เซียนฟันธง! ธุรกิจ 'กาแฟ'เนื้อหอมสุด ในปีระกา


ผู้จัดการรายสัปดาห์(1 ธันวาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ในรอบปี 2548 ธุรกิจกาแฟ นับว่าเป็นธุรกิจเนื้อหอมประจำปีระกาก็ว่าได้ ทุกตรอกซอกซอยจะเห็นร้านกาแฟใหม่ๆ เกิดขึ้นจำนวนมากทั้งในรูปแบบร้านกาแฟเต็มรูปแบบ คอนเนอร์ หรือบูทเล็กๆ ตั้งอยู่หัวมุมถนน

และตลอดปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในรอบปีนี้ ได้เกิดการเปลี่ยนในนวัตกรรมของธุรกิจหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่นำเข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสนับสนุนธุรกิจและการสร้างจุดขายของแต่ละแบรนด์เพื่อความโดดเด่นก็ตาม

"ผู้จัดการรายสัปดาห์" ฉบับนี้จึงได้รวบรวมข้อมูล ความเคลื่อนไหวของธุรกิจกาแฟของแฟรนไชส์รายต่างๆ มาให้รู้กันอย่างเต็มอิ่ม

ตระกูลบิ๊ก ลุยธุรกิจร้านกาแฟ

การแข่งขันในธุรกิจกาแฟ ดุเดือดและร้อนแรงขึ้นฉายแววกันให้เห็นตั้งแต่ต้นปี ด้วยจำนวนการเกิดใหม่ของธุรกิจกาแฟที่เพิ่มขึ้น จะเห็นว่าเป็นช่องว่างที่รายใหญ่เข้ามาลงเล่นในธุรกิจนี้ แต่ที่เลือกว่ายังสร้างความฮือฮาให้กับวงการคงไม่พ้น 'cafe inn' ของตระกูลชินวัตร ตระกูลมหากิจศิริ เจ้าพ่อแห่งวงการกาแฟยี่ห้อเนสกาแฟ ที่ผนึกความร่วมมือของรุ่นลูก ‘โอ๊ค’ พานทองแท้ ชินวัตร กับ ‘อุษณีย์ มหากิจศิริ’ เปิดร้านกาแฟสาขาแรกกลางสยามสแควร์แหล่งรวมกลุ่มเทรนดี้ ที่ประกาศตัวขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ด้วยการนำเสนอรูปแบบการให้บริการที่แปลกใหม่ สร้างความฮือฮาให้กับวงการร้านกาแฟและคอกาแฟที่อยากไปลิ้มลองกับ ‘แคปซูลกลิ่นกาแฟ’ ที่กำลังเป็นที่นิยมในแถบยุโรป

รวมถึงการให้บริการอินเทอร์เน็ต ภายในร้านรองรับกลุ่มลูกค้าทุกเพศ วัย ขณะเดียวกันยังทำ CRM เก็บข้อมูลลูกค้าสำหรับการบริการที่ประทับใจในครั้งต่อไป ถึงความชอบในกาแฟรสชาติต่างๆ ซึ่งนับเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่สามารถปรับการให้บริการที่ดีต่อไปในอนาคต

ตามติดมาด้วย 'ทรู คอร์ปอเรชั่น' ทุ่มทุนกว่า 6 ล้านบาทเปิด 'ทรู ช้อป แอท ข้าวสาร' ขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ 'Sip & Sure' เป็นการผสมผสานเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตกับชีวิตประจำวัน โดยสาขาแห่งแรกนี้เป็นสาขาต้นแบบ ที่เตรียมจะขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์

ทั้ง 2 รายที่กล่าวมาแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวงการธุรกิจกาแฟ คือการเสนอจุดขายในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อการสร้างรายได้หลักมาจากธุรกิจกาแฟ หรือรายได้เสริม เพื่อเพิ่มบริการที่ครบวงจรและเป็นไลฟ์สไตล์ที่ไปได้ดีกับสินค้าหลักอย่าง ทรู คอร์ปอเรชั่น

'ทำเลทอง ซ่อนอยู่อีกมาก'

ตลอดหลายปีที่ผ่านมาทำเลการค้าจะมุ่งไปที่แหล่งชุมชนที่มีการค้าขาย ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า ตลาด แต่ด้วยทำเลที่ปัจจุบันค่อนข้างจำกัด การเกิดใหม่ของธุรกิจ ทำให้ทำเลกลายเป็นสิ่งที่หายาก ทุกธุรกิจพุ่งเป้าไปที่ทำเลทอง นั่นหมายถึงการคืนทุนที่เร็วกลับมาด้วย

แต่กับธุรกิจกาแฟนั้น ในรอบปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่ามีทำเลทองซ่อนอยู่อีกเป็นจำนวนมาก และปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนั้น ซึ่งเป็นแนวคิดของ 'ประวิทย์ จิตนราพงศ์' กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด ที่การลงทุนในแต่ละครั้งการพิจารณา 'ทำเล' มาเป็นอันดับหนึ่งเสมอ

"การมองหาทำเล เราถือว่าเป็นหนึ่งที่มองทำเลทะลุ อย่างสนามบินเราก็ไปบุกเบิก สู้ราคาเต็มที่ ทำให้แบรนด์เราเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ ยอมลงทุนกับพื้นที่ที่เหมาะสมเพราะทำเลที่เป็นรอง แม้ต้นทุนค่าเช่าต่ำกว่าแต่กลุ่มเป้าหมายก็น้อยลงไปด้วย"

จะเห็นว่าแผนการขยายสาขาของแบล็คแคนยอน จะเจาะไปยังทำเลใหม่ๆ แทนการขยายไปยังห้างสรรพสินค้าอย่างที่มาผ่าน เช่น ปั๊มน้ำมัน โรงพยาบาล ทั้งนี้ ยังรวมถึงการย่อขนาดพื้นที่ตามทำเลที่ตั้ง ทำให้ธุรกิจเกิดการคล่องตัวในการขายมากขึ้นด้วยทำเลทองที่แข่งขันกันสูง

ซึ่งทำเลก็เปรียบเป็นช่องทางการจำหน่ายที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้ได้มากที่สุด ที่ได้เห็นการเสนอขายกาแฟ ยังเข้าไปอยู่ในสถานที่ต่างๆ ธนาคาร สำนักงานใหญ่ๆ รวมถึงสปอร์ตคลับต่างๆ ทั้งนี้ด้วยธุรกิจกาแฟ และด้วยตัวสินค้าสามารถเข้าไปเป็นส่วนผสมที่ลงตัวกับในหลายๆ ธุรกิจ ที่ต้องการกาแฟเข้ามาสนับ สร้างความสะดวกสบายให้กับลูกค้าหรือบริการที่ครบวงจร

เช่นเดียวกับ 'สตาร์บัคส์' สาขาธนาคารกสิกรไทย ถนนพหลโยธิน ที่ธนาคารกสิกร ต้องการการให้บริการที่ครบวงจรกับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการธนาคาร ระหว่างรอใช้บริการกับธนาคาร

กาแฟกับร้านหนังสือ ก็เป็นคอนเซ็ปเช่นเดียวกัน ที่จะเห็นร้านขายหนังสือทั่วไปในขณะนี้มีกาแฟให้บริการลุกค้า ในขณะเลือกซื้อหนังสือหรือสามารถอ่านพร้อมกับการรับประทานกาแฟ ซึ่งในยุคแรก ๆ ก้ที่ร้านหนังสือนายอินทร์ สาขาท่าพระจันทร์ ที่บริเวรชั้น 2 จัดเป็นมุมกาแฟ และยังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมเปิดตัวหนังสือใหม่ๆ อีกด้วย

นอกจากทำเลที่จำกัด ขนาดของสถานที่ก็มีส่วนสำคัญ เพราะนั้นหมายถึงราคาค่าเช่าที่จะสูงขึ้นตามขนาดของพื้นที่ จะเห็นภาพของการลดขนาดพื้นที่ขาย นั้นหมายถึงการลงทุนที่ลดลง ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนของที่ต้องการเข้ามาลงทุน แต่มีเม็ดเงินไม่มากได้อีกด้วย

แม้กระทั่งรายใหญ่อย่าง บริษัท วี.พี.พี. กรุ๊ป บริษัทที่ดำเนินธุรกิจกาแฟครบวงจร ที่คลอดแบรนด์คาเฟ ดีโอโร่ ก็ได้เพิ่มรูปแบบการลงทุนคือ 'ดีโอโร่ คอฟฟี่ สเตชั่น' เป็นคอนเนอร์ มุ่งที่จะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่ายเน้นการบริการที่รวดเร็วและสามารถซื้อกลับบ้านได้ ซึ่งใช้พื้นที่ประมาณ 7 ตร.ม.เท่านั้น

หรือบ้านไร่กาแฟ ที่คลอดแฟรนไชส์ 'บอรกไทย' กาแฟไทยชง ด้วยรูปแบบรถเข็น ซึ่งเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ลงทุนที่มีพื้นที่หรือทำเลไม่มาก รวมถึงเงินลงทุนที่ลงลงตามไปด้วย และเห็นชัดเจนในนโยบายของ แบล็คแคนยอน ที่ 'ประวิทย์' ให้ข้อมูลว่า จะให้น้ำหนักการขยายสาขาพื้นที่ขนาดเล็ก เนื่องจากโอกาสการหาทำเลในพื้นที่เล็กๆ หาได้ง่ายคืนทุนได้เร็วเงินลงทุนไม่สูงและมีสัดส่วนการขยายตัวได้ดี

ฉะนั้นผู้ประกอบการกาแฟแต่ละรายหรือแฟรนไชซอร์ทั้งหลาย ต่างเห็นโอกาสของการขยายการลงทุนไปยังทำเลใหม่ๆ ที่ไม่ยึดติดจะต้องเป็นห้างสรรพสินค้าเพียงอย่างเดียวเข้านั้น ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ใดที่มีผู้คนธุรกิจกาแฟสามารถเข้าไปได้ทั้งนั้นขอให้มีผู้ซื้อและนำเสนอสินค้าให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายนั้น ๆ จึงจะเห็นว่าตลอดปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าธุรกิจกาแฟที่ขายตัวตัวของมันเองหรือเชื่อมโยงกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจึงมีให้เห็นเป็นจำนวนมาก

ธุรกิจต่อเนื่องขยับรับทัพนักลงทุน

จากการเข้าสู่ธุรกิจกาแฟของบริษัทหรือแบรนด์ขนาดใหญ่ กลางและเล็ก ทำให้มูลค่าการค้ายอดจำหน่ายในส่วนของร้านกาแฟประมาณในรอบปีนี้มีมูลค่าสูงถึง 2,000 ล้านบาท ซึ่งการขยายตัวยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ ภาพการแข่งที่ส่อแววมาตั้งแต่ต้นปีนั้น รายใดที่มีสายป่านยาวเริ่มขยับขยายธุรกิจในรูปแบบใหม่ รวมถึงการขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ เช่นเดียวกับการแบรนด์ไทยรายใหญ่ที่อยู่ในวงการกาแฟมายาวนานกว่า 12 ปี ที่ปัจจุบันมีสาขาที่อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ดูไบ พม่า และเล็งขยายไปยังจีนและเวียดนาม

นอกจากภาพการเข้ามาของนักลงทุนทุกระดับ ยังเห็นการสนับสนุนของผู้ประกอบการรายใหญ่ด้านวัตถุดิบทั้งกาแฟ และผู้นำเข้าเครื่องทำกาแฟจากต่างประเทศ เช่น โซลิโต้ (Zolito) บริษัทนำเข้าเครื่องกาแฟหลายยี่ห้อ ที่ในช่วงกลางปีที่ผ่านมามา ได้นำเข้าเครื่องทำกาแฟใหม่ล่าสุดจากต่างประเทศ ด้วยดีไซน์เก๋ ที่ผู้บริหาร 'วัชรี ลีวุฒนันท์' ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและการตลาด ให้ความเห็นว่า นอกจากคุณภาพของเครื่องในการทำชอตเอสเพรสโซ่ ที่รสชาติเยี่ยมแล้ว ดีไซส์ของเครื่องยังมีความจำเป็นในการสร้างภาพลักษณ์ให้เกิดขึ้นกับลูกค้า และภาพลักษณ์ที่ดีต่อร้าน ที่สามารถโชว์การทำหรือตกแต่งร้านได้อย่างลงตัวอีกด้วย ด้วยสีสันและรูปทรงของตัวเครื่องที่มีตั้งแต่ไซส์ขนาดใหญ่จนถึงขนาดเล็ก

หรือ ล่าสุด บริษัท บอนกาแฟ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทจำหน่ายเครื่องทำกาแฟและวัตถุดิบกาแฟได้เปิดตัวโรงเรียนสอนเทคนิคการทำกาแฟรูปแบบใหม่ 'Boncafe Coffee Academy' ด้วยเป้าประสงค์ที่ 'มาลีรัตน์ ธนาประชุม' กรรมการผู้จัดการ บริษัทบอนกาแฟ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การเปิดหลักสูตรการฝึกอบรมเทคนิคการทำกาแฟ เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้า ที่นำความต้องการที่แท้จริงของลูกค้ามาพัฒนาเป็นหลักสูตร และมีจำนวนผู้รอคิวเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรการแฟเป็นจำนวนมาก

ภาพการตื่นตัว การเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ทุกระดับเงินลงทุน รวมถึงเจ้าของกิจการที่เป็นแฟรนไชซอร์ นั้นจะเห็นว่าในปีนี้ ได้เกิดการเปลี่ยนในวงการธุรกิจกาแฟทั้งระบบ ทั้งผู้ที่ทำธุรกิจกาแฟอยู่แล้ว ผู้ประกอบการใหม่ หรือธุรกิจกาแฟต้นน้ำอย่างผู้ผลิตวัตถุดิบคือกาแฟหรือนำเข้าเครื่องชงกาแฟจากต่างประเทศ ล้วนปรับตัวสอดรับกับความต้องการของนักลงทุน

คาดว่า ภาพดังกล่าวจะยังคงมีต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้าที่ 'ธนพล เลิศสังข์แจ่มใส' ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โกลเด้น ครีม จำกัด บริษัทในเครือ วี.พี.พี. กรุ๊ป และ 'ประวิทย์' แห่งแบล็คแคนยอนมองตรงกันว่า ธุรกิจร้านกาแฟจะยังมีการแข่งขันสูง จากผู้ประกอบการรายใหญ่จากต่างประเทศและแบรนด์คนไทยในประเทศ ขณะที่รายเล็กถ้าไม่เร่งสร้างจุดขายหรือทำการตลาดที่ดีจะต้องทยอยปิดตัวไป แต่เชื่อว่าภายใน 5 ปี ธุรกิจร้านกาแฟยังเป็นธุรกิจที่มีอนาคต

แต่อย่างไรก็ตามทั้งหลายทั้งปวง สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการคือ 'คุณภาพของสินค้าและราคาที่ไม่แพงจนเกินไป'


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.