|

กิมเอ็งใช้วอร์แรนต์มัดใจมาร์เกตติ้ง เตรียมขอมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น6ธ.ค.
ผู้จัดการรายวัน(30 พฤศจิกายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
บล.กิมเอ็งออกวอร์แรนต์จัดสรรพนักงานหวังมัดใจมาร์เกตติ้งไม่ให้ย้ายค่ายพร้อมจัดระเบียบพอร์ต ซื้อขายของลูกค้ารายใดไม่ซื้อขายภายใน 1 ปีจะส่งหนังสือเตือนและให้เวลาอีก 1 ปีถ้ายังไม่เคลื่อนไหวจะเก็บค่าดูแลพอร์ตบัญชีละ 500 บาทยอมรับผลประกอบการปีนี้ลดลง เหตุมูลค่าการซื้อขายที่ลดลง ขณะที่บริษัทแม่กำหนดนโยบายให้รักษามาร์เกตแชร์ ภายใต้เงื่อนไขการลดต้นทุน
นายมนตรี ศรไพศาล ประธาน เจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย)จำกัด (มหาชน) (KEST) เปิดเผยว่า ภายในวันที่ 6 ธ.ค. บริษัทจะจัดประชุมผู้ถือหุ้นซึ่งจะมีวาระเกี่ยวกับการจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิ(วอร์แรนต์)จำนวน 27.25 ล้านหน่วย หรือคิดเป็น 5% หลังจากแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญแล้วเพื่อจัดสรรให้กับพนักงานและเจ้าหน้าที่การตลาด(มาร์เกตติ้ง) โดย มีอายุ 4 ปี และจะสามารถทยอยใช้สิทธิได้ทุกๆ 6 เดือนภายในระยะเวลา 3 ปี(Lock up) โดยวิธีการจัดสรรให้กับเจ้าหน้าที่มาร์เกตติ้งนั้นจะพิจารณาจากมูลค่าการซื้อขายของเจ้าหน้าที่มาร์เกตติ้งแต่ละราย ส่วนพนักงานทั่วไปจะประเมินจากผลงาน
สาเหตุที่จัดสรรให้พนักงานเพื่อต้องการให้มีความผูกพันกับองค์กรโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่มาร์เกตติ้งเพื่อป้องกันไม่ให้มีการย้ายไปทำงานกับโบรกเกอร์แห่งอื่น ส่วนก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่ามาร์เกตติ้งจะถูกดึงตัวไปอยู่โบรกเกอร์อื่น นายมนตรี กล่าวว่า ได้เจรจาตกลงกันแล้วได้ข้อยุติไม่ลาออก
นอกจากนี้ บริษัทเตรียมทบทวนพอร์ตลูกค้าที่ไม่มีการเคลื่อนไหวในการซื้อขายเลยในระยะเวลา 1 ปีซึ่งจะส่งหนังสือไปยังลูกค้าเพื่อเตือนให้มีการซื้อขายและถ้าอีก 1 ปีต่อมายังพอร์ตยังไม่มี การเคลื่อนไหวอีกบริษัทก็จะเรียกดูแลพอร์ตบัญชีละ 500 บาทต่อปีโดยจะเริ่มเก็บภายในปี 2550 เป็น ต้นไป "
การปล่อยมาร์จิ้นของบริษัทให้ลูกค้าจะพิจารณาจากศักยภาพของลูกค้าแต่ละรายและในช่วงที่ภาวะตลาดหุ้นดีในปี 2546 มีการปล่อยมาร์จิ้นอยู่ในระดับ 2.2-2.4 พันล้านบาท แต่ปัจจุบันนี้ภาวะตลาด หุ้นซบเซาทำให้การปล่อยมาร์จิ้น ลดลงเหลือเพียง 1 พันล้านบาท" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกล่าว
นายมนตรี กล่าวต่อว่า ในช่วง ที่ผ่านมาบริษัทแม่จากสิงคโปร์ได้มอบหมายนโยบายการดำเนินธุรกิจจะต้องรักษามาร์เกตแชร์ให้เป็นโบรกเกอร์อันดับ 1 ภายใต้เงื่อนไขที่จะต้องลดต้นทุนการดำเนินงานลงแต่บริษัทจะไม่มีการปลดพนักงานหรือลดคุณภาพงานวิจัยเพราะถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะให้กับลูกค้า โดย ตั้งแต่ต้นปีบริษัทมีมาร์เกตแชร์อยู่ที่ระดับ 10% ซึ่งภายใน 2 เดือนที่ผ่านมามาร์เกตแชร์ได้ลดลงเหลือ 9% เพราะที่ผ่านมาสัดส่วนของนักลงทุน รายย่อยลดลงโดยนักลงทุนหน้าใหม่ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น และนักลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนนักลงทุนเพิ่มขึ้นประกอบกับภาวะตลาดหุ้นที่ไม่เอื้ออำนวยทำให้บริษัทได้แนะนำลูกค้าให้ชะลอการซื้อขาย
อย่างไรก็ตาม ภายในปี 2549 บริษัทตั้งเป้าจะมีมาร์เกตแชร์อยู่ที่ระดับ 10-11% ปัจจุบันนี้บริษัทมีสาขาบริการค้าหลักทรัพย์จำนวน 39 แห่ง ซึ่งรวมสำนักงานใหญ่ด้วยและในปีหน้าจะมีการเปิดเพิ่มขึ้น แต่จำนวนคงไม่มากนักเพราะบริษัทก็จะต้องบริหารต้นทุนการดำเนินการอย่างระมัดระวังโดยไม่ต้องการที่จะลงทุนมากจนเกินไปซึ่งสัดส่วนลูกค้าของบริษัทจะเป็นนักลงทุนรายย่อย 80% และนักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวน 20% ส่วนธุรกิจวาณิชธนกิจนั้นภายในปีนี้บริษัทขึ้นเป็นอันดับ 1 โดยนำ หุ้นเข้าจดทะเบียนจำนวน 6 บริษัทซึ่งมีขนาดทั้งสิ้นรวม 5,582 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ถ้าบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตทเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็จะทำให้บล.ภัทรขึ้นมาเป็นอันดับ 1 แทนขณะนี้บริษัทได้ยื่นแบบรายการแสดงข้อมูล(ไฟลิ่ง)ไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) และ เตรียมที่จะเสนอขายหุ้นภายในปีนี้ประกอบด้วยบริษัทอินเตอร์ไฮต์, บริษัทบ้านร็อคการ์เด้นท์และบริษัททีอาร์ซี เป็นต้น และยังมีบริษัทที่ยื่นแบบไฟลิ่งแล้วแต่ยังไม่กำหนดระยะเวลาที่จะเสนอขายประกอบ ด้วยบริษัทรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BMCL) และบริษัท เอ็นแอล ดีเวลล็อปเม้นท์ และยังมีอีกประมาณ 19 บริษัทที่อยู่ระหว่างเตรียมข้อมูลเพื่อที่จะยื่นแบบไฟลิ่งและจะกระจายหุ้นในอนาคต
นายมนตรี กล่าวว่า ผลประกอบการภายในปีนี้คาดว่าคงจะลดลงจากปีก่อน เนื่องจากมูลค่าการซื้อขายหุ้นโดยเฉลี่ยต่อวันลดลง จากปีก่อนซึ่งในปีนี้อยู่ที่ระดับ 1.8 หมื่นล้านบาทต่อวัน ขณะที่ในปีก่อนอยู่ในระดับ 2.5 หมื่นล้านบาทต่อวัน แต่ถ้าถึงจุดคุ้มทุนก็จะต้อง มีมูลค่าการซื้อขายโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 7.5 พันล้านบาทต่อวัน
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|