จับตายุทธศาสตร์ “ครัวไทยสู่ครัวโลก”


ผู้จัดการรายสัปดาห์(5 ธันวาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อกล่าวถึงยุทธศาสตร์ “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ผู้คนส่วนมาก ตั้งแต่ชาวบ้านร้านตลาดจนถึงนักวิชาการ ผู้บริหาร และผู้กำหนดนโยบายในระดับต่างๆ ทั้งของภาคเอกชนและภาครัฐยังคงหลงประเด็นอยู่ในมุมแคบๆว่า “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ก็คือ “การส่งออกร้านอาหารไทย” และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การกำหนดมาตรฐานอาหารไทยและร้านอาหารไทย การส่งออกพ่อครัว/แม่ครัวไทย การฝึกอบรมผู้ทำอาหารไทย ตลอดจนแฟรนไชส์ร้านอาหารไทย และการร่วมทุนกับร้านอาหารต่างชาติที่มีชื่อ เพื่อการขยายตลาดอาหารและส่วนประกอบอาหารของไทย

พาดหัวในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเกี่ยวกับโครงการครัวไทยสู่ครัวโลกเมื่อ เนื้อหาโดยสรุปของข่าวก็คือ ท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มีแผนดึงงบประมาณจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในส่วนของโครงการเงินร่วมทุน

สำหรับเอสเอ็มอีที่ยังคงเหลืออยู่ประมาณ 2,500 ล้านบาท เพื่อปรับมาใช้ในการผลักดันโครงการครัวไทยสู่โลก โดยการขยายการลงทุนร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ตลอดจนการจัดทำแฟรนไชส์และการสนับสนุนการร่วมทุนกับบริษัทแฟรนไชส์ต่างชาติด้วย

แนวคิดของท่านเป็นการใช้การตลาดนำ ตามแนวนโยบายการสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือ Value Creation ซึ่งคงไม่มีใครกล้ากล่าวในเชิงคัดค้านเป็นแน่ แต่อยากจะให้ท่านได้ย้อนพิจารณา แนวคิดที่แท้จริง ของทั้งเจตนารมณ์ของกองทุนร่วมทุนนั้น และขอบเขตของยุทธศาสตร์ “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ด้วย

ในส่วนของการร่วมทุนของ สสว. และกองทุนร่วมทุนอื่นๆ ใน 2-3 ปีที่ผ่านมาเป็นไปอย่างค่อนข้างช้า ด้วยหลายๆ สาเหตุ ที่เป็นอุปสรรคหลักก็ได้แก่ ความคิดของนักวิเคราะห์โครงการที่ยังติดกับอยู่กับแนวคิดของฝ่ายสินเชื่อของธนาคาร ที่เน้นหลักทรัพย์เป็นสำคัญ แทนที่จะเน้นการพิจารณาที่โอกาส ด้วยแนวคิดเชิงรุก แทนการอุดประตู อีกทั้งไม่เข้าใจเทคโนโลยีและนวัตกรรมอันเป็นหัวใจของการเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ โดยผู้พิจารณาการร่วมทุนลืมนิยามที่แท้จริงของคำว่า “ผู้ประกอบการ หรือ Entrepreneur” ที่มีนิยามว่า “คือนักวิสาหกิจ ที่สร้างธุรกิจด้วยนวัตกรรม และมีผลกำไรและความเสี่ยงจากการกระทำนั้นด้วย”

ดังนั้นการแก้ปัญหาของความล่าช้าของการดำเนินการของกองทุนร่วมทุนของ สสว. จำเป็นต้องเข้าใจถึงที่มาของปัญหาดังกล่าว มหาวิทยาลัยและหน่วยบ่มเพาะธุรกิจที่สนับสนุนโดยสำนักงานการอุดมศึกษา (สกอ.) น่าจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะใช้เพื่อการนี้ได้ มหาวิทยาลัยเป็นผู้ให้เทคโนโลยี หน่วยบ่มเพาะเป็นผู้ให้เทคนิคการดำเนินธุรกิจ

ส่วนผู้ร่วมทุนเช่นสสว. ให้การร่วมลงทุน และให้การสนับสนุนทางนโยบายเอื้อต่างๆรวมการตลาดต่างประเทศด้วย หากโยกเงินกองทุนร่วมทุนไปใช้ในการส่งเสริมร้านอาหารไทยในต่างประเทศเป็นหลักแล้ว เอสเอ็มอีโดยรวมจะทำอย่างไร หรือว่ารัฐบาลกำลังมุ่งไปที่ “เมกกะโปรเจ็ค” เสียแล้ว

หันมาพิจารณา “ครัวไทยสู่ครัวโลก”

น่าจะรวมกระบวนการทั้งหมดตั้งแต่ต้นทางจากวัตถุดิบ งานวิจัย การผลิต การขนส่ง เครื่องจักรอุปกรณ์ จนถึงผู้บริโภคปลายทาง ทั้งร้านอาหาร และอุตสาหกรรมอาหารด้วย โดยการพัฒนาครัวไทย สู่ครัวโลก จะต้องเป็นการคิดการใหญ่ เพื่อนำไทยผลิตอาหารป้อนประชากรโลกเลยทีเดียว ร้านอาหารไทยเป็นเพียงหนึ่งในสิบกว่าองค์ประกอบ ดังแสดงเป็นแผนผังไว้ในรูปประกอบ อันเป็นการพัฒนาทั้งกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่

1. การพัฒนาวัตถุดิบ และเกษตรกรรมที่เกี่ยวข้อง ด้วยอุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่จะใช้วัตถุดิบภายในประเทศมากที่สุด ประมาณถึง 80% และเป็นวัตถุดิบจากภาคการเกษตรเป็นหลัก ดังนั้นจะมีการกระจายของรายได้ที่ดีที่สุดเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น การพัฒนาวัตถุดิบและเกษตรกรรมที่เกี่ยวข้องจึงเป็นกลยุทธ์หลักที่จำเป็นอันหนึ่ง ในการพัฒนาครัวไทยสู่ครัวโลก

2. วิชาการ งานวิจัยและเทคโนโลยี เราจำเป็นต้องพัฒนาภูมิความรู้ด้วยวิทยาศาสตร์ให้กลายเป็นเทคโนโลยี เพื่อที่จะสามารถสร้างงานวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องได้

3. พัฒนาอุปกรณ์และกระบวนการผลิต อุปกรณ์และกระบวนการต่างๆที่เกี่ยวข้อง จัดเป็นปัจจัยสำคัญ

ของความสำเร็จของภาคอุตสาหกรรมอาหารนี้ ด้วยความเชี่ยวชาญ และฝีมือเชิงช่างที่ผู้ประกอบการไทยมีอยู่ ดังเห็นได้จากอุปกรณ์หลากหลาย ในย่านบางลำภู เวิ้งนาครเขษม เยาวราช และ กล้วยน้ำไท เป็นอาทิ หากได้รับการพัฒนาประสานกับวิศวกรและนักวิจัยในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ก็จะสามารถสร้างอุปกรณ์และเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร ได้เทียบเท่ากลุ่มประเทศยุโรป เช่น อิตาลี และ ฝรั่งเศส ได้ทีเดียว

4. พัฒนาบุคลากรในกระบวนการผลิตและสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง เรายังต้องการบุคลากรอีกมากทางด้านเทคโนโลยี นอกเหนือจาก พ่อครัว แม่ครัว และ บริกร สถาบันการศึกษาต่างๆจะต้องเร่งให้ความสนใจกับการผลิตนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และนักเทคโนโลยีในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องเช่น นักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีอาหาร นักเคมีและชีวเคมี นักโภชนาการ และ นักโภชนาบำบัด วิศวกรในสาขาต่างๆ บุคลากรในสาขาวิชาการเกษตรต่างๆ เป็นอาทิ

5. พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารในรูปแบบนานาชาติและผลิตภัณฑ์อาหารเพื่ออนาคต สิ่งนี้คืออนาคตที่ต้องการทั้งวิชาการ ประสบการณ์ จินตนาการ การสร้างสรรค์ ความกล้า ฯลฯ อีกมาก

และ 6. การพัฒนาในเทคโนโลยีสนับสนุนอื่นๆ เช่น ข้อมูลข่าวสาร การขนส่ง การรวบรวมวัตถุดิบและการกระจายสินค้า (Logistic) ฯลฯ ดังแสดงเป็นแผนผังไว้ในรูป

บทความพิเศษ โดย รองศาสตราจารย์ ดร. นพดล เจียมสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเทคโนโลยี SMEs มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.