกิจในเมือง หรือภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น ต้องส่งเสริมการประกอบธุรกิจของประชาชนในระดับฐานรากที่มีการใช้วัตถุในประเทศ ทำให้ลดการนำเข้าได้ และการกระตุ้นประชาชนกลุ่มนี้จะไม่กระทบต่อดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด

กรพจน์ อัศวินวิจิตร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน บอกว่า ธนาคารได้รับนโยบายของภาครัฐมาปฏิบัติดังเห็นได้จากโครงการธนาคารประชาชน กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง แก้หนี้ประชาชน แปลงสินทรัพย์เป็นทุน หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์โครงกรดังกล่าวล้วนมีเจตนาเพื่อแก้ปัญหาความยากจนการช่วยเหลือดังกล่าวได้ทำควบคู่การส่งเสริมการออม และการบริหารจัดการการเงินด้วย

รูปแบบการให้ความช่วยเหลือประชากรในระดับฐานรากนั้นเรียกว่าสินเชื่อทางการเงินรายย่อย ซึ่งที่ผ่านมาแบงก์ออมสินได้ให้บริการระบบการเงินดังกล่าวผ่านธนาคารประชาชนแล้วกว่า 1.4 ล้านคน โดยไม่นับรวมระดับฐานรากอีก 13 ล้านคนที่เข้าร่วมโครงการระบบการเงินรายย่อยของรัฐในโครงการอื่น ๆ อย่างกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และแปลงสินทรัพย์เป็นทุน

การแก้ปัญหาความยากจนด้วยระบบที่เรียกว่าสินเชื่อทางการเงินรายย่อยนั้นไม่ได้มีที่ประเทศไทยเท่านั้น ในต่างประเทศอย่างบราซิล บังคลาเทศ กัมพูชา โมรอคโคก็ล้วนแล้วแต่ให้ความช่วยเหลือคนจนในรูปแบบดังกล่าว

มูฮัมหมัด ยูนัส ผู้ก่อตั้งธนาคารกรามีน (Grameen Bank) ธนาคารปล่อยกู้ให้กับคนจนรายใหญ่ที่สุดของบังกลาเทศ บอกว่า สินเชื่อทางการเงินรายย่อยวัตถุประสงค์คือเพื่อสร้างอาชีพให้คนจน ไม่ใช่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคลที่จะนำไปซื้ออะไรก็ได้ตามที่เขาต้องการ ด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันนั้นเองทำให้ประชาชนในบัคลาเทศหลายครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

"ธนาคารกรามีน ปล่อยสินเชื่อโดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันและไม่มีเครื่องมือทางกฎหมายรองรับ แต่ปัจจุบันได้พิสูจน์แล้วว่าธนาคารประสบความสำเร็จ และมีส่วนช่วยเหลือคนจนจำนวนมากให้มีแหล่งกู้เงิน และขยับฐานะชีวิตของพวกเขาเองให้ดีขึ้น ลูกค้าบางคนเคยเป็นขอทานตามท้องถนนแต่ทุกวันนี้มี ธุรกิจขายของเล็ก ๆ เป็นของตนเองนั้นเพราะได้รับโอกาสจากธนาคาร"

สิ่งสำคัญอีกอย่างคือดอกเบี้ย ปัญหาดังกล่าวมักกระทบต่อประชาชนกลุ่มนี้ สำหรับธนาคารกรามีนนั้นเห็นว่ากิจการดังกล่าวมีขึ้นเพื่อช่วยเหลือคนยากจนตั้งเพื่อทำกำไรจากคนจน ดังนั้นเรื่องดอกเบี้ยไม่ควรที่จะคิดเกินอัตราดอกเบี้ยของธนาคารทั่วไป คือไม่เกิน 5%จากอัตราสูงสุดของธนาคารทั่วไป

มูฮัมหมัด ยูนัส บอกว่า ธนาคารทั่วไปพยายามไม่ให้เงินกู้แก่คนจนเพราะถือว่าไม่มีความสามารถ แต่ทางกรามีน ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าไม่เป็นเช่นนั้นด้วยการปล่อยกู้ขอทานจำนวน 55,000คน เพื่อกระตุ้นให้คนจำนวนดังกล่าวเริ่มทำธุรกิจซึ่งปรากฏว่าได้ผล เพราะความเป็นจริงแล้ว ทุกคนมีศักยภาพเหมือนกันเพียงแต่ขาดโอกาสเท่านั้น

ความยากจนเหมือนปัญหาโลกแตก นโยบายที่ออกมาเพื่อขจัดปัญหาเหล่านี้จึงเสมือนการขายฝัน เพราะการแก้ไขหรือให้ความช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ไม่อาจทำได้ 100% แต่อย่างน้อยก็เชื่อว่าคนจำนวนหนึ่งที่ต้องการโอกาส จะมีความพร้อมในการพัฒนาตนเองหลังได้รับความช่วยเหลือ และคนกลุ่มนี้จะกลายเป็นรากฐานสำคัญสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจและประเทศ

และสำหรับออมสินเอง ในบทบาทธนาคารเฉพาะกิจ คือการเติมเต็มโอกาสให้กับประชาชนในระดับฐานรากหญ้า


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.