ที่จริงแล้ว การขายหุ้นจำนวน 55% ในไอเอ็นเอ็น เรดิโอ นิวส์ ของสหศีนิมา
โฮลดิ้ง ในเครือของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้กับบริษัทยูไนเต็ด
คอมมูนิเกชั่น อินดัสตรีส์ (ยูคอม) นับเป็นสูตรสำเร็จที่ลงตัวพอดีระหว่างธุรกิจ
3 กลุ่ม ยูคอม ไอเอ็นเอ็น และสำนักงานทรัพย์สินฯ
กลุ่มยูคอมนั้น ประกาศเป้าหมายชัดเจนว่า ปีนี้จะขอพักรบธุรกิจโทรคมนาคมไว้ก่อน
และหันมามุ่งเน้นธุรกิจโทรทัศน์และวิทยุ ซึ่งจะเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ยูคอมจะใช้ต่อภาพธุรกิจ
"มัลติมีเดีย" หลังจากที่ธุรกิจโทรคมนาคม และบรอดคาสติ้งของยูคอม
เริ่มเป็นรูปเป็นร่างไปแล้ว
ยูคอมเองก็เริ่มต่อภาพธุรกิจบรอดคาสติ้งทีละขั้น หลังจากได้เคเบิลทีวีมาแล้วแต่ยังไม่เริ่มลงมือ
ก็คว้าสิทธิปรับปรุงสถานีวิทยุระบบ AM ของกรมประชาสัมพันธ์ จำนวน 40 สถานีให้เป็น
สเตอริโอ โดยแลกกับการปรับปรุงเครือข่าย 400 ล้านบาท อายุสัมปทาน 6 ปี ต่อได้อีก
6 ปี และ 7 ปี รวมเป็นเกือบ 30 ปี
เมื่อความพร้อมในเรื่องฮาร์ดแวร์เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ยูคอมก็จำเป็นต้องหาซอฟต์แวร์
และด้วยความที่ยูคอมไม่มีประสบการณ์ในเรื่องของซอฟต์แวร์รายการ จึงต้องหาพันธมิตรเข้ามาร่วม
การได้ไอเอ็นเอ็นมาอยู่ในมือเท่ากับว่า ยูคอมจะมีจิ๊กซอว์ด้านซอฟต์แวร์ทางด้านข่าวสารในมือไว้สำหรับป้อน
"สื่อ" เหล่านี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ ยูคอมก็มีซอฟต์แวร์ทางด้านบันเทิงมาแล้วด้วยการร่วมทุนกับสหมงคลฟิล์ม
เจ้าของลิขสิทธิ์หนัง และโรงภาพยนต์เพื่อทำธุรกิจโรงหนังผ่านดาวเทียม
ขณะเดียวกันทางด้านไอเอ็นเอ็นเอง ซึ่งก็ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการถูกเจเอสแอล
"แย่งชิง" คลื่นวิทยุ 102.5 ไปต่อหน้าต่อตา เพราะความเปราะบางของสัมปทานวิทยุ
จนทำให้ไอเอ็นเอ็นต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเดือนละ 5 ล้านบาท จากพนักงาน
200 ชีวิตที่ไม่มีงานทำ และไม่มีทีท่าว่าจะได้คลื่นวิทยุใหม่มาทดแทนเลยแม้แต่น้อย
การได้ยูคอมเข้ามาถือหุ้น จึงเท่ากับเป็นการต่อท่อออกซิเจนที่ต่อชีวิตให้กับไอเอ็นเอ็นได้อย่างดีที่สุด
สนธิญาน หนูแก้ว ผู้อำนวยการของไอเอ็นเอ็น กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ว่า การที่ไอเอ็นเอ็นเลือกกลุ่มยูคอมมาเป็นผู้ถือหุ้นนับเป็นจุดที่ลงตัวพอดี
เพราะยูคอมมีความพร้อมในเรื่องของฮาร์ดแวร์ มีเครือข่ายโทรคมนาคม กิจการเคเบิลทีวี
และวิทยุ 40 สถานีในมือ ในขณะที่ไอเอ็นเอ็นมีความพร้อมในเรื่องของซอฟต์แวร์
นอกจากนี้ เงินลงทุนยังเป็นปัจจัยสำคัญที่สนธิญานเชื่อว่า ยูคอมจะเข้ามาช่วยให้ไอเอ็นเอ็นบรรลุสู่เป้าหมายของการเป็นสำนักข่าวทำหน้าที่ผลิตข่าวป้อนสื่อวิทยุ
ทีวี และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการจะก้าวไปถึงจุดนั้นจะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก
ในขณะที่ยูคอมและไอเอ็นเอ็นเป็นภาพของความลงตัวของธุรกิจทั้งสองแห่ง แต่สำหรับสำนักงานทรัพย์สินฯ
แล้ว เหตุผลในการขายหุ้นในไอเอ็นเอ็นกลับแตกต่างอย่างสิ้นเชิง เพราะหากเปรียบแล้ว
ก็เหมือนกับการโยนเผือกร้อนในมือทิ้งไป
สนธิญาน เล่าว่า สาเหตุการขายหุ้นของสหศีนิมาโฮลดิ้งที่ถืออยู่ในไอเอ็นเอ็น
เรดิโอนิวส์ มาจากการนำข่าวสารของไอเอ็นเอ็นบางครั้งไปกระทบกับนักการเมืองบางคน
หรือกลุ่มคนบางกลุ่ม จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า สำนักงานทรัพย์สินฯ มีส่วนเกี่ยวข้องหรืออยู่เบื้องหลัง
ซึ่งส่งผลกระทบกับสำนักงานทรัพย์สินฯ ซึ่งมีสถานภาพเป็นสถาบันที่ต้องรักษาความเป็นกลาง
"ทรัพย์สินฯ เองก็ไม่สบายใจในเรื่องที่เกิดขึ้น ดังนั้น การขายหุ้นในไอเอ็นเอ็น
แม้จะไม่ได้ขายไปทั้งหมด 100% แต่ก็ทำให้ทรัพย์สินฯ สามารถลดบทบาทลง เพื่อรักษาความเป็นกลางได้มาขึ้น"
สนธิญานชี้แจง
แหล่งข่าวในสำนักงานทรัพย์สินฯ กล่าวว่า นอกเหนือจากการขายหุ้นในไอเอ็นเอ็นแล้ว
ทรัพย์สินฯ จะลดบทบาทในธุรกิจไอทีและมีเดียวที่มีอยู่ในมือลงจากที่มีอยู่เกือบยี่สิบบริษัทจะยุบเหลือแต่บริษัทที่ทำรายได้ประมาณ
4-5 บริษัทเท่านั้น เช่น สยามแซทเน็ทเวิร์ค ทำธุรกิจวีแซท เป็นต้น
"ในเร็ว ๆ นี้ ทรัพย์สินฯ จะรื้อโครงสร้างธุรกิจใหม่ โดย ดร.โอฬาร
ไชยประวัติ ซึ่งจะมีการยุบบริษัทในกลุ่มไอทีและมีเดียวที่แตกขยายออกไปหลายแห่ง
แต่ไม่ทำเงินลง จะเหลือเฉพาะบริษัทที่ทำรายได้" แหล่งข่าวเล่า
นอกเหนือจากกิจการธนาคารอสังหาริมทรัพย์ และปูนซีเมนต์ไทย ซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมที่อยู่ในมือของทรัพย์สินฯ
มานานปีแล้ว เมื่อโลกก้าวสู่คลื่นลูกที่สามในยุคของอินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี
ทรัพย์สินฯ ก็ไม่พลาดที่จะตกขบวนรถไฟสายด่วนนี้
ธุรกิจ "ไอทีและมีเดีย" จึงเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของทรัพย์สินฯ
ในยุคนี้
แม้ว่าการเริ่มต้นธุรกิจมีเดียวของทรัพย์สินฯ จะเกิดขึ้นมาจากความบังเอิญด้วยการเข้าไปทำวิทยุ
พล.1 ในนามของสหศีนิมาโฮลดิ้ง จนกระทั่งเกิดเป็นบริษัท ไอเอ็นเอ็น เรดิโอนิวส์
แต่เมื่อมาถึงการประมูลทีวีเสรีระบบยูเอชเอฟ ทรัพย์สินฯ ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการก้าวสู่ธุรกิจมีเดียว
ด้วยการจัดตั้งบริษัทสยาม ทีวี แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ขึ้นมาเพื่อเข้าประมูลและสามารถคว้าชัยชนะไปในที่สุด
ท่ามกลางคำครหาที่ว่าผู้ออกข้อสอบมาตอบข้อสอบเองจะไม่ชนะได้อย่างไร
เนื่องจากในการเปิดประมูลครั้งนั้น จุลจิตต์ บุญเกียรติ หรือ เจเจ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการร่างทีโออาร์
และก็ยังเป็นหนึ่งในผู้บริหารของสยามทีวีฯ ที่ทรัพย์สินฯ ส่งมาเคียงคู่กับบรรณวิทย์
บุญรัตน์ หรือบีบี อดีตรองผู้จัดการใหญ่จากแบงก์ไทยพาณิชย์ ที่เข้ามาดูแลสยามทีวีฯ
คู่ไปกับงานในแบงก์
แต่ภายหลังจากจัดตั้งบริษัทสยามทีวีไม่นาน จุลจิตต์ และสนธิญาน หนูแก้ว
พร้อมกับผู้บริหารฟากของทรัพย์สินฯ ก็ต้องถอนตัวออกไป พร้อมกับการเข้ามาของบรรณวิทย์
จากแบงก์ไทยพาณิชย์ที่เข้ามานั่งบริหารในสยามทีวีฯ อย่างเต็มตัว ท่ามกลางกระแสข่าวปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้บริหารของไทยพาณิชย์
และทรัพย์สินฯ
บรรณวิทย์นั้นเข้ามานั่งบริหารในสยามทีวีฯ พร้อมกับโปรเจกต์ในมือมากมาย
ภายใต้นโยบาย "รุกขยายธุรกิจไม่ยั้ง" จะเห็นได้ว่า ในช่วง 2-3
ปี ได้มีการแตกหน่อขยายกิจการออกไปมากมาย จนมีบริษัทในเครือยี่สิบกว่าแห่ง
เป้าหมายของบรรณวิทย์ในเวลานั้น พอหลังจากได้ทีวีเสรี จนเกิดเป็นไอทีวีแล้ว
ก็ต้องการขยายธุรกิจของสยามทีวีฯ เพื่อมารองรับธุรกิจทีวีเสรี ตลอดจนธุรกิจไอที
จึงเปิดบริษัทเพื่อรองรับกับเป้าหมายดังกล่าวเป็นจำนวนมาก
แต่ปรากฏว่า การบริหารงานในสยามทีวีฯ เองไม่ราบรื่นนัก มีข่าวปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้บริหารที่ดึงเข้ามาจากหลายองค์กรออกมาตลอดเวลา
พร้อมกับการทยอยลาออกของผู้บริหาร
ธุรกิจมีเดียว ก็เริ่มสร้างความยุ่งยากใจให้กับทรัพย์สินฯ ไม่น้อย เมื่อธรรมชาติในการทำธุรกิจ
"สื่อ" ทำให้ทรัพย์สินฯ จำเป็นต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกลุ่มคน
หรือ กลุ่มนักการเมือง ทำให้ทรัพย์สินฯ เริ่มตกเป็น "เป้า" โจมตี
เช่นในกรณีของไอเอ็นเอ็น
ที่สำคัญ บริษัทในเครือหลายแห่งที่เปิดขึ้นมา ส่วนใหญ่จะไม่ประสบความสำเร็จ
ยังไม่สามารถสร้างรายได้
ดังนั้น สิ่งที่ทรัพย์สินฯ เลือกในเวลานี้ก็คือ โยนเผือกร้อนในมือทิ้งเสียก่อน