ปรากฏการณ์ เมืองไทยรายสัปดาห์ Hi power เขย่า Old Media สะท้าน!


ผู้จัดการรายสัปดาห์(1 ธันวาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

“เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร” ร้อนแรงสุดฤทธิ์ กระแทก Old Media จนหายไปจากความเชื่อถือของประชาชี ส่งให้ New Media กระเด้งขึ้นมาแทนที่ แถมเป็นสื่อที่จะมาแรงในอนาคต

จับตาการเปลี่ยนพฤติกรรมรับสารของคนไทยในยุคหน้า หากเกิด 2 นคราการรับสื่อ สังคมไทยอาจยุ่งเหยิงจนเกินเยียวยา
ฤา ผู้ถูกขนานนามว่า อัศวินแห่งคลื่นลูกที่สาม จะถูกระบบสื่อสารดิจิตอลสมัยใหม่ รุกไล่จนตกบัลลังก์

"ปรากฏการณ์ของเมืองไทยรายสัปดาห์ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสื่ออย่างทีวี แต่เป็นเทรนด์ใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องหาข้อมูลผ่านทีวีเพียงอย่างเดียว โดยเป็นเรื่องของการเลือก IMC เพื่อการสื่อสาร เช่น การจัดสัญจร การขายแผ่นวีซีดี ดีวีดี การตั้งกระทู้ผ่านอินเทอร์เน็ต" วรรณี รัตนพล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินิทิเอทีฟ กล่าวกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์"

เหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากเป็นยุคที่ผู้บริโภคต้องการข้อมูลข่าวสาร ขณะที่ Old Media กลับถูกปิดกั้นไม่สามารถเสนอข้อมูลได้ครบครัน โดยเฉพาะเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์การบริหารของรัฐบาล ที่มีรายการ "เมืองไทยรายสัปดาห์" เป็นตัวจุดกระแส ทำให้ผู้บริโภคโหยหาและต้องการทราบข้อเท็จจริงมากขึ้น ส่งผลให้ New Media ประเภทต่างๆเป็นช่องทางการสื่อสารที่ได้รับความสนใจอย่างมากในขณะนี้ เนื่องจากมีความเสรีในการส่งและรับข่าวสารได้มากกว่า

New Media หรือ สื่อรูปแบบใหม่ เช่น เคเบิลทีวี , อินเทอร์เน็ต , การส่ง SMS บอร์ดแบรนด์ การจำหน่ายแผ่นวีซีดี - ดีวีดี ฯ แม้จะเกิดขึ้นและเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ความแพร่หลาย หรือการเข้าถึงของผู้บริโภคอาจยังไม่คลอบคลุมเท่าเมื่อเทียบกับสื่อประเภท Old Media อย่างสื่อโทรทัศน์ 3,5,7,9,11,ไอทีวี หรือสื่อวิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ ที่เกือบจะปกคลุมทุกรากหญ้า

ทว่า เมืองไทยรายสัปดาห์ รายการที่ถูกถอดจากผังรายการสถานีช่อง 9 ตามมาด้วยเหตุการณ์สั่งระงับสัญญาณเคเบิลทีวีของ ASTV กลายเป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้ New Media เข้ามามีบทบาทและได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ดาวเทียม เคเบิลทีวี อินเทอร์เน็ต ฯลฯ ซึ่งเห็นได้จากความกระตือรือร้น ขวนขวายเพื่อเข้าถึงสื่อดังกล่าวมากกว่าที่ผ่านมา เสมือนว่าเมื่อช่องทางสื่อถูกปิดกั้นมากเพียงใด ความต้องการอยากรู้อยากเห็นก็เพิ่มขึ้นเท่านั้น เช่น จำนวนคนที่เพิ่มถึงหลักแสนที่ตั้งใจเดินทางไปสวมลุม เพื่อรับฟังเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรโดยตรง หรือจำนวนความต้องการแผ่นวีซีดีรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นไปได้ว่า New Media คือ สื่อที่กำลังจะมีบทบาทเทียบเท่า Old Media ในอนาคตอันใกล้นี้

"New Media เป็นช่องทางที่กำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภค และกำลังมีบทบาทมากขึ้น แต่ไม่ถึงขั้นเข้ามาทดแทนสื่อเก่าๆที่เราคุ้นเคย และยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกมากถึงจะเห็นความชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว แม้แต่อเมริกายังใช้เวลาประมาณ 10 ปี กว่า New Media จะมีความสำคัญเท่ากับ Old Media อย่างชัดเจน ส่วนประเทศไทยคาดว่านอกจากระยะเวลาในการพัฒนาแล้ว ความรู้ของผู้บริโภค และราคาก็เป็นปัจจัยต่อการเติบโตของ New Media ด้วย เช่น ค่าใช้จ่ายการติดตั้งจานดาวเทียม หรือเคเบิลทีวี หากราคาไม่สูงมาก ก็จะทำให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น" กรรมการผู้จัดการ อินิทิเอทีฟ กล่าว

New Media New Challenger

หนังสือพิมพ์บางฉบับบอกว่า "เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร" เป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความสั่นสะเทือนไปยังบัลลังก์นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร อย่างแสนสาหัส และเป็นพัฒนาการจากปรากฏการณ์ขยับขึ้นเป็น "ขบวนการสนธิ ลิ้มทองกุล"

ไม่ว่าใครจะเรียกว่าอย่างไร แต่ปรากฏการณ์นี้ถือว่าเกิดขึ้นอย่างไม่ธรรมดา

ไม่ธรรมดาตรงจำนวนผู้เข้ามาร่วมฟัง "เรื่องจริงอันอัปยศ" ของผู้นำรัฐบาล เครือญาติ และพวกพ้อง ที่มีทุกระดับ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ ตั้งแต่คนหนุ่ม-สาว ไปจนถึงผู้สูงวัยที่อายุแม้จะพ้น 80 ไปแล้ว เป็นจำนวนที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากคนฟังแค่เรือนพันกลายเป็นหมื่น จากหมื่นเป็นแสน และเชื่อว่าจะกระโดดขึ้นเป็น 5 แสนคนในวันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม

และไม่ธรรมดาตรงที่ปรากฏการณ์ครั้งนี้ ยังสะท้อนให้เห็นถึงสงครามข่าวสารระหว่างสื่อของรัฐที่ครอบครอง Old Media ที่มีความพยายามปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารระหว่างสื่อของรัฐกับประชาชน กับ New Media ซึ่งเป็นช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารแบบใหม่ของประชาชน ที่รัฐไม่สามารถปิดกั้นได้ในยุคดิจิตอล เป็นช่องทางในการเจ้าถึงข่าวสารด้านการเมืองของประชาชนยุคใหม่ เป็นผู้รับสารเป็นผู้กำหนด หาใช่รัฐเป็นผู้กำหนด เนื่องจาก Old Media นั้น นอกจากจะล้าสมัยแล้ว ยังขาดความน่าเชื่อถืออย่างร้ายแรงในกรณีนี้อีกด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้ประชาชนจึงต้องขวนขวายหาความจริงด้วยตนเอง ผ่าน New Media ซึ่งเป็น "สื่อทางเลือก" ผ่านสื่อดิจิตอลทั้งหลายทั้งปวง หรือผ่านสื่ออื่นที่ไม่ใช่ดิจิตอล ที่นอกจากจะทดแทนสื่อหลัก คือ 3-5-7-9-11 และไอทีวี รวมไปจนถึงสถานีวิทยุ ได้อย่างดีในแง่ของความน่าเชื่อถือแล้ว ยังเป็นช่องทางที่สามารถแสดงความคิดเห็นของประชาชนได้อย่างดีอีกด้วย

สุทธิชัย หยุ่น สะท้อนปรากฏการณ์นี้ผ่านคอลัมน์ "กาแฟดำ" หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจว่า ภาพความขัดแย้งชัดเจนเห็นได้จากค่ำวันที่รองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม ใช้ช่อง 9 และช่อง 11 ออกอากาศอธิบายความเรื่องเกี่ยวกับงานทำบุญประเทศที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 10 เมษายนปีที่แล้ว ซึ่งเป็นคืนเดียวกันกับที่คุณสนธิไปจัดรายการที่สวนลุมพินีอีกครั้ง

คืนนั้นเปิดฟรีทีวีช่อง 3-5-7-9-11 และไอทีวี ก็มิอาจสนองความต้องการให้รู้ความเป็นไปของบ้านเมืองได้อีกต่อไป ต้องเปิดอินเทอร์เน็ต ต้องแสวงหาช่องของ Broadband หรือไม่ก็ต้องหาเคเบิลทีวีดู

จับตาคนเปลี่ยนพฤติกรรม สื่อเก่าเปลี่ยนสถานภาพ

เมื่อสื่อหลักถูกท้าทายจากสื่อรองอย่างรุนแรงเช่นนี้ ถามว่าแล้วต่อไปสื่อหลักจะต้องปรับตัวเองอย่างไรนั้น ปราโมช รัฐวินิจ ผู้ตรวจราชการ สำนักนายกรัฐมนตรี อดีตรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ว่า จากการที่บทบาทของ New Media ที่เผยแพร่ไปในหลายรูปแบบ และมีความซับซ้อนในตัวเอง ผู้รับสารสามารถรับข้อมูลได้หลากหลายช่องทาง แม้ว่าจะไม่เห็นเหตุการณ์รายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรปรากฏอยู่ในโทรทัศน์ปกติ แต่คนทั้งหมดรับรู้ได้มากมาย ภายใต้ นิว มีเดีย

"นิว มีเดีย เป็นจุดปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ได้มากมายหลายรูปแบบ ต่อไปการควบคุมสื่อจะลดน้อยลง มันจะมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น แล้วโอกาสที่จะไปทำซ้ำมันง่าย โอกาสที่จะไปเผยแพร่ต่อมันยิ่งง่ายไปใหญ่ เช่น กรณีการเกิดขึ้นของวีซีดีเมืองไทยรายสัปดาห์ที่สามารถทำซ้ำและเผยแพร่ไปตามช่องทางต่างๆได้โดยง่าย และเป็นจำนวนมาก"

ไม่เพียงแต่สื่อทางเลือกจะเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้รับสารเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้วิทยุ โทรทัศน์จะต้องปรับเปลี่ยนสถานภาพของตน ด้วยการเพิ่มความหลากหลายให้มากยิ่งขึ้น เช่น นั่งอยู่ที่ไหน เวลาอะไรก็สามารถรับชมรายการโทรทัศน์ได้ และในทุกเรื่องที่ต้องการรู้ โดยสื่อแมสจะเปลี่ยนไปคล้ายกับยูบีซีที่สามารถดูข่าวเวลาไหน หรือชมกีฬาอะไรได้ตลอด 24 ชั่วโมง

"พวกOld Media ที่มีดีที่คอนเทนท์ต่อไปจะปรับตัวเองเข้าสู่ New Media อย่างชัดเจน แล้วมีเดียเก่าๆจะล้มหายตายจากไป หรือพัฒนาไปใช้อย่างอื่น เช่น วันนี้ใครฟังคลื่นสั้น เอเอ็มบ้าง ตอนนี้เอเอ็มจะหายไป เพราะถูกพัฒนาไปเรื่อยๆ ต่อไปสื่อที่เคยได้รับความนิยมในช่วงเวลาก็จะอยู่ในสภาพเช่นเดียวกัน" อดีตรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าว

ขณะที่มุมมองของ เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เชื่อว่า จากปรากฏการณ์นี้จะส่งผลให้การรับสื่อของคนไทยจะยิ่งห่างกันมากขึ้น เป็น 2 นคราการรับสื่อ กล่าวคือ คนชั้นกลางและสูงตลอดจนผู้ที่มีการศึกษาที่ปัจจุบันไม่ค่อยไว้ใจสื่อหลัก จึงหันไปหาสื่ออินเทอร์เน็ต ส่วนชาวบ้านที่ไม่สามารถเข้าถึงสื่อทางเลือกประเภทดังกล่าวได้ เมื่อเกิดความไม่ไว้วางใจรัฐบาล เพราะเริ่มมีความรู้มากขึ้น และเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดมากขึ้นจะหันไปใช้สื่อประเภทซุบซิบนินทา ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ ประเทศจะไม่พัฒนา

"สังคมข่าวลือมีประโยชน์ในการควบคุมพฤติกรรมผู้นำที่มีอำนาจ แต่สื่อนี้ไม่สร้างสรรค์ ขณะที่สื่อตรงไปตรงมา มันจะควบคุมพฤติกรรมคนมีอำนาจ และมันสร้างสรรค์กว่า ซึ่งจากสถานการณ์ปัจจุบันมันเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ เพราะคนมีอำนาจไม่ให้เขาควบคุมโดยวิธีสร้างสรรค์ คุณก็จะโดนซุบซิบนินทาข่าวลือที่ไม่สร้างสรรค์ และลองสังเกตดูว่าการซุบซิบไม่เคยเลยที่จะพูดถึงสิ่งที่ดีๆ"

New Media สถานภาพสื่อสีเทา

ด้าน อนุภาพ ถิรลาภ ผู้อำนวยการ สถาบันการบริหารการสื่อสารไทย ให้ความเห็นว่า แนวคิดของภาครัฐต่อการพัฒนาสื่อ คือ ควรสนับสนุนให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีของสื่อที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ อย่างเต็มที่ เพื่อให้คนทุกคน แม้จะเป็นส่วนน้อย หรืออยู่ห่างไกล จะสามารถรับรู้ข่าวสารได้เท่าเทียมกัน หากเนื้อหาไม่ขัดต่อศีลธรรม และจริยธรรมอันดีของสังคม อันเป็นหลักการสื่อสารมวลชน แต่ปัจจุบัน รัฐกลับทำเหมือนปิดกั้นสื่อใหม่ ๆ

หลักการคิดภาครัฐของไทย จะคิดในมุมที่ว่า สิ่งใดหากกฎหมายไม่ได้ระบุว่าให้ หมายความว่า ไม่ให้ ต่างจากหลักการคิดของต่างชาติ ที่มองว่า สิ่งใดที่กฎหมายไม่ได้ระบุว่าไม่ให้ หมายความว่า ให้ สื่อใหม่ ๆ อย่างทีวีดาวเทียม ทีวีบนอินเทอร์เน็ต บอร์ดแบนด์ ที่เกิดขึ้นและมีบทบาทในระยะหลัง แต่ไม่เคยมีกฎหมายฉบับใดกล่าวถึง รัฐไทยจะชี้ว่า กฎหมายไม่อนุญาต

เมื่อมีสื่อใหม่ ๆ เกิดขึ้น รัฐกลับหันไปให้ความสำคัญกับสื่อเก่า ปกป้องไม่ให้สื่อใหม่เข้ามากระทบกับการดำเนินงานของสื่อเก่า ส่งผลให้สื่อใหม่ ๆ ทำกันแบบกลัว ๆ กล้า ๆ เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจึงไม่สามารถตอบสนองให้ประชาชนได้รับข่าวสารอย่างทั่วถึง ทุกวันนี้ เคเบิลทีวี ที่เรารับชมกันเป็นปกติอย่าง ASTV ซึ่งถ่ายทอดสดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ สถานีข่าว Nation Channel หรือสถานีเพลงลูกทุ่ง T Channel รวมถึงการกระจายเสียงของสถานีวิทยุ และการแพร่ภาพโทรทัศน์ผ่านอินเทอร์เน็ต การออกอากาศวิทยุชุมชน ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่มีกฎหมายอนุญาต ไม่มีใครกล้าบอกได้ว่าถูก แต่ภาครัฐก็ไม่กล้าสั่งปิด ซึ่ง อนุภาพ ให้คำจำกัดความแก่สื่อหน้าใหม่เหล่านี้ว่า สื่อสีเทา

อนุภาพ เสนอแนวทางที่จะพัฒนาสื่อสีเทา ซึ่งเป็นสื่อยุคใหม่ว่า รัฐบาลควรหันมาให้ความสนใจกับการออกกฎหมายที่จะมากำกับกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ หรือ กฎหมาย กสช. ที่ต้องเร่งออกมาเพื่อจัดระเบียบการบริหารสื่อ มากกว่าการเป็นมุ่งที่ประเด็นการสรรหาผู้ที่จะมาเป็นคณะกรรมการ กสช.

เขา เชื่อว่า กฎหมาย กสช. จะเข้ามาเติมเต็มหลักคิดของภาครัฐที่ว่า ถ้ากฎหมายยังไม่กล่าวถึง แสดงว่าไม่อนุญาต

หากแต่ยังฝากไปถึงภาครัฐว่า หากยึดหลักการสื่อสารมวลชนเป็นพื้นฐานแล้ว กฎหมาย กสช. ไม่ควรมาขัดขวางการพัฒนาของเทคโนโลยีสื่อ เหมือนดังที่ผ่านมา แต่ควรสนับสนุนให้สื่อใหม่ ๆ เหล่านี้ เป็นส่วนสนับสนุนให้ประชาชนได้รับประโยชน์โดยถ้วนทั่วควบคู่ไปกับสื่อเดิม ๆ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.