การกระตุ้นยอดขาย โดยใช้วิธีการอัดโฆษณา จึงเป็นเรื่องที่เจ้าของโครงการทั้งหลายมองว่า
เป็นเรื่องที่จำเป็น เพื่อระบายสินค้าคงค้างออกไปให้ได้มากที่สุด
ตัวเลขยอดโฆษณาทางด้านที่อยู่อาศัยจากสื่อต่าง ๆ ที่ฝ่ายวิจัยของบริษัทมีเดียโฟกัสทำไว้
จึงปรากฏว่า ในขณะที่ปี 2535 ตัวเลขสูงถึง 2,735 ล้านบาท ปี 2536 เพิ่มเป็น
3,632 ล้านบาท ปี 2537 ยิ่งสูงขึ้นเป็น 5,646 ล้านบาท
แต่เมื่อปี 2538 ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอต่อเนื่องกันหลายปี ประกอบกับ นักลงทุนหลายรายพบความจริงว่า
การทุ่มงบโฆษณาอย่างหนักในบางโครงการไม่เป็นผล ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เป็นใจทำให้ไม่สามารถเร่งเร้าลูกค้าให้ตัดสินใจซื้อได้อีกแล้ว
ในขณะที่สินค้าในมือผู้ประกอบการยังมีเหลือ และเงินกลับไม่ไหลเข้าบริษัทตามแผนงานที่วางไว้
หลายบริษัทจึงเริ่มนโยบายรัดเข็มขัด และชะลอโครงการหรือเฟสต่าง ๆ ลง อัตราการเติบโตในงบโฆษณาของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จึงลดลง
ยอดโฆษณาปี 2538 พบว่า ลดลงเหลือเพียงประมาณ 4,208 ล้านบาท แต่พอสิ้นสุดปี
2539 ปรากฏตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็น 5,559 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนี้ แหล่งข่าวในวงการอสังหาริมทรัพย์
กล่าวว่า ในปี 2539 มีโครงการน้องใหม่เกิดขึ้นหลายโครงการ ประกอบกับผู้ประกอบการหลายรายที่หยุดหรือชะลอโครงการไว้
จำเป็นต้องเปิดขายต่อไป รวมทั้งค่าโฆษณาในสื่อต่าง ๆ ก็ต่างพากันขึ้นราคากันเป็นส่วนใหญ่
อาจจะกล่าวได้ว่า แลนด์แอนด์เฮ้าส์เป็นค่ายแรก ๆ ทางด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีการเคลื่อนไหวปรับปรุงรูปแบบในการโฆษณาโดยแทนที่จะหว่านโฆษณา
ในโครงการต่าง ๆ ลงตามหน้าหนังสือพิมพ์หลาย ๆ ฉบับ กลายเป็นรวบรวมโครงการทั้งหมดที่กำลังขายให้รายละเอียดเพียงสั้น
ๆ บอกเพียงทำเลที่ตั้ง เนื้อที่ ราคา หมายเลขโทรศัพท์ และกิจกรรมพิเศษในช่วงนั้น
ๆ ไว้แล้วทำเป็นใบแทรกลงเฉพาะหนังสือพิมพ์ที่คาดว่าเป็นลูกค้าเป้าหมายให้มากที่สุด
โดยใช้ชื่อว่า "แลนด์แอนด์เฮ้าส์ไกด์"
ปี 2539 แลนด์แอนด์เฮ้าส์ไกด์จะลงในสื่อสิ่งพิมพ์ประมาณ 5 ฉบับของทุกวันพฤหัสบดี
โดยใช้งบประมาณ 80 ล้านบาท ในปี 2540 อนันต์ อัศวโภคิน กรรมการผู้จัดการใหญ่
ประกาศชัดเจนว่า จำเป็นต้องรีดไขมันออก โดยเฉพาะในส่วนของงบโฆษณาที่จะใช้น้อยลงกว่าปี
2539 ซึ่งใช้ไปประมาณ 200 ล้านบาทเศษ อีกประมาณ 20-25%
ในขณะเดียวกัน ค่ายใหญ่อย่างพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) กลับมีความเห็นทีแตกต่าง
ในปีที่ผ่านมา พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ใช้งบในการโฆษณาประมาณ 133 ล้านบาท
เท่ากับ 3% ของยอดขายประมาณ 4,500 ล้านบาท ส่วนปีนี้ ตั้งยอดขายไว้ 5,500
ล้านบาท ก็ยังจะตั้งตัวเลขโฆษณาไว้ที่ 2.5-3% เช่นเดิม
พาณีพรรณ ทิสาพงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ของ พร็อพเพอร์ตี้
เพอร์เฟค ชี้แจงกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่า งบการโฆษณาของบริษัทคงไม่ลดลง
แต่จำเป็นต้องวางแผนในการลงโฆษณามากขึ้น ศึกษารายละเอียดของสื่อต่าง ๆ ที่มีเพิ่มขึ้นในช่วง
1-2 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นสิ่งพิมพ์ ทีวี หรือคลื่นวิทยุต่าง ๆ เพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของลูกค้ามากที่สุด
"เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ในเรื่องการวางแผน เพราะกลุ่มลูกค้าของบริษัทไม่ใช่กลุ่มที่หยุดนิ่ง
แต่จะติดตามสื่อใหม่ ๆ ที่ออกมาตลอดเวลา" พาณีพรรณ กล่าว
ส่วนในปี 2540 นี้ ทางค่ายพร็อพเพอร์ตี้ฯ จะเปลี่ยนรูปแบบของ เพอร์เฟค นิวส์
ที่เป็นใบสอดแทรกในลักษณะเดียวกับแลนด์แอนด์เฮ้าส์ไกด์ มาใช้แจกเฉพาะกลุ่มลูกค้าเท่านั้น
จุดประสงค์ก็เพื่อให้ลูกค้าได้ติดตามข่าวสารความคืบหน้าของโครงการต่าง ๆ
ของบริษัท นอกจากนั้น ได้ออกใบแทรกที่ใช้ชื่อว่า "บ้านใหม่" สอดตามสื่อต่าง
ๆ แทนเพอร์เฟ็คนิวส์ ซึ่งในบ้านใหม่นี้ จะมีข่าวสารรายละเอียดต่าง ๆ ของบริษัท
รวมทั้งโครงการใหม่ ๆ ให้ลูกค้าและประชาชนทั่วไปได้ใช้เป็นคู่มือเพื่อประกอบในการตัดสินใจซื้อโครงการอีกด้วย
โดยกำหนดให้มีเดือนละ 1 ครั้ง เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2540
สำหรับผู้ประกอบการทางด้านอสังหาริมทรัพย์รายใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในธุรกิจนี้หลายราย
เช่น แชลเลนจ์กรุ๊ป ของราศรี บัวเลิศนั้น บุณฑริก กุศลวิทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและการขาย
กล่าวว่า ทางบริษัทได้วางงบประมาณในการโฆษณาไว้ประมาณ 3-5% เช่นเดียวกับค่ายอื่นๆ
และในปี 2539 ที่ผ่านมานั้น ใช้ไปประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งนับว่ามากกว่าทุก
ๆ ปีที่ผ่านมา เพราะจากเดิมแทบจะไม่ได้ใช้เลย สาเหตุเป็นเพราะปีที่แล้ว ทางบริษัทมีโครงการที่เปิดใหม่หลายโครงการ
ส่วนในปี 2540 นั้น ถึงแม้จะอยู่ในช่วงรัดเข็มขัด เช่นเดียวกับโครงการอื่น
แต่ก็จำเป็นต้องใช้งบประมาณในการโฆษณาเท่าเดิม เพราะหลายโครงการกำลังพัฒนาต่อเนื่อง
แต่ต้องหาวิธีการให้รัดกุมขึ้น เช่น อาจจะใช้วิธีการไดเร็กต์มากขึ้น โดยหาฐานจากลูกค้าเดิม
ทางด้านโฆษณาทางทีวีนั้น ทางบุณฑริกา ยืนยันว่า เป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะบริษัทเป็นน้องใหม่ทางด้านที่อยู่อาศัย
จำเป็นต้องให้รู้จักในวงกว้าง
ส่วนบริษัทอื่น ๆ ผู้บริหารก็จะออกมาให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้ว่า งบประมาณทางด้านโฆษณา
และประชาสัมพันธ์ของบริษัทนั้น แน่นอนว่า ในปีนี้ คงต้องถูกควบคุมอย่างหนัก
เพื่อเป็นการลดต้นทุน แต่ก็เชื่อว่า ไม่น่าจะเป็นจำนวนที่ลดลงอย่างมากมาย
เพราะในปีนี้การแข่งขันทางด้านการขายก็ไม่ได้ลดลง เพียงแต่ว่าจะหาวิธีการเช่นใดให้ตรงกับลูกค้าเป้าหมายมากที่สุด
การลงโฆษณาหว่านในทุกสื่อสิ่งพิมพ์ครั้งละหลาย ๆ หน้าคงเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว