เมื่อไทยสงวนฯ เล็งตลาดซอฟต์แวร์การศึกษา ช้า ๆจะไม่ได้พร้าเล่มงาม


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้ว่ากลุ่มบริษัทไทยสงวนวานิชของวิกรม ชัยสินธพ เกิดและเติบโตมากับธุรกิจขายสินค้าอุตสาหกรรม แต่ประสาวิกรมแล้ว เขาไม่ยอมหยุดนิ่งอย่างแน่นอน จึงทำให้ไทยสงวนวานิชฯ ในวันนี้ ขยับขยายเครือข่ายไปยังงานด้านโทรคมนาคมสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือไอที ตามกระแสตลาดและความอยู่รอด

ไม่นานนี้ เขาประกาศจุดยืนว่า กลุ่มไทยสงวนวานิชจะเป็น SYSTEM INTEGRATER หรือ SI ด้วยการนำเสนอเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่กำลังเติบโต ทั้งธนาคาร ร้านค้าปลีก ฯลฯ ด้วยว่า ได้รับความช่วยเหลือจากบริษัท ซีเมนส์ จากเยอรมนี ผ่านการร่วมทุนในบริษัท ที.เอ็น.-นิกซ์ ดอร์ฟ คอมพิวเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด

ล่าสุด ไทยสงวนฯ มีแผนงานจะเข้าไปสู่ธุรกิจผลิตซอฟต์แวร์เพื่อการศึกษา

"เราคิดว่า จะจับตลาดซอฟต์แวร์ด้านการศึกษา และคาดว่า ซอฟต์แวร์ด้านนี้จะเป็นฐานรายได้ที่สำคัญในอนาคตของกลุ่มบริษัท นอกเหนือจากงานสายอุตสาหกรรมและงานทางด้านบริการคอมพิวเตอร์ที่ทำอยู่ในปัจจุบัน" วิกรม ในฐานะประธานกลุ่มไทยสงวนวานิช ประกาศออกมาในงานแถลงข่าวผลประกอบการของบริษัท

คำประกาศของวิกรมบอกทิศทางของกลุ่มบริษัทได้ดีว่า จะอยุ่กับธุรกิจเดิม คือ การจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรม โทรคมนาคม กับฮาร์ดแวร์ และบริการด้านคอมพิวเตอร์อย่างในปัจจุบันเท่านั้นไม่ได้แล้ว เพราะแม้จะยังมีรายได้เติบโตทุกปี แต่การทำกำไรกลับยากลำบากลงไปทุกทีเช่นกัน อย่างในปี 2539 ที่ผ่านมา กลุ่มไทยสงวนฯ มียอดขายเติบโตจากปี 2538 ถึง 70% โดยมียอดขายสูงถึง 1,450 ล้านบาท โดยมาจากบริษัทไทยสงวนฯ 650 ล้านบาท ที่เหลือ 780 ล้านบาทเป็นของบริษัท ที.เอ็น.ฯ

รายได้รวมทั้งเครือสูง 1,325 ล้านบาท เติบโตกว่าปีที่แล้ว 22% แยกเป็นรายได้จากบริษัท ไทยสงวนวานิช 2489 จำนวน 620 ล้านบาท และบริษัท ที.เอ็น.-นิกซ์ดอร์ฟฯ จำนวน 685 ล้านบาท

กระนั้น วิกรมก็ไม่ยอมเอ่ยถึงกำไร ขณะที่กิตติธัช ตรีเพิ่มทรัพย์ ผู้จัดการทั่วไปของไทยสงวนวานิช 2489 เปรย ๆ ว่า เม็ดเงินกำไรสุทธิเติบโตจากเดิม 20-25% ทว่า อัตรากำไรเบื้องต้นกลับต่ำลง เนื่องจากมีการตัดราคาสินค้ากันมาก

ปัญหานี้ กลุ่มไทยสงวนวานิชรับรู้มานาน และเตรียมตัวรับศึกนี้เหมือนกัน โดยเมื่อสองปีก่อนหน้านี้ กลุ่มไทยสงวนฯ ได้ปรับโครงสร้างองค์กร เริ่มที่บริษัทที.เอ็น.-นิกซ์ดอร์ฟฯ และตามมาด้วยบริษัทไทยสงวนวานิช 2489 ในเดือนตุลาคม 2539 ด้วยการจัดแบ่งองค์กรออกเป็นหน่วยธุรกิจ (BUSINESS UNITS หรือ BU) ตามประเภทสินค้าและบริการ เพื่อความคล่องตัวในการทำงาน และสะดวกต่อการบริการลูกค้า

ผลของการปรับองค์กรครั้งนั้น ทำให้บริษัทมียอดขายเพิ่มมากขึ้นดังในปัจจุบัน และช่วยลดต้นทุนด้วยการยุบเลิกหน่วยงานที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น หน่วยโทรศัพท์มือถือ

แต่การปรับองค์กรก็ยังไม่สามารถเพิ่มกำไรได้มากนัก ดังนั้น จึงต้องแสวงแนวทางใหม่ ๆ การจับธุรกิจซอฟต์แวร์การศึกษา จึงเป็นแผนต่อเนื่องในการสร้างกำไรให้กับองค์กร เนื่องจากอัตรากำไรจากซอฟต์แวร์ค่อนข้างสูง

ยิ่งกว่านั้น ความเสี่ยงในการแข่งขันจะน้อยกว่าถ้าสามารถจับมือกับหน่วยงานราชการได้ ย่อมจะทำให้มีงานระยะยาวประเภทกินได้ไม่หมด ดูง่าย ๆ แค่ในระดับประถมศึกษา ก็มีโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) ถึงกว่า 40,000 แห่งทั่วประเทศ และมีนักเรียนซึ่งต้องใช้ตำราถึง 14 ล้านคน เรียกว่าฐานลูกค้ามีแน่นอน มิพักต้องพูดถึงการศึกษาระดับอื่น ๆ …งานนี้ขุมทรัพย์มารอตรงหน้า

ว่าไปแล้ว แนวคิดการผลิตซอฟต์แวร์การศึกษาไม่ใช่เรื่องใหม่ของกลุ่มไทยสงวนฯ แต่อย่างใด หากแต่อยู่ในความคิดของวิกรมมาร่วม 2 ปีแล้ว

"การศึกษารูปแบบเดิมคงต้องเปลี่ยนไป สิ่งทีเพิ่มขึ้นมา คือ มัลติมีเดียและอินเตอร์เน็ต ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปก็มีการใช้ในเรื่องของตำราเรียน ลดการใช้ตำราจากกระดาษลงไป และผมเชื่อว่าแนวโน้มในประเทศไทยและแถบเอเชียก็คงต้องเปลี่ยนไปด้วย" เขากล่าวถึงที่มาที่ไปของแนวคิดดังกล่าว

วิกรมคาดว่า การลงทุนนำซอฟต์แวร์ดังกล่าว จะใช้เงินประมาณ 200 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปี และคาดว่าจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 2-3 ปีเท่านั้น โดยจะเริ่มจากหลักสูตรชั้นประถมศึกษาก่อน

"เราจะซื้อลิขสิทธิ์หรือใบอนุญาตซอฟต์แวร์ด้านนี้จากต่างประเทศเข้ามาใช้ รวมทั้งปรับซอฟต์แวร์ให้เหมาะกับหลักสูตรการศึกษาของบ้านเราด้วย" วิกรม กล่าวถึงแนวทางในการผลิตซอฟต์แวร์

กระนั้นก็ตาม สิ่งที่เขาหวังไว้ก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างในปัจจุบัน เนื่องจากยังขาดบุคลากรที่จะมาสร้างงาน "คนที่เรามีอยู่ก็ไม่มีความถนัดเรื่องซอฟต์แวร์การศึกษา เรามีคนถนัดซอฟต์แวร์ของแบงก์หรืออื่น ๆ แต่เรื่องการศึกษาก็เรื่องเฉพาะที่ต้องหาคนที่มีความเข้าใจและเชี่ยวชาญจริง ๆ จึงยังไม่ได้ทำ ทั้งที่จริงคิดว่า จะเปิดตัวได้ตั้งแต่กุมภาพันธ์หรือมีนาคมปีนี้แล้ว" วิกรม กล่าว

นอกเหนือจากนี้ ก็ยังต้องมีการเจรจาติดต่อหน่วยงานราชการ ดังเช่น กรมวิชาการ ด้วยว่าต้องพิจารณาว่า จะผลิตซอฟต์แวร์ที่เสริมการศึกษาหรือผลิตซอฟต์แวร์ตามหลักสูตรการศึกษาโดยตรง ซึ่งก็ยังต้องใช้เวลา แต่วิกรมมั่นใจว่า จะเปิดตัวได้ภายในปีนี้

ทว่า หนทางของวิกรมอาจจะไม่ราบรื่นนัก เพราะช่องว่างที่เขามองเห็น ผู้ประกอบการอื่นในแวดวงไอที และแวดวงที่เกี่ยวข้องต่างก็จ้องตาเป็นมันเช่นกัน ดังเช่น ค่ายแกรมมี่เอ็นเตอร์เทนเมนท์ก็เบนเข็มจับธุรกิจที่เกี่ยวกับการศึกษามาบ้างแล้ว โดยได้รับสัมปทานจากองค์การค้าคุรุสภาเพียงผู้เดียวในประเทศไทย อีกทั้งแกรมมี่ยังมีพันธมิตรอย่างค่ายไมโครซอฟท์ ซึ่งได้จับมือกันขายซอฟต์แวร์ด้านการศึกษาจึงเป็นก้าวต่อไปที่แกรมมี่ฯ ไม่มองข้ามอย่างเด็ดขาด

ดังนั้น หากกลุ่มไทยสงวนวานิช ดำเนินการล่าช้าเท่าใดก็เท่ากับว่าเพิ่มโอกาสให้กับคู่แข่งมากขึ้นเท่านั้น

ในวันนี้ ปรัชญาเดิมที่วิกรมยึดถือมาตลอดที่ว่า "เราจะลงมือทำอะไร ต้องให้แน่ใจว่ามีทุกอย่างพร้อมแล้ว" ก็คงต้องถูกทบทวนใหม่ เพราะมิฉะนั้นแล้ว เขาอาจทำพร้าเล่มงามหลุดมือไปก็ได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.