|
ยูโอบีมั่นใจเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย ลุยลงทุนเพิ่ม-ตั้งเป้าผลตอบแทน15%
ผู้จัดการรายวัน(29 พฤศจิกายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"ยูโอบี"ประกาศลุยลงทุนในประเทศไทยต่อเนื่อง มองภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนไทยระยะยาวเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ หวังผลตอบแทนจากการลงทุนในไทยกว่า 15% จากทั้งภูมิภาคประมาณ 40% แนะธุรกิจแบงก์ไนไทยต้องควบกิจการเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ระบุกำลัง ศึกษารายละเอียดการลงทุนก่อนเมษายนปีหน้า เพื่อตัดสินใจเพิ่มทุนหรือลดสัดส่วนให้รายย่อย 30% เพื่อซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เผย ยูโอบี(ไทย) ตั้งเป้าสินเชื่อปีหน้าโต 2% หรือ 7 พันล้านบาท
นายฟรานซิส ลี ชิน ยง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารอาวุโส กลุ่มงานบุคคลธนกิจและกิจการต่างประเทศ ธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ ซีส์ (ยูโอบี) เปิดเผยว่า ภาพรวมของ เศรษฐกิจประเทศไทยอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยมีแนวโน้มอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีผลกระทบปัจจัยราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น แต่จะเป็นช่วงระยะสั้นๆ เท่านั้น ดังนั้นยูโอบีจึงตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ได้ลงทุนในธนาคารรัตนสินแล้ว
ทั้งนี้ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ถือเป็นธุรกิจที่น่าสนใจในประเทศไทย ยังคงมีโอกาสขยายตัวสูง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของยูโอบีที่สนใจเศรษฐกิจและการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากมีอัตราการเติบโตที่สูง
โดยมุ่งเน้นพัฒนากิจการในระดับภูมิภาคด้วยการสร้างความเติบโตจากภายในองค์กร การรวมกิจการ และการสร้างพันธมิตรเชิง กลยุทธ์กับพันธมิตรธุรกิจที่มีความเหมาะสม โดยมีเป้าหมายเน้นการสร้างผลกำไรจากเครือข่ายในต่างประเทศ 40% ของกำไรทั้งหมดในปี 2553 โดยตลาดสิงคโปร์ยังคงมีบทบาทสำคัญตามแผนกลยุทธ์ของกลุ่มยูโอบีและยังคงเป็นตลาดหลักต่อไป ทั้งนี้กิจการในต่างประเทศของยูโอบีจะเป็นเครื่องมือในการสร้างอัตราการเติบโตตามเป้าหมาย
สำหรับประเทศไทย ยูโอบี ได้เริ่มต้นจากการเป็นเจ้าของกิจการ ธนาคารยูโอบี รัตนสินในปี 2542 ส่งผลให้ยูโอบี มีความมั่นใจว่า ธุรกิจ ในประเทศไทยจะได้รับการสนับสนุน และความร่วมมืออย่างแข็งขันจากสิงคโปร์และเครือข่ายในภูมิภาค ให้สอดคล้องกับการดำเนินงานตามแผนธุรกิจ ซึ่งคาดว่าการลงทุนในประเทศไทย จะมีผลตอบแทนจากการลงทุนต่อผู้ถือหุ้นประมาณ 15% ภายในปี 2553 ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่น่าพอใจ นอกจากนี้ยูโอบี กำลังอยู่ในช่วงของการศึกษาถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการลงทุนในประเทศไทย โดยยังมีเวลาจนถึงเดือนเมษายน 2549 ว่าจะมีสัดส่วนของการถือหุ้นหรือการลงทุนในประเทศไทยเท่าใด
ปัจจุบันยูโอบี ได้ถือหุ้นอยู่ในธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ (ไทย) ประมาณ 98.49% และผู้ถือหุ้นรายย่อยอีก 1.5% ซึ่งจะต้องมีการพิจารณากันอีกครั้งหนึ่งว่าจะลดสัดส่วนการถือหุ้นหรือเพิ่มทุน เพื่อให้ได้สัดส่วนตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการนำธนาคารเข้าซื้อ ขายในตลาดหลักทรัพย์ โดยขณะนี้ยังมีเวลาในการศึกษาถึงผลดีผลเสีย ของแต่ละวิธี
สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนแรกหลังจากที่มีการรวมกิจการจากธนาคารยูโอบี รัตนสิน (มหาชน) และธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) โดยธนาคารยูโอบี (ไทย) มีกำไรสุทธิ 1,057 ล้านบาท เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสุทธิ 564 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของธนาคารยูโอบี ในประเทศไทย และเป็นบทพิสูจน์ถึงผลดีจากการลงทุนในการควบรวม กิจการ
"ธุรกิจแบงก์พาณิชย์มีแนวโน้ม การแข่งขันที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่ง คาดว่าในอนาคตจะเห็นแบงก์พาณิชย์ มีการควบรวมกิจการกันเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มมาร์เกตแชร์ และป้องกันความเสี่ยง โดยฐานของทุนหรือเครือข่ายจะเป็นกลยุทธ์ในการบริหาร หรือป้องกันความเสี่ยงได้ดี ซึ่งยูโอบี ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้วและพร้อมที่จะแข่งขันกับตลาดได้"
นายคิม ชุง หว่อง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ (ไทย) กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อปี 2548 ขยายตัว 2% และจะเพิ่มเป็นตัวเลข 2 หลักใน ปีหน้า โดยจะเน้นด้านวาณิชธนกิจ สินเชื่อเอสเอ็มอี และสินเชื่อรายใหญ่ โดยอาศัยศักยภาพที่เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารยูโอบี รัตนสิน กับ ธนาคารเอเชีย (BOA) ที่สำเร็จลงในปีนี้
โดยขณะนี้ธนาคารยูโอบีในประเทศไทยมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 206,000 ล้านบาท มีพนักงาน 3,800 คน มีเครือข่ายสาขา 154 สาขา และหลังจากควบรวมกับธนาคารเอเชีย แล้ว หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ลดลงมาประมาณ 4,000 ล้านบาท ตอนนี้ทั้งสองธนาคาร มีเอ็นพีแอลรวมกัน 11.2% ธนาคาร มุ่งเน้นให้บริการแก่ลูกค้านักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และผู้ซื้อที่อยู่อาศัย โดยการให้บริการทางการเงินแบบครบวงจร รวมถึงในส่วนของธุรกิจ SME เพื่อช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเจ้าของให้มากขึ้น รวมถึงการให้คำปรึกษาและอำนวยความสะดวกทางด้านการค้าระหว่างประเทศ และงาน ทางด้านวาณิชธนกิจ ซึ่งเป็นจุดเด่นของธนาคาร
พร้อมกันนั้นก็ยังเน้นการสร้างความแตกต่างจากธนาคารอื่น โดยอาศัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในการนำเสนอ ผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงการบริการที่เพิ่มมูลค่าผ่านธนาคารทางอินเทอร์เน็ต และทุกช่องทางที่เข้าถึงการทำธุรกรรมทางการเงินได้ การทำธุรกรรมผ่านเครื่อง ATM ที่สามารถใช้ได้ทั่วโลก
ในปัจจุบันภาพรวมของธนาคารพาณิชย์ไทยมีการแข่งขันที่สูง ซึ่งทางธนาคารก็ตั้งเป้าหมายในการเติบโตไว้เป็นตัวเลข 2 หลัก โดยจะเน้นทางด้าน Consumer Banking และ Corporate Banking โดยเป็นส่วนของธุรกิจ Consumer Banking 28% และส่วนของ Corporate Banking 72% และในปีหน้าจะเพิ่มสัดส่วนธุรกิจของ Consumer Banking เป็น 40% และ Corporate Banking เหลือ 60%
"ระบบธนาคารพาณิชย์ของไทย ตอนนี้ TOP 4 รวมกันเป็นรายใหญ่ของระบบ ส่วนยูโอบีเป็นอันดับที่ 9 คือ ซึ่งขนาดไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ธนาคารจะเน้นความเข้าใจ ในตลาดและลูกค้า รวมถึงการบริการลูกค้าและมีส่วนช่วยในการพัฒนาธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย" นายคิม ชุง หว่อง กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|