เคทีจีวาย ออกแบบบ้านอย่างรู้ใจคนรวย


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

โครงการการ์เด้นซิตี้ลากูน ประชาชื่น โครงการลดาวัลย์ ลากูน โครงการทรอปิคาบานา พาราไดซ์ ไอส์แลนด์ โครงการลัดดาวัลย์ บางขุนเทียน โครงการนันทวัน ศรีนครินทร์ บ้านจัดสรรในโครงการสนามกอล์ฟเลควูด ล้วนแล้วแต่เป็นบ้านราคาแพง ราคาโดยเฉลี่ยประมาณหลังละ 10 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งประสบความสำเร็จในการขายและเป็นที่รู้จักกันดี ในวงการที่อยู่อาศัย

เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบริษัทสถาปนิกเคทีจีวาย แอสโซซิเอทส์ จำกัด ที่มีฐนิตพงศ์และสุนันทพัฒน์ เฉลิมพันธ์ เป็นเจ้าของบริษัท และเป็นบริษัทสถาปนิกที่เป็นที่รู้จักและโด่งดังในช่วงที่สถานการณ์ทางด้านที่อยู่อาศัยกำลังซบเซา การทำงานของคนกลุ่มนี้จึงน่าสนใจทีเดียว

สุนันทพัฒน์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ จาก California Polytechnic มลรัฐแคลิฟอร์เนีย หลังจากได้ร่วมงานกับบริษัทออกแบบที่แคลิฟอร์เนียประมาณ 12 ปี ก็ได้เบนเข็มมาเมืองไทย เมื่อปี 2534 ซึ่งเป็นปีที่รู้กันอยู่ว่ากำลังเกิดโอเวอร์ซัปลายทางด้านที่อยู่อาศัยในบางประเภทอย่างหนักในเมืองไทย

ภาวะตลาดก็กำลังมีปัญหา บริษัทเองก็เพิ่งตั้งใหม่ ไม่มีเส้นสาย ไม่มีคนรู้จักในวงการออกแบบ หรือในวงการธุรกิจ การเดินเข้าไปขอแนะนำตัว แนะนำผลงานที่เคยทำมา เลยเป็นวิธีการเดียวที่จะได้งานมา "บางคนเคยหัวเราะเยาะเย้ยความคิดในการออกแบบของผมด้วยซ้ำไป บางคนก็บอกว่าน่าสนใจดี แต่ผมมีสถาปนิกของผมอยู่แล้ว" สุนันทพัฒน์ หรือคุณแพท ของเพื่อนพ้องน้องพี่ในเคทีจีวาย เล่าให้ฟังยิ้ม ๆ

จนในที่สุด โอกาสก็มาถึงเมื่อเขาได้พบกับนพร สุนทรจิตต์เจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) มือขวาของอนันต์ อัศวโภคิน ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการธุรกิจที่อยู่อาศัยบ้านเรา แรก ๆ เขาได้ออกแบบบ้านเพียง 2 หลังในโครงการมัณฑนา ศรีนครินทร์

หลังจากนั้น ตลาดบ้านราคาสูงราคา 10 ล้านขึ้นไปของกลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จึงมีชื่อของ เคทีจีวาย เป็นผู้ร่วมออกแบบอยู่เกือบทุกโครงการ โดยเฉพาะโครงการลัดดาวัลย์ลากูน บ้านเศรษฐีระดับราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปของแลนด์แอนด์เฮ้าส์ที่ในช่วงแรกของการเปิดขายนั้นไม่ประสบความสำเร็จในการขายอย่างมาก อนันต์เคยกล่าวยอมรับว่าทำเลบนถนนเส้นปทุมธานี-รังสิต สู้โครงการบนเส้นรังสิต-องครักษ์ไม่ได้ ประกอบกับแบบบ้านที่ไม่เป็นที่พอใจกลุ่มลูกค้าระดับสูงมาก ทำให้เราขายได้ช้า และปรากฏว่า หลังจากนั้น ทางเคทีจีวายก็ได้ไปปรับปรุงแบบ ดีไซน์โปรดักส์นี้ใหม่หมด

แลนด์แอนด์เฮ้าส์เป็นใบเบิกทางที่สวยงามให้กับเคทีจีวายจนสามารถแจ้งเกิดบนถนนสายนี้ในเมืองไทยได้อย่างสวยงาม และโครงการที่เข้ามาต่อจากนั้นก็ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ และโครงการบ้านของมหาเศรษฐีเกือบทั้งสิ้น เช่น การ์เด้นท์ซิตี้ ของวันชาติ ลิ้มเจริญ บ้านในสนามกอล์ฟเลควูด ของเภา สารสิน คลับเฮ้าส์ ในยิ่งรวยธานี ของราศรี บัวเลิศ โครงการคอร์ท ยาร์ทโฮม ที่เชียงใหม่ของกิตติ ยั่งยืน และเมื่อเร็วนี้ ก็ได้รับงานออกแบบในโครงการโอเชียน มารีน่า ของกลุ่มอัสกุล และที่อยู่อาศัยในที่ดินบางส่วนของโครงการนวธานี ของสุขุม นวพันธ์

จากผลงานที่กล่าวถึง จะเห็นได้ว่า บริษัทประสบความสำเร็จในการดีไซน์บ้านราคาแพง ของกลุ่มผู้คนที่มีรายได้ค่อนข้างสูง ซึ่งการดีไซน์แบบบ้านเพื่อให้เป็นที่ถูกใจไม่ใช่เรื่องง่าย ในเมื่อสุนันทพัฒน์เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของชีวิตตนเองไม่ใช่คนร่ำรวย เคยทำงานปั๊มน้ำมัน และเป็นเด็กเสิร์ฟด้วยซ้ำไปในช่วงที่ศึกษาอยู่ต่างประเทศ

"ผมขวนขวายในการคบคน เพื่อค้นคว้าหาความรู้ เข้าหาผู้หลักผู้ใหญ่ เรียนรู้ประสบการณ์ เก็บเกี่ยวจากคนรอบตัว แล้วศึกษาเยอะ อ่านดิฉัน อ่านแพรว อ่านให้รู้ว่าใครเป็นใครในวงการ ศึกษาเพื่อให้รู้ว่าคนประเภทนั้นเขาอยู่กินกันอย่างไร นี่เป็นเรื่องที่เราต้องขวนขวายช่วยตัวเอง เราต้องเข้าใจด้วยว่า กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเรา ไม่ว่าจะซื้อบ้านราคา 1 ล้านหรือ 40 ล้าน ไลฟ์สไตล์ของเขาเป็นอย่างไร เราต้องคำนึงถึงผู้บริโภคเป็นหลัก จะได้ดีไซน์ได้ถูกเป้า และเป็นที่เข้าใจได้ คนกลุ่มหนึ่งซื้อบ้านเป็นหลังแรก ราคา ทำเล เป็นเรื่องหลักที่เขามอง แต่พอถึงอีกระดับ เขาอาจจะไม่สนใจ แต่จะดูว่าบ้านโอ่โถง หรูหรา มีห้องเอนเตอร์เทนไหม มีที่จอดรถกี่คัน มีห้องเล่นเกมส์หรือเปล่า จุดนี้เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า เราเข้าใจตลาด แล้วทำให้ออกแบบไม่พลาด แต่ก็แน่นอนว่าราคาและโลเกชั่นต้องมีส่วนประกอบด้วย"

ต้องเข้าใจตลาดเป็นสิ่งหนึ่งที่เขาย้ำว่า สถาปนิกรุ่นใหม่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก จึงจะประสบความสำเร็จ สุนันทพัฒน์อธิบายต่อว่า บ้านจัดสรรจากบ้าน 3-4 ล้านบาทที่เคยได้เนื้อที่เป็นไร่ เหลือเพียง 200 กว่าตารางวา ทำอย่างไรให้เขารู้สึกว่าเขายังได้ความหรูหรา ฟังก์ชั่นใช้สอยครบครัน ต้องศึกาาตลาดตรงนี้ให้ชัดเจน

สิ่งหนึ่งที่สุนันทพัฒน์ภูมิใจก็คือ เมื่อปี 2537 เคทีจีวายได้ออกแบบโครงการลดาวัลย์ รังสิต จนได้รับรางวัลโกลด์นัทเก็ท อะวอร์ด และโครงการการ์เด้นท์ ซิตี้ลากูน ได้รับรางวัลอะวอร์ด ออฟ เมอริท

ปี 2538 โครงการชัยพฤกษ์ สุวินทวงศ์ ได้รับรางวัลอะวอร์ด ออฟ เมอริท จากการประกวดพีซีบีซี อะวอร์ด ที่เมืองซานฟรานซิสโก อเมริกา ซึ่งเป็นการประกวดผลงานการออกแบบของประเทศในเขตภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกและ 14 รัฐทางตะวันตกของประเทศสหรัฐอเมริกา

ดูราวกับว่าที่ผ่านมา ทางบริษัทไม่ได้สนใจบ้านระดับราคาปานกลางหรือล่างเลย แต่จริง ๆ แล้ว หลายโครงการเขาก็ทำอยู่เพียงแต่เขามีความคิดว่า "บ้านราคาล่าง ๆ ก็จะมีสูตรของมันอยู่ มันจะต้องอยู่ในงบประมาณ ในเวลาที่กำหนด ทีนี้การควบคุมมันลำบาก ผมจึงถนัดที่จะทำบ้านราคาสูงมากกว่า"

นอกจากนั้น เคทีจีวาย ก็ยังขวนขวายงานไปทางด้านตึกสูง โรงแรม และรีสอร์ต รวมทั้งในประเทศจีน อินโดนีเซีย เวียดนาม และพม่าอีกด้วย

ส่วนตลาดบ้านราคาสูง ซึ่งเคยเป็นผลงานหลักของบริษัทนั้น สุนันทพัฒน์มีความเห็นว่า ความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ยังมี แต่มีเพียงจำกัด "แต่นับจากนี้ไปคงต้องยอมรับว่าเงินมันฝืดลง ต้องสโลว์ดาวน์ลงแน่นอน" เขาให้ความเห็น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.